xs
xsm
sm
md
lg

๒ “พระยา” เป็นถึง “สมุหเทศาภิบาลมณฑล”ได้ตำแหน่งใหม่! คนหนึ่งเป็น “ขุน” อีกคนเป็น“ผู้ใหญ่บ้าน”!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ยศถาบรรดาศักดิ์ของขุนนางไทย เริ่มต้นกันที่ ขุน หลวง พระ พระยา เจ้าพระยา ส่วนตำแหน่งในระบบการปกครองท้องถิ่น จะเริ่มต้นที่ผู้ใหญ่บ้านหรือนายบ้าน กำนัน เจ้าเมือง และสมุหเทศาภิบาลมณฑล แต่ก็มีเรื่องแปลกพิสดารที่ “พระยา” ๒ ท่านมีตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑล”ด้วยกันทั้งคู่ คนหนึ่งได้ควบตำแหน่งใหม่เป็น “ขุน” อีกท่านหนึ่งได้เป็น “ผู้ใหญ่บ้าน” ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลเพื่อความเหมาะสม ไม่ใช่เพราะกระทำความผิด หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นความดีความชอบเสียด้วยซ้ำ โดยเป็นไปตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่ทรงออกพระราชกำหนดไว้ว่า

...แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า ให้ผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการ เอาคนที่สัตย์ซื่อมั่นคงดี ซึ่งเป็นผู้ใหญ่พูดจาว่ากล่าวบังคับบัญชาแก่ชาวบ้านทั้งปวงได้ ให้ตั้งเป็นนายบ้านจงทุกบ้านทุกอำเภอ และถึงเป็นขุน หลวง หมื่น ถือตราภูมิคุ้มห้าม ทำราชการอยู่ในกรมใดก็ดี ถ้าเห็นว่าเป็นผู้ใหญ่พอจะว่ากล่าวบังคับบัญชาได้ ให้เขาเป็นนายบ้านด้วยเถิด...

สมุหเทศาภิบาลท่านแรกที่ได้ตำแหน่ง “ขุน” ก็คือ พระยาฤทธิรงรณเฉท (สุข ชูโต) สมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรี ซึ่งได้เสนอความคิดต่อที่ประชุมสมุหเทศาภิบาลทั่วราชอาณาจักรว่า การเก็บอากรค่าน้ำจากเกษตรกรและชาวประมง ขอให้เปลี่ยนผู้เก็บอากรจากนายอากรผู้ประมูล มาให้สมุหเทศาภิบาลเป็นผู้เก็บจะดีกว่า มีกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นพนักงาน โดยให้เหตุผลว่า นอกจากจะเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว ประชาชนจะไม่ต้องตกเป็นเหยื่อรีดนาทาเร้นของนายอากรด้วย ที่ประชุมพากันเห็นด้วยจึงเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย แต่เมื่อกระทรวงมหาดไทยเสนอไปยังกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เสนาบดีคือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสิริธัชสังกาศ ไม่เห็นด้วย ทรงให้เหตุผลว่า

“ให้เทศาเก็บ ถ้าไม่ส่งมาให้คลัง ฉันเอาเข้าตะรางไม่ได้ ให้นายอากรเก็บอย่างเดิม ถ้าไม่ส่งเงินที่เก็บได้ส่งมา ฉันจะได้เอาเข้าตะราง”

ความคิดนี้จึงตกไป ทำให้นายอากรเมืองปราจีนบุรีเห็นว่าเป็นทีของตัวแล้ว จึงจะขอลดค่าผูกขาดลงโดยอ้างว่าขาดทุน และขู่ว่าถ้าไม่ลดให้ก็จะไม่มีใครมาผูกขาด

พอโดนขู่ ท่านเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจึงหันไปปรึกษากับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้มีการทดลองเก็บอากรค่าน้ำในมณฑลปราจีนบุรี โดยให้เทศาภิบาลมณฑลเป็นผู้เก็บ แต่จะทรงแต่งตั้งให้มีตำแหน่งใหม่สำหรับงานนี้อีกตำแหน่งหนึ่ง มีบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนมัจฉา” สังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ใต้บังคับบัญชาโดยตรง

ด้วยเหตุนี้ มหาอำมาตย์ตรี พระยาฤทธิรณเฉท พระยาพานทองสังกัดกระทรวงมหาดไทย จึงมีตำแหน่งควบเป็นขุนนางชั้นประทวนระดับขุน สังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

ส่วนสมุหเทศาภิบาลมณฑลที่มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็คือ มหาอำมาตย์โท พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลคนดังของมณฑลอยุธยา ซึ่งเข้ารับราชการในมณฑลนี้มาตั้งแต่ในตำแหน่งต่ำจนถึงเป็นอุปราช อันเป็นชั้นสูงสุดสำหรับข้าราชการหัวเมือง ไม่เคยถูกย้ายไปไหนเลย เพราะเป็นผู้รอบรู้เรื่องราวของกรุงศรีอยุธยามากกว่าใคร ตอบคำถามได้ทุกเรื่อง และได้ต้อนรับกษัตริย์และบุคคลสำคัญของโลกที่ไปชมกรุงศรีอยุธยามากมาย ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งไทยและยุโรปหลายประเทศ
 
ที่สำคัญคือการเข้าถึงชาวบ้าน จากการออกตรวจพื้นที่สำรวจโบราณสถาน ท่านก็ออกตรวจทุกข์สุขของชาวบ้านทุกหัวระแหง ทำให้เป็นที่รักใคร่ศรัทธาทั้งชาวบ้านและพระสงฆ์องคเจ้า เมื่อมีการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านจากการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ ชาวบ้านหมู่ ๑ ตำบลหอรัตนไชย จึงขอเลือกท่านเป็นผู้ใหญ่บ้าน ท่านก็ไม่ปฏิเสธ และรับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านควบไปกับตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑล เมื่อเวลาเขาประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านกัน ท่านก็ไปนั่งประชุมกับเขาด้วยในตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ทำให้รู้ถึงทุกข์สุขของชาวบ้านเป็นอย่างดี

ต่อมาเมื่อมีประกาศพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ พระสงฆ์วัดสุวรรณดาราม วัดมณฑป และวัดพุทไธสวรรย์ในอยุธยา ก็เลือกพระยาโบราณราชธานินทร์ซึ่งยังอยู่ในตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑล เป็นมรรคนายกทั้ง ๓ วัด ท่านก็ยอมรับตำแหน่งและทำงานให้ตามหน้าที่

นี่ก็เป็นบทบาทส่วนหนึ่งของข้าราชการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อหัวขบวนมุ่งไปทางไหน และมีอำนาจโดยเด็ดขาด ไม่มีใครบังอาจมาคอยจ้องขัดขาให้ต้องเดินคะมำหน้าคะมำหลัง หรือคะมำหงายอย่างในวันนี้ ประเทศชาติก็มั่นคง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข และก้าวไปข้างหน้าโดยไม่หยุดชะงัก


กำลังโหลดความคิดเห็น