ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ชี้ความเครียดทางการเมืองเป็นความเครียดสะสม เตือนสนใจได้แต่ต้องระวังวิธีคิด หวั่นวุฒิภาวะต่ำ ใช้อารมณ์ รักชอบเกลียดชัง นำไปสู่ความรุนแรง ส่งผลร้ายต่อสังคม ใช้หลัก 2 ไม่ 1 เตือน ไม่สร้าง-ไม่ส่งต่อข่าวลวง เตือนด้วยเหตุผลและสุภาพ ถ้าเครียดมากใช้หลักฟังเป็น-ชมเป็น-แนะเป็น
วันนี้ (20 พ.ค.) นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ความเครียดทางการเมืองที่ประชาชนต้องรับมือ มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ความเครียดเป็นความเครียดสะสม ดังนั้น คนที่มีความเครียดอยู่แล้ว เมื่อเครียดมากขึ้น จากเรื่องการเมือง หรือในมุมกลับความเครียดทางการเมืองจะไปซ้ำเติมและเพิ่มความเครียดที่มีอยู่แล้ว เช่น เรื่องสัมพันธภาพ การทำงาน เป็นต้น
2. ความสนใจและความตื่นตัวทางการเมืองเป็นเรื่องที่ดีสำหรับสังคม แต่ต้องระวังคือ Mindset หรือวิธีคิด ของเราที่ควรจะเปิดกว้างกับความเห็นต่างว่าเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นเรื่องที่ดีทำให้สังคมมีทางออกและทางเลือกที่ดีขึ้น โดยไม่ไปมองความต่างเป็นเรื่องดีชั่ว
3. หากสังคมเรามีวุฒิภาวะทางการเมือง ก็จะทำให้ผ่านความขัดแย้งไปอย่างสันติและสร้างสรรค์ ตรงกันข้ามถ้าเรามีวุฒิภาวะต่ำ ใช้อารมณ์ รักชอบเกลียดชัง จะนำไปสู่การสร้างข่าวปลอม และวาทะเกลียดชัง ที่จะนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพ ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อสังคม
4. การจัดการกับความเครียดทางการเมือง นอกจากการเปิดใจกว้างแล้ว การรับสื่อก็สำคัญสื่อกระแสหลัก เช่น วิทยุ TV ควรรับรู้สื่อที่หลากหลาย และเป็นกลางมากกว่ารับรู้สื่อค่ายเดียว
5. ที่สำคัญคือ สื่อสังคม ควรใช้หลัก 2 ไม่ 1 เตือน คือไม่สร้าง และที่สำคัญคือ ไม่ส่งต่อข่าวลวง ข่าวรุนแรงสร้างความเกลียดชัง รวมทั้ง เตือนผู้ที่ส่งข่าวเหล่านั้นด้วยเหตุผลและสุภาพ จะช่วยเตือนสติผู้ส่งข่าวทางลบทั้งหลาย และทำให้บรรยากาศสื่อสังคมดีขึ้น
6. สำหรับคนที่เครียดมาก ๆ เราควรใช้หลัก 3 เป็น คือ ฟังเป็น (อดใจ ฟังว่าเขาคิดอะไร) ชมเป็น (ชื่นชมในส่วนดีที่เขามีความห่วงใยบ้านเมือง) แนะเป็น (แนะนำในส่วนที่เขาใช้อารมณ์ ว่าจะเป็นผลเสียทั้งกับตนเองและสังคม รวมทั้งให้เปิดใจกว้าง)