“สนธิ” เตือนสายลมการเปลี่ยนแปลงกำลังมา ระวังซ้ำรอยยูเครนที่เกิดปฏิวัติสีส้มโดยการแทรกแซงของชาติตะวันตกจนประเทศหายนะ ชี้มติของวุฒิสภาและสภาคองเกรสสหรัฐฯ ที่ออกมาช่วงก่อนเลือกตั้ง และท่าทีของทูตอเมริกันในไทยหลังทราบผลเลือกตั้ง สอดคล้องแนวทางพรรคก้าวไกลที่ยังคงเป้าหมายแก้ไข ม.112 เป็นก้าวแรก และก้าวไปข้างหน้าเพื่อลดบทบาทและความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย เปิดประตูให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยได้อย่างสะดวก
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวยืนยันว่า การเมืองต้องเปลี่ยนแปลง ประเทศชาติและประชาชนต้องหลุดออกจากกรอบเดิม ๆ ของระบอบอำนาจนิยม และรัฐบาลทหาร รัฐราชการที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจของทุนใหญ่-มหาเศรษฐีเสียที ซึ่งเสียงตอบรับจากประชาชนที่แสดงออกด้วยการไม่เลือก “ลุง” และพลิกขั้วหันมาเลือก “พรรคก้าวไกล” นั้นได้พิสูจน์แล้วว่าประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศนี้
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ต้องยอมรับ เป็นฉันทานุมัติของประชาชนส่วนรวม มิใช่ประชาชนเพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่เพียงต้องการสนองวาระซ่อนเร้น อุดมการณ์ และความปรารถนาส่วนตัว ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่รู้ - ไม่ระแคะระคายมาก่อน ก็อาจถูกชักนำให้พลัดหลงเข้าสู่ “กับดัก” หรือ “หลุมพราง” ที่นำพาประเทศชาติเข้าสู่สภาวะของความสุ่มเสี่ยงการจลาจลนองเลือกซึ่งเข้าทางประเทศมหาอำนาจ
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้โทษหรือกล่าวหาว่า คนเลือกพรรคก้าวไกล ผิดพลาด เพราะต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ยังไม่ได้สนใจที่มาที่ไป หรือ รับรู้รับทราบวาระซ่อนเร้นเหล่านี้ของแกนนำ และผู้นำของพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, นางสาวพรรณิการ์ วานิช หรือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกอบกับที่ส่วนใหญ่ 80-90% ก็เบื่อหน่ายกับ “ระบอบลุง” ที่ครองอำนาจมา 9 ปีเต็มที และต้องการลองของใหม่ ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ดูจับต้องได้ และเป็นรูปธรรม
“ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่างที่ผมกล่าวเตือนไปในรายการคุยทุกเรื่องกับสนธินี้หลายครั้งหลายตอน เผยแพร่ไปทั้งใน เฟซบุ๊กเพจคุยทุกเรื่องกับสนธิ, YouTube, TikTok, Sondhi APP รวมถึง เว็บไซต์ sondhitalk.com ก็มีเด็กรุ่นหลังหลายคน บางคนอาจจะไม่รู้จักผมมาก่อน เข้ามาคอมเมนต์แสดงความดีใจต่อชัยชนะของพรรคก้าวไกล และกระแนะกระแหนผมว่าควรพักผ่อนได้แล้ว ไม่งั้นเดี๋ยวจะโดนติ่งส้มเอาทัวร์มาลง
“ผมก็ขำ และขอท้าทายไปยังเหล่า “ติ่งส้ม” ทั้งหลาย ณ ที่นี้เลยว่า ผมไม่กลัว “ทัวร์ลง” เลยแม้แต่น้อย อยากจะเอา ทัวร์พิธา ทัวร์พ่อส้ม หรือ ทัวร์อะไรมาลงก็แล้วแต่ ผมพร้อมรับมือเสนอ เพราะปรัชญาของผมที่ยึดถือมาตลอดเป็นสัจธรรมก็คือ “ผมพูดความจริง” และ “ความจริงมีหนึ่งเดียว”
นายสนธิ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้ จึงอยากทำนายอนาคตทางการเมือง และอยากให้ทุกคนจดเอาไว้บนกระดาษ แปะไว้บนฝาผนังเลยว่า ให้ จับตามองประเด็นต่าง ๆ ต่อไปนี้อย่างใกล้ชิด คือ
ประเด็นที่หนึ่ง :เราต้องยอมรับว่าการเลือกตั้ง 2566 นี้คือ “สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง” ครั้งใหญ่ที่ชัดเจนที่สุดในรอบหลายสิบปีของประวัติศาสตร์ไทย โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถ้าหากดำเนินไปอย่างถูกทาง ถูกทำนองคลองธรรมก็จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความรุ่งเรือง และความผาสุก
อย่างไรก็ตาม หากการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็น “ขนมหวานเคลือบยาพิษ” ก็จะนำพาประเทศไปสู่ความล่มสลาย และฉิบหาย โดยอย่างที่กล่าวไปในตอนต้นก็คือ หากการเปลี่ยนแปลงนั้นมีที่มาจากวาระซ่อนเร้น อุดมการณ์ และความปรารถนาส่วนตัวของคนบางกลุ่ม ซึ่งบางคนมีความเชื่อ ความเคียดแค้น หรือ บางคนรับงานต่างชาติมาก็แล้วแต่
ตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดที่สุด ณ ปัจจุบัน และเป็นบทเรียนที่เราต้องไม่ลืมคือ กรณียูเครน ภายใต้การนำของ นายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดียูเครน ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 หรือ 4 ปีที่แล้ว พรรคของเชานายชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายมาด้วยคะแนนเสียงในรอบที่ 2 แบบแลนด์สไลด์สูงถึงกว่า 73%
แต่สุดท้ายนายเซเลนสกี้ กลับใช้คะแนนเสียงเหล่านั้นชักนำประเทศชาติ และประชาชนชาวยูเครนเข้าสู่สงคราม ทำให้เกิดสภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด ผู้คนล้มตาย ประเทศชาติล่มสลาย ประชาชนทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส มีชาวยูเครนลี้ภัยออกนอกประเทศ 5 ล้านคน ทหารยูเครนตาย 4 แสนกว่าคน
โดยต้นตอที่มาที่ไปของชัยชนะเมื่อ 4 ปีที่แล้วของนายเซเลนสกี้นั้นก็มีที่มาจากการเปิดประตูให้มีการแทรกแซงของชาติตะวันตกโดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา รวมถึงคู่ปรับอย่าง รัสเซีย ในระบบการเมือง และการเลือกตั้งของยูเครนเอง โดยจะว่าเป็นเหตุบังเอิญหรือไม่ผมก็ไม่ทราบว่า เพราะต้นตอของความฉิบหายของชาติและประชาชนชาวยูเครนในวันนี้ก็มาจาก การปฏิวัติที่เรียกว่า การปฏิวัติสีส้ม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2547
เบื้องหลังปฏิวัติสีส้ม
การปฏิวัติสีส้ม เป็นการประท้วงและเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยูเครนเมื่อปี 2547 หรือ 19 ปีมาแล้ว อันเกิดการชุมนุมประท้วงของคนยูเครนนับแสน ที่ถูกจุดชนวนจากประเด็นความไม่พอใจผลการเลือกตั้งที่ กกต.ประกาศ ทั้ง ๆ ที่มีข้อกล่าวหาเรื่องการฉ้อฉลที่ทุจริตโกงการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนหลายคน หนึ่งคือ นายวิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ที่เอาชนะ นายวิคเตอร์ ยุชเชนโก (Viktor Yushchenko) ผู้นำฝ่ายค้านที่พ่ายแพ้และต้องเสียโฉมที่สันนิษฐานว่าเกิดจากการลอบวางยาพิษไดออกซินในอาหาร
แต่ชัยชนะครั้งนั้นของ นายยานูโควิช ที่เป็นฝ่ายโปรรัสเซีย ถูกศาลสูงสุดสั่งให้เป็นโมฆะ ในที่สุดการชุมนุมประท้วงที่เกือบจะเป็นสงครามกลางเมืองก็นำไปสู่การจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ นายยุชเชนโก ซึ่งเป็นฝ่ายโปรอเมริกัน เป็นฝ่ายได้รับชนะและได้รับการเชิดชูเป็นฮีโร่ปฏิวัติสีส้ม ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการเมืองของยูเครน
อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม เบื้องหลังขบวนการปฏิวัติสีส้ม ก็แสดงให้เห็นถึงการแทรกแซงของฝ่ายอเมริกากับพันธมิตรชาติตะวันตก และ ฝ่ายรัสเซีย ซึ่งต่างก็มีผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องในยูเครนมาก เพราะทางภูมิรัฐศาสตร์ ยูเครนเป็นทางผ่านของท่อก๊าซจากรัสเซียไปยังประเทศยุโรปตะวันตก
นอกจากนี้ ยูเครนเองยังมีความสำคัญกับรัสเซียมาก โดยนอกจากเรื่องของอุตสาหกรรมเหล็กของยูเครนแล้ว ยูเครนยังได้ชื่อว่า เป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตอาวุธของรัสเซียในสมัยที่ยังเป็นอดีตสหภาพโซเวียต, รัสเซียมีฐานทัพเรือภาคทะเลดำ อยู่ที่เซวาสโตโปล, และยูเครนเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวสาลีแหล่งใหญ่ ดังนั้น รัสเซียจึง ไม่มีทางยอมให้ยูเครนหันไปอยู่ตกอยู่ใต้อิทธิพลอเมริกาและฝ่ายชาติตะวันตกเด็ดขาด
มหาอำนาจอเมริกากับชาติตะวันตกสหภาพยุโรป และองค์กรระหว่างประเทศ อ้างกระบวนการประชาธิปไตยโดยให้การสนับสนุนทางการทูตและการเงินแก่ขบวนการปฏิวัติสีส้มดังกล่าว เพื่อช่วยสร้างความชอบธรรมและเพิ่มผลกระทบโค่นล้มรัฐบาลที่โปรรัสเซีย
เป็นที่รู้กัน และยืนยันมาแล้วโดยนางวิกตอเรีย นูแลนด์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ยืนยันว่าทั้งหน่วยข่าวกรองกลาง CIA หน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาและหน่วยข่าวกรองของรัสเซียต่างก็มีบทบาทอยู่เบื้องหลังของ การปฏิวัติสีส้ม เมื่อปี 2547
โดยในขณะนั้นรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้แถลงสนับสนุนเป้าหมายการปฏิวัติสีส้มและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม ประณามการโกงเลือกตั้งและเรียกร้องยูเครนเคารพเจตจำนงของประชาชน
นายสนธิ กล่าวว่า การจะป้องกันไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนที่ยูเครนจนเกิดวิกฤติ เราต้องมองไปข้างหน้าในอนาคต 10 ปี 20 ปีต้องพูดต้องเตือนดำเนินการต่างๆ ให้ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ให้มากที่สุด
ที่สำคัญผู้บัญชาการกองเรือทางภาคตะวันออกของอเมริกาพูดชัดเจนว่าเขาต้องการด้ามขวานประเทศไทยเป็นที่ตั้งกองกำลังของอเมริกาเพื่อยันจีน ด้วยเหตุนี้ตนจึงเตือนแล้วเตือนอีกว่าอย่าไปยุ่งเกี่ยวหรือเสือกเรื่องของชาวบ้านเขา เรื่องพม่าเขาจะมีอะไรปล่อยเขาไปแต่อย่าไปเป็นเครื่องมือของตะวันตก เพื่อไปประณามพม่าแล้วไปขัดแย้งพม่า
เพราะว่าจุดของความขัดแย้งจะเป็นการเปิดประตูให้กองกำลังตะวันตกรุกเข้ามาในประเทศไทยแล้วประเทศไทยก็จะกลายเป็นดินแดนกระสุนปืนตกอย่างแน่นอน ที่สุดแล้ว ก็อย่าไปให้อเมริกาส่งทหารเข้ามาหรือส่งคนเข้ามาหรือขอติดตั้งขีปนาวุธ ให้จับตาสถานกงสุลอเมริกันที่เชียงใหม่ให้ดีๆ เพราะนั่นจะเป็นศูนย์บัญชาการนาโต้แห่งหนึ่งที่เชื่อมกับศูนย์บัญชาการที่นาโต้กำลังตั้งอยู่ที่ญี่ปุ่น
ประเด็นที่สอง : ทูตสหรัฐฯ “โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค” ออกแถลงการณ์ ตั้งตารอผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของไทย
ทั้งนี้ หลังการเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผ่านไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง ช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2566 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศไทย ก็ส่งสัญญาณออกมาทันที ด้วยได้เผยแพร่ “สารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง” จากนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ระบุข้อความว่า
“เมื่อวานนี้ประชาชนหลายสิบล้านคนได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักรไทย ในฐานะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง สื่อมวลชน ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และที่สำคัญที่สุด ผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง สหรัฐอเมริกาในฐานะเพื่อนและพันธมิตรที่ยาวนานของไทย ตั้งตารอที่จะได้ทราบผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ”
เรียกได้ว่าเป็นสถานทูตต่างชาติแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ออกอาการ “เสือก” และ “กระสันต์” แบบเก็บอาการไม่อยู่ ที่ต้องการจะยื่นมือเข้ามายุ่งเกี่ยว และแทรกแซง กับการเมืองภายในประเทศไทยของไทยอย่างออกนอกหน้า แม้ว่าผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะยังไม่ออก ก็รีบออกแถลงการณ์จากสถานทูตออกมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่จะรอผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ หรือ รอผลการจัดตั้ง และรูปร่างของรัฐบาลใหม่ก็ยังได้ แต่นี่เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการปิดหีบเลือกตั้งก็ออกแถลงการณ์มาแล้ว
โดยสารจากทูตสหรัฐฯ ดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่เคยได้พูดถึงเอาไว้ใน รายการคุยทุกเรื่องกับสนธิเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว Ep.189 คือ วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม 2566 ว่า “สัญญาณความวุ่นวาย กำลังจะมา” คือการแทรกแซงจากต่างชาติกับการเมือง และการเลือกตั้งของไทย กรณีการออกมติของวุฒิสภา และ สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ 2 ฉบับ คือ มติวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ 114 และ มติของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่ 369 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2566
ความน่าเป็นห่วงก็คือ ในท้ายร่างมติที่ 114 ของวุฒิสภา สหรัฐฯ นั้นให้ร้าย ข่มขู่ และกล่าวหา ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์แทรกแซงการเลือกตั้งทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง ซึ่งไม่เป็นความจริง
นอกจากนี้ มติของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ 369 วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ก็มีเนื้อหาร่ายยาว พร้อมทั้งตบท้ายด้วยการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในประเทศ คือ กฎหมายอาญามาตรา 112 และกฎหมายอื่น ๆ ของไทยอีกแล้ว โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ยกเลิก หรือแก้ไขกฎหมายและกฤษฎีกาที่ใช้ในการเซ็นเซอร์เนื้อหาและคำพูดออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้ง รวมทั้งกฎหใมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ประเด็นที่สาม : เมื่อร้อยเรียงเรื่องราวเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะเห็นได้ชัดว่าความเคลื่อนไหวของสหรัฐอเมริกา วุฒิสภาสหรัฐฯ สภาคองเกรสสหรัฐฯ ทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เรื่อยมาถึงพรรคก้าวไกล และนายพิธา ที่ยืนมั่นเลยว่า การแก้ไข หรือ ยกเลิก ม.112 และการกำหนดบทบาทใหม่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย นั้นเป็น “วาระ” ที่พรรคก้าวไกลได้หาเสียงเอาไว้แล้ว และกำหนดเอาไว้แล้ว ล้วนแล้วแต่สอดคล้องกันหมด
อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่า พอเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้ง ประเด็น ม.112 นั้น ทั้งแกนนำของพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้าต่างก็พยายาม “หลบซ่อน” ประเด็นเกี่ยวกับการยกเลิก ม.112 เข้าไปไว้โดยเปลี่ยนจากคำว่า “ยกเลิก” เป็นคำว่า “แก้ไข” แต่เมื่อชนะการเลือกตั้งแล้ว ก็หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดอย่างเปิดเผย อาจจะเพราะว่า มั่นใจในชัยชนะของตนเอง และทางนายพิธา รวมถึงพรรคก้าวไกลก็คงจะมีการพูดถึงเรื่องราวเหล่านี้ในที่สาธารณะด้วยเสียงอันดัง และยื่นข้อเสนอใน “ยกเลิก” และ “แก้ไข” ม.112 รวมไปถึงการกำหนดบทบาทและ ควบคุม หรือละเมิดสิทธิของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ด้วยความก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ
ก้าวร้าวอย่างไร? เรามาดูกัน
จริง ๆ เรื่องนี้หลายคนคงไม่ค่อยได้สนใจ แต่พรรคก้าวไกล เขียนเรื่องนี้ไว้เอาไว้เป็นนโยบายการเลือกตั้งปี 2566 ในเว็บไซต์ของพรร (moveforwardparty.org) โดยอ้างคำว่า สิทธิมนุษยชน (Human Rights) ระบุข้อความว่า
ศาลหรือฝ่ายตุลาการ เป็นส่วนสำคัญของกลไกรัฐที่ประชาชนคาดหวังให้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง เป็นอิสระจากการถูกแทรกแซง และด้วยมาตรฐานที่คงเส้นคงวา เพื่อความยุติธรรมของประชาชนทุกคน แต่ที่ผ่านมา คำพิพากษาและคำวินิจฉัยของศาลในหลายกรณีทางการเมือง ทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นถึงความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ดังกล่าว และการขาดกลไกตรวจสอบถ่วงดุลศาลที่ประชาชนมีส่วนร่วม
รัฐบาลได้มีการออกและบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับเพื่อพยายามปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่เห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ดังนั้น ปัญหาในเชิงหลักนิติธรรมทางกฎหมายจึงมีความสำคัญและจำเป็นต้องทบทวนเพื่อให้เกิดเสรีภาพและความเท่าเทียมตามมาตรฐานประชาธิปไตยสากล
ซึ่งย่อหน้าหลังนี้ถ้าอ่านอย่างละเอียดแล้วก็จะทราบดีว่า มีเนื้อหาที่เป็นเท็จ เพราะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสถาบันกษัตริย์ หรือ ม.112 เลย เพราะที่ผ่านมา จนทุกวันนี้การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ก็ทำได้อย่างเสรีอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ม.112 หรือ สถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
ข้อเสนอ จากนโยบายพรรคก้าวไกล คือ ลดโทษของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มีความสอดคล้องกับหลักสากล โดยให้เหลือเพียง จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (กรณีหมิ่นพระมหากษัตริย์)จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
โทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาจะถูกลดลงจากโทษจำคุก 0-2 ปี เหลือแค่โทษปรับ
ย้ายกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ออกจากหมวดความมั่นคงให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ โดยกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้มีสิทธิแจ้งความหรือร้องทุกข์กล่าวโทษเพียงผู้เดียว
บัญญัติให้ชัดเจนในกฎหมาย เพื่อคุ้มครองกรณีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตหรือการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษสำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา
ซึ่งถ้าสังเกต หรือ ศึกษาให้ดีก็จะพบว่านโยบายเกี่ยวกับ การแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกล นั้นทั้งหมดสอดคล้องกับ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อปี 2563 ที่นำเสนอโดย “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
ทั้งนี้ หากเป็นไปตามโรดแมปในการแก้ไข ม.112 ดังกล่าวของพรรคก้าวไกล ประเด็นอื่น ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันฯ ก็น่าจะเป็นไปตาม 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ระบุว่า
1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้
2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน
3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน
4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก
6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด
9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก
ประเด็นที่สี่ : การที่นายพิธา และพรรคก้าวไกล เดินก้าวแรก ด้วยการแตะ ม.112 และเดินก้าวที่ 2 ที่เกริ่นเอาไว้แล้ว ในการตอบคำถามกับผู้สื่อข่าวเรื่องการกำหนดบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคใหม่ ในวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านนั้น
เมื่อมองไปข้างหน้าแล้ว ก็จะมี ก้าวที่ 3, ก้าวที่ 4, ก้าวที่ 5 ไปจนถึง ก้าวที่ 10 ในที่สุด
นั่นคือลดบทบาทและความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ให้เหลือเพียงแค่การเป็นสัญลักษณ์อย่างสมบูรณ์ ประเทศไทยก็อาจจะเปลี่ยนระบอบการปกครองไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี
ทั้ง ๆ ที่พวกเราทราบกันดีว่าจากประวัติศาสตร์ สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็น 1 ใน 3 เสาหลักในการค้ำจุนประเทศชาติซึ่งก็คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้มีความมั่นคง และยั่งยืน มาอย่างยาวนานหลายร้อยปี
ซึ่งเมื่อเขาเดินครบ 10 ก้าว สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เคยกอบกู้ชาติ สร้างชาติ ค้ำจุนประเทศชาติเมื่อเกิดวิกฤตก็จะหายไป และนั่นในทางกลับกันก็คือ การเปิดประตูให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยได้อย่างสะดวกโยธิน เพราะเมื่อไม่มีสถาบันฯ แล้ว “นักการเมือง” ซึ่งเปรียบเหมือนสายลมที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เป็นสิ่งที่อยู่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่สามารถพึ่งพาอะไรได้ในระยะยาว ก็จะสามารถกระทำการปู้ยี่ปู้ยำประเทศชาติ สังคม และประชาชนอย่างไรก็ได้
“ทั้งหมดนี่คือสิ่งที่ผมเห็น และผมพยายามอธิบายให้ท่านผู้ชม และประชาชนชาวไทยฟังมานานแล้ว ก่อนที่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดจะเกิดขึ้นหลายปี
“ผมอยากจะย้ำเตือนอีกครั้งว่า ไม่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร แต่แนวโน้มหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็คือ การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่เพิ่งผ่านไป จะเป็นครั้งสุดท้ายของ “ฝั่งอนุรักษ์นิยม” ที่จะได้เชิดหน้าชูตา มีคะแนนสูสี หากยังไม่สามารถสร้างความหวัง ปรับเปลี่ยน ปฏิรูปตัวอย่างครั้งใหญ่ได้ ก็เตรียมเผชิญหน้ากับ “สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” ซึ่งจะไม่ใช่การปฏิรูปแล้ว แต่จะเป็นการปฏิวัติล้มระบอบจาก “ฝั่งเสรีนิยมสุดโต่ง” ซึ่งผลกระทบจะสะเทือนเลื่อนลั่นต่อไปอีกนานแสนนาน” นายสนธิ กล่าว