“สนธิ” ชี้ผลเลือกตั้ง 66 เป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ตอกย้ำถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในหลายๆ เรื่อง ซ้ำเติมด้วยปัญหาระหว่าง“ 2 ลุง” จนต้องแยกพรรค กลุ่มผู้สนับสนุนถูกแบ่ง ขณะเดียวกันเป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกของ “ทักษิณ” ที่พยายามเดินหมากให้เพื่อไทยชนะแบบแลนด์สไลด์ แต่กลับยิ่งชูพรรคก้าวไกลให้โดดเด่นยิ่งขึ้น การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นสงครามสั่งสอน 3 ลุง ทั้ง “ลุงตู่-ลุงป้อม-ลุงโทนี่”
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า คนไทยค่อนข้างกระตือรือร้นกับการเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้มาก โดยมีผู้มาลงคะแนนมากกว่า75.22% มากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2562 ที่มีผู้ใช้สิทธิเฉลี่ยที่74.87%
ทั้งนี้ ค่อนข้างจะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดทั้งแบบเขต และ แบบบัญชีรายชื่อก็คือพรรคก้าวไกล ซึ่งได้เสียงรวมประมาณ 152 ที่นั่งรอง ๆ ลงมาก็คือ พรรคเพื่อไทย141 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย70 ที่นั่ง
ผลการเลือกตั้งที่ออกมาบ่งบอกอะไร?
สิ่งที่น่าสนใจ จากผลการเลือกตั้งที่ออกมา ก็คือ
หนึ่ง ความพ่ายแพ้อย่างราบคาบของกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่โหนเจ้า-โหนสถาบัน รวมถึงกลุ่ม โหนเจ้าประเภทบ้าคลั่ง อันเป็นการตอกย้ำ และบทพิสูจน์ที่บ่งชี้ให้เห็นได้ชัดว่า“2 ลุง” ยิ่งอยู่นาน 8 - 9 ปี กลุ่มต่อต้านสถาบันกลับขยายตัวขึ้น รุนแรงยิ่งขึ้น และสุดท้ายตอกลิ่มด้วยการเลือกตั้ง
นั่นเพราะในช่วงเวลา 8 - 9 ปีที่ผ่านมาว่าพล.อ.ประยุทธ์ นั้นบริหารงานล้มเหลวในหลายประเด็นใหญ่ ๆ ยกตัวอย่างเช่น
1.การปราบปรามคอร์รัปชันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศวาระแห่งชาติหลายครั้ง แต่ยังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณี
- นาฬิกายืมเพื่อนของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร
- น้องชายพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา และหลานชายของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ ร่ำรวยอู้ฟู่จากการได้งานราชการหลายร้อยล้านบาท
- นอกจากนี้ที่น่าอเนจอนาถที่สุด ก็คือ กรณีนายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ที่คอยควบคุมการคอร์รัปชัน ยังคอร์รัปชันเสียเองจนร่ำรวยผิดปกติเป็นร้อย ๆ ล้านบาท / ทั้งยังถูกศาลสั่งจำคุกเพราะยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ
2.กระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลวในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ตำรวจ อัยการ ศาล หลักฐานมีกลาดเกลื่อนไปหมด ตั้งแต่คดี“บอส กระทิงแดง” นายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่ยังหนีหมานจับ ไม่มีความพยายามนำตัวกลับมา,กรณีตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Zipmex, กรณี“มาเฟียจีน ตู้ห่าว” ไปจนถึงเจ้าของเว็บพนันเยอะแยะไปหมดไม่ว่าจะเป็น “แทนไท ป้ายแพง-ฟลุ๊ค มาวินเบต” ที่ถูกจับกุมแต่กลับหลุดคดี เพราะอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง
3.ช่วง 9 ปีที่“ลุง ๆ”อยู่ในอำนาจรัฐราชการยิ่งขยายใหญ่โต แต่กลับอุ้ยอ้าย และไร้ประสิทธิภาพ สังเกตได้จากการจัดสรรงบประมาณ ปี 2566 หรือเกือบ 40% เป็นงบรายจ่ายประจำ งบรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ และงบบุคลากรภาครัฐอื่น ๆ ที่ตั้งไว้ในงบกลาง เช่น ค่ารักษาพยาบาล บำเหน็จบำนาญ เงินช่วยเหลือ เงินเลื่อนเงินเดือน และเงินสมทบ รวมแล้วก็สูงถึง 1,261,699.1 ล้านบาท เหลือเงินรายจ่ายลงทุน จำนวน 695,000 ล้านบาท คิดเป็นราว 22% และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท คิดเป็นราว 3 %
4.ขณะเดียวกันกับที่“รัฐราชการขยายตัวใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น” ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมากองทัพ-ทหาร-ตำรวจ กลับอ่อนทั้งข้างนอก และอ่อนทั้งข้างใน กล่าวคือ ขณะที่ 3 ลุง 3 ป. คือ“ลุงตู่-ลุงป้อม-ลุงป๊อก” กุมอำนาจทางความมั่นคงอย่างเบ็ดเสร็จทั้ง ทหาร ตำรวจ มหาดไทย กลับไม่ได้ทำให้ชาติมีความมั่นคงขึ้นแต่อย่าง โดยในแวดวงทหารและตำรวจมีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดไม่หย่อน ทั้งการคอร์รัปชัน เหตุโศกสลด และเหตุฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเน่าเฟะ และเละเทะของระบบในกองทัพ ยกตัวอย่างเช่น
- กรณีจ่าคลั่ง กราดยิงครั้งเลวร้ายที่สุด เมื่อสืบสาวราวเรื่องพบว่าเกิดจากปัญหาความคับแค้นใจของ "จ่าคลั่ง" เนื่องมาจาก การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาและเครือญาติ กรณีบ้านจัดสรร โครงการสวัสดิการทหารและธุรกิจในค่ายทหาร
- กรณีโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู ซึ่งอดีตตำรวจ ยศ ส.ต.อ. ชื่อ ส.ต.อ.ปัญญา คำราบ ออกมาฆ่าเด้กจำนวนมาก
- กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง อย่างมีเงื่อนงำ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 24 ราย โดยจนถึงปัจจุบันก็ยังหาผู้รับผิดชอบในกองทัพเรือมารับผิดชอบไม่ได้
นี่ยังไม่นับกับเรื่องอื้อฉาวอื่น ๆ ในกองทัพที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดไม่หย่อน ไม่ว่าจะเรื่องเรือดำน้ำที่ซื้อจากจีนแล้วก็มีปัญหา หาเครื่องยนต์ไม่ได้, หรือย้อนไปอีกก็มีกรณี เครื่องตรวจวัตถุระเบิดลวงโลก GT200 , กรณีเรือเหาะ หรือบอลลูนตรวจการณ์ ของกองทัพบกที่ซื้อมาด้วยเงินกว่า 350 ล้านบาท แต่กลับใช้งานไม่ได้ และถูกปลดประจำการหลังจากซื้อมา 8 ปี ฯลฯ
ไม่นับประเด็นแก๊งพนันออนไลน์ – แก๊งคอลเซ็นเตอร์ – แก๊งฟอกเงิน - แก๊งทุนจีนสีเทา ที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนทั่วประเทศ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างมากมายมหาศาล เมื่อโยงไปโยงมาก็ไปเกี่ยวข้องหรือพัวพันกับคนใกล้ชิด ของ “2 ป.” อีกอย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังไปแล้วในรายการคุยทุกเรื่องกับสนธิหลายต่อหลายตอนตั้งแต่ปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา
จากหลักฐานที่ประจักษ์ชัด เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศ-บางข่าวเป็นเรื่องอื้อฉาวดังไปทั่วโลกอย่างนี้ ผมขอถามพวก“ติ่ง พล.อ.ประยุทธ์” - “ติ่งลุงตู่” และ“ติ่ง 3 ลุง”ทั้งหลายที่ชอบออกมาพูดโดยอ้างว่า“ลุง ๆ” อยู่มา 8-9 ปี แต่ไม่มีเรื่องอื้อฉาว ไม่มีข้อครหาเรื่องการคอร์รัปชัน แล้วเรื่องพวกนี้คืออะไร? ข่าวปลอม ข่าวมโน ข่าวเฟคนิวส์ หรือยังไง?
ที่สำคัญก็คือช่วง 8-9 ปีที่อยู่ในอำนาจ ทั้ง 3 ลุง- 3 ป. ก็กุมอำนาจในการควบคุมดูและและจัดการ อย่างเบ็ดเสร็จทั้งนายกรัฐมนตรี คุมตำรวจ(ช่วง 8-9 ปี 2 ลุง ก็สลับกันนั่งเป็นประธาน ก.ตร.)คุมทหาร(เช่นเดียวกันคือ 2 ลุงก็สลับกันนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม)
ส่วน ป.ที่ 3 คือ ป.ป๊อก นั้นก็นั่งรากงอกอยู่บนเก้าอี้ รมว.มหาดไทย มายาวนาน 9 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันปี 2566
5.ความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงขึ้นเรื่อย ๆ อันนี้สำคัญ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน เนื่องจาก โดยช่วง 8 ปีกว่าที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ / นายทุน / มหาเศรษฐีร่ำรวยขึ้นอย่างมาก
ขณะที่ชนชั้นกลางคนยากคนจนนั้นจนลง ๆ ตอกลิ่มด้วยปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแม้จะมีความพยายามผลักดันให้มีการช่วยเหลือประชาชนด้วยนโยบายประชานิยม แจกเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ แล้ว แต่รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เพียงพอกับรายจ่าย จนในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคการเมืองทุกพรรคต่างต้องออกนโยบายประชานิยมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกันหมดทุกพรรค
ที่สำคัญอันสะท้อนให้เห็นได้ชัดในกรณีปัญหา ความทุกข์ยากของชาวบ้าน ผู้ประกอบการทั่วประเทศในปัจจุบันก็คือ ประเด็นเรื่อง ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงมาก ไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟแพง ค่าแก๊สแพง ค่าน้ำมันแพง ซึ่งส่งผลไปถึงราคาสินค้า ค่าครองชีพ ความเป็นอยู่สูงขึ้น ชนชั้นกลางทนไม่ได้ ชนชั้นล่างยิ่งลำบาก ฯลฯ
6.ปมปัญหาเหล่านี้ยิ่งมาตอกลิ่มต่อด้วยความขัดแย้งและการแก่งแย่งชิงอำนาจระหว่าง 2 ลุง และคนรอบตัว เริ่มตั้งแต่
- การแย่งชิงอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐช่วงกลางปี 2563 ทำให้ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และทีมเศรษฐกิจ 4 กุมาร ต้องกระเด้งออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี รวมถึงตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐด้วย ทั้ง ๆ ที่แต่เดิม นายอุตตม สาวนายน นั้นเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ส่วนนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นั้นเป็นเลขาธิการพรรค ต้องออกจากพรรคเพื่อเปิดให้ทางนักเลือกตั้งเข้ามากุมอำนาจ และแบ่งสรรปันส่วนตำแหน่งรัฐมนตรี
ทั้ง ๆ ที่ทีมของ ดร.สมคิดนั้นเป็นทีมเทคโนแครตที่สร้างสรรค์และขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น อีอีซี, เป๋าตัง, คนละครึ่ง, เศรษฐกิจดิจิทัล ฯลฯ โดยเมื่อทีมเหล่านี้หลุดออกไป “รัฐบาลลุงตู่” ก็ไม่มีใครขับเคลื่อนและสร้างสรรค์นโยบายเศรษฐกิจใหม่ ๆ อีกเลย
- ต่อมาความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อ คนใกล้ชิดของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร คือร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เปิดศึกชนกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรงในการอภิปรายไม่วางใจรัฐบาลในช่วงเดือนกันยายน 2564 จนทำให้ “ลุงตู่” สั่งปลดออกจากตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ และถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐเมื่อเดือนมกราคม 2565
- เกมบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ “ลุงป้อม” จับมือ “ลุงโทนี่” ฆ่าพรรคเล็ก เอื้อเพื่อไทย แต่สุดท้าย ก้าวไกลเอาไปกิน อีกจุดเปลี่ยนหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่การเมืองออกมาในรูปโฉมเช่นปัจจุบันก็คือ ดีลลับระหว่าง “ลุงป้อม” กับ “ลุงโทนี่” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 ถึงช่วงปี 2565 จึงดำเนินการสำเร็จ คือ การผ่านกฎหมายแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้มาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยแรกเริ่มเดิมที เพื่อเป็นการ “กำหนดเกม” ให้เหลือแต่ “พรรคใหญ่” ที่จะได้เปรียบในสนามเลือกตั้งมากที่สุด เนื่องจาก กติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกคน 1 ใบ เลือกพรรค 1 ใบ ตามสมการที่คิดกันก็คือ ผลลัพธ์คือพรรคขนาดใหญ่จะมีความได้เปรียบ เพราะมีฐานคะแนนระดับพื้นที่ เมื่อได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตมาก ส.ส.บัญชีรายชื่อจะมากตามไปด้วยด้วยเหตุนี้เมื่อกฎหมายบัตรเลือกตั้ง 2 ใบผ่านสภาทั้งในชั้น ส.ส. และ ส.ว. โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2565 ทำให้ พรรคของทักษิณ ชินวัตร ประกาศแคมเปญ“เพื่อไทยแลนด์สไลด์”ออกมาทันที โดยหารู้ไม่ว่า เมื่อการเลือกตั้งในปี 2566 มาถึงจริง ผู้ที่ได้ประโยชน์กับ“บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” มากที่สุดกลับเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน หอกข้างแคร่ของตนเองที่ชื่อ“พรรคก้าวไกล”โดยผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลของนายพิธา ได้คะแนนบัญชีรายชื่อสูงที่สุดถึง14.2 ล้านเสียง และพรรคก้าวไกลน่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากที่สุดถึง 39 คน
ส่วนพรรคเพื่อไทย ที่เป็นตัวตั้งตัวตีเกี่ยวกับการแก้กฎหมาย กลับได้เสียงจากบัตรเลือกตั้งใบที่ 2 น้อยกว่าแค่10.8 ล้านเสียง และได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 29 คน ต่างจากพรรคก้าวไกล 10 คน
ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ในมือลุงป้อม นั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะได้คะแนนบัญชีรายชื่อแค่ 530,000 เสียง และน่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพียงแค่คนเดียว คือ ตัว “ลุงป้อม” เท่านั้น!!!
7.ความแตกหักจากการแย่งชิงอำนาจระหว่าง 2 ป. นำมาสู่การแยกพรรค โดย ขณะที่“ลุงป้อม”พล.อ.ประวิตร ยึดพรรคพลังประชารัฐเอาไว้ ส่วน“ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ ก็ส่งคนของตัวเองออกมาตั้งพรรคใหม่ของตัวเองคือพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่งผลให้เกิดความสับสนใจกลุ่มอำนาจเดิมทั้งเหล่า ส.ส. และสมาชิกพรรคที่ต้องเลือกเดินไปกับลุงคนใดคนหนึ่ง ทำให้เสียงผู้สนับสนุนก็ถูกแบ่งแยกแตกออกไปเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การแยกพรรคออกมาเป็นรวมไทยสร้างชาตินั้น พิสูจน์ให้เห็น 8-9 ปีที่ผ่านมา “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ นั้นยัง“หลงตัวเอง” นึกว่าตัวเองเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนทั่วประเทศ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว คนเกลียด พล.อ.ประยุทธ์ นั้นมีมากกว่า คนชอบ พล.อ.ประยุทธ์ และการพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ ความเบื่อหน่าย และเกลียดชัง“ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ปัจจัยเหล่านี้ เหล่านี้ทำให้หลายคนซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ แม้จะเคยออกมาชุมนุมกับพันธมิตรฯ เคยออกมาเป่านกหวีดกับ กปปส. ช่วงปี 2556-2557 ก็ทนไม่ไหว โดยบอกว่าแม้ว่าจะ“กาเพื่อไทย” ไม่ลง เลยหันไป“กาเลือกพรรคก้าวไกล” กันจำนวนไม่น้อย อันจะเห็นได้ว่า ในพื้นที่เกือบ 10 จังหวัดที่พรรคสีส้ม หรือ พรรคก้าวไกล นั้นได้ ส.ส.เขต เกือบยกจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, นนทบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, ภูเก็ต, ลำพูน เป็นต้น
หรือแม้แต่หัวเมืองใหญ่ ๆ ที่เคยถูกยึกครองด้วยพรรคการเมืองเดิม ๆ อย่างเชียงใหม่, เชียงราย, ชลบุรี, ลำปาง ก็ถูกพรรคก้าวไกล เข้าแทรกซึม ยึดครองพื้นที่ และเก้าอี้ ส.ส. ได้อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ใช้ปกป้องสถาบันมิให้ถูกละเมิดนั้นได้รับชัยชนะ โดยได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง มากกว่าพรรคการเมืองฝั่งเสรีนิยมดั้งเดิมที่ชนะการเลือกตั้งมาทุกครั้งในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2544 อย่างพรรคของตระกูลชินวัตร คือพรรคเพื่อไทย
“ทักษิณ” แพ้เลือกตั้งครั้งแรก
สอง ถัดมาคือ ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีใคร คิดฝันหรือนึกถึงมาก่อนเลยว่าพรรคเพื่อไทย จะพ่ายแพ้ให้กับพรรคก้าวไกลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินหมากของ“ลุงโทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร ที่พลาดแล้วพลาดอีก โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ในช่วงโค้งสุดท้าย นายทักษิณ ทวีตข้อความหลายครั้งคล้ายกับพยายามเรียกคะแนนเพื่อให้เป็นไปตามแผน“เพื่อไทยแลนด์สไลด์”ว่าตนจะเดินทางกลับประเทศไทยแน่ภายในเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ เพื่อไปเลี้ยงหลาน
การเดินหมากดังกล่าวของนายทักษิณ มิเพียงไม่สามารถกระตุ้นกระแสแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยได้ แต่กลับเป็นการฉุดกระแสของลูกสาว และพรรคเพื่อไทย แล้วชูนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ในสายตาประชาชนให้มีความโดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากพรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคเดียวที่เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่จริง ๆ และไม่ได้มีส่วนร่วมกับความขัดแย้งทางการเมืองก่อนหน้านี้ ด้วยภาพลักษณ์ที่ยังใสซื่อบริสุทธิ์ เพราะยังไม่เคยเข้าสู่อำนาจ ไม่เคยทำงานเป็นรัฐบาลมาก่อน ดังที่ผมเคยกล่าวไปแล้ว
ด้วยเหตุนี้เอง การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 จึงกลายเป็น“สงครามสั่งสอนลุง 3 คน” คือ“ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ “ลุงโทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร
ที่ต่างก็พ่ายแพ้หมดเลยปล่อยให้พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้าของพรรคที่แท้จริง ก้าวขึ้นมาขี่กระแสทางการเมืองเป็นพรรคอันดับ 1 ที่ได้สิทธิ์ในการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อนใคร ซึ่งนายพิธา ก็แสดงท่าทีได้ทีประกาศก้อง แสดงความอหังการมมังการโดยเรียกตัวเองทันทีว่าเป็นนายกรัฐมนตรี และพร้อมจะจัดตั้งรัฐบาลทันที
เมื่อช่วงเที่ยงของวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา หลังจาก กกต. ประกาศผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ นายพิธา ได้ย้ำว่าพรรคก้าวไกลจะจัดตั้งรัฐบาลซึ่งเป็นขั้วพรรคฝ่ายค้านเดิมจำนวน 309 เสียง ทันที
นี่เอง การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จึงเป็น“สงครามสั่งสอนลุง” โดยไม่ใช่แค่“ลุงตู่” หรือ“ลุงป้อม” ซึ่งมาจากการรัฐประหาร และระบอบอำนาจนิยม เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง“ลุงโทนี่”ที่ยึดครองสนามเลือกตั้งมาตลอด 22 ปีที่ผ่านมา ให้ศิโรราบไปพร้อม ๆ กันด้วย
อย่างไรก็ตาม เยาวชน คนรุ่นใหม่ และเด็ก ๆ หลายคนซึ่งยัง “อ่อนหัด” กับเกมการเมืองและโลกแห่งความเป็นจริง รวมถึงนายพิธา สมาชิก และสาวกพรรคก้าวไกลจำนวนมาก ณ เวลานี้ที่ออกมาตีฆ้องร้องป่าวทึกทักเอาเลยว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นั้นคือนายกรัฐมนตรีคนถัดไปของประเทศไทย คงลืมไปว่า
1.พรรคก้าวไกลไม่ได้เสียงส่วนใหญ่ (Majority) จากการเลือกตั้ง ส.ส. ได้แค่ 152 เสียงจาก 500 เสียง หรือแค่ 30% เท่านั้นเอง
2.ณ เวลานี้ ไม่ใช่เกมเลือกตั้ง ที่จบไปแล้ว แต่เป็นเกมการจัดตั้งรัฐบาล นายพิธาต้องหาแนวร่วมเพื่อรวบรวมเสียง ส.ส. ส่วนใหญ่ให้ได้มากที่สุดเสียก่อน ... นายพิธาหาได้หรือเปล่า?
3.เมื่อผ่านด่านแรก คือ หาเสียงส่วนใหญ่ใน ส.ส.แล้ว คือ มากกว่า 251 เสียง คุณก็ต้องผ่านด่านที่ 2 คือ ด่านการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องอาศัยเสียง ส.ส.+ส.ว. รวมกันอย่างน้อย 376 เสียง ... พรรคก้าวไกล กับ นายพิธา หัวหน้าพรรค หาได้หรือเปล่า?
ซึ่งก็มีการสร้างแรงกดดันจากกลุ่มคนต่างๆ แม้กระทั่งหมอชนบทก็เข้ามาร่วมกดดันด้วย พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องการแสง บอกว่าต้องมายกมือให้นายพิธา เพราะชนะเป็นเสียงส่วนใหญ่ ทั้งที่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ แต่แค่ 30% ของเสียงทั้งหมด ยังมีเสียงของพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ ตลอดจนพรรคภูมิใจไทย
นี่คือ “ความเป็นจริง” ทางการเมืองอันโหดร้าย ที่นายพิธา และพรรคก้าวไกลต้องเผชิญ !