ภาพสีสันจัดจ้าน รายละเอียดที่ดูได้ไม่รู้เบื่อ กลิ่นอาย Street Art ความผสมผสานของลูกเล่นในเนื้องาน
ความสร้างสรรค์ที่หลอมรวมทั้งงาน NFT และงาน Physical ไว้ด้วยกัน สไตล์ที่จับใจนักสะสมต่างชาติ ผลงานที่สามารถขายได้ในมูลค่าสูงถึง 1 Ethereum ( Ethereum คือ Cryptocurrency สกุลหนึ่ง ส่วน NFT คือ Non Fungible Token โดยเหรียญที่ใช้ซื้องานศิลปะ NFT เป็นหลักคือ Ethereum)
‘OLD BELIEF / NEW BELIEF’ รูปภาพสีสันสดใส มีความเป็น Animation ให้ความรู้สึกเป็นมิตร คล้ายภาพพระเยซูในโลกยุคใหม่ คือหนึ่งในผลงานสร้างชื่อ ที่ทำให้คนไทยและชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่สนใจศิลปะ NFT ได้รู้จักศิลปินผู้นี้ เจ้าตัวเล่าว่าผลงานชิ้นนี้สะท้อนถึงความเชื่อเก่า-ความเชื่อใหม่ที่เปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา
‘เราจงเป็นกระบอกเสียงให้ตัวเอง แม้ว่าเขาไม่เห็นงานเรา ไม่เห็นคุณค่างานของเรา เราก็จงตะโกนออกไปให้เขาได้ยินให้ได้ ว่าเราทำอะไรได้บ้าง’
ในท่ามกลางยุคสมัยที่โลก Digital เปิดกว้าง ผู้คนมากมายเข้าร่วมวงในตลาดซื้อขายเดียวกัน แต่ Motto ที่เขายึดถือไว้เป็นหางเสือกำกับหนทาง ทำให้งานของเขาโดดเด่นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
“ผมชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ 3-4 ขวบ ผมก็วาดรูปขีดเขียนบนผนังคลินิกของพ่อแม่แล้วครับ ผมรู้สึกว่าน่ารักตรงที่พ่อกับแม่ก็ไม่ได้ลบภาพวาดนั้นทิ้ง ผมวาดรูปตุ๊กตุ่นเต็มกำแพงไปหมดเลย ซึ่งพ่อกับแม่เราท่านดูเปิดกว้างให้กับสิ่งที่เราทำครับ ผมก็เลยรู้สึกว่า สิ่งๆ นี้ ทำให้เราอยากไปต่อทางด้านนี้” เขาเล่าถึงความสุขในวัยเยาว์ที่เติบโตมาพร้อมกับความเปิดกว้างอย่างเข้าใจของคุณพ่อคุณแม่
นับจากวัยเยาว์ที่ขีดเขียนรูปภาพบนผนัง กระทั่งปัจจุบัน เขายังคงก้าวเดินบนหนทางของการเป็นศิลปิน สร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนยุคสมัย รองรับได้กับหลาย Platform ในโลก Digital ขณะเดียวกันก็ยังไม่ละทิ้งการจัดแสดงผลงานนิทรรศการในแกลเลอรี่
เขาบอกเล่าในหลายสิ่ง ไม่ว่าเทรนด์ของงานศิลปะ NFT ที่เรียกว่า ‘Phygital’ อันมีที่มาจากการหลอมรวมของคำว่า "Physical" กับ "Digital"
สไตล์ความเป็น Pop Psychedelic Art ในงานของตนเอง
บทเรียนและประสบการณ์ที่เขายินดีแบ่งปันให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้
การบริหารจัดการ วางแผนช่วงเวลาในการขายงาน ลูกเล่นและไอเดียต่างๆ อันน่าตื่นตาที่ตั้งใจสรรค์สร้างให้กับงานที่จัดแสดงในนิทรรศการ ความสนุกใน Street Art รวมทั้งความรักในวัฒนธรรม Hip-Hop รวมถึงศิลปะหลากหลายแนวทาง
ล้วนหล่อหลอมและหลอมรวมให้ ‘ตุ๊–ณัชพล ตุ๊เสงี่ยม’ หรือ ‘TU!!’
หนึ่งในศิลปิน NFT ที่กำลังมาแรง สร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงตัวตน ความคิด ที่แฝงไว้ในงานอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้อย่างน่าสนใจ
'ผู้จัดการออนไลน์' สัมภาษณ์พิเศษ ‘ตุ๊–ณัชพล ตุ๊เสงี่ยม’ หรือ ‘TU!!’ ในหลากหลายประเด็นที่กล่าวมา
แรงบันดาลใจนับแต่วัยเยาว์
เมื่อขอให้ช่วยเล่าถึงแรงบันดาลใจ อะไรทำให้ก้าวเดินบนหนทางของศิลปิน
ตุ๊–ณัชพล ตอบว่า “ผมรู้สึกว่า แรงบัลดาลใจหลักๆ คือผมอาจจะเป็นคนที่นิสัยไม่ค่อยโต แม้อาจจะอายุเยอะ แต่ก็ยังมีความทะเล้น มีความซุกซน ไม่ค่อยคิดอะไรมาก ซึ่งแม้จะเติบโตขึ้นมา ผมก็ยังชื่นชอบความเป็นเด็ก ความไร้เดียงสา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มันเป็นอะไรที่ทำให้ผมอยากทำตามความฝันของตัวเอง คือ เราชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ 3-4 ขวบ ผมก็วาดรูปขีดเขียนบนผนังคลินิกของพ่อแม่แล้วครับ ผมรู้สึกว่าน่ารักตรงที่พ่อกับแม่ก็ไม่ได้ลบภาพวาดนั้นทิ้ง ผมวาดรูปตุ๊กตุ่นเต็มกำแพงไปหมดเลย ซึ่งพ่อกับแม่เราท่านดูเปิดกว้างให้กับสิ่งที่เราทำครับ ผมก็เลยรู้สึกว่า สิ่งๆ นี้ ทำให้เราอยากไปต่อทางด้านนี้” ตุ๊เล่าถึงความสุขในวัยเยาว์ที่เติบโตมาพร้อมกับความเปิดกว้างอย่างเข้าใจของคุณพ่อคุณแม่
“จริงๆ แล้วผมก็ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กอยู่แล้วครับ อาจไม่ได้มีแรงบันดาลใจเฉพาะทางระหว่างทางตอนที่เราเติบโต เพราะเรารู้สึกมาตั้งแต่เด็กแล้ว ว่าเราอยากเป็นศิลปิน” ตุ๊เน้นย้ำ ก่อนบอกเล่าเพิ่มเติมว่า แม้ความรักในศิลปะจะเริ่มขึ้นนับแต่จำความได้ กระนั้น ช่วงวัยเรียนหรือย่างเข้าวัยรุ่น ก็มีบ้าง ที่เขาสนใจสิ่งอื่นๆ อาทิ ช่วงวัยมัธยมศึกษา เขาก็อยากเป็นมัคคุเทศก์หรือไกด์ (Guide) เนื่องจากสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ชอบพูดคุยกับชาวต่างชาติ บางครั้งก็เกิดความคิดอยากไปเป็นนักเขียนการ์ตูน เขียนมังงะ (Manga) เขียนคอมมิค (Comics) แต่ไม่ว่าอย่างไร ในที่สุด เส้นทางของตุ๊ ก็ก้าวเดินบนหนทางของการเป็นศิลปิน มุ่งมั่นทำงานศิลปะโดยเฉพาะ แต่ในขณะเดียวกัน ข้อดีของความสนใจที่หลากหลาย ก็ทำให้กระบวนการสร้างสรรค์งานของตุ๊มีความยืดหยุ่น
ซึ่งเป็นอีกครั้ง ที่ตุ๊มองย้อนกลับไปในวัยเยาว์ นึกถึงแรงบันดาลใจในครั้งนั้น ว่าการที่เขาสามารถเป็นได้อย่างที่เป็นเช่นทุกวันนี้ สิ่งสำคัญที่สุด เนื่องมาจากความเปิดกว้างของคุณพ่อคุณแม่
ตุ๊เล่าว่า ในช่วงวัยเด็ก เขาสนใจเรียนหลายอย่าง ไม่ว่า เรียนเทควันโด เรียนคอมพิวเตอร์ และอีกมากมาย แต่สิ่งที่เขารักและชื่นชอบที่สุด ก็ยังคงเป็นการวาดรูปนั่นเอง
“พ่อแม่ผมก็รู้ครับ ว่าผมชอบวาดรูปมาก พร้อมสนับสนุน พร้อมให้เลือก เมื่อผมเติบโตมาในช่วงวัย 7-8-9 ขวบ มันก็เป็นช่วงทดลองของเด็ก เป็นช่วงเรียนรู้ว่าโตขึ้นเราอยากทำงานเป็นอะไร ซึ่งในท้ายที่สุด เราก็ชอบวาดรูปอยู่ดี พ่อแม่ก็ยังคงเปิดโอกาสให้ผมตั้งแต่ตอนนั้น จนถึงตอนนี้ครับ” ตุ๊บอกเล่าถึงภาพสายใยของครอบครัวที่พร้อมสนับสนุนในสิ่งที่เขารัก
‘OLD BELIEF / NEW BELIEF’ กับมูลค่า 1 Ethereum
ถามว่าผลงานชิ้นแรกๆ หรือคอลเลกชั่นแรกๆ ของคุณที่ประสบความสำเร็จทำให้คนจดจำ คืองานชิ้นใด
ตุ๊ตอบว่า “เป็นงานชิ้นที่ชื่อว่า ‘OLD BELIEF / NEW BELIEF’ ครับ เป็นรูปคล้ายๆ พระเยซู เป็นชิ้นที่ทำให้คนรู้จัก เพราะว่าอาจเป็นด้วย Story เนื้อหาของงานเรา เกี่ยวข้องกับความเชื่อเก่า-ความเชื่อใหม่ ตามชื่อของงานชิ้นนี้เลยครับ มันเกี่ยวกับว่าความเชื่อของคนเราเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ศาสนา ก็เช่นกัน ไม่ว่าความเชื่อ พฤติกรรม การเมือง วัฒนธรรม มันเปลี่ยนไปตามกาลเวลาทั้งสิ้น ซึ่งถ้ามันเปลี่ยนไปใหม่ มันก็เป็นเรื่องของเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ เช่น Innovation หรือ คริปโตฯ (Cryptocurrency) อะไรแบบนี้
"ซึ่งงานชิ้นนี้ มันก็เป็น NFT ครับ เป็นงานที่ขายใน NFT แล้วมันก็มีความสร้างสรรค์ใน Story และมีเรื่องของมูลค่าด้วย เนื่องจาก ผมเป็นศิลปิน 1 ใน 10 ถึง 20 คนแรกๆ ของไทยมั้งครับ ที่เราขายงานได้ 1 Ethereum (ETH คือ เงินดิจิทัลเป็น Cryptocurrency สกุลหนึ่ง ) ได้ ซึ่งในเวลานั้น มันมีมูลค่า 120,000 บาท ถึง 130,000 บาทมั้งครับ ก็ถือว่าเยอะมากครับ เราคาดไม่ถึงว่าเราจะขายได้ถึงขั้นนี้ ก็เป็นอะไรที่เราก็ตื่นตาตื่นใจมากครับ” ตุ๊บอกเล่าถึงความรู้สึกยินดีในผลงานที่มีมูลค่าอย่างน่าประทับใจ
เอกลักษณ์ของงานที่ชัดเจน
ถามว่า ถ้าให้คุณมองเอกลักษณ์ สไตล์ในผลงานของคุณ คิดว่าคืออะไร
ตุ๊ตอบว่า “ส่วนใหญ่ ผมจะดีไซน์งานตัวเองว่าเป็น Pop Psychedelic Art ครับ คือคนทั่วไป คงรู้จัก Pop Art ใช่มั้ยครับ ที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ มีความเป็นการ์ตูน มีสีสันสดใส ย่อยง่าย เข้าถึงวิถีชีวิตคน แต่ Pop Psychedelic Art มี Element บางอย่าง ซึ่งผมก็นำเอาความเป็น Animation การขยับได้ มาผสมผสานด้วย ให้มันมีความแบบ Twisty นิดนึง ให้มันดูลายตา แต่ผมว่าพ่อแม่ผม จริงๆ แล้วก็อาจจะไม่ได้ชอบงานผมมาก แต่เขาก็สนับสนุนลูกคนนึง แต่ถ้าให้มาเสพงานเราเยอะๆ เขาก็บอกว่าเขาดูไม่รู้เรื่อง มันดูลายตาไปหมดเลย” ตุ๊บอกเล่าอย่างอารมณ์ดี
และกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนมุมมองของเขาเองนั้น เขามองว่า งานของตนเองมีข้อดีที่ความลายตานั้นทำให้คนหลงใหลไปกับสีสันที่มันเคลื่อนไหวในงานของเขา
“ถ้ามีคนหลงรักในงานของเราจริง เขาก็จะใช้เวลาดื่มด่ำไปกับงานของเรามากขึ้นนานกว่าปกติ เพราะถ้าเราทำงานที่เสพง่ายเกินไป ผมมองว่าในทางจิตวิทยานะ คนอาจจะมองงานเรา แค่ 3-4 วินาที แล้วก็เลื่อนฟีดทิ้งไปแล้ว เขาอาจมองแค่ว่า ‘สวยดี จบ’ แต่ถ้างานมันมีดีเทลที่น่าสนใจ มันทำให้คนหยุดดูได้มากกว่าแค่ 3-4 วินาที ผมก็ดีใจแล้วครับ” ตุ๊ระบุถึงหนึ่งในเอกลักษณ์ของงานที่เขานำมาใช้ดึงความสนใจของผู้คน
ถามว่า นอกจากสีสันอันจัดจ้าน สดใส สะดุดตาที่ปรากฏอยู่ในผลงานของคุณแล้ว ยังมีกลิ่นอายของความเป็น Street Art หรือกราฟฟิตี้ โดยส่วนตัวแล้ว คุณทำงานกราฟฟิตี้มาบ้างหรือไม่
ตุ๊ตอบอย่างชัดเจนว่า “เคยครับ เคยพ่นกำแพง แล้วก็เคยทำงานร่วมกับแบรนด์เสื้อผ้าที่เขาเป็นสาย Street หรือไม่ก็เคย Custom รองเท้า แล้วก็เคยออกแบบปกเพลงให้กับ Rapper ที่อเมริกาครับ ก็จะมีความ Street Culture เบื้องหลังผมที่ไม่ค่อยมีใครรู้ก็คือ ผมเป็นคนที่เต้น B-boy ด้วย ( หมายเหตุ : หนึ่งในวัฒนธรรม Hip-Hop มีการเต้น Break dance หรือ B-boy : Hip-Hop มีองค์ประกอบที่เรียกขานกันว่าเป็น The Fifth element อาทิ MC, ดีเจ, นักแต่งเพลง, บี-บอย , บี-เกิร์ล และการพ่นกราฟฟิตี วัฒนธรรม Hip-Hop นับเป็นหนึ่งใน Street Culture ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ) คือผมเต้น B-boy มา 14-15 ปี แล้วครับ ทุกวันนี้ก็ยังเต้นอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เต้นมากแล้ว เพราะว่าปวดหลัง
“แต่ว่าผม Passionic กับ Culture ของมันมากๆ เพราะเราอยู่กับมันมาตลอด เราไม่ได้แค่แบบเห็นว่า Street Art เป็นเทรนด์ แล้วก็ทำตาม แต่ว่าผมคุลกคลีอยู่กับเพื่อนแก๊งเต้นตลอด เวลาไปออกงานเต้น หรืองานพ่นกำแพง เราก็อยู่ตรงนี้มานานแล้ว เราก็อยากทำบ้าง ดังนั้น คำถามที่ถามมา ผมตอบว่า ‘ใช่ครับ’ งานผมก็จะมีความเป็นสตรีทบ้าง แต่มันก็ยืดหยุ่นครับ มันจะสตรีทก็ได้ illustration ก็ได้ อย่างที่ผมบอกว่า ถ้าเราวางตัวเป็นศิลปิน เราจะสร้างงานของเราไว้บน Platform ไหนก็ได้ ตราบเท่าที่คนยังสนใจในอัตลักษณ์ของเราที่มันชัดเจนจริงๆ” ตุ๊ระบุ
ประสบการณ์ในโลก NFT
ถามว่าเมื่อไหร่ที่คุณตัดสินใจขายงานผ่าน NFT เพราะอะไร
ตุ๊ตอบว่า “เริ่มมาจากปลายปี ค.ศ.2020 ครับ คือเป็นช่วงที่ผมจัดแสดง Exhibition ของตัวเองเสร็จ ผมก็เริ่มรู้จัก Connection ที่ต่างประเทศเยอะ แล้วก็มีเพจการ์ตูนของอเมริกาเขาก็ติดต่อมาว่าสนใจทำ Artwork ให้เค้าไหม แล้วเป็น Animation เป็นภาพขยับ เราก็คุยกับเขา ทำงานให้เขา แล้วผลตอบรับดีมาก เรทติ้งดี เมื่อผ่านไป ถึงเดือนมกราคม 2021 เขาก็ทักมาอีกรอบนึงว่า สนใจจะทำ NFT ไหม แล้วเขาจะจ่ายเงินเป็นคริปโตฯ นะ (Cryptocurrency) คือ ตอนนั้น ผมไม่รู้เลยว่าเขาหมายถึงอะไร ผมแค่อ่านข้อความเขา แล้วคิดว่าเขาคงไม่มาทวงอะไรเรา แล้วศัพท์ที่เขาใช้ ผมรู้สึกว่ามันดูเป็นศัพท์เทคนิคเกินไป เหมือนเป็นภาษาของวิศวฯ คอมพิวเตอร์ เป็น Computer Engineering ของ Blockchain อะไรแบบนั้น ผมก็เลยไม่อยากไปแตะต้อง แต่พอเพื่อนๆ ผม ที่เป็นชาวต่างชาติ เขาเริ่มมาขาย NFT กันมากขึ้น เราก็เริ่มแบบ ‘เอ๊ะ! เฮ้ย! เพื่อนเราก็ขายว่ะ’
“ผมก็เลยทักไปถามเขา ว่า NFT มันคืออะไร ทำยังไง เขาก็บอกว่า มันเป็นเหมือนการขายภาพดิจิตอลเลย แต่มันขายเหมือนพวกบิทคอยน์ รู้จักไหม ผมก็พอรู้จักบิทคอยน์มาบ้าง ก็เลยเริ่มเข้าใจ ( หมายเหตุ : Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิตอลประเภทหนึ่ง ใช้เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม ซื้อขายแลกเปลี่ยน ผ่านระบบเทคโนโลยีบล็อคเชน ) มันก็ค่อนข้างใกล้ตัวเรา ในฐานะคนที่วาดงาน Digital Arts มาก่อน
“ผมก็เลยเริ่มศึกษา คือมันก็ง่ายนะ เราก็ใช้เวลาทุ่มเทกับมัน ศึกษากับพวก Collector ในไทย หรือเรียกว่านักลงทุนในไทยที่เขามีความเข้าใจทางด้านนี้ จากนั้น ประมาณเดือนมีนาคม 2021 ผมก็เริ่ม Mint งานขาย หรือเรียกว่า อัพโหลดงานในแพลทฟอร์มของ NFT เพื่อขายงานเป็นครั้งแรกในช่วงมีนาคม เมษายน แต่คนเริ่มรู้จักผมในเดือน พฤษภาคม 2021 ครับ” ตุ๊บอกเล่าถึงช่วงเวลาที่เริ่มขายงาน NFT
ศิลปินไทย คนแรกๆ ที่ขายงานได้ถึง 1 ETH
ถามว่า เมื่องานของคุณ ขายได้ถึง 1 ETH คุณก็ได้รับเสียงกล่าวขานว่าเป็น ศิลปินไทยคนแรกๆ ที่ขายงานได้ในราคาสูง คุณคิดว่าเพราะอะไร จึงมีนักสะสมซื้องานของคุณในราคาสูงถึงขนาดนั้น
ตุ๊ตอบว่า “ในความรู้สึกผม ผมมองว่าประเทศไทย คนไทยเรามีบุคลากรที่มีคุณภาพ ทำงานได้สร้างสรรค์ มีเอกลักษณ์และโดดเด่นมากๆ แต่สิ่งที่เราขาดไป คือโอกาสในการถูกมองเห็น เพราะในงานของสายอาร์ต เราจะถูกมองเห็นก็ต่อเมื่อเราต้องได้เข้าไปแสดงงานในแกลเลอรี่ แล้วถ้าเราเครดิตไม่ดีพอเราก็ไม่ได้เข้าถึงการจัดแสดงในแกลเลอรี่ หรือแม้แต่หากไม่มีคอนเนกชั่นบางอย่าง ดังนั้น จึงกลายเป็นว่า คนเก่งไปอยู่ตรงไหน มีที่ยืนให้เขาไหม นอกจากการที่ว่ารู้จักกัน ถึงไปด้วยกันได้ มันไม่ใช่ใครก็ได้ แต่เมื่อเป็นพื้นที่ของ NFT เกิดขึ้นมา คือแพลทฟอร์มที่ขายหลักๆ แล้วมันชื่อ Opensea นะครับ ( หมายเหตุ : Opensea คือ แพลตฟอร์มตลาดที่สร้างขึ้นมา เพื่อใช้ในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนงานศิลปะ NFT -Non Fungible Token)
ซึ่งนิยามมันก็เป็นอย่างนั้นเลยครับ Opensea มันคือทะเลที่เปิดกว้าง มันคือทะเลที่กว้างใหญ่ ที่ทุกคนมาอยู่ร่วมกันในนี้และคนทั่วโลกสามารถมองเห็นศักยภาพของคนไทยได้มากขึ้น มันกลายเป็นว่าทั้งสายดิจิตอล หรืองานแนวเพนท์ ก็ได้รับการมองเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เข้าใจเทคโนโลยีและบล็อคเชนมากขึ้น
ซึ่งผมว่านั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมถูกรู้จัก และอีกส่วนนึงคือผมทำการตลาดจริงจัง” ตุ๊ระบุถึงหนทางของเขาในการก้าวเข้าสู่โลกของการขายงานศิลปะ NFT ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า
“เมื่อเข้าไปในโลกของการขายงาน NFT ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวนะครับ แต่คนทำงาน NFT ทุกวันนี้ จะเริ่มซึมซับโดยอัตโนมัติ คือทุกคนจะมีหัวการตลาด จะคิดวางแผนว่าจะปล่อยงานเมื่อไหร่ คนจะเห็นไหม ช่วงเวลานี้ ค่าเงินประมาณนี้ หรือถ้าเราทำงานแนวนี้ คนจะอยากซื้อไหม นอกจากนั้น เรายังมีลูกเล่นเรื่องการลดราคา หรือมีลูกเล่นอื่นๆ ที่เพิ่มมูลค่าให้งานเรา และเมื่อมีคนซื้องานเรา กลยุทธ์พวกนี้ก็ถือว่ามีผลสำคัญมาก”
Motto ประจำใจ
ตุ๊เล่าว่า เขาเคยคิดมาเสมอมา ตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร ( คณะมัณฑนศิลป์ สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ ) ว่าศิลปินไม่จำเป็นต้องวาดรูปเพียงอย่างเดียว แล้วรอให้คนมาเห็นงานของตนเอง แต่ตุ๊มี Motto สำคัญ ที่เขายึดถือเป็นคติสำคัญในชีวิตเสมอมาว่า
‘เราจงเป็นกระบอกเสียงให้ตัวเอง แม้ว่าเขาไม่เห็นงานเรา ไม่เห็นคุณค่างานของเรา เราก็จงตะโกนออกไปให้เขาได้ยินให้ได้ ว่าเราทำอะไรได้บ้าง’
ถามว่า แม้คุณจะขายงาน NFT แต่ขณะเดียวกัน คุณก็ยังจัดแสดงงานในแกลเลอรี่ การซื้อขายงานในสองรูปแบบ เหมือนหรือต่างกันยังไง
ตุ๊ตอบว่า “ผมว่า มัน Blend-in หากันแล้วครับ เพราะว่าคนที่สะสม NFT นอกจากเขาได้งานในบล็อกเชนที่มีการขายงานดิจิตอลแล้ว หลังๆ เขาก็เริ่มสนใจในเรื่องของความ ‘จับต้องได้’ เพราะฉะนั้น ช่วงปลาย ค.ศ.2022 ถึงช่วงต้นปี 2023 จึงมีศัพท์ใหม่ของวงการ NFT เรียกว่า ‘Phygital’
มันคือคำสมาสของคำว่า "Physical" กับ "Digital" น่ะครับ”
เปิดประสบการณ์สู่งาน ‘Phygital’
ตุ๊เล่าว่า Phygital คือการสร้างประสบการณ์ให้กับนักสะสมในแบบผสมผสาน คือ คุณได้ NFT ไปในบล็อกเชนไม่พอ คุณอาจจะได้ของแถมที่เป็นของ Physical ที่เปรียบเสมือนสิ่งแทนความเป็นเจ้าของของคุณด้วย
“ซึ่งมันก็มาผนวกกับช่วงนี้ ที่ผมทำงานจัดแสดงในแกลเลอรี่มากขึ้น หรืองานจัดแสดงงานแนว Phygital เพราะนักสะสมงาน NFT ของผม บางคนก็อาจจะมาชมงานในแกลเลอรี่ บางคนก็อาจจะไม่ได้มา เพราะส่วนมากนักสะสม NFT ของผมเป็นชาวต่างชาติ เขาอาจจะมาไม่ได้ ก็เน้นอุดหนุนจากระยะไกลแทนครับผม”
อดถามไม่ได้ว่างานของคุณที่ขายผ่าน NFT มีเอกลักษณ์ คืองานหลายชิ้นมีลูกเล่น ขยับได้ แล้วหากเป็นงานที่ขายในแกลเลอรี่ หรืองาน On-site เช่นนั้นแล้ว จะทำงานร่วมกับชิ้นงานที่ขยับได้ในโลกดิจิตอลอย่างไร
ตุ๊ตอบว่า “ผมขอยกตัวอย่างเช่น Exhibition ล่าสุด ที่ผมจะจัดแสดง วันที่ 23 พฤษภาคม นี้ครับ โดยร่วมกับรถไฟฟ้า MRT ในงาน Exhibition นี้ ผมก็จะมีการผสมโลกเสมือนเข้าไปด้วย คือเราทำงานแนวเพนท์ เช่น ตัวอย่างงานชิ้นนึง ผมทำเป็นงานเพนท์ติ้ง จากนั้นมันจะมีส่วนต่อของชิ้นงานที่สามารถเข้าไปเสพงาน เข้าไปดูงานผ่าน AR ได้ (AR : Augmented Reality เป็นเทคโนโลยีการผสมผสานโลกเสมือน (Virtual World) เข้าไปในโลกจริง Physical World ) ก็คือมันจะเป็นภาพขยับในจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งลูกเล่นนี้ มันจะต่อเนื่องกับชิ้นงานที่เพนท์ เพราะฉะนั้น มันก็สร้างประสบการณ์ให้กับคนที่เสพงานขึ้นไปอีกขั้น คนที่เสพงานเพนท์จากมือเรา ไม่เพียงแค่ได้ชมงานแบบเป็นความ Handcraft แต่เขายังได้รับประสบการณ์ในแบบที่มีความเป็นเราในแบบที่เป็นที่รู้จักจาก NFT ก็ยังมีกลิ่นอายแบบนั้นอยู่ครับ” ตุ๊ระบุถึงเอกลักษณ์และลูกเล่นในงานศิลปะของเขาที่จะปรากฏให้เห็นใน Exhibition ล่าสุด
ตุ๊ขยายความถึงนิทรรศการล่าสุดของเขาว่า เป็นโปรเจ็กต์ Collaboration ร่วมกันระหว่างตัวเขาเองและ Metro Art พื้นที่ Art Space ในสถานีรถไฟฟ้า MRT พหลโยธิน
“ ในวันที่ 23 พฤษภาคมถึงปลายเดือนสิงหาคมนี้ สถานี MRT พหลโยธิน ก็จะถูกตกแต่งด้วยผลงานของผมเอง มีห้องแกลเลอรี่ 1 ห้อง ที่ผมจะนำงานของผมไปจัดแสดง มี NFT ขาย มีภาพเพนท์ขาย มี Art fair ขาย มีทุกอย่างที่ผมทำได้ อย่างที่ผมบอกว่า ผมชอบทำหลายๆ อย่าง ตราบใดที่มันเป็นสไตล์งานตัวผมเอง ก็มีมาขาย มาโชว์ มาจัดแสดง ใครสนใจก็เข้าไปติดตามและแวะเข้าไปดูได้ครับ มีอะไรสนุกๆ ให้ดูเยอะแยะเลย เช่น มีงานแนวที่ต้องสวมแว่น 3D ด้วย ใส่แว่นตาสีแดงน้ำเงินให้คนเห็นว่า ‘เฮ้ย! งานมันสามารถเปลี่ยนเป็นสองภาพได้นะ’ หรือภาพมันสามารถพลิกได้ เมื่อเดินผ่านไป ผ่านมา ภาพมันสามารถเปลี่ยนได้ แล้วก็มีแบบ AR อย่างที่ผมบอก สามารถหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา ภาพสามมิติก็จะพุ่งขึ้นมา แล้วก็มีงาน Artwork มีงานเพนท์ติ้งชิ้นใหญ่ๆ Art toy ก็มีครับ”
ศิลปินไทย กับงาน NFT
ถามว่าในความเห็นของคุณ คิดว่าศิลปินไทยที่ขาย NFT ณ เวลานี้ เป็นที่นิยมขนาดไหนในระดับสากล
ตุ๊ตอบว่า ศิลปินไทยเป็นที่นิยมมาก ผลงานของศิลปินไทยบางคนก็ถูกนำไปจัดแสดงที่นิวยอร์ค ถูกนำไปโชว์ที่ไทม์สแควร์ ล่าสุด ตุ๊ก็ไปจัดแสดงงาน NFT ร่วมกับศิลปินที่สิงคโปร์ ตุ๊ย้ำว่า ชาวต่างชาติได้เห็นว่าคนไทยมีศักยภาพ และงาน NFT ไทยก็เติบโตไปมาก กระนั้นก็ตาม ตลาดเทรดเหรียญ Cryptocurrency ที่มีความผันผวนก็ส่งผลกระทบต่อ NFT เช่นกัน
“ถ้าพูดตรงๆ ในตอนนี้ สถานการณ์ของคริปโตฯ ก็ส่งผลกระทบต่อ NFT เหมือนกัน ถ้าค่าเงินตก คนก็ไม่มีกำลังมาจับจ่ายใช้สอย NFT ซึ่งผมมองว่า NFT มันก็คืองานศิลปะนั่นแหละครับ คุณจะซื้อได้ก็ต่อเมื่อคุณมีเงินพอ ศิลปะมันถูกจัดเป็นของฟุ่มเฟือย คือซื้อเพื่อสะสม เว้นแต่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนในงานศิลปะจริงๆ พวกนี้ก็จะเก็งกำไร ดูเทรนด์ของศิลปะ ศิลปิน ว่าศิลปินคนนั้นๆ กำลังจะเติบโต ก็ต้องรีบมาซื้อเก็บไว้ก่อนที่ราคาจะแพงขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า นักสะสมแบบนี้ก็มีอยู่ส่วนนึงครับ แต่ส่วนมาก คนจะมองว่า NFT คืองานศิลปะที่ซื้อเพื่อเสพเป็นความสุขทางใจ
“เพราะฉะนั้น ถ้าสถานการณ์การเงินไม่ดี ก็มีผลกระทบครับ คนก็สะสมงานน้อยลง ซึ่งมันก็เป็นเหตุผลให้ผมผสมผสาน ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ คือทำงานออกมา เป็น Phygital มากขึ้นอย่างที่ผมได้กล่าวไว้ เพื่อให้งานที่เป็นทั้งสิ่งที่จับต้องได้ และเป็นงาน NFT ด้วย ก็ทำให้ผมยังอยู่รอดได้และขายงานได้อยู่” ตุ๊ระบุถึงแนวทางที่เขานำมาใช้ในการขายงานศิลปะ
ฝากแง่คิด ก่อนก้าวสู่โลก NFT
ถามว่ามีอะไรอยากฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจขายงานผ่าน NFT หรืออาจจะยังขายงานไม่ได้ แล้วรู้สึกท้อ
ตุ๊ตอบได้อย่างน่าสนใจ “ผมว่า ช่วงแรกมักจะยากเสมอ เหมือนครั้งที่ผมทำในช่วงแรกๆ ก็ยาก ผมกำเงินไว้แค่ 2-3 หมื่นบาท ที่ผมเก็บออมมา ตอนนั้นก็ยังไม่มีรายได้อะไรมาก แม้เราจะเป็นศิลปิน Digital Arts แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าการลงทุนครั้งนี้ มันจะคุ้มกับชีวิตเราหรือเปล่า เราก็จะมีความกังวลใจว่ามันจะเวิร์คไหม ผมก็อยากบอกว่า ‘ให้กล้าทำ แต่กล้าทำในแบบที่ระมัดระวังตัวเอง’ ก็คือ เราต้อง Make Sure ว่า สถานะทางการเงินเราพร้อมที่จะเสี่ยงไหม เพราะโลกของศิลปะ มันก็คือโลกของการลงทุนเหมือนกันครับ การเป็นศิลปิน เราต้องมีการวางแผน มีการลงทุน
“อย่างเช่น ปีที่แล้ว ผมไปอยู่เยอรมัน ไปจัดแสดงงานด้วย แล้วก็ไปเรียนด้วย ผมก็มองว่านี่คือการลงทุนชีวิต เอาประสบการณ์ เอาการเรียนรู้ที่เราได้รับมาจากครั้งนั้น เอาเครดิตจากการที่เราจัดแสดงงานที่นั่น มาเป็นเครดิตเสริมในการจัดแสดงงานที่ไทยด้วยครับ ผมมองเป็นระยะไกลเลยว่า มันคือการลงทุน มันไม่ใช่แค่การทำเอาสนุกเอาเท่ แต่ทุกการกระทำมีผลเสมอ ดังนั้น คุณก็ต้องกล้าที่จะทำ ผมขอบอกกับคนที่สนใจเลยครับว่า ให้กล้าอย่างระมัดระวังครับ”
ตุ๊เน้นย้ำอย่างหนักแน่น ด้วยถ้อยความที่ไม่เพียงให้แรงบันดาลใจแต่ยังให้แง่คิดและมุมมองที่มีประโยชน์ แก่ผู้สนใจขายงานศิลปะในรูปแบบ NFT ที่นับวัน ศิลปินทั้งรุ่นใหญ่-รุ่นใหม่ต่างก็กระโจนเข้าร่วมใน Platform แห่งโลกยุค Digital นี้อย่างท่วมท้นและแพร่หลายไปทั่วทั้งโลก
………
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : ณัชพล ตุ๊เสงี่ยม