ตามที่มีข่าวการซื้อขายปลาฉลามหนาม Echinorhinus brucus ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "แพปลาลุงนิล ภูเก็ต" ซึ่งจับได้จากบริเวณห่างฝั่งของเกาะราชาน้อยไปทางทิศใต้ 40 ไมล์ทะเล งานนี้ทำเอาคนในโซเชียลและสังคมนักอนุรักษ์ออกมาปกป้องพร้อมแสดงความเป็นห่วงเมื่อสัตว์ทะเลหายากถูกจับมาขาย แทนที่จะอวดความสวยงามอยู่ในท้องทะเล และสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ
วันนี้ (19 พ.ค.) นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เปิดเผยว่า วานนี้ (18 พ.ค.) ภายหลังจากที่ทราบข่าวว่ามีการประกาศซื้อขายปลาฉลามหนามในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตผ่านเพจเฟซบุ๊ก ตนรู้สึกเป็นกังวลใจอย่างมาก จึงมอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูล จากการประสานเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าชาวประมงได้มีการจับปลาฉลามหนามในเขตทะเลที่ห่างฝั่งไป 40 ไมล์ทะเล จึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งเชิงพื้นที่และชนิดพันธุ์
“อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ฉลามดังกล่าว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เร่งประชาสัมพันธ์ไปยังชาวประมง นักตกปลา นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป หากท่านจับปลาฉลามชนิดนี้ได้ ขอให้ปล่อยฉลาม และไม่ควรนำเนื้อฉลามหนามมาบริโภคเพราะอาจทำให้ได้รับสารพิษ ได้แก่ ปรอท แคดเมียม สารหนู ซึ่งหากร่างกายสะสมสารเหล่านี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง โรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และโรคเกี่ยวกับระบบประสาทได้”
นายอภิชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปลาฉลามหนามนั้นจะหากินบริเวณพื้นทะเลน้ำลึก 400-900 เมตร แต่อาจพบเข้ามาหากินบริเวณน้ำตื้นเป็นครั้งคราว พบแพร่กระจายทั่วโลกในเขตร้อนถึงเขตอบอุ่น บริเวณลำตัวมีสีม่วงน้ำตาลหรือดำ ขนาดโตเต็มวัยยาว 3.1 เมตร อย่างไรก็ตาม ในระดับโลกพบประชากรปลาฉลามชนิดนี้มีจำนวนลดลงจนใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง จึงจัดเป็นสัตว์ทะเลหายากที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เป็นนักล่าสัตว์น้ำในอันดับต้นๆ จะกินสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ที่กินสัตว์น้ำขนาดเล็กซึ่งทำให้เกิดความสมดุลของความหลากหลายในระบบนิเวศในบริเวณนั้นๆ การมีอยู่ของฉลามจึงเป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในบริเวณนั้น
นายอภิชัยกล่าวอีกว่า กรมฯ พร้อมจะร่วมมือกับกรมประมงในการหาแนวทางการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์ปลาฉลามหนาม พร้อมทั้งเร่งศึกษาสถานภาพของฉลามชนิดนี้ เพื่อเสนอเป็นสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ตลอดจนออกแบบมาตรการในการอนุรักษ์ในเชิงพื้นที่ โดยปัจจุบันกรมฯ อยู่ระหว่างการจัดทำพื้นที่คุ้มครองทางทะเลบริเวณไหล่ทวีปทางฝั่งตะวันตกของจังหวัดภูเก็ตและอันดามันตอนบน ซึ่งหากแล้วเสร็จจะมีส่วนช่วยรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาฉลามหนามและชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่หายากอื่นๆ ได้เป็นจำนวนมาก
นายอภิชัยกล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกัน ได้มีการร้องเรียนจากประชาชนมายังเพจเฟซบุ๊กกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าพบการจำหน่ายปลานกแก้ว บริเวณตลาดเงินวิจิตร แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ตนได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 ร่วมกับกองป้องกันและปราบปรามลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว จากการตรวจสอบในตลาดพบมีการจำหน่ายปลานกแก้ว จำนวน 5 ร้าน จึงได้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าของร้านและทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ รณรงค์ร่วมกันไม่สนับสนุน ไม่ซื้อ ไม่รับประทานปลานกแก้ว เนื่องจากปลานกแก้วมีประโยชน์ในการสร้างสมดุลของระบบนิเวศแนวปะการัง
“สำหรับปลานกแก้ว เป็นปลาทะเลที่มีปากคล้ายนกแก้ว สีสันสวยงาม จึงมีผู้นิยมจับมาดูเล่นและนำมาเป็นอาหาร ทำให้ประชากรปลานกแก้วลดลง ส่งผลกระทบระบบนิเวศโดยรวมเสียสมดุล ปะการังตายมากขึ้น ฟื้นตัวช้า เพราะปลานกแก้วมีหน้าที่สำคัญคือการกินสาหร่ายที่มักขึ้นคลุมแนวปะการังหลังปะการังตายจากเหตุปะการังฟอกขาว ถ้าไม่มีปลานกแก้ว สาหร่ายจะขึ้นคลุมพื้นที่ทำให้ตัวอ่อนปะการังไม่มีที่ลงเกาะ แล้วก็จะไม่มีปะการังตัวอ่อนมาทดแทนตัวเก่า จึงทำให้ปลานกแก้วเป็นสัตว์ทะเลที่ต้องอนุรักษ์ และมีการรณรงค์ให้หยุดกิน”
นายอภิชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ยังไม่มีกฎหมายออกมาคุ้มครองปลาฉลามหนามและปลานกแก้ว แต่สัตว์ทะเลทั้งสองชนิดนี้ถือเป็นสัตว์ทะเลที่หายากควรคู่แก่การอนุรักษ์ หากจับมาขายหรือซื้อมาเพื่อรับประทาน อาจจะสร้างความเสียหายแก่ความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล ดังนั้น ตนขอความร่วมมือจากชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประมงต่างๆ โดยเฉพาะเรือตกเบ็ด หากตกได้อยากให้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม และประชาชนไม่ควรสนับสนุนการซื้อขายมารับประทาน เพราะฉะนั้น เราควรช่วยกันเป็นหูเป็นตา ช่วยเจ้าหน้าที่สอดส่องดูแลทรัพยากรทางทะเลและสัตว์ทะเลหายาก ไม่ให้ถูกกระทำด้วยผู้ที่หวังแต่ผลประโยชน์ ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศทางทะเลในอนาคต พร้อมกันนี้ ตนขอย้ำว่าหากพบเจอเหตุการณ์แบบนี้อีก ให้รีบแจ้งเบาะแสมายังสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร. 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่จะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบได้ทันท่วงที