xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยว “ไชน่าทาวน์” สมัย ร.๖ ไปกับ “นิราศชมสำเพ็ง”! ยังไม่รู้จัก “เซียงกง” ตรอกที่ดังคือ “อาจม”!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรท บนนาค



นิราศ คืองานประพันธ์ที่มักมีเนื้อหาเชิงพรรณนาถึงการเดินทาง เล่าสิ่งที่พบเห็นและสอดแทรกความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างนั้น นิราศบางเรื่องจึงเหมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ในรูปแบบร้อยกรอง เช่น “นิราศลอนดอน” ของ หม่อมราโชทัย ในคณะราชทูตไทยชุดแรกที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ ๔ หรือบันทึกบ้านเมืองในอดีตให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในภายหลัง อย่าง “นิราศชมตลาดสำเพ็ง” ของ นายบุศย์

นายบุศย์ เป็นใครไม่มีหลักฐาน แต่จากงานเขียนบอกให้ทราบว่าเป็นคนทำมาหากินกับการเขียนกลอนขาย งานส่วนใหญ่จะพิมพ์ที่ “ร้านนายสิน” ซึ่งเป็นร้านขายหนังสือและพิมพ์หนังสือขายอยู่แถววัดเกาะ และน่าจะอยู่ในฐานะตกยาก เพราะเขียนไว้เองว่าหยิบยืมเงินนายสินเป็นประจำ นายบุศย์แต่งนิราศเรื่องนี้ไว้ราว พ.ศ.๒๔๖๔ เพราะมีหลักฐานที่หอสมุดแห่งชาติว่า นายบุศย์ได้นำหนังสือ “นิราศชมตลาดสำเพ็ง” มอบให้หอพระสมุดเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๔ สมัยรัชกาลที่ ๖

เริ่มต้นของนิราศเรื่องนี้ นายบุศย์ออกจากบ้านที่ถนนจักรเพชร แถวกระทรวงธรรมการ ซึ่งต่อมาก็คือกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งตอนนั้นตั้งอยู่ที่บ้านเก่าของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ซึ่งต่อมาเป็นตั้งของศาลรัฐธรรมนูญหลังเก่าด้วย เดินไปหน่อยก็ถึงสำนักของโรงไฟฟ้าวัดเลียบ นำเงินที่เก็บมาไปส่ง จากนั้นนายบุศย์พรรณาว่า
“สายรถรางวางระยะกะตลอด รางรถทอดริมทางข้างวิถี มีนายหมวดตรวจดูพวกกุลี ตามหน้าที่ไม่คลาดให้ขาดตอน พี่นึกพรั่นหวั่นใจด้วยไฟฟ้า มันแกล้วกล้าแรงฤทธิ์ดังพิษศร ถ้าสายขาดพาดตนที่คนจร ต้องม้วยมรณ์มิได้รอดตลอดวัน ฉันเดินห่างทางรถไอใจขยาด กลัวพลั้งพลาดชีวาถึงอาศัย”

สมัยที่มีรถรางใหม่ๆนั้นคนกลัวไฟฟ้ากันมาก บางคนไม่กล้าขึ้นรถราง เมื่อเห็นปลายสาลี่ของรถที่ยื่นขึ้นไปรับกระแสไฟฟ้าจากสายที่แขวนอยู่ด้านบน ก็มีประเกายไฟแลบเป็นระยะ และขณะที่เปิดเครื่องหน้ารถก็จะมีไอพุ่งออกมาเป็นควัน จึงเรียกกันว่ารถไอ

เมื่อออกจากสำนักงานไฟฟ้าแล้วก็เดินตรงมาทางพาหุรัด
 
“พอถึงแยกมรรคาพาหุรัด ดูแออัดหญิงชายที่ผายผัน ออกสลับซับซ้อนจรจรัล พัลวันรถล่องต้องระวัง แต่เดิมที่มีอยู่ประตูยอด ทางตลอดสำเพ็งตึกเก๋งตั้ง เกิดชำรุดทรุดรานทวารพัง อนิจจังสังขารไม่ทานทน”
ในยุคนั้นย่านพาหุรัดก็พลุกพล่านไปทั้งคนทั้งรถแล้ว และที่กล่าวถึงประตูที่พัง ก็คือ “ประตูสามยอด” ที่พังลงใน พ.ศ.๒๔๕๕

จากนั้นนายบุศย์ก็...

“สะกดจิตเดินตรงลงสำเพ็ง มีร้านรายขายสินค้าสารพัด ออกเยียดยัดครื้นครึกล้วนตึกเก๋ง พวกแม่ค้าพูดมากฝีปากเร็ง ออกแซ่เซ็งร้องขานประสานกัน ร้านจีนแสขายยาพ่อค้าใหญ่ ยาจีนไทยสารพัดที่จัดสรร จะซื้อยาแก้โศกวิโยคครัน ที่ผูกพันหมองไหม้มิได้วาย เขาบอกว่ายาจีนแสนั้นแก้โรค จะแก้โศกเช่นนี้ไม่มีขาย สุดผันแปรแก้โรคโศกกาย เลยผันผายตรมตรองหมองอุรา ดูแถวย่านร้านรายขายลูกไม้ ทั้งจีนไทยเหลือล้นผลพฤกษา มีส้มสุกลูกละมุดและพุทรา อีกน้อยหน่าลำไยมะไฟมะเฟือง กระท้อนห่อเงาะสละสับปะรด ลูกพลับสดลิ้นจี่สาลี่เหลือง แม่ค้าสาวขาวขำตาชำเลือง ทำยักเยื้องเล่ห์ลมดูคมคาย พี่ลองถามทรามวัยฉันไม่ต่อ กระท้อนห่อผ้าไว้เท่าไรขาย นางแม่ค้าตาช้อยชะม้อยอาย ทำชะม้ายเมินหน้าไม่พาที”
ของเขาวางอยู่เต็มแผงไม่ซื้อ จะไปซื้อลูกที่เขาห่อผ้าไว้ ดีที่เขาชะม้อยอาย เป็นสมัยนี้ก็คงโดนด่าไปแล้ว

“ถึงสะพานหันผันแปรแลดูแปลก เมื่อแต่แรกนามขนานสะพานหัน กรมโยธาสามารถฉลาดครัน คิดจัดสรรแนวถนนให้ผลมี ทำเปลี่ยนแปลงแต่งสถานสะพานโค้ง มีร้านโรงสองข้างทางวิถี พวกแขกเช่าขายผ้าสินค้าดี เจ๊กก็มีที่ขายลูกไม้จีน”
สะพานหันเดิมเป็นเพียงสะพานไม้แผ่นเดียว ข้ามคลองรอบกรุง สามารถหันไปแอบอยู่ข้างคลองได้เพื่อให้เรือผ่านได้ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างเป็นสะพานโครงเหล็กพื้นไม้โค้งให้เรือรอดได้ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงนำแบบสะพานในประเทศอิตาลีมาสร้างใหม่ เป็นสะพานไม้โค้งกว้าง มีห้องแถวเล็กๆอยู่สองข้างทางเดิน ให้เช่าเป็นที่ขายของ ส่วนสะพานในปัจจุบันสร้างใน พ.ศ.๒๕๐๕

“สาวแม่ค้าน่าชมไว้ผมโป่ง”

ผู้หญิงยุคนั้นนิยมไว้ผมโป่ง คือใช้ผมที่ม้วนเป็นก้อนหนุนให้ผมโป่งขึ้นมาแล้วเกล้าเป็นมวย ส่วนผู้ชายจะนิยมไว้ผมเป๋ คือผมที่แสกข้าง เลยเกิดคำร้องกันว่า “หวีผมเป๋ ไปจีบผมโป่ง”

“ดูร้านรายขายของทั้งสองแถว ล้วนเครื่องแก้วกาละมังทั้งหมวกสาน โคมญี่ปุ่นคนโทขวดโหลพาน ตะเกียงลานนาฬิกามีตรางู รูปพรรณเงินทองของต่างต่าง เขาจัดวางเอาไว้ที่ในตู้ ทั้งเพชรนิลจินดาล้วนน่าดู แหวนต่างหูสร้อยคอทั้งข้อมือ ดูแพรวพราวราววามงามระยับ เพชรประดับน้ำหิ่งห้อยงามน้อยหรือ”
สำเพ็งมีขายหลากหลายทั้งเพชรนิลจินดาจนถึงตะเกียงลาน

“ที่หัวเม็ดเข็ดแท้เมื่อแต่ก่อน นั้นมีบ่อนเจ็กฮงเป็นกงสี ฉันหลงเล่นเป็นบ้าทั้งตาปี จนป่นปี้วิบากได้ยากเย็น ต้องตัดขาดชาตินี้แล้วดีฉัน การพนันต่อไปไม่ขอเห็น พาให้ตัวชั่วช้าน้ำตากระเด็น ได้ลำเค็ญยากยับอัปรา”

จึงรู้ว่าที่นายบุศย์ตกยากจนต้องเขียนกลอนขายก็เพราะบ่อนเจ็กฮงนี่เอง แต่ก็ยังดีที่กลับตัวได้ไม่งมงายจนชีวิตต้องย่อยยับ

ย่านนี้ยังมีตรอกอีกมาก โดยเฉพาะที่แยกจากถนนเจริญกรุง ตรอกหนึ่งที่ดังในสมัยนั้น เรียกกันว่า “ตรอกอาจม” ที่ได้ชื่อน่ารังเกียจนี้ ก็เป็นที่เพราะลับตาคนหน่อยเลยใช้เป็นที่ถ่ายทุกข์กัน นายบุศย์ว่า

“ถึงปากตรอกอาจมอารมณ์เบื่อ ให้สุดเชื่อเหลือระอาเบือนหน้าหนี เหมือนรูปงามนามเหม็นเช่นสตรี โสเภณีรวยรื่นที่ชื่นชู อย่างนามบอกตรอกเว็จขี้ที่โสโครก”

ความจริงตรอกนี้มีชื่อว่า “ตรอกอาม้าเก็ง” ปัจจุบันคือ “ซอยบำรุงรัฐ” หรือ “เจริญกรุง ๑๒” แต่หลังจากมีการจัดสร้างส้วม ตรอกอาจมก็เลยหมดกลิ่น

อีกตรอกที่ดังต่อมา ก็คือ

“ลงสะพานที่ข้ามนามเขาบอก ว่าปากตรอกเซี่ยงกงคิดสงสัย เป็นชื่อจีนยากแท้แปลเป็นไทย ไม่เข้าใจที่จะแจ้งแสดงการ”
ตอนนั้นเซียงกงยังไม่ดัง นายบุศย์ก็เลยพรรณนาไม่ออก “เซียงกง” แปลเป็นไทยก็คือ “ปู่เจ้าเทวดา” ต่อมามีคนจีนที่อพยพเข้ามายึดอาชีพเก็บเศษเหล็กจากโรงงานต่างๆมาขาย มาหลอม จนกลายเป็นแหล่งขายอะไหล่เครื่องจักร เครื่องยนต์เก่า เซียงกงมาดังหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพราะกว้านเหมายานพาหนะที่ทหารทั้งฝ่ายสัมพันธมิตรและญี่ปุ่นทิ้งไว้มาชำแหละ จนร่ำรวยไปตามกัน
ยังมีตรอกชื่อแปลกอีกแห่ง คือ “ตรอกศาลเจ้าโรงเกือก” ซึ่งนายบุศย์เฉลยไว้ว่า

“ถึงศาลเจ้าโรงเกือกเป็นชื่อตรอก ถามเขาบอกให้ฟังคิดกังขา ไหนองค์อารักษ์อันศักดา มีสมญารองเท้าเป็นเจ้านาย พอนึกได้เขาบอกว่าตรอกนี้ เดิมมีโรงแถวเทือกเย็บเกือกขาย จึงตั้งชื่อลืออยู่ไม่รู้วาย ถึงหยาบคายเป็นนามตามตำบล”
 
“นิราศชมตลาดสำเพ็ง” ที่นายบุศย์พรรณนาไว้ก็พอทำให้เห็นภาพของ “ไชน่าทาวน์” เมืองไทยในยุคนั้นได้บ้าง ก่อนที่จะมาโด่งดังเรื่องอาหารและเป็นย่านท่องเที่ยวของโลกในวันนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น