xs
xsm
sm
md
lg

จะทำได้ไหม ทำได้หรือเปล่า? ส่อง 15 นโยบายของ “ก้าวไกล” เปลี่ยนเมืองไทยใน 100 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่องแผนงาน "พรรคก้าวไกล" สิ่งที่จะทำใน 100 วันแรกหากได้เป็นรัฐบาล ชูทำรัฐธรรมนูญใหม่ พิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียม กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ปัญหาชายแดนใต้

หลังผลการเลือกตั้ง 2566 อย่างไม่เป็นทางการ พรรคก้าวไกล เบอร์ 31 ภายใต้การนำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นำมาเป็นเบอร์ 1 คาดไม่พ้นได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

ทั้งนี้ หลายฝ่ายต่างจับตามองถึงประเด็นนโยบายที่พรรคสีส้มได้ใช้หาเสียงแก้ปัญหาเมืองไทย 100 วันแรกหากได้เป็นรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย 15 ข้อหลัก ได้แก่

1. ประชามติ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ปัญหาของรัฐธรรมนูญไทยฉบับ 2560 ในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นต้นตอของปัญหาการเมืองไทยที่เนื้อหาไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย ถูกเขียนโดยไม่กี่คนที่ คสช.แต่งตั้ง อันนำไปสู่การขยายอำนาจของสถาบันการเมืองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน อีกทั้งกระบวนการประชามติในปี 2559 ไม่เป็นไปตามมาตรฐานประชาธิปไตย

จึงอยากแก้ไขด้วยการจัดให้มีการทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าควรมีร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ภายใน 100 วันของรัฐบาลก้าวไกล

2. ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในชายแดนใต้

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ทหารและกองทัพได้เข้ามาแทรกแซงและทำลายพัฒนาการของประชาธิปไตยมาโดยตลอด เช่นการทำรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทหารและกองทัพมีอิทธิพลทางการเมือง ทำให้กองทัพอยู่เหนือรัฐบาลพลเรือนในหลายกระบวนการตัดสินใจ อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ใช้งบประมาณสูงเป็นลำดับต้นๆ ของภาครัฐไทยในแต่ละปี

จึงอยากแก้ด้วยการยุติการใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นคลี่คลายความรุนแรงและเปลี่ยนงบประมาณที่เกินความจำเป็นสู่ประโยชน์ของประชาชน

3. ประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคไม่มีใครตกงาน-เสียประโยชน์

เนื่องจากประเทศไทยเปิดให้ประชาชนสามารถเลือกผู้บริหารท้องถิ่น (เช่น นายก อบจ. / นายก อบต. / นายกเทศมนตรี) แต่ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดยังคงเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมักถูกแทรกแซงและควบคุมสั่งการอย่างไม่ถูกต้องได้ จนกระทบต่อการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการประชาชน

วิธีแก้จึงอยากเสนอให้มีประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามความเห็นชอบจากประชาชน ให้มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และโอนถ่ายอำนาจการบริหารจังหวัดไปสู่ท้องถิ่น

4. ยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช.ที่ล็อกคอ-ล้วงลูกท้องถิ่น

หน่วยงานท้องถิ่น เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด หากประชาชนมีปัญหาจะคิดถึงท้องถิ่นเป็นหน่วยแรก แต่ที่ผ่านมาการทำงานของหน่วยงานท้องถิ่นมีอุปสรรค ที่ทำให้ท้องถิ่นดูแลประชาชนไม่เต็มที่

คือ กฎหมายกำหนดการทำงานของท้องถิ่นว่าต้องทำด้านใดบ้าง ไม่มีความชัดเจน อาจทำให้ท้องถิ่นลังเลที่จะทำภารกิจนั้น เพราะอาจถูกสอบสวนหรือชี้มูลเอาผิดได้ กฎหมายให้อำนาจท้องถิ่นทับซ้อนระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง อาจทำให้สับสนว่าภารกิจนี้ใครจะทำ

ขอเสนอแก้ไขด้วยการยกเลิกคำสั่ง คสช. 8/2560 ที่เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของ อปท. ทำให้ท้องถิ่นขาดกำลังคน และยกเลิกระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ที่จำกัดอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและไม่จำเป็นต่อการบริหารราชการท้องถิ่น

5. ห้ามใช้เงินหลวงโปรโมตตัวเอง

ไทยได้รับการจัดอันดับปัญหาการทุจริตของภาครัฐประจำปี 65 โดยได้ลำดับที่ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก เช่น การรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อผ่านใบอนุญาตต่างๆ ให้แก่ภาคธุรกิจและประชาชน

ข้อมูลรัฐ ประชาชนเข้าถึงยาก และระบบอุปถัมภ์ในราชการ จึงขอแก้ไขด้วยการตรวจสอบการใช้งบประชาสัมพันธ์ภาครัฐอย่างเข้มข้น และจะต้องใช้งบการโฆษณาเพื่อโครงการหรือผลงานของหน่วยงานเท่านั้น ห้ามทำเพื่อบุคคล

6. กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน

โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนทุกคน แต่ปัจจุบันนักเรียนต้องเผชิญปัญหาความไม่ปลอดภัยทางร่างกาย เช่น ไฟดูด อาคารเรียนชำรุด หรือปัญหาสุขอนามัย เช่น ห้องน้ำไม่สะอาด ความไม่ปลอดภัยทางสภาพจิต เช่น ความเครียดจากการเรียนหนัก ภาวะซึมเศร้า หรือความปลอดภัยจากอำนาจนิยม เช่น การลงโทษด้วยวิธีรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการกลั่นแกล้งจากครูและนักเรียน

ก้าวไกลจะแก้ไขด้วย การออกกฎโรงเรียนต้องห้าม เพื่อไม่ให้โรงเรียนออกกฎที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียน เช่น การบังคับเรื่องทรงผม การบังคับซื้อของ พร้อมอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นให้เข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

7. ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันที

เช่นเดียวกันกับปัญหาด้านบน เด็กไม่มีความปลอดภัยจาก 3 ภาวะ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอำนาจนิยม จึงขอเสนอแก้ปัญหานี้อีกประการคือ การพักใบประกอบวิชาชีพครูทันทีหากมีการละเมิดสิทธิเด็ก เช่น การทำร้ายร่างกายหรือการละเมิดทางเพศ ไม่ใช่เพียงแค่ย้ายโรงเรียนหรืองดโทษ และขอแก้ปัญหาการปกปิดความผิดโดยโรงเรียนเมื่อเกิดเหตุการละเมิดสิทธินักเรียน และจัดให้มีผู้ตรวจการนักเรียนที่ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นช่องทางร้องเรียนที่เป็นอิสระ

8. เลิกให้ครูนอนเวร

ครูไทยไม่มีเวลามากพอให้กับห้องเรียนและนักเรียน และครูมีภาระงานมหาศาลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการเสอน รวมถึงการนอนเวรเฝ้ายาม ทำให้การทำงานด้านการสอนไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงอยากแก้ไขด้วยการยกเลิกให้ครูนอนเวรเฝ้าโรงเรียน เพื่อให้ครูจดจ่อกับการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่

9. ยกเลิกพิธีรีตองในการประเมินครู-รับแขก

ครูถูกกดทับด้วยอำนาจภายในโรงเรียน โดยผู้บริหารใช้งานนอกเหนือหน้าที่ และในช่วงเวลาของการเรียนการสอน เวลาส่วนใหญ่ของครูใช้ไปกับงานเอกสาร งานธุรการ การประเมิน/อบรม และเข้าร่วมโครงการที่ไม่จำเป็น

ทำให้ครูทุ่มเวลาให้การสอนไม่เต็มที่ จึงขอแก้ไขด้วยการยกเลิกพิธีรีตองที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนหรือการพัฒนาผู้เรียน (เช่น การจัดแต่งอาคารสถานที่ต้อนรับผู้ประเมิน) เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอน

10. เปลี่ยนนิคมสหกรณ์เป็นโฉนดทันที

ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนมากขาดเอกสารสิทธิหรือโฉนดในที่ดินที่ตนเองใช้ชีวิตและทำมาหากินมาหลายรุ่น โดยกว่า 1 ล้านคน กำลังประสบปัญหาข้อพิพาทที่ดินกับรัฐ นอกจากจะขาดความมั่นคงขั้นพื้นฐานในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว การขาดเอกสารสิทธิยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา เพราะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ ขาดแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาพื้นที่เพื่อผลตอบแทนในระยะยาว และไม่มีทางเลือกในการโอนสิทธิหรือขายที่ดินเพื่อย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า

ชาวดอยปุยเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2566 จึงขอแก้ไขด้วยการเร่งเปลี่ยนที่ดินนิคมสหกรณ์ทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นเอกสารสิทธิหรือโฉนดให้เกษตรกรและประชาชนทันที

11. หยุดบังคับติดตั้งระบบ AIS

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา การบังคับใช้ พ.ร.ก. ประมง และการดำเนินการนโยบาย IUU หรือการจัดการประมงที่ผิดกฎหมายตามเกณฑ์ของ EU ที่เป็นไปเร่งรีบ ไม่มีระยะเวลาให้เปลี่ยนผ่าน และใช้โทษทางกฎหมายที่รุนแรง สร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมงเป็นอย่างมาก

นอกจากเรื่องในอดีตที่ไม่ได้รับการแก้ไข ปัจจุบันก็ยังคงมีนโยบายที่เพิ่มภาระให้ชาวประมง เช่น นโยบายจากกรมสรรพสามิตที่พยายามให้ติดเครื่องติดตามเรือชื่อ AIS ให้เรือประมงพาณิชย์ทั้งที่เรือประมงพาณิชย์มีระบบติดตามจากกรมประมงอยู่แล้ว ซึ่งหากทรัพย์สินนี้เสียหาย เรือประมงต้องรับผิดชอบ

จึงขอแก้ไขด้วยการยกเลิกนโยบายกำหนดให้เรือประมงพาณิชย์ติดตั้งระบบ AIS ที่ซ้ำซ้อนกับ VMS ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เหลือเพียงระบบเดียว

12. “ค่าไฟแฟร์” ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน

ราคาค่าไฟสูงทุกบ้านเป็นเพราะมีการอนุมัติสัมปทานโรงไฟฟ้าให้ทุนใหญ่พลังงานเป็นจำนวนมาก สุดท้ายกลายเป็นประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่าความต้องการใช้ไปแล้วถึง 60% รัฐบาลไปทำสัญญาประกันกำไรให้กับกลุ่มทุนพลังงาน สุดท้าย ประชาชนจึงต้องแบกภาระค่าความพร้อมจ่าย หรือค่ามีโรงไฟฟ้าเกินความต้องการนั่นเอง

จึงขอแก้ไขด้วยการลดค่าไฟให้ประชาชนได้อย่างน้อย 70 สตางค์/หน่วย (เฉลี่ยบ้านละ 150 บาท) โดยปรับนโยบายเพื่อให้ความสำคัญต่อประชาชนก่อนกลุ่มทุน และเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับสัมปทานทุนใหญ่พลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง

13. “หลังคาสร้างรายได้” เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ประกันราคาซื้อพลังงานสะอาดสำหรับครัวเรือน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาค่าไฟพลังงานเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้เราต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงปีละหลายตัน รวมถึงหันไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและการผลิตพลังงานหมุนเวียน ประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมได้ เช่น การติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ ที่จะได้ทั้งช่วยโลกและลดราคาค่าไฟแพง เพราะผลิตไฟเองได้ แต่ราคาการติดตั้งยังสูงเกินเอื้อม

ก้าวไกลจึงขอแก้ไขด้วยการปลดล็อกให้ประชาชนทุกบ้านติดแผงโซลาร์ ด้วยระบบ net metering (หักลบหน่วยขาย/ซื้อ) เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้า และเปิดโอกาสให้ขายไฟฟ้าที่ผลิตเกินใช้ กลับคืนให้รัฐในราคาตลาด โดยให้ราคาที่สูงกว่าตลาด และประกันราคารับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ หากยังไม่มีตลาดที่ 2.2 บาท/หน่วย

14. ลดรายจ่าย SME: หักค่าใช้จ่ายเหมาภาษี เพิ่มจาก 60% เป็น 90%

SMEs มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันทำให้เกิด นวัตกรรม สินค้าและบริการใหม่ๆ และยังช่วยให้เกิดการจ้างงานในประเทศสูงถึง 12.7 ล้านคน ดังนั้น หาก SMEs เติบโต แปลว่าค่าตอบแทน โบนัส ค่าล่วงเวลาของลูกจ้างก็ต้องสูงขึ้น นั่นหมายถึงคุณภาพชีวิตของคนจำนวนมากก็ย่อมดีขึ้นเช่นกัน

แต่ปัจจุบัน SMEs ไทยมีสัดส่วน GDP เพียงแค่ 34% ของประเทศไทยเท่านั้น และธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยธุรกิจระดับเล็กที่ยังแข่งขันไม่ได้ โดยมีธุรกิจ SME จำนวนเพียง 1.4% เท่านั้นที่เป็น SMEs ขนาดกลางได้ แต่ต้องเจอต้นทุนในการทำธุรกิจ เช่น อัตราภาษีนิติบุคคลที่เท่ากับธุรกิจขนาดใหญ่
ก้าวไกลจึงขอแก้ด้วยการเปิดให้ SMEs หักค่าใช้จ่ายเหมาภาษีบุคคลได้เพิ่มเป็น 90% (จากเดิม 60%)

15. เพิ่มแต้มต่อให้ SME: หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน

ต่อเนื่องจากความสำคัญของ SMEs ที่ไทยมีเยอะมาก แต่ขาดสิทธิในการเติบโตอย่างเท่าเทียม ดังนั้น หาก SMEs จะสามารถเติบโตและเกิดการแข่งขันอย่างยั่งยืนได้ ก้าวไกลขอเสนอ เพิ่มลูกค้าให้ SMEs โดยการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนที่เลือกซื้อสินค้า SME ได้รับแถมสลากกินแบ่งของรัฐบาลไปลุ้นรางวัล

สำหรับคนซื้อ หรือประชาชนทั่วไป: เมื่อซื้อสินค้าจาก SMEs ครบ 500 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ (จำกัดไม่เกิน 2 ใบ/คน/เดือน และจำนวน 10 ล้านคน/เดือน) สำหรับคนขาย หรือผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ: เมื่อขายสินค้าครบ 5,000 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ


กำลังโหลดความคิดเห็น