xs
xsm
sm
md
lg

วัด-วังหาย กลายเป็น “ท่าเตียน”! จากตลาดเก่าที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ มาเป็นแหล่งดื่มกินท่องเที่ยว!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ถ้าพูดถึง “ตลาดท่าเตียน” คนจะนึกไปถึงยักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์วัดแจ้งทะเลาะกันจนทำให้พื้นที่ตรงนั้นเตียนราบ และยังเล่าว่าสาเหตุที่เพื่อนรักทะเลาะกันก็เพราะเหตุเบี้ยวเงินยืม นั่นก็เป็นอารมณ์ขันของคนโบราณ แต่คนเกิดทันยุคนั้นเล่าไว้ว่า บริเวณนี้เดิมเป็นที่ของวัดและวัง เรียกกันว่า “กลุ่มวังท่าเตียน” เช่นวังของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระชนกของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วังของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ผู้แต่งเพลง “ลาวดวงเดือน” ก็อยู่ตรงนี้ รวมทั้งโรงละคร “ปรินส์เทียเตอร์” ของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง บิดาของเจ้าจอมมารดามรกฏ พระมารดาของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม

ที่ได้ชื่อว่าท่าเตียนก็เพราะเกิดไฟไหม้ถึง ๓ ครั้งตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ และไหม้หนักในสมัยรัชกาลที่ ๔ ไฟได้ไหม้เรือนกรมหมื่นสุรินทรรักษ ต้นราชสกุล ฉัตรกุล ๒๘ หลัง โรงพระองค์เจ้ามหาหงส์ ๓ หลัง เรือนข้าราชการ ๑๓ หลัง และราษฎรอีก ๔๔ หลัง ศาลาวัด ๓ หลัง รวมทั้งโรงงานหลวง และไม้ที่จะใช้สร้างวังและพระอารามหลวงกว่าร้อยต้น จนบริเวณนั้นกลายเป็นที่ราบเรียบเตียนโล่ง คนทั่วไปจึงเรียกกันว่า “ ท่าเตียน”

ล่าสุดในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ได้ไหม้ “ตลาดมรกฎ” ซึ่งเป็นตลาดเล็กๆที่คู่กับตลาดท่าเตียนจนเตียนไปอีก ตลาดนี้สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ใน พ.ศ.๒๔๔๔ โดยราชสกุลเพ็ญพัฒน์ ชื่อของตลาดมาจากชื่อของเจ้าจอมมารดามรกฎ พระมารดาของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งของธนาคารกรุงไทย สาขาท่าเตียน

อีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงที่มาของชื่อ “ท่าเตียน” ว่า เดิมบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของชาวญวนที่อพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี คนญวนเหล่านี้อพยพมาจากเมืองฮาเตียน จึงเรียกที่อยู่ใหม่ของตัวว่า “ฮาเตียน” ไปด้วย เพื่อรำลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งเรื่องแบบนี้คนไทยที่อยู่บ้านแหลม เพชรบุรี อพยพหนีพม่ามาอยู่ที่สมุทรสาคร ก็เรียกที่อยู่ใหม่ว่าบ้านแหลมเหมือนกัน แต่คำว่า ฮาเตียน ไม่สะดวกปากคนไทย เลยเพี้ยนเป็น “ท่าเตียน”
 
หลังใจไฟไหม้แล้วก็ได้สร้างเป็นสถานที่การค้า เพราะย่านนี้นับว่าเป็นทำเลดีที่สุดในยุคนั้น นอกจากอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง มีชาววังที่มีฐานะดีออกมาจับจ่าย เรียกว่า “ตลาดท้ายวัง” หรือ “ตลาดท้ายสนม” แล้ว ยังเป็นท่าเรือที่นำสินค้าหลากหลายจากหัวเมืองรอบด้านมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งยังเป็นที่กระจายสินค้าที่มาจากสำเภาจีนไปยังหัวเมืองต่างๆ

ความสำคัญอีกอย่างของท่าเตียนก็คือ เป็นสถานีคมนาคมทางแม่น้ำเจ้าพระยาในยุคที่ยังไม่มีถนน นอกจากขนส่งสินค้าแล้วยังรับส่งผู้โดยสารไปยังหัวเมืองโดยรอบด้วย เรือโดยสารที่สร้างตำนานไว้นี้ก็คือ “เรือเขียว” “เรือแดง” ซึ่งเรียกกันตามสีเรือ เป็นเรือ ๒ ชั้นขนาดใหญ่ มีห้องเครื่องอยู่กลางลำ ห้องสุขาห้อยไว้ท้ายลำ ชั้นล่างบรรทุกสินค้า ชั้นบนเป็นที่นั่งที่นอนของผู้โดยสาร เพราะต้องเดินทางกันข้ามวันข้ามคืน แต่กติกานี้ก็ไม่เคร่งครัด บางครั้งสินค้ามากก็ล้นขึ้นไปชั้นบน ถ้ามีผู้โดยสารมากก็ล้นลงมาข้าล่าง ส่วนหลังคายังมีกรงเป็ดกรงไก่อีก และมีหลายสายที่ออกจากท่าเตียนไปบ้านแพน สุพรรณบุรี ชัยนาท บางสายก็ขึ้นไปถึงปากน้ำโพ นครสวรรค์ ส่วนลงใด้ก็ไปถึงพระประแดง แต่พอมีถนนเรือเขียวเรือแดงก็ต้องจบบทบาท เพราะรถเมล์ไปได้เร็วกว่าไม่ต้องนอนไปในเรือ เหลือแต่ชื่อ “ซอยท่าเรือเขียว” และ “ซอยท่าเรือแดง” ให้ระลึกถึงในปัจจุบัน

ท่าเตียนเติบโตและพัฒนาการไปตามกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ หลังเกิดไฟไหม้ใหญ่ โปรดเกล้าฯให้สร้างศาลต่างประเทศขึ้นที่ท่าเตียน สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีอารยธรรมตะวันตกเข้ามา ท่าเตียนก็มีตึก ๒ ชั้นสไตล์นีโอคลาสสิก เป็นผังอาคารรูปตัว U มีมุขกลางทั้ง ๓ ด้านเจาะเป็นทางเข้าตลาด มีรถรางเป็นทางคมนาคมทางบกวิ่งผ่าน ในสมัยรัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าให้สร้างเขื่อนริมแม่น้ำพร้อมกับตึก ๒ ชั้นสถาปัตย์นีโอคลาสสิกเลียบแม่น้ำ ๒๖ ห้อง ซึ่งอาคารเหล่านี้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้แล้ว ต่อมาเป็นต้นทางของรถเมล์สายท่าเตียน-ถนนตก ปัจจุบันรถไฟใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคลมีสถานีสนามไชยอยู่ใกล้ท่าเตียน ในแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีเรือด่วนเจ้าพระยา ไม่ได้แต่เรือเขียวเรือแดงอย่างในสมัยก่อน

ปัจจุบันกรุงเทพฯได้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของโลก ท่าเตียนก็พัฒนาไปด้วย ไม่ได้ขายแต่อาหารแห้งอาหารสดอย่างแต่ก่อนแล้ว มีคาเฟ่มากกว่า ๑๐ แห่ง มีร้านอาหารสไตล์ยุโรปและอาหารไทย เป็นแหล่งของนักดื่มที่ปล่อยอารมณ์ไปกับเสียงเพลงและสายน้ำที่มีพระปรางค์วัดอรุณและป้อมวิชัยประสิทธิ์เป็นฉาก ส่วนท่าเรือของท่าเตียนที่เคยมีนักเดินทางไปสุพรรณบุรี อยุธยา ปากน้ำโพ หรือพระประแดง ก็เนืองแน่นไม่ขาดสายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ข้ามฟากไปชมพระปรางค์วัดอรุณ
 
ตลอดระยะเวลา ๒๔๐ ปี ท่าเตียนยังก้าวไปพร้อมกับกรุงรัตนโกสินทร์มาตลอด






กำลังโหลดความคิดเห็น