xs
xsm
sm
md
lg

โรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียนร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี ลงนาม MOU พร้อมจัดงานประชุมวิชาการ “เซลล์บำบัดและเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม” ครั้งแรกที่กรุงเทพฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันที่ 18 เมษายน 2566 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ โรงพยาบาลคริสเตียนจางฮั่ว (Changhua Christian Hospital) ไต้หวัน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการแพทย์และสุขภาพ รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างไทย-ไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการตามความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 โรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียนได้ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี จัดงานประชุมวิชาการ หัวข้อ “เซลล์บำบัดและเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (2023 Taiwan and Thailand Cell Therapy and Regenerative Medicine Forum)” โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการจากไต้หวันและไทยมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ หวังให้ประเทศไทยสามารถใช้ประสบการณ์ของไต้หวันเป็นข้อมูลอ้างอิงในการกำหนดกฎหมายหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับเซลล์บำบัด (Cell Therapy) ในอนาคต  


ในปี 2561 ไต้หวันได้ผ่านร่างข้อบังคับเทคนิคการแพทย์เฉพาะทาง (Regulations of Special Medical Techniques) ทำให้เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Regenerative Medicine) กลายเป็นการรักษารูปแบบใหม่ เปิดให้ใช้เซลล์บำบัดในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์อื่นๆ ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green) ของรัฐบาลไทย ไม่เพียงแค่การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) และ เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Regenerative Medicine) เท่านั้นที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการพัฒนา โรคหายากและพันธุกรรมบำบัดก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน

โรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียนได้เล็งเห็นถึงแนวโน้มและความต้องการการพัฒนาทางการแพทย์ในระดับสากลของประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดี จัดงานประชุมวิชาการขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 โดยได้รับเกียรติจาก ศ.พญ. ศิรินธรา สิงหรา ณ อยุธยา รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และความร่วมมือวิจัยต่างประเทศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และดร.เกาเสี่ยวหลิง ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์นานาชาติ โรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียน กล่าวเปิดงาน


งานประชุมวิชาการในครั้งนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ได้แก่ Ms. Grace Fu กรรมการผู้จัดการ บริษัทTCI Gene Inc. บรรยายหัวข้อ “ข้อบังคับเทคนิคการแพทย์เฉพาะทางของไต้หวัน และความท้าทายในการส่งเสริมที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ”, Dr. Koli Tseng ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัทTCI Gene Inc. บรรยายหัวข้อ “การสร้างเซลล์เนื้อเยื่อกระดูกอ่อนบริเวณหัวเข่าและตัวอย่างการรักษา”, Mr. Andy Liu รองประธานแผนกวินิจฉัยและการผลิต บริษัทpharmiGENE บรรยายหัวข้อ “การตรวจพันธุกรรมโรคมะเร็ง เพื่อการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันในระยะเริ่มต้น” และนพ.ธนัตถ์ เจริญผล ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บรรยายหัวข้อ “การประยุกต์ใช้เซลล์บำบัดและเวชศาสตร์ฟื้นฟูในการรักษาข้อเข่า”

เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมการรักษาระดับนานาชาติของประเทศไทยในอนาคตงานในครั้งนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องลงทะเบียนเข้าร่วมราว 80 คน อาทิ ผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มโรงพยาบาลในเครือ BDMS, โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และอื่นๆ งานประชุมวิชาการในครั้งนี้ไม่ได้เป็นแค่เพียงการแบ่งปันประสบการณ์จากไต้หวันเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง โดยหวังว่าความร่วมมือกับไต้หวันในด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม จะช่วยให้ประเทศไทยให้ความสนใจและผลักดันเซลล์บำบัดและการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดมากยิ่งขึ้น

p
กำลังโหลดความคิดเห็น