“แม่ยั่วเมือง” เป็นคำที่มีผู้สนใจมากคำหนึ่งในประวัติศาสตร์ และเข้าใจกันว่าเป็นหญิงที่มีเสน่ห์ในด้านกามกัณหา โดยเฉพาะแม่ยั่วเมืองคนดังก็คือ เจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ถูกบันทึกเรื่องราวไว้ทำให้เข้าใจไปในทางนี้ แต่ความจริงในกฎมณเฑียรบาลในสมัยกรุงศรีอยุธยามีตำแหน่ง “แม่หยัวเมือง” ซึ่ง “หยัว” แปลว่า “อยู่หัว” และหมายถึงพระสนมเอก
เมื่อความเข้าใจคลาดเคลื่อนตัวสะกดก็เลยคราดเคลื่อนไปด้วย
พระไอยการตำแหน่งพลเรือน ซึ่งตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กำหนดว่า พระมหากษัตริย์มีสนมเอก ๔ ตำแหน่ง คือ ท้าวอินทรสุเรนทร์ ท้าวศรีสุดาจันทร์ ท้าวอินทรเทวี และท้าวศรีจุฬาลักษณ์ นักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานว่าที่ต้องมีถึง ๔ องค์นี้ ก็เพื่อจะผูกสัมพันธไมตรีกับราชวงศ์ทั้ง ๔ ทิศตามนโยบายความมั่นคงในสมัยนั้น คือ ท้าวอินทรสุเรนทร์จะมาจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ ทางทิศเหนือของกรุงศรีอยุธยา ท้าวศรีสุดาจันทร์มาจากราชวงศ์ละโว้หรืออโยธยา ทางทิศตะวันออก ท้าวอินทรเทวีมาจากราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช จากนครศรีธรรมราชทางทิศใต้ และท้าวศรีจุฬาลักษณ์มาจากราชวงศ์พระร่วง ทางทิศเหนือ
โดยทั้ง ๔ พระสนมต้องสืบเชื้อสายมาจากเจ้านายที่ปกครองแคว้นเหล่านั้น ทั้งนี้เจ้าเมืองที่ปกครองอยู่รอบกรุงศรีอยุธยาจะต้องถวายพระธิดาเข้ามาเป็นสนมเอก เพื่อแสดงความสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุนี้จึงยกสถานะแม่หยัวเมืองสูงกว่าพระสนมอีก ๓ องค์
ในพระอัยการฯยังระบุว่า พระราชโอรสที่ประสูติจากแม่หยัวเมืองยังได้ขึ้นเป็นมหาอุปราช และมีอิสริยยศสูงกว่าพระราชโอรสที่เกิดจากพระสนมอื่น รองจากพระราชโอรสที่เกิดจากพระอัครมเหสีเท่านั้น
หลังจากเกิดกรณีของนางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาธิราช จึงไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งนี้อีก มีเพียงพระมเหสีและสนมเอกเท่านั้น
ปัจจุบันในวงการเครื่องรางของขลังกล่าวกันว่า ที่อินเดียมีเครื่องรางสายมหาเสน่ห์ และกำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศ เช่น อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นปางหนึ่งของพระแม่อุมาเทวีขณะที่องค์พระศิวะเทพออกผนวชบำเพ็ญพรต ทำให้โลกเกิดขาดแคลนประชากร จึงบนบานต่อเจ้าแม่อุมาเทวี เจ้าแม่ได้อวตารเป็นแม่ยั่วเมืองทำให้ผู้พบเห็นยั้งใจไม่อยู่ พระศิวะก็เช่นกัน ตะบะแตก ทำให้สร้างมนุษย์ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง
ปางนี้มีชื่อว่า “พระแม่กาลีปางเสพกาม” เป็นปางบูชาศิวลึงค์ แต่พอมาถึงไทยพิมพ์เมดอินไทยแลนด์ได้ชื่อใหม่ว่า “เสด็จแม่ยั่วเมือง” ทั้งยังมีปางที่เหล่าทวยเทพทั้ง ๔ ต่างรุมถวายศิวลึงค์ให้กับเสด็จแม่ยั่วเมือง ให้ชื่อว่า “ปาง ๔ รุม ๑” และเสด็จแม่ยั่วเมืองยืนตระหง่านบูชาแท่นศิวลึงค์ เป็น “ปางขย่มตอ” เป็นไปกันได้ถึงขนาดนี้