ร่วมสร้างมหากุศลเป็นพุทธบูชา ทอดผ้าป่าทองคำ เพื่อสร้างมณฑปและฉัตรทองคำ ครอบรอยพระพุทธบาทเมืองโยนก อันเป็นรอยพระพุทธบาท 1 ใน 5 แห่ง ซึ่งปรากฏอยู่ในบทสวดมนต์โบราณ โดยผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบุญครั้งนี้ได้ ณ ศาลาเจษฎาบดินทร์ วัดราชโอรสาราม เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร วันที่ 15 พ.ค. 2566 นี้ ตั้งแต่เวลา 10.30 น. เป็นต้นไป
เชื่อแน่ว่า บรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ย่อมเคยได้ยินชื่อ หรือแม้กระทั่งเคยไปกราบไหว้สักการะ “รอยพระพุทธบาทเมืองโยนก” ซึ่งอยู่บนยอดดอยสะเก็ด อันเป็นบริเวณเขตป่าของวัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง จ.เชียงใหม่ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีศาสนิกชน ทั้งใกล้และไกล เดินทางไปกราบไว้สักการะอย่างไม่ขาดสาย
สำหรับวัดพระธาตุดอยสะเก็ด นับเป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 500 ปี ซึ่งดินแดนแถบนี้ เคยได้รับการเรียกขานว่า “แคว้นโยนก” ขณะที่ในบทสวดมนต์ของโบราณ ระบุไว้ว่า รอยพระพุทธบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีอยู่ด้วยกัน 5 แห่ง โดยที่พระพุทธบาทเมืองโยนก นับเป็นแห่งที่ 4 ใน 5 แห่ง
ทั้งนี้ รอยพระพุทธบาทบนยอดดอยสะเก็ด สันนิษฐานกันว่า มีมาพร้อมกับเส้นพระเกศาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บรรจุอยู่ในพระเจดีย์วัดพระธาตุดอยสะเก็ด ซึ่งตามตำนานที่ปรากฏอยู่ควบคู่ประวัติความเป็นมาของวัด ระบุว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมา ณ ดอยแห่งนี้ โดยขณะนั้นมีพญานาคสองตนคู่สามีภรรยา ได้แปลงร่างเป็นมนุษย์ นำดอกบัวจากบึงบัวที่อยู่หน้าดอยด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มาถวายพระพุทธองค์ และสถานที่ถวายดอกบัวนั้น น่าจะเป็นจุดที่พระพุทธองค์ได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระพุทธบาทไว้ด้วย เป็นรอยพระบาทคู่ มีรูปพระธรรมจักร ปรากฏอยู่ในรอยพระบาททั้งสองข้าง
นอกจากดวงตราพระธรรมจักร ในรอยพระบาทยังมีลายเอ็นเส้นก้านใบบัวปรากฏอย่างเด่นชัด ติดต่อขึ้นมาถึงบนหินข้างพระบาท ต่อเนื่องเป็นอันเดียวกัน จึงสันนิษฐานว่า พญานาคสองสามีภรรยา นอกจากจะได้ถวายดอกบัวแล้ว ยังได้ปูใบบัวถวายให้ประทับยืน เมื่อพระพุทธองค์ทรงประทับยืนบนใบบัวแล้ว ได้ทรงอธิษฐานเหยียบประทับรอยพระบาทลงไป ทั้งใบบัวและหินภูเขาก็ยุบลงเป็นรอยพระบาท และหินภูเขานั้นก็นูนปลิ้นขึ้นมาเหมือนโคลนข้างพระบาท และใบบัวนั้นก็กลายเป็นหินไปด้วย เพราะฉะนั้น รอยพระบาทนี้จึงประทับอยู่บนหินสองชั้น คือหินชั้นบนเป็นหินใบบัว และหินชั้นล่างเป็นหินเขาธรรมชาติ โดยหินทั้งสองนี้แนบติดเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นที่น่าอัศจรรย์ แม้แต่สถาปนิกผู้รอบรู้ยังกล่าวว่า “ลักษณะอย่างนี้ไม่สามารถจะแกได้”
รอยพระพุทธบาทดังกล่าว ได้รับการค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยพระราชโพธิวรคุณ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด (ตอนนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็น พระโพธิรังสี) ซึ่งท่านจำพรรษาที่วัดแห่งนี้มานานกว่า 30 ปี และได้ยินญาติโยมผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทบนยอดดอยสะเก็ด แต่ยังไม่เคยมีใครได้พบเห็น จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านฝันว่าได้เห็นแสงสว่างสวยงามมากเหมือนมีไฟหลายดวงปรากฏขึ้นที่ยอดดอย และต่อมาวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2553 ท่านได้เดินสำรวจที่บริเวณป่ายอดดอยและปัดกวาดทำความสะอาด ท่านก็ได้พบกับรอยพระพุทธบาทดังกล่าว สร้างความอัศจรรย์ให้ญาติโยมในพื้นที่ ซึ่งขึ้นไปกราบไหว้สักการะ จนกระทั่งข่าวกระจายออกไป และมีผู้ศรัทธาหลั่งไหลมาสักการะจากทั่วสารทิศ
ต่อมา เมื่อประมาณวันที่ 27 มกราคม พระราชปฏิภาณโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์บนยอดดอยสะเก็ด และได้รับรู้จากท่านเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด เกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทดังกล่าว จึงได้ปรารภถึงการสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท ซึ่งท่านเจ้าอาวาสก็ได้อนุโมทนาและอนุญาตให้ดำเนินการ ซึ่งมีการสร้างทั้งพระมหาเจดีย์และพลับพลามณฑปครอบรอยพระพุทธบาท
จนถึงบัดนี้ ปี 2566 งานก่อสร้างพระมหาเจดีย์ครอบรอยพระพุทธบาทโยนก ที่ยอดดอยในเขตป่าวัดพระธาตุดอยสะเก็ด ได้เสร็จไปแล้วประมาณ 80% เหลืองานประดับตกแต่งลวดลายปิดทอง วาดภาพ ฯลฯ และได้ยกสุวรรณฉัตรถวายยอดพระเจดีย์ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
และลำดับต่อไป ก็ถึงวาระที่จะได้สร้างพระมณฑปถวายด้านในองค์พระเจดีย์ครอบรอยพระพุทธบาทอีกชั้นหนึ่ง โดยจะใช้งบประมาณส่วนนี้ประมาณ 10 ล้านบาท เป็นค่าแกะสลักมณฑปสูง 12 เมตร ค่าฉัตรทองคำประมาณ 4 กิโลกรัม ค่าทองคำเปลวสำหรับปิดพระมหาเจดีย์และมณฑปราคาแผ่นละ 10 บาท ซึ่งต้องใช้หลายแสนแผ่น
จึงได้มีการบอกบุญต่อ ๆ กันมา เพื่อเชิญชวนผู้มีศรัทธา ร่วมทอดผ้าป่าทองคำ เพื่อสร้างมณฑปและฉัตรทองคำ ครอบรอยพระพุทธบาทเมืองโยนก ณ ศาลาเจษฎาบดินทร์ วัดราชโอรสาราม เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร เนื่องในวันทำบุญอายุวัฒนะมงคล ครบรอบ 75 ปี พระราชปฏิภาณโสภณ วันที่ 15 พ.ค. 2566 เริ่มตั้งแต่เวลา 10.30 น. ทั้งนี้ สำหรับที่ไม่สะดวกเดินทางไปร่วมงานในวันดังกล่าว สามารถร่วมทำบุญได้ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีกองทุนสร้างพระมหาเจดีย์ ธนาคารกรุงไทย หมายเลขบัญชี 054-032619-4 นับเป็นอีกหนึ่งมหากุศลที่สายบุญไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง