“เจ้าเจ็ดตน” เป็นคำเรียก “ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์” สถาปนาขึ้นโดย “หนานทิพย์ช้าง” ควาญช้างและพรานป่าแห่งบ้านปงยางคก ปัจจุบันคือตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ตอนนั้นเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นของพม่า ส่วนลำปางเป็นนครรัฐอิสระ เมื่อ หนานมหายศ เจ้าเมืองลำพูนยกทัพมายึดลำปาง ชาวลำปางจึงขอให้หนานทิพย์ช้างซึ่งช่วยเหลือชาวบ้านตัดหางช้างที่มารบกวนพืชผลเป็นประจำ มาช่วยกู้บ้านกู้เมือง หนานทิพย์ช้างมีความเชี่ยวชาญในการใช้ปืนยาวและหน้าไม้ จึงนำชาวบ้านเข้าตีค่ายของหนานมหายศที่วัดพระธาตุลำปางหลวง และสังหารหนานมหายศได้ ชาวลำปางจึงร่วมกันสถาปนาหนานทิพย์ช้างขึ้นครองนครลำปางในปี พ.ศ.๒๒๗๕ มีพระนามว่า พญาสุละวะฤาไชย ตรงกับปลายรัชกาลพระเจ้าท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา
ด้วยล้านนามีคติว่า “บ่ใช่เจ้าอย่าหวังเป็นพญา บ่อใช่เสนาอย่าหวังเป็นอำมาตย์” หนานทิพย์ช้างจึงส่งเครื่องบรรณาการไปถวายเจ้ากรุงอังวะ เพื่อขอให้แต่งตั้งขึ้นครองเมืองโดยชอบธรรม พระเจ้าอังวะได้พระราชทานนามว่า พระยาไชยสงคราม
หนานทิพย์ช้างครองเมืองลำปาง ๒๗ ปีถึงแก่พิราลัย เจ้าชายแก้ว พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ขึ้นครองราชย์เป็น เจ้าฟ้าชายแก้ว ซึ่งเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์นี้ก็คือผู้ให้กำเนิดคำว่า “เจ้าเจ็ดตน” เพราะมีโอรสธิดา ๑๐ พระองค์ เป็นพระโอรส ๗ พระองค์
ในช่วงนั้นทั้งลำปางและเชียงใหม่จึงเป็นเมืองขึ้นของพม่า ในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสิน พร้อมด้วยเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปขับไล่พม่าออกจากล้านนา เจ้ากาวิละ พี่ใหญ่ของเจ้าเจ็ดตนซึ่งขมขื่นกับการปกครองของพม่า ได้ชวนพระอนุชาทั้ง ๖ สวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยวางแผนฆ่าทหารพม่าในลำปาง แล้วไปสมทบกับกองทัพไทยขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ ครั้งนั้นพระเจ้าตากสินทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองลำปาง ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดเกล้าฯให้พระยากาวิละมาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ และให้พระยาคำโสม พระอนุชา ขึ้นครองนครลำปาง
เจ้าฟ้าชายแก้ว ที่มีโอรสธิดามากถึง ๑๐ องค์ แม้ธิดาจะเสียชีวิตแต่ยังเยาว์ไป ๒ องค์เหลือเพียง ๘ ผู้เป็นพ่อที่ห่วงใยลูกและบ้านเมือง ก็เกรงว่าลูกจะแย่งสมบัติฆ่าฟันกันเองดังเช่นที่เคยเห็นๆมา จึงได้นำโอรสทั้ง ๗ องค์ และธิดาที่เหลืออยู่เพียงองค์เดียว คือเจ้าศรีอโนชา ไปสาบานต่อพระธาตุลำปางหลวงว่าจะรักใคร่ปรองดองกัน และกล่าวคำสอนว่า
“ตั้งแต่นี้ไปภายหน้า ลูกเต้าเมืองละคร (หมายถึงเมืองลำปาง) เมืองเชียงใหม่ทุกคน ขอให้ฟังคำสอนของพ่อให้ดี อย่าได้ฟังคำยุยงสั่งสอนของพระยาเสนาอำมาตย์ทั้งปวง อย่าได้ฆ่าฟันบั่นแทงกัน ให้รักกันดุจดวงใจเดียวกัน อย่าเห็นผู้อื่นดีเหลือกว่าพี่กว่าน้อง ราชสมบัติ แก้วแหวนเงินทอง ข้าวของทั้งมวล อย่าได้ถือว่าเป็นของมึงของกู ลูก ๘ คน ผู้ใดถึงฐานันดรสุข ก็ให้อุปการะอุ้มชูซึ่งกันและกัน อย่าได้ทอดทิ้งกัน พี่ล้มก็ขอให้น้องปก พี่ตกก็ขอให้น้องช่วยเหลือ หากลูกคนใดไม่ฟังคำสอนของพ่อ ยังพากันคิดฆ่าฟันบั่นแทงกัน ก็จะพากันวินาศฉิบหาย พลันตายพลันวาย พระพุทธิเจ้าเกิดมาหมื่นองค์แสนองค์ อย่าให้ลูกผู้นั้นได้พบเห็น หากลูกเต้ายังตั้งอยู่ในคำสอนแห่งพ่อนี้ ก็ขอให้ลูกเจ้าก้านกุ่งรุ่งเรื่องชื่นบานกว้างขวาง ให้สมฤทธิ์ดังจิตใจทุกประการ”
เมื่อเจ้ากาวิละได้รับโปรดเกล้าฯขึ้นเป็นเจ้านครเชียงใหม่ พม่าก็ยังส่งกองทัพมารุกราน แต่กรุงเทพฯก็ส่งกำลังไปช่วยรักษาบ้านเมืองไว้ได้ ต่อมาเจ้ากาวิละมีกำลังมากขึ้นยกทัพเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน และเวียงจันทน์ ไปตีหัวเมืองไทยใหญ่ที่ขึ้นกับพม่า และขับไล่พม่าออกจากล้านนาได้ทั้งหมด โดยยึดเมืองเชียงแสนที่มั่นสุดท้ายของพม่าได้ในปี พ.ศ.๒๓๔๗
ความดีความชอบครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯสถาปนาเจ้ากาวิละเป็น
“พระเจ้าเชียงใหม่” ทรงพระนามว่า “พระบรมราชาธิบดีฯ” มีเกียรติยศเสมอเจ้าประเทศราช ปกครองล้านนา ๕๗ หัวเมือง
เมื่อขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่แล้ว เจ้ากาวิละยังได้นำกำลังพร้อมพันธมิตรขึ้นไปปราบหัวเมืองในสิบสองปันนาจนถึงเมืองเชียงรุ้ง ซึ่งขณะนั้นทุกเมืองในย่านนี้ต่างได้รับรู้ที่พม่าจัดถึง ๙ ทัพเข้าตีกรุงเทพฯขณะสร้างเมืองใหม่ แต่กลับแตกพ่ายไปทุกทัพ เมืองต่างๆจึงพากันกระด้างกระเดื่องต่อพม่า หันมาอยู่กับฝ่ายไทย แม้มีบางเมืองต่อต้านเพราะทหารพม่าควบคุมอยู่ แต่ก็ถูกชาวเมืองเข้าร่วมขับไล่พม่า
ครั้นจัดการบ้านเมืองสงบสุข ขยายขอบเขตดินแดนลานนาออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล พระเจ้ากาวิละจึงเรียกพระอนุชาทั้ง ๖ เข้าเฝ้า แล้วกล่าวโอวาทว่า
“ ดั่งล่วงมาแล้วแต่ชั่วพระอัยกาและบิดาแห่งเรา ก็ได้เป็นข้าม่านเป็นเมืองขึ้นม่าน ได้ถูกม่านข่มเหงคะเนงร้าย จะหาความสุขบ่อได้เลย มาถึงชั่วเราทั้งหลายอันเป็นลูกเป็นหลาน ก็รู้สึกเบื่อหน่ายชิงชัง จึงคิดต่อสู้กับม่านเพื่อกอบกู้บ้านเมือง แล้วก็ได้พาเอาน้องทั้งปวงไปน้อมเป็นข้าเบื้องพระยุคลบาทพระเจ้าอยู่หัวแห่งไทยทั้งมวล หมู่เราทั้งหลายและข้าเจ้าไพร่ทั้งมวลจึงได้อยู่เย็นเป็นสุข ได้ทำบุญสุนทานได้ค้าได้ขายได้ทำมาหากินอย่างเป็นสุข พระมหากษัตริย์เจ้าก็ได้เลี้ยงเราทั้งหลายให้เป็นเจ้าเจียกเงินขันคำ ให้ฐานันดรเป็นกษัตริย์ลานนาไทย เป็นใหญ่ในอาณาไทย ๕๗ หัวเมือง ตั้งแต่เราทั้งหลายไปภายหน้าสืบไปถึงชั่วลูกชั่วหลาน เหลน หลีดลี้ ตราบสิ้นสุดราชตระกูลแห่งเราทั้งหลาย แม้ว่าลูก หลาน เหลน หลีดลี้ บุคคลใดมีใจใคร่กบฏ คิดสู้รบกับพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี แล้วเอาตัวและบ้านเมืองไปพึ่งเป็นข้าเป็นเมืองขึ้นม่าน ข้าฮ่อ ข้ากุลวา ข้าแก๋ว ข้าญวณ ขอผู้นั้นให้วินาศฉิบหาย ตายวายพลัน ฉิบหายเหมือนกอกล้วย พลันม้วยเหมือนกอเลากอคา ตายไปแล้วก็ขอให้ตกนรกแสนมหากัปป์ อย่าให้ได้เกิดได้งอก ดังเจ้าทั้งหลายน้องนุ่งทั้งมวลก็ได้รักได้แปงด้วยกันให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ข้าศึกตกเมืองใดช่วยกัน อย่าได้มีจิตใจคดเคี้ยวไปจากพระเจ้าอยู่หัวแห่งเรา บุคคลผู้ใดยังอยู่ตามโอวาทคำสอนแห่งเราอันเป็นเจ้าพี่ ก็ขอให้อยู่สุข วุฒิจำเริญ คิดบ้านเปลืองคิดเมืองห้าม ขอให้มีเตชะฤทธีอนุภาพปราบชนะศัตรู มีฑีฆาอายุมั่นยืนยาว”
พระเจ้ากาวิละถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.๒๓๕๖ ขณะมีพระชนม์ ๗๔ ปี ครองนครเชียงใหม่มา ๓๑ ปี และสืบเชื้อสายราชวงศ์ทิพย์จักรมาอีก ๘ พระองค์จนถึงเจ้าแก้วนวรัตน์ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ประเทศสยามได้เลิกระบบประเทศราช ทำให้ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ถูกยกเลิก เหลือเพียงการสืบเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เป็นผู้สืบราชสกุล ณ เชียงใหม่ ซึ่งยังคงสืบความจงรักภักดีต่อพระบรมราชวงศ์จักรีตลอดมา โดยมีบทบาทที่แสดงให้เห็นได้ชัดในพระราชพิธีต่างๆ