สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นพระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นพระโสธรเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ และ ๙ และทรงเป็นสมเด็จพระปิตุจฉาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
พระนามแรกประสูติตามที่โรงพยาบาลตั้งถวายคือ May Songkla ซึ่งเป็นเดือนประสูติ ต่อมาเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถานปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
ต่อมาในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นพระโสทรเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง ๒ พระองค์ ด้วยทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์มาโดยลำดับ รวมทั้งทรงเป็นที่รักเทิดทูนของปวงชนชาวไทยทั่วไป จึงมีพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งนับเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียวในรัชกาลที่ ๙
ทรงสำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี จากมหาวิทยาลัยโลซานน์ ทรงได้รับ Diplôme de Chimiste A ขณะที่ทรงศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์นั้น ยังทรงศึกษาหลักสูตรสังคมศาสตร์ Diplôme de Sciences Sociales Pédagogiques อันประกอบด้วยวิชาต่างๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยาด้วย
ตลอดพระชนมชีพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อแบ่งเบาพระราชภาระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีโครงการในพระอุปถัมภ์หลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การแพทย์และการสาธารณสุข การต่างประเทศ การศาสนา และอื่นๆ กับทั้งยังมีพระปรีชาสามารถด้านการเขียน การกีฬา และด้านการถ่ายภาพ จนเป็นที่ประจักษ์ชัดในวงการศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ ๑๐ กว่าแห่ง และองค์การระหว่างประเทศจึงถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณแด่พระองค์ และทรงได้รับการเทิดทูนพระเกียรติจากรัฐบาลและองค์กรต่างประเทศหลายแห่ง เช่น รัฐบาลฝรั่งเศสและองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี วันประสูติ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ครั้งที่ ๔๑ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จึงได้มีมติประกาศยกย่องให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้วยพระกรณียกิจด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และวัฒนธรรม อีกทั้งพระองค์ทรงประกอบพระกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระปณิธานแน่วแน่ที่จะทำประโยชน์เพื่อประชาชนชาวไทย และสังคมโลก ทรงยึดมั่นในคุณค่าของมนุษย์ และศักยภาพของการพัฒนา จึงทรงอุปถัมภ์กิจการทั้งปวงที่เกี่ยวกับด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ การแพทย์และการสาธารณสุข สังคมสงเคราะห์ ด้านสัมพันธไมตรี การสื่อสารและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การศาสนาและศิลปวัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนและพสกนิกรชาวไทย โดยประเทศที่สนับสนุนการประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน อียิปต์ ฝรั่งเศส โมร็อกโก สหพันธรัฐรัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์
@ด้านการศึกษา
ด้วยทรงตระหนักว่า การศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพประชากรทั้งประเทศ จึงทรงส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ทุกครั้งที่โดยเสด็จ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงออกตรวจเยี่ยมการดำเนินการของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. จะเสด็จฯ ทรงเยี่ยมศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมในถิ่นทุรกันดาร เพื่อพระราชทานคำแนะนำและกำลังใจแก่ครู พร้อมทั้งพระราชทานอุปกรณ์การเรียนการสอน
นอกจากนั้นยังทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในพระองค์แรกที่ทรงงานในฐานะอาจารย์หลังจากเสด็จนิวัติประเทศไทย โดยทรงเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาสนทนาภาษาฝรั่งเศส วิชาอารยธรรมฝรั่งเศส และวิชาวรรณคดีฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ทรงรับเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาต่างประเทศ ทรงดูแลและจัดทำหลักสูตรการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทรงจัดทำหลักสูตรปริญญาตรีสาขาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสสำเร็จ ด้วยการผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีให้เข้ากันอย่างเหมาะสม
จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๙ ด้วยพระองค์มีพระภารกิจด้านอื่นๆ มากขึ้น จึงทรงลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำ แต่ยังคงเสด็จฯ เป็นองค์บรรยายพิเศษต่อไป และทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ศาสตราจารย์พิเศษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยทรงงานในฐานะอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์เป็นระยะเวลาถึง ๑๓ ปี ๑๐ เดือน นอกจากนั้นยังเสด็จฯ ไปสอนภาษาฝรั่งเศสแก่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ตามคำกราบทูลเชิญ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี)
จากประสบการณ์ที่ทรงงานสอนภาษาฝรั่งเศสมาเป็นระยะเวลานาน จึงทรงตระหนักถึงปัญหาความต่อเนื่องในการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา จึงได้ทรงริเริ่มก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เพื่อเป็นศูนย์กลางการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปรับปรุงวิธีการสอนทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับ “กองทุนหมอเจ้าฟ้า” ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไว้ในพระอุปถัมภ์ และได้พระราชทานเงินจากทุนการกุศลสมเด็จย่า และทุนการศึกษา กว.สมทบเข้ากองทุนเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาจารย์แพทย์ไปศึกษาฝึกอบรมยังต่างประเทศและนำความรู้ที่ได้กลับมาถ่ายทอดและพัฒนาในงานของส่วนรวม และให้ทุนอุดหนุนการศึกษาจัดสรรให้นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขัดสนสำหรับนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาอีก ๕ คณะในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ คณะทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทยศาสตร์ และทรงเป็นประธานมูลนิธิหม่อมเจ้าบุญจิราธร (ชุมพล) จุฑาธุช ซึ่งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษาแพทย์ตามโครงการแพทย์ชนบท ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และให้ทุนการศึกษาสำหรับผู้ที่จะสมัครเป็นอาจารย์วิชาการพยาบาล
@ ด้านวิทยาศาสตร์
ทรงตระหนักว่าเยาวชนที่มีสติปัญญาเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ประกอบกับที่ทรงจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์จึงสนพระทัยโครงการจัดส่งเยาวชนไปเข้าร่วมโครงการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ โดยทรงรับ ”มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.)” ไว้ในพระอุปถัมภ์ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินกองทุนสมเด็จย่าเพื่อช่วยเหลือตั้งแต่ปีแรกที่มีการส่งเยาวชนร่วมแข่งขัน ซึ่งมีทั้งวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี คอมพิวเตอร์ และชีววิทยา ทำให้บรรดาเยาวชนไทยได้ค้นพบตัวเองและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยติดต่อกันมายาวนานหลายปี ทรงติดตามความเคลื่อนไหวทุกขั้นตอนการแข่งขัน พระราชทานกำลังใจ และทรงแสดงความยินดีแก่เยาวชนไทยที่ได้รับรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณจากการแข่งขันในทุกๆ ครั้ง อีกทั้งยังพระราชทานพระวโรกาสให้คณาจารย์ เยาวชนและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ารับพระราชทานข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อยู่เสมอ
@ด้านวัฒนธรรม
ด้วยทรงรับสั่งได้หลายภาษา ทำให้ทรงมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทรงเป็นนักอ่าน นักเขียน โดยได้ทรงแปลและเรียบเรียงหนังสือในหลากหลายประเภททั้งภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังทรงให้การสนับสนุนวงดนตรีและการแสดงของไทยในท้องถิ่น เช่น คณะหุ่นกระบอกโจหลุยส์ ซึ่งช่วยอนุรักษ์ศิลปะการเชิดหุ่นกระบอกเล็กของไทย ทรงจัดตั้งทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเข้าใจดนตรีคลาสสิกและให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนดนตรี อาจารย์มหาวิทยาลัยได้มีโอกาสไปศึกษาหรือฝึกอบรมในสถาบันดนตรีคลาสสิกที่มีชื่อเสียง เพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้รับกลับมาถ่ายทอดและพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยให้แพร่หลายมากขึ้น อีกทั้งยังพระราชทานคำแนะนำเรื่องดนตรีคลาสสิกด้วยพระองค์เองให้แก่นักเรียน อาจารย์ และคณะผู้ตามเสด็จอยู่เสมอ ทรงสนับสนุนการแข่งขันและการแสดงคอนเสิร์ตทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ สนับสนุนวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ และวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นองค์อุปถัมภ์ของโรงละครโอเปรากรุงเทพ รวมทั้งมีพระดำริก่อตั้ง สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา
นอกจากนี้ ยังทรงรับมูลนิธิและกองทุนการกุศลต่างๆ ทางด้านสาธารณสุขไว้ในพระอุปถัมภ์อีกหลายหน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย กองทุนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเพื่อพัฒนาการพยาบาล ศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุข มูลนิธิส่งเสริมสวัสดิภาพสตรีและเยาวชน มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุข สมาคมพยาบาลสาธารณสุขไทย มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลราชานุกูล มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มูลนิธิโรงพยาบาลเลิดสิน
ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพครบ ๑๐๐ พรรษา ปวงพสกนิกรชาวไทยรู้สึกสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงพระกรณียกิจงานด้านต่างๆ เพื่อความสุขแก่พสกนิกรชาวไทย