ประวัติศาสตร์ได้บันทึกเรื่องราวของสตรีที่มีบทบาททางการเมืองไว้ไม่กี่ท่าน นอกจากสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ท้าวสุรนารี ท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร ท้าวสุรนารี และท้าวศรีสุดาจันทร์แล้ว ยังมีเจ้านางของล้านนา อีกนางหนึ่งที่ไม่ค่อยถูกเอ่ยถึง แต่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการนำราชบัลลังก์ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระผู้สถาปนาราชวงศ์จักรี
เจ้านางองค์นี้มีพระนามว่า “เจ้าศรีอโนชา” เป็นราชธิดาใน เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว หรือ เจ้าฟ้าสิงหราชธานี ผู้ครองนครลำปาง แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ ซึ่งเรียกกันว่า “ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน” เพราะมีโอรส ๗ พระองค์ มีราชธิดาอีก ๓ พระองค์
ทั้งนี้ใน พ.ศ.๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมด้วยทหารเอกสองพี่น้อง เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้ยกทัพขึ้นไปปราบพม่าทางหัวเมืองฝ่ายเหนือที่เชียงใหม่ ขณะนั้นลำปางอยู่ในปกครองของพม่าและกำลังขมขื่นที่ถูกพม่ารีดแต่ภาษีและเกณฑ์ไปรบ เจ้ากาวิละราชบุตรองค์โตของเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว จึงปรึกษาน้องชายอีก ๖ องค์ว่าควรจะถือโอกาสนี้สวามิภักดิ์ต่อกรุงธบุรีซึ่งเป็นคนไทยด้วยกันดีกว่าเป็นทาสพม่า จึงวางแผนแบ่งกำลังเข้าร่วมกับทหารพม่าที่ไปช่วยทางเชียงใหม่ แต่ให้ถอยทัพทันทีเมื่อปะทะกับทัพไทย ส่วนกำลังที่เหลือทางลำปางก็จัดการกับทหารพม่าที่รักษาเมืองลำปางที่เหลืออยู่น้อย และเมื่อจัดการกับพม่าที่ลำปางแล้ว เจ้ากาวิละก็ยกทัพตามไปสมทบที่เชียงใหม่เข้าร่วมกับทัพไทยตีพม่าแตกพ่ายไป
เมื่อขับไล่พม่าออกไปได้หมดแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พระยาจ่าบ้าน ขึ้นเป็น พระยาเมืองเชียงใหม่ แล้วถอนทัพกลับ ขณะทรงแวะพักแรมที่นครลำปางนั้น เจ้ากาวิละได้นำพระอนุชาและพระขนิษฐาทั้ง ๙ องค์เข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ทรงแต่งตั้งพระยากาวิละขึ้นครองนครลำปาง ตั้งเจ้าธรรมลังกา พระอนุชาขึ้นเป็นอุปราช และสถาปนาทั้ง ๗ องค์เป็นราชวงศ์
ถึงตอนนี้ “ตำนานเจ้าเจ็ดตน” ได้บันทึกเลิฟซีนไว้ว่า
“เจ้าพระยาสุรสีห์มีใจปฏิพัทธ์ใคร่ได้ยังนางศรีอโนชา ราชคินีน้องแห่งเจ้ากาวิละ จึงใช้คนแลขุนนางผู้ฉลาดมาขอกับเจ้า ๗ ตนพี่น้อง มีเจ้าชายแก้วเป็นประธาน ร่ำเปิงหันกัลยาณมิตรติดต่อไปภายหน้า ก็เอายังนางศรีอโนชามาถวายเป็นราชเทวีแห่งเจ้าเสือ หรือว่าพระยาสุรสีห์หั้นแล...”
เมื่อมาถึงกรุงธนบุรี เจ้านางศรีอโนชาได้รับการเปลี่ยนสถานะเป็น “ท่านผู้หญิงศิริรจนา” และให้กำเนิดธิดาคนหนึ่งใน พ.ศ.๒๓๒๐ มีชื่อว่า “พิกุลทอง” เมื่อผลัดแผ่นดิน เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ผู้เป็นภัสดา ได้รับโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวร ท่านผู้หญิงศิริรจนาก็ได้เลื่อนฐานันดรขึ้นเป็น เจ้าครอกศรีอโนชา พระอัครชายาเธอในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
บทบาทสำคัญของเจ้านางศรีอโนชาที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ก็คือ ใน พ.ศ.๒๓๒๔ ขณะที่ทหารเอก ๒ พี่น้อง สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช นำทัพไปปราบการจลาจลทางกรุงกัมพูชา ทางกรุงธนบุรีก็เกิดความวุ่นวายเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียพระจริต พระยาสรรค์ได้เข้ายึดอำนาจ บังคับให้พระเจ้าตากสินทรงผนวช และจับพระบรมวงศานุวงศ์จองจำ ตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการ ประกาศว่าจะถวายราชสมบัติให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แต่แล้วก็เปลี่ยนใจจะครองราชสมบัติไว้เอง จึงปล่อยตัวพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม เกลี้ยกล่อมพร้อมมอบเงินในพระคลังให้เตรียมรับมือกับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเมื่อกลับมา
ส่วนพระเจ้าหลานเธอก็ไม่ได้ซื่อกับคนมักใหญ่ใฝ่สูง เมื่อได้เงินและพรรคพวกมากแล้วก็คิดจะชิงราชบัลลังก์ไว้เอง
ฝ่ายพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) เจ้าเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นหลานของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทราบข่าวทางกรุงธนบุรีจึงไปแจ้งให้สมเด็จเจ้าพระยาทราบ สมเด็จเจ้าพระยาจึงให้พระยาสุริยอภัยนำกำลังไปกรุงธนบุรีก่อน จะยกทัพตามไปเมื่อจัดการทางเขมรและให้เจ้าพระยาสุรสีห์ฯอยู่รักษาการณ์
พระยาสุริยอภัยนำกำลัง ๑,๐๐๐ คนมาถึงกรุงธนบุรี กรมขุนอนุรักษ์สงครามซึ่งเตรียมการไว้พร้อมแล้วก็เข้าโจมตีทันที เกิดการปะทะกันอย่างหนัก ฝ่ายพระยาสุริยอภัยยังไม่ทันตั้งตัวก็เพลี่ยงพล้ำ กรมขุนอนุรักษ์สงครามจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบ
ท่านผู้หญิงศิริรจนา เชื้อไม่ทิ้งแถวของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งบ้านอยู่ไม่ไกลจากที่รบ จึงเข้ามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ทันที หนังสือ “ไทยรบพม่า” บันทึกไว้ว่า
“เมื่อการรบเกิดขึ้นนั้น เจ้าศิริรดจนา ท่านผู้หญิงของพระยาสุรสีห์ อยู่ที่บ้านปากคลองบางลำพู รู้ข่าวศึกมาปล้นบ้านเจ้าพระยาสุริยอภัย จึงคิดอ่านกับพญาเจ่ง พระยาราม นายกองมอญเพื่อปราบกบฏ”
ขณะที่พระยาสุริยอภัยเพลี่ยงพล้ำนั้น เจ้าศรีอโนชาก็บัญชาการทัพเรือมอญและลาวเข้าขนาบ จนกรมขุนอนุรักษ์สงครามกลายเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำถูกจับได้
“ตำนานเจ้าเจ็ดตน” บันทึกไว้ว่า
“ศึกเกิดทางเมืองเขมร เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ สองพี่น้องยกทัพไปตีเมืองเขมรในปี พ.ศ.๒๓๒๔ พระยาสิง พระยาสรรค์ ฟื้นฆ่ากษัตริย์เจ้าตากสินเสีย พระยาสิง พระยาสรรค์ขึ้นเป็นกษัตริย์เจ้าแทน เจ้าศรีอโนชาจึงใช้ขึ้นไปหาชาวป่าเพียว เข้ามาแล้วมีอาชญาว่า คันสูทั้งหลายยังอาสาเอาพระยาสิงพระยาสรรค์ได้ ในเมื่อนั้นกูยังมีชีวิตอยู่ กูจักหื้อได้ราชการเมืองนี้ จักหื้อสูยุท่างค้า ยุท่างขาย กินทานสบาย เท่าเว้นไว้แต่แต่นี้กูต้องประสงค์ว่าฉันนั้น ชาวป่าเพียว ๓๐๐ คนอาสาเข้าจับพระยาสิงพระยาสรรค์ฆ่าเสียนั้นแลฯ
เจ้าครอกศรีอโนชาหงายเมืองได้ไว้แล้ว ก็ใช้ไปเชิญเอาเจ้าพระยาจักรี พระยาสุรสีห์ ๒ องค์พี่น้องเข้ามาผ่านพิภพขึ้นเสวยราชย์ เจ้าพระยาจักรีตนพี่ เป็นกษัตริย์องค์หลวง ปรากฏว่าได้นามทักว่า สมเด็จพระพุทธิเจ้า บรมโชติ พระยาสุรสีห์ตนน้อง ปรากฏว่าล้นเกล้าล้นกระหม่อม กรมพระราชวังบวรสถานมงคล วังหน้า”
ชาวป่าเพียว ก็คือ ชาวปากเพรียว สระบุรี ซึ่งเป็นชาวโยนกที่อพยพมาจากเชียงแสน
เหตุการณ์นี้เจ้าศรีอโนชาได้รับความชอบเป็นอันมาก รวมไปถึงราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระเจ้ากาวิละได้นำเจ้านายพี่น้องลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยากาวิละเลื่อนพระยศขึ้นเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ แทนพระยาจ่าบ้านที่เสียชีวิตในปลายกรุงธนบุรี
เจ้าศรีอโนชาสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๖๔ ขณะมีพระชนมายุ ๗๑ ปีกู่บรรจุอัฐิตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
ส่วนพระราชธิดา พิกุลทอง ได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าฟ้าทรงกรม มีพระนามว่า “สมเด็จๅพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าหญิงพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทร”
นี่ก็เป็นโซ่ทองสายหนึ่งที่โยงใยราชวงศ์ “เจ้าเจ็ดตน” แห่งล้านนา ให้แนบแน่นกับราชวงศ์ “จักรี” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนอีกเส้นหนึ่งที่สำคัญก็คือ “เจ้าดารารัศมี พระราชชายา” ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระธิดาในพระเจ้าอินทวิชานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน