“ประจำเดือนมากผิดปกติ” สัญญาณอันตราย! สูตินรีแพทย์ระบุสถิติหญิงไทยจำนวนหนึ่งเกิดภาวะประจำเดือนมากผิดปกติ เตือนอาจเป็นสัญญาณโรคร้าย แนะวิธีสังเกตประจำเดือนเป็นลิ่มใช้ผ้าอนามัยเต็มชุ่ม 3 แผ่นขึ้นไปในช่วงกลางวัน หรือต้องลุกเปลี่ยนในช่วงกลางคืน ย้ำรีบพบแพทย์ก่อนเข้าสู่ภาวะโลหิตจาง อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเนื้องอก มะเร็ง พร้อมให้ข้อมูลทางเลือกการรักษาหลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้ยาปรับฮอร์โมนนวัตกรรม จนถึงการผ่าตัดรักษาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้หญิง
ผู้หญิงทั่วโลกรวมถึงไทยอาจเกิดภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติ (Heavy Menstrual Bleeding: HMB) โดยไม่รู้มาก่อนว่าอาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคร้าย เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการจัดงานประชุมวิชาการภายใต้หัวข้อ “Raising the Bar in Management of Heavy Menstrual Bleeding” โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการดูแลรักษาภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูตินรีเวชกว่า 100 ท่านเข้าร่วมงาน
ศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้หญิงจำนวนมากที่มีภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติ (Heavy Menstrual Bleeding: HMB) โดยมีข้อมูลว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่มาตรวจทางด้านนรีเวชกรรมจะมาด้วยภาวะนี้ บางรายเป็นมากจนเกิดภาวะซีดมากถึงค่อยมาพบแพทย์ ซึ่งถือว่าอันตรายแล้ว
ดังนั้นจึงขอเตือนผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน หรือตั้งแต่วัยที่เริ่มมีประจำเดือนไปจนถึงวัยก่อนหมดประจำเดือน ที่พบว่าตนเองมีประจำเดือนมามากผิดปกติ ให้รีบมาพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนโรคร้าย
ทั้งนี้ แพทย์เป็นห่วงผู้หญิงที่เกิดภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติ เพราะส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัว คิดว่าอาการซีดและประจำเดือนมามากเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องผิดปกติ การทิ้งไว้โดยไม่ดูแลรักษาจะเป็นอันตรายได้ ทำให้เกิดภาวะอื่นๆ ตามมา เช่น โลหิตจาง นอกจากนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคต่างๆ เช่น เนื้องอก และมะเร็ง
สำหรับวิธีการสังเกตว่าเกิดภาวะประจำเดือนมากผิดปกติแล้วหรือไม่ ให้ดูว่าประจำเดือนมีลิ่มเลือดขนาดใหญ่หรือไม่ เพราะโดยปกติประจำเดือนไม่ควรมีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ มีการใช้ผ้าอนามัยเต็มแผ่นชุ่ม 3 แผ่นขึ้นไปต่อวันหรือต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยในช่วงกลางคืน โดยผู้หญิงบางรายอาจมีประจำเดือนมามากอย่างเดียวโดยไม่มีอาการร่วม เช่น ไม่มีอาการปวดท้อง
อย่างไรก็ตามหากไม่แน่ใจให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช เพื่อตรวจหาสาเหตุ หากเกิดจากเนื้องอก หรือมะเร็ง ก็จะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป หรือบางรายอาจเกิดจากมีเลือดออกมามากจากกลไกการมีประจำเดือน ทำให้เลือดออกไม่หยุด ก็สามารถให้ยารักษาได้
“ผู้หญิงไม่ต้องกังวล มีวิธีการตรวจหลายวิธี หากไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ก็ไม่ต้องตรวจภายใน ใช้การตรวจอัลตราซาวด์ ส่วนการรักษาก็มีหลายวิธีเช่นเดียวกัน อาจไม่ต้องผ่าตัด สามารถใช้ยารักษาได้ ซึ่งยาที่ใช้ในปัจจุบันก็มีอาการข้างเคียงน้อยและใช้ระยะยาวได้”
ทางด้าน รศ.นพ.ประสงค์ ตันมหาสมุทร ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สาเหตุของภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติที่พบบ่อยเกิดจากเนื้องอกมดลูก เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ในกล้ามเนื้อมดลูก และการทำงานผิดปกติของรังไข่ มีผลทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ผู้หญิงที่เกิดภาวะนี้ ในช่วงที่ประจำเดือนออกมากๆ อาจต้องหยุดงาน หรือหยุดเรียน
ส่วนแนวทางการรักษานั้น มีทั้งการผ่าตัดหากคนไข้เป็นเนื้องอกก้อนใหญ่ อายุไม่มาก และยังไม่ถึงวัยใกล้หมดประจำเดือน หากเป็นรายที่มีอายุใกล้ถึงวัยหมดประจำเดือนจะทำการรักษาด้วยยา เพื่อรอเวลาให้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ในรายที่ไม่มีพยาธิสภาพ พยาธิสภาพไม่มาก หรือก้อนเนื้อเล็ก ก็ให้การรักษาด้วยยาก่อน โดยแพทย์จะพิจารณาคนไข้แต่ละรายว่ามีข้อห้ามในการใช้ยาตัวไหนบ้างหรือไม่ หากไม่มีเลยจะให้ข้อมูลคนไข้ถึงทางเลือกในการรักษาทั้งหมด และให้คนไข้มีส่วนร่วมในการเลือกวิธีการรักษา ซึ่งปัจจุบันนวัตกรรมของยาพัฒนาไปมากเพื่อลดอาการข้างเคียงของยา ลดขนาดยาลง ใช้ฮอร์โมนธรรมชาติมากขึ้น และเลือกฮอร์โมนตัวใหม่ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยมาใช้
“มีผลการศึกษาของไทยและนานาประเทศ ถึงแนวทางการรักษาภาวะประจำเดือนออกมากด้วยยาชนิดต่างๆ ซึ่งมียาหลายกลุ่มประสิทธิภาพแตกต่างกันเข้ามาเป็นทางเลือกให้แพทย์ใช้รักษาคนไข้ ดังนั้นเราจะให้ทางเลือกกับคนไข้และให้คนไข้เลือกวิธีการรักษา ซึ่งคนไข้แต่ละรายอาจเลือกวิธีการรักษาที่แตกต่างกันได้ วิธีการรักษาบางอย่างมีประสิทธิภาพสูงแต่คนไข้อาจไม่เลือก เช่น ห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนซึ่งมีประสิทธิภาพสูงแต่ต้องใส่เข้าไปในโพรงมดลูก คนไข้อาจจะกลัวการใส่ ทำให้คนไข้เลือกยากินแทน แม้จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าก็ตาม”
ทางด้าน พญ.ปานียา สูตะบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ แผนกฟาร์มาซูติคอล บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไบเออร์ในฐานะหนึ่งในผู้นำธุรกิจด้านเภสัชกรรมระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลสุขภาพผู้หญิงและยาปรับฮอร์โมน ร่วมรณรงค์ผ่านแคมเปญ “Bayer For Her” สนับสนุนให้ผู้หญิงหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น โดยเริ่มจากการสังเกตตัวเอง พูดคุยกับคนรอบข้าง และหากมีข้อกังวลใจก็อย่าลังเลที่จะปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรับคำวินิจฉัยหรือรับการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ.