xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรื้อจากคดีไซยาไนด์ ถึงเวลางานนิติเวช งบประมาณแยกออกมาเฉพาะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถอดรื้อจากคดี “ไซยาไนด์” ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ต้องมีงบประมาณแยกออกมาเฉพาะสำหรับ “งานนิติเวช” เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้บริสุทธิ์


รายงานพิเศษ

คดีการวางยาด้วยสารไซยาไนด์ ซึ่งล่าสุดพบว่า “แอม” ผู้ก่อเหตุเพียงคนเดียว อาจมีส่วนพัวพันกับผู้เสียชีวิตที่มีความเกี่ยวข้องกันไปแล้วถึง 14 ราย มีผู้รอดชีวิต 1 ราย และยังมีผู้เข้ามาร้องเรียนเพิ่มเติมอีก

กรณีล่าสุด คือ มีแม่ของหญิงชาว จ.กำแพงเพชร ที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว เข้ามาร้องเรียนกับตำรวจในช่วงเช้าวันที่ 1 พ.ค. 2566 โดยระบุว่า ลูกสาวมีความสนิทสนมกับผู้ก่อเหตุ และเสียชีวิตโดยผลการชันสูตรพลิกศพระบุว่า “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” จึงสงสัยว่า อาจถูกวางยาด้วยสารไซยาไนด์เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตคนอื่นๆ

และจากข้อมูลที่พบว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 14 ราย ก่อนหน้านี้ มีเพียง 2 ราย ที่แพทย์นิติเวช ระบุผลการชันสูตรว่า “พบสารไซยาไนด์ในเลือด” จึงทำให้ให้เกิดข้อสงสัยต่อการตรวจชันสูตรของระบบนิติเวชวิทยาตามมาว่า เมื่อผู้เสียชีวิตกลุ่มนี้ ล้วนแล้วแต่เสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติ เหตุใดจึงตรวจไม่พบสารไซยาไนด์ในร่างกายผู้เสียชีวิต

***********

“เราต้องไปแก้ปัญหานี้กันในเชิงระบบ ก่อนอื่น เราอาจต้องแยกงานนิติเวชออกมาจากระบบงานสาธารณสุข”

ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และอาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายให้เห็นปัญหาในภาพใหญ่ของงานนิติเวชวิทยาทั้งระบบ โดยระบุว่า งานนิติเวชในปัจจุบันโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ต้องพึ่งแพทย์นิติเวชตามรพ.ใหญ่ ซึ่งสังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ทำให้การบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการชันสูตรพลิกศพทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น แพทย์นิติเวช เจ้าหน้าที่ ความพร้อมของห้องผ่าศพ เตียงผ่าศพ รวมไปถึงอุปกรณ์ น้ำยาและเครื่องมือการตรวจวิเคราะห์ ที่ใช้ตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด เป็นงบประมาณที่หน่วยงานต้องไปเบิกจ่ายกับกระทรวงสาธารณสุข แต่เมื่อไปดูข้อเท็จจริงก็จะพบว่า กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญให้กับงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาและดูแลการเจ็บป่วยของคนที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นหลักก่อน ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้ในงานนิติเวช เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต จึงมักถูกลดทอนให้ความสำคัญน้อยกว่า ด้วยงบประมาณที่มีอยู่จำกัด ทำให้แพทย์นิติเวช จำเป็นต้องเลือกตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิตอย่างละเอียดกับเคสที่มีข้อมูลมากพอจากญาติหรือตำรวจว่าสงสัยอาจจะถูกฆาตกรรมเท่านั้น ส่วนในรายที่การตายที่ไม่มีประวัติความสงสัยนำมาก่อน ก็มักจะไม่มีการส่งตรวจหาสารพิษ เนื่องจากต้องบริหารงบประมาณให้เพียงพอต่อการตรวจศพที่มีจำนวนมากทั้งปี ด้วยการตรวจหายาหรือสารเคมีแต่ละชนิด มีค่าใช้จ่ายในการตรวจค่อนข้างสูง ในความเป็นจริงจึงไม่สามารถหว่านตรวจสารพิษให้กับผู้เสียชีวิตทุกราย

“กรณีการเสียชีวิตแบบนี้ เรามักเรียกว่า การเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของการตายโดยผิดธรรมชาติ ที่การตรวจชันสูตรภายนอกหรือแม้จะมีการผ่าศพโดยละเอียดแล้วในหลายๆครั้ง ก็ยังหาข้อสรุปของสาเหตุการตายที่ชัดเจนไม่ได้ จะต้องส่งตัวอย่างเลือดหรือปัสสาวะจากศพไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การตรวจหาสารพิษ ยาหรือสารเสพติด แต่ในทางปฏิบัติเนื่องจากการตรวจมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้แพทย์นิติเวชจำเป็นต้องเลือกเคส ที่มี่ข้อมูลหรือข้อสงสัยจากญาติ พนักงานสอบสวน หรือจากหลักฐานในที่เกิดเหตุมาประกอบด้วยครับ โดยเฉพาะหากสงสัย กรณีผู้ตายอาจถูกวางยา ข้อมูลประวัติที่มาก่อนเสียชีวิต หลักฐานจากสถานที่เกิดเหตุ บันทึกจากกล้องวงจรปิดล้วนมีความสำคัญมาก เพราะการตรวจหาสารแต่ละชนิดในร่างกายมนุษย์นั้นมีวิธีการตรวจวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ว่าโยนตัวอย่างเข้าเครื่องแล้วผลจะออกมาทั้งหมดอย่างที่หลายๆคนเข้าใจ ต้องมีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่าง เลือกใช้เครื่องมือวิเคราะห์ที่เหมาะสม ดังนั้นหากไม่มีข้อมูลที่มากพอ ก็อาจต้องตรวจหาสารทุกชนิด โดยอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึงหลักพันไปถึงหลักหมื่นบาท ซึ่งงบประมาณของงานนิติเวชทั่วประเทศที่ถูกจัดสรรมานั้น มีไม่เพียงพอที่จะทำเช่นนั้นได้”

“หากไม่นับงานนิติเวชในสถาบันใหญ่ๆ อย่าง สถาบันนิติเวชวิทยา สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หรือสถาบันการฝึกอบรมอย่างโรงเรียนแพทย์ งานนิติเวชของประเทศไทยเกือบทั้งสิ้น ยังต้องพึ่งแพทย์นิติเวชที่กลุ่มงานต้องฝากตัวอยู่กับโรงพยาบาลศูนย์ต่างๆทั่วประเทศ ภายใต้งานสาธารณสุข ซึ่งได้รับการแบ่งงบประมาณมาสำหรับการปฏิบัติงานไม่มากนัก แต่ละหน่วยก็ต้องบริหารงบประมาณเองให้มีพอใช้ไปตลอดปีงบประมาณ เพราะกระทรวงสาธารณสุขต้องให้ความสำคัญกับการรักษาผู้ป่วยมากกว่าอยู่แล้ว นี่จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้แพทย์นิติเวชไม่สามารถตรวจหาสารต่างๆในร่างกายผู้เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุได้ทุกเคส”

************

“ผมมีความเห็นว่า เราต้องผลักดันงานนิติเวช ไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม และต้องมีงบประมาณแยกออกมาเฉพาะเพื่อจัดสรรให้กับทุกหน่วยที่ต้องปฏิบัติงาน จะเป็นงบจากกระทรวงยุติธรรมหรือสังกัดอื่นที่ผู้บริหารประเทศเห็นสมควร จึงจะเกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่การหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แม่นยำ นำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิด สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์”

ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ เห็นว่า หากรัฐต้องการเพิ่มประสิทธิภาพให้งานนิติเวชวิทยา เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้มากขึ้นในคดีเช่นนี้ ก็ต้องเปลี่ยนแว่นตาในการมองให้ชัดเจนว่า งานนิติเวช ไม่ใช่งานในมุมมองด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แม้จะเป็นแพทย์เหมือนกันแต่มีเนื้องานที่ต่างกันมาก และไม่ควรต้องไปตัดแบ่งจากการใช้งบประมาณเพื่อดูแลผู้ป่วยจากกระทรวงสาธารณสุขด้วย แต่ควรไปใช้งบประมาณจากกระทรวงยุติธรรมซึ่งน่าจะตรงกับภารกิจมากกว่า เพราะการชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แม่นยำ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญลำดับต้นๆของกระบวนการยุติธรรม มองไปถึงความพยายามที่จะมีการปฏิรูปองคาพยพทั้งระบบให้เกิดมาตรฐาน ประเทศเราควรต้องมีหน่วยงานอย่างสถาบันนิติเวชวิทยา หรือสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับงบประมาณชัดเจน ซึ่งมีทั้งจำนวนบุคลากรและเครื่องมือวิเคราะห์ที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน คอยทำหน้าที่เหล่านี้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคอย่างทั่วถึงครอบคลุมทั้งประเทศด้วยซ้ำ หรือหากไม่สามารถแยกงานนิติเวชออกจากกระทรวงสาธาณสุขได้ ก็ควรแบ่งการจัดสรรงบประมาณแยกออกจากกัน โดยรัฐบาลต้องชัดเจนว่า ให้ความสำคัญกับงานนิติเวชในแง่มุมที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

“จากปัญหาที่พบในคดีนี้ ทำให้ทางสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย เตรียมจะออกประกาศแนวทางการตรวจหายาหรือสารต่างๆที่ควรมีการส่งตรวจหาจากร่างกายผู้เสียชีวิตกรณีการตายไม่ทราบเหตุ ว่ามีรายการยาหรือสารชนิดใดบ้างที่น่าจะต้องส่งตรวจหาทุกครั้ง เพื่อไม่ให้คนร้ายใช้ข้อจำกัดด้านการตรวจเป็นช่องทางในการก่อเหตุได้อีก แต่ก็ต้องยอมรับว่า การจะตรวจเช่นนั้นได้ รัฐบาลก็ต้องสนับสนุนงบประมาณให้งานนิติเวชมากขึ้น”

ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ยอมรับว่า ด้วยปริมาณงานที่ค่อนข้างมากของงานนิติเวช และเงื่อนไขด้านเวลาที่ต้องส่งศพผู้เสียชีวิตไปทำพิธีทางศาลนา อาจทำให้มีบางกรณีที่แพทย์นิติเวชระบุสาเหตุการเสียชีวิตได้ไม่ชัดเจนพอ เช่น การระบุเพียงว่า “ขาดอากาศหายใจ” แทนที่จะระบุให้ชัดเจนว่า “ขาดอากาศหายใจจากการถูกวัสดุรัดที่คอ” ซึ่งความไม่ชัดเจนนี้อาจส่งผลต่อรูปคดีได้ และอาจเป็นหนึ่งในช่องโหว่ที่ส่งผลในทางบวกกับคนร้าย

“การระบุให้ชัดเจนไปเลยว่า งานนิติเวช มีภารกิจหลักคือการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นผู้เสียชีวิตหรือผู้ถูกกล่าวหา ก็จะทำให้บุคคลากรในงานนิติเวช เข้าใจเป้าหมายตรงกันว่า การหาสาเหตุการเสียชีวิตอย่างแม่นยำเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำให้ดีที่สุดในทุกเคสที่ถูกส่งมาชันสูตร และก็จะทำให้รัฐเข้าใจถึงความคุ้มค่าที่ต้องใช้งบประมาณไปกับภารกิจนี้เพิ่มขึ้นด้วย” ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ กล่าว

ปัจจุบันรัฐพยายามให้องค์กรต่างๆยืนได้ด้วยตนเอง ทำให้งานที่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้มักถูกละเลยจากผู้บริหารองค์กร แต่ต้องพึงระลึกไว้ว่า งานนิติเวชวิทยานั้นแม้จะเป็นงานที่ไม่อาจก่อให้เกิดรายได้ใดๆ แต่เมื่อเทียบกับ “ค่า” ของความยุติธรรมที่จะเกิดขึ้นกับคนบริสุทธ์จำนวนมากที่เสียชีวิต โดยไม่ได้รับความยุติธรรมนั้น ชั่งกันแล้วความคุ้มค่านั้นสามารถเทียบกับตัวเงินที่เสียไปหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น