xs
xsm
sm
md
lg

ตื่นตาตื่นใจ พบโลมาสีชมพู 2 ตัวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนองเผยภาพตื่นตาตื่นใจ “โลมาหลังโหนก” หรือโลมาสีชมพู ที่พบบริเวณปากคลองทรายดำ กำลังหาอาหารตามแนวชายฝั่ง ซึ่งถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

วันนี้ (1 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อ.เมือง จ.ระนอง เปิดเผยภาพ “โลมาหลังโหนกหรือโลมาสีชมพู” ที่พบบริเวณปากคลองทรายดำ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนองจำนวน 2 ตัว โดยทั้ง 2 ตัวกำลังหาอาหารตามแนวชายฝั่ง

โลมาหลังโหนก จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ลักษณะทั่วไปมีรูปร่างหัวกลมมน มีปากเรียวยาว ลักษณะเด่นคือส่วนหลังโหนกเป็นแนวยาว 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว ลำตัวมีสีต่างกันมากตามอายุ วัยเด็กจะมีสีเทาดำ จางลงเมื่อโตขึ้น ตัวเต็มวัยบางตัวมีสีเทาประขาว เมื่ออายุมากขึ้นจะมีสีออกขาวเผือกหรือชมพู

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่า โลมาหลังโหนก หรือเรียกว่า โลมาสีชมพู โลมาเผือก มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Indo-Pacific Humpback Dolphin, Sousa chinensis, (Osbeck, 1765) สถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535, IUCN: Data Deficient และ CITES: Appendix I

ขนาด ตัวผู้ยาว 2.8 ม. ตัวเมีย 2.6 ม. หนักถึง 280 กก. ลูกแรกเกิดยาว 1 เมตร รูปร่างหัวกลมมน มีปากยาวเรียว ลักษณะเด่นคือส่วนหลังโหนกเป็นแนวยาว 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว ลำตัวมีสีต่างกันมากตามอายุ วัยเด็กจะมีสีเทาดำ และจางลงเมื่อโตขึ้น ตัวเต็มวัยบางตัวมีสีเทาประขาว เมื่ออายุมากขึ้นจะมีสีออกขาวเผือกหรือชมพู มีฟันจำนวน 28-38 คู่ บนขากรรไกรบนและล่าง (เฉลี่ย 33-35 คู่) ครีบหลังสั้น เล็ก ที่เด่นชัดคือ ส่วนของฐานครีบเป็นสันโหนกรับกับครีบหลัง

ชีวประวัติ ตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 9-10 ปี และตัวผู้อายุ 11-13 ปี ผสมพันธุ์ตลอดทั้งปี ตั้งท้องนาน 10-12 เดือน และหย่านมเมื่ออายุ 2 ปี อายุยืนมากกว่า 40 ปี มีพฤติกรรม ชอบรวมกลุ่มตั้งแต่ 10-40 ตัว และมักว่ายน้ำช้าๆ เมื่ออยู่ใกล้ชายฝั่ง กินอาหาร ได้แก่ ปลา และปลาหมึกหลายชนิดตามชายฝั่งและแนวปะการัง

ถิ่นอาศัยและการแพร่กระจาย อาศัยตามชายฝั่งแม่น้ำ ปากแม่น้ำ และป่าชายเลนในเขตร้อน มีการแพร่กระจายตั้งแต่ตอนใต้ของจีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย มหาสมุทรอินเดีย และตอนใต้ของแอฟริกา ประเทศไทยพบในธรรมชาติ เช่น จ.ตราด ระยอง เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และตรัง








กำลังโหลดความคิดเห็น