วันก่อนเล่าเรื่อง “เมืองลับแล” เมืองอาถรรพ์ที่มีตำนานเล่าขานว่าเป็นเมืองลึกลับมาแล้ว ในย่านนั้นยังมีเมืองเก่าที่มีเรื่องน่าแปลกใจอีกหลายแห่ง อย่าง “เวียงเจ้าเงาะ” ที่เกี่ยวกับวรรณคดีเรื่อง “สังข์ทอง” และ “เมืองตาชูชก” เกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก สำหรับ “เวียงเจ้าเงาะ” ที่ว่าท้าวสามลยกให้เจ้าเงาะแยกไปอยู่กับรจนาแล้ว ยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เป็นเครื่องมูรธาภิเษกสรงน้ำพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนบริเวณตัวเมืองเป็นโบราณสถานมาตั้งแต่วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ แล้ว
เวียงเจ้าเงาะ อยู่ที่ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ห่างวัดพระแท่นศิลาอาสน์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๘๐๐ เมตร มีเนื้อที่ ๑๒๙ ไร่ ๑ งาน ๖๑ ตารางวา ภูมิประเทศเป็นที่ราบปนศิลาแลง ยังปรากฏคูเมืองที่ขุดลงในศิลาแลง ส่วนคันคูเมืองเป็นคันดินถูกบุกรุกเป็นพื้นที่เพาะปลูกไปมากแล้ว
ย่านนี้เป็นที่อยู่ของผู้คนมากว่า ๒,๕๐๐ ปี โบราณวัตถุที่ขุดพบจึงมี กำไลหิน โครงกระดูกมนุษย์โบราณ แหวนสำริด แหวนหิน ลูกปัดสำริด กลองมโหระทึกแขก กลองมโหระทึกละว้า พร้าสำริด มีดสำริด ถ้วยชามสังคโลก ภาชนะดินเผาไม่เคลือบ และเคลือบสี ทั้งยังพบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๑๘ บ่อ บ่อหนึ่งคือ “บ่อน้ำทิพย์” เป็นบ่อศิลาแลงธรรมชาติ อยู่ใกล้กำแพงศิลาแลงของเวียงเจ้าเงาะ มีน้ำใสสะอาดตลอดปี ตักขึ้นมาเท่าใดก็ไม่มีแห้งเหือด ทั้งๆที่เป็นบ่อตื้นๆ มีจารึกอยู่ในพงศาวดารโยนกว่า บรรดาหัวเมืองต่างๆพากันมานำน้ำทิพย์จากบ่อนี้ไปใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บในเมืองของตน และนำไปประกอบพิธีสำคัญต่างๆมายาวนาน รวมทั้งเป็นน้ำมูรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๑๐ ด้วย
แต่ก่อนเวียงเจ้าเงาะมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของเมืองสุโขทัย เช่นเดียวกับเมืองศรีสัชนาลัย พระบรมธาตุของเมืองทุ่งยั้งในอดีตเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์รูปแบบสุโขทัย แต่ปัจจุบันถูกบูรณะเป็นทรงลังกาครอบไปแล้ว มีชื่อเรียกกันมาหลายชื่อ เช่น เวียงเจ้าเงาะ เวียงเท้าสามล ตรีสมบูรณ์ ทุ่งยั้ง ศรีนพวงศ์ กัมโพชนคร และธรรมบาลนคร
มีตำนานเล่าขานและมีความเชื่อกันว่า เวียงเจ้าเงาะ เป็นเมืองของท้าวสามนในเรื่องสังข์ทอง บทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ของกรุงรัตนโกสินทร์ และอ้างหลักฐานประกอบคือหลุมบนพื้นศิลาแลงข้างวัดพระบรมธาตุด้านตะวันตกนั้นเป็นหลุมคลี แต่ปัจจุบันทางวัดได้สร้างเมรุเผาศพขึ้นที่บริเวณนี้ หลุมคลีจึงหายไปเกือบหมดแล้ว แต่ที่สนามกีฬาของโรงเรียนชุมชนวัดบรมธาตุทุ่งยั้งยังมีหลุมประเภทนี้กระจัดกระจายอยู่ ทางโรงเรียนจึงขึ้นป้ายว่าเป็น “สนามคลีเมืองทุ่งยั้ง” ส่วนวัดบรมธาตุทุ่งยั้งก็ได้ปั้นรูปเจ้าเงาะและรจนายืนคนละข้างซุ้มประตูวัด ทั้งด้านหลังวัดยังมีศาลเจ้าเงาะกับรจนา รวมทั้งเจ้าเงาะตอนถอดรูปด้วย
นอกจากนี้ที่บ้านเด่นสำโรง ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ยังมีเมืองชื่อแปลกอีกเมืองหนึ่ง คือ “เมืองตาชูชก” ที่ชาวบ้านเรียกขานกันมานานแล้ว ทั้งยังมีชื่อที่เกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดกอีก เช่น ถนนมัทรี เขาวงกต วัดคลิงราช เป็นต้น ซึ่งวัดนี้สร้างขึ้นในบริเวณวัดร้าง ด้านตะวันตกของเมืองตาชูชกเป็นแม่น้ำน่าน ด้านทิศเหนือมีคลองตรอนและคลองน้ำข้าวเป็นคูเมือง ด้านตะวันออกยังมีกำแพงเมืองเหลืออยู่บางตอน และมีกำแพงเมือง ๓ ชั้นตามลักษณะเมืองสุโขทัยที่หลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “รอบเมืองสุโขทัยนี้ตรีบูรได้สามพันสี่ร้อยวา” แสดงว่าเมืองสุโขทัยมีกำแพง ๓ ชั้น จึงสันนิฐานว่าเมืองตาชูชกเป็นเมืองร่วมสมัยกับกรุงสุโขทัย
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณที่ยังเหลือร่องรอยและเรื่องราว ซึ่งได้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวในวันนี้