xs
xsm
sm
md
lg

ราชาภิเษกสมรสกษัตริย์ประชาธิปไตย สิ้นเปลืองน้อยที่สุดในโลก! คาดอนาคตจะไม่มีกษัตริย์องค์ใดเหมือน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



วันที่ ๒๘ เมษายนเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ทรงอภิเษกสมรสในแบบฉบับกษัตริย์ประชาธิปไตย ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกำหนด และเป็นพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสสำหรับพระมหากษัตริย์ที่เรียบง่าย สิ้นเปลืองน้อยที่สุดในโลก ทำให้คาดอนาคตได้ว่า จะเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชกิจปฏิบัติต่อประชาชนอย่างที่ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดในโลกปฏิบัติได้เหมือน

คงจำกันได้ว่า วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นวันราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งสองพระองค์ทรงพบรักกันที่กรุงปารีส เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯเสด็จไปประทับที่สถานทูตไทย และทรงรักการดนตรีเช่นเดีวกัน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้รับสั่งขอ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากรต่อ ม.จ.นักขัตรมงคล พระบิดาของ ม.ร.ว. สิริกิติ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน และในการเจรจาเรื่องหมั้น “สมเด็จย่า” รับสั่งว่า
“ขอให้ทำกันเฉพาะในครอบครัวเท่านั้น เมื่อคราวฉันเองก็ทำอย่างนี้ จะมีอะไรขัดข้องไหม?”
ม.จ.นักขัตรมงคลทูลตอบว่า “ตามแต่จะมีพระราชประสงค์”

จากนั้นในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๒ จึงได้มีพระราชพิธีหมั้นเป็นการภายใน ณ โฮเตลวินเซอร์ในเมืองโลซานน์ อันเป็นที่พักของหม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัว โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้พระราชทานพระธำมรงค์ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนกเคยทรงหมั้นพระองค์เมื่อปี ๒๔๖๒ เป็นแหวนหมั้น และทรงเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพระธำมรงค์วงนี้ด้วยพระองค์เอง

ขณะทรงสวมแหวนให้พระคู่หมั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า “เป็นแหวนที่มีค่าอย่างยิ่ง และเป็นที่ระลึกด้วย”
จากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยโดยทางเรือ มาถึงพระนครในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๔๙๓ และหลังจากมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระบรมเชษฐาธิราชแล้ว ในวันที่ ๒๘ เมษายนต่อมาจึงมีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม

พระราชพิธีได้เริ่มขึ้นในเวลา ๙.๓๐ น. กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงนำสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนเครื่องราชสักการะ จากนั้นสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเจิมพระพักตร์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ถวายน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วทรงรดน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์เช่นเดียวกันกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นอันเสร็จพิธีตามโบราณราชประเพณี

จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จลงมายังห้องรับแขกพร้อม ม.ร.ว.สิริกิติ์ ทรงลงพระปรมาภิไธยและลงนามในสมุดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ไทยได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย โดยมี กรมขุนชัยนาทนเรนทร และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงนามเป็นพยาน เนื่องจากการจดทะเบียนสมรสครั้งนี้ทำนอกสถานที่ จึงต้องมีคำร้องขอจดนอกสถานที่ ปิดอากร ๑๐ สตางค์ และเสียค่าธรรมเนียม ๑๐ บาทตามระเบียบของทางราชการ

จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนา ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร พระอัครมเหสี เป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
ในตอนบ่าย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีเสด็จออกรับการถวายพระพรชัยมงคลจากพระบรมวงศานุวงศ์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ จากนั้นโปรดเกล้าฯให้คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภา และข้าราชการ เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เสร็จแล้วเสด็จไปพระราชทานเลี้ยงระหว่างพระญาติสนิทและข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

บทนำของหนังสือพิมพ์ “สยามนิกร” ฉบับบ่ายวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๓ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“พิธีราชาภิเษกสมรสครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณีและตามบทบัญญัติของกฎหมาย อันได้แก่การจดทะเบียนสมรส ซึ่งจะต้องมีเจ้าพนักงานอันได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายลงชื่อเป็นพยานในสมุดทะเบียนสมรสนั้นด้วย ข้อนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการเช่นนี้ ย่อมจะเป็นการส่งเสริมคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระประมุขอยู่นั้น ให้แลเห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นอีกประการหนึ่ง”

ในหนังสือเรื่อง “ทำเป็นธรรม” ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บันทึกเหตุการณ์อย่างกับเห็นอนาคตไว้ว่า

“...ในการเลี้ยงคืนนี้ เป็นพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ง่าย เรียบ และสิ้นเปลืองน้อยที่สุดในโลก เป็นสิ่งแรกที่แสดงให้เห็นถึงอนาคตว่า พระมหากษัตริย์ของเราพระองค์นี้ จะมีพระราชกิจที่ได้ปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไม่มีกษัตริย์พระองค์ไหนในโลกปฏิบัติได้เหมือน...”
เมื่อเสร็จงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสแล้ว รุ่งขึ้นวันที่ ๒๙ เมษายน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน มีกำหนด ๕ วัน จึงจะเสด็จกลับพระนครเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร บันทึกไว้ว่า

“...ตามทางผ่านมีราษฎรมารับเสด็จกันเนืองแน่น เขาจัดโต๊ะหมู่บูชาข้างทางเป็นระยะๆ สถานีใหญ่มีข้าราชการ ตำรวจ ทหาร พร้อมแตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี รถไฟพระที่นั่งจะหยุดสัก ๒ นาที มีผู้ถวายของมากมาย ทั้งสองพระองค์ทรงยืนรับความเคารพแล้วโบกพระหัตถ์จนถึงพระราชวังไกลกังวล...”

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชใน พ.ศ.๒๔๙๙ ได้ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมเด็จพระนางจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเมื่อทรงลาผนวชแล้ว ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในปีนั้น ได้ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ขึ้นเป็น พระบรมราชินีนาถ เช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินี ขึ้นเป็น พระบรมราชินีนาถ คราวที่ทรงสำเร็จราชการแทนพระองค์ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก




กำลังโหลดความคิดเห็น