รายงานพิเศษ
“ลองพิจารณาตามดูนะครับ ในกระบวนการยุติธรรม ตำรวจเป็นต้นน้ำ อัยการเป็นกลางน้ำ ตุลาการเป็นปลายน้ำ แต่คณะกรรมการข้าราชการอัยการ เขามีอดีตข้าราชการที่เกษียณแล้วมานั่งเป็นประธาน คณะกรรมการข้าราชการตุลาการก็มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กลับมีนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากฝ่ายการเมืองเป็นประธาน แล้วมันก็ส่งผลกระทบไปหมดทั้งระบบ”
“ต้องแก้กฎหมาย แก้พระราชบัญญัติตำรวจ โดยไม่ให้นายกรัฐมนตรีมาดำรงตำแหน่งประธาน ก.ตร.” คือ ข้อเรียกร้องของข้าราชการตำรวจคนหนึ่ง ซึ่งเขายอมรับว่า ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ เพราะจะได้รับผลกระทบต่อหน้าที่การงานแน่นอน ในเมื่อ “ฝ่ายการเมือง” ยังนั่งเป็นประธานกำกับดูแลตำรวจอยู่เช่นนี้
“ผมอยากจะฝากถึงพรรคการเมืองที่จะมาเป็นแกนนำของรัฐบาลชุดใหม่ อยากให้ท่านแก้กฎหมาย เอานายกรัฐมนตรีออกไปจากตำแหน่งประธาน ก.ตร. หากท่านต้องการให้ตำรวจพัฒนาเป็นองค์กรที่มีคุณภาพ ทำหน้าดูแลประชาชนได้อย่างดีจริงๆ ท่านก็ควรทำ”
เขาเปรียบเทียบโครงสร้างของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจกับ อัยการ และศาล ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกัน เพื่อให้เห็นว่า การที่ฝ่ายการเมืองมาคุมองค์กรตำรวจ ทำให้การแสดงความเห็นที่จะพัฒนาองค์กรของข้าราชตำรวจเองแทบไม่เคยเกิดขึ้นได้จากภายใน ต่างจากข้าราชการอัยการ หรือตุลาการ ที่มีอิสระมากกว่าตำรวจอย่างเห็นได้ชัดในการที่จะออกมาแสดงความเห็นใดๆต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรของตัวเอง ทั้งที่ตำรวจเป็นองค์กรใหญ่ มีอัตราแข่งขันในการสอบเข้าสูง ทำให้มีข้าราชการเก่งๆระดับหัวกะทิของประเทศอยู่ในองค์กรมากมาย
“การแต่งตั้งโยกย้าย” คือ ประเด็นสำคัญที่สุดที่นายตำรวจคนนี้ พยายามจะชี้ให้สังคมเห็นว่า เป็นผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้นมาตลอด จากการที่ตำรวจถูกควบคุมโดยอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อ “นายกรัฐมนตรี” มานั่งเป็นประธาน ก.ตร.โดยตำแหน่ง
“สมัยก่อน มีรัฐมนตรีมหาดไทย เป็นประธาน ก.ตร. ถือเป็นฝ่ายการเมืองเช่นกัน ก็ต้องยอมรับว่า ต้องมีการวิ่งเต้นเพื่อแลกกับตำแหน่งอยู่ แต่ยังไม่มากนัก เพราะทางมหาดไทยก็มีบุคลากรของตัวเองที่ต้องไปให้ความสำคัญ เขาจึงไม่ลงมาล้วงลูกมากนัก แต่หากเทียบกับช่วงที่ตั้งแต่เรามีนายกรัฐมนตรีมานั่งเป็นประธาน ก.ตร. ตำรวจทุกคนจะรู้ดีว่า ฝ่ายการเมือง กลายเป็นปัจจัยหลักของการแต่งตั้งโยกย้าย และล้วงลูกลงมาลึกขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบันนี้ แม้แต่การแต่งตั้ง สารวัตร ก็ต้องวิ่งเต้นแล้ว”
“การจะตั้งผู้กำกับโรงพัก แม้แต่ผู้บัญชาการก็ยังไม่มีสิทธิเลือกลูกน้องเอง จะเลือกคนที่ทำงานดีมารับตำแหน่งก็ไม่ได้ เพราะมีใบสั่งลงมาจากเบื้องบนว่าต้องตั้งคนนั้นคนนี้มาเป็นผู้กำกับ กลายเป็นว่า นายตำรวจระดับผู้บัญชาการที่รู้ว่าใครทำงานดีหรือไม่ดี กลับมีสิทธิเลือกแต่งตั้งแค่ระดับรองผู้กำกับหรือสารวัตรบางตำแหน่งเท่านั้น ดังนั้น พอไปเจอกรณีที่ผู้กำกับทำผิดหรือทุจริต ผู้บัญชาการก็ไม่กล้าทำอะไร เพราะลูกน้องของตัวเองมีที่มาจากเส้นสายที่ใหญ่กว่า ระบบทั้งหมดมันก็เลยล้มเหลว ตำรวจที่เก่ง ทำงานดี มีอุดมการณ์ แต่ไม่มีเส้นสายก็ไม่จะไม่โอกาสได้เติบโต หรือเติบโตได้ก็ช้ามาก”
ความเชื่อมโยงระหว่าง “ตำรวจ”กับ “การเมือง”เป็นสิ่งที่นายตำรวจคนนี้เห็นว่า เป็นปัญหาผูกโยงทับซ้อนกันหลายชั้น จนยากที่จะแกะปมออกทีละชั้นได้ และถึงทำได้มันก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น เขาจึงมองว่า ปัญหานี้ต้องกลับไปแก้ตั้งแต่ “การแกะกระดุมเม็ดแรก”คือ ฝ่ายการเมือง ต้องยุติการเข้ามาล้วงลูกองค์กรตำรวจ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะในการเลือกตั้งมาทุกยุคสมัย โดยเฉพาะเมื่อการล้วงลูกนี้มันส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไปด้วย
“ที่ผ่านมา เวลาจะเลือกตั้ง เขาใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือเยอะมาก ตั้งแต่การแต่งตั้งโยกย้ายหัวหน้าหน่วยตามคำขอของนักการเมืองท้องถิ่น การบล็อกคะแนนเสียง ดูแลเส้นทางการเงิน การแลกแบงค์ย่อยในพื้นที่ ดังนั้นเราไปแก้ปลายทางไม่ได้ เราต้องไปเปลี่ยนตั้งแต่กระดุมเม็ดแรก คือ เอาฝ่ายการเมืองออกไปจากการเป็นหัวหน้าใหญ่ของตำรวจ เอานายกรัฐมนตรีออกไปจากตำแหน่งประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ
ถ้าเราเอาออกไปได้ การแต่งตั้งโยกย้ายจะเป็นธรรมมากขึ้น ไม่มีการวิ่งเต้น ตำรวจจะกลับมาดูแลกันเองได้อย่างเป็นอิสระ การทุจริต การเรียกรับส่วยจากสถานบันเทิงหรือสถานบริการต่างๆหรือบ่อนการพนันก็จะลดลง ประชาชนก็จะได้รับบริการที่ดีขึ้นจากตำรวจ”
ในอีกด้านหนึ่ง นายตำรวจคนนี้ ยังเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลควรจะทำให้ “ธุรกิจสีเทา”ต่างๆ เช่น บ่อน อาบอบนวด มีสถานะที่ถูกกฎหมาย เพราะจะง่ายต่อการควบคุมของรัฐด้วยการวางหลักเกณฑ์การใช้บริการที่เข้มงวดและมีบทลงโทษที่รุนแรงหากฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ ก็จะสามารถเก็บเงินภาษีเข้ารัฐแทนที่จะกลายเป็นเส้นทางการเงินของกลุ่มผู้มีอิทธิพลและข้าราชการที่ฉ้อฉล
“ทำงานไปเถอะ ทำงานดีมีผลงานโดดเด่น อย่างน้อยก็แค่มีเกราะป้องกันตัว แต่อย่าหวังว่าจะมีความดีความชอบอะไร”
นี่เป็นคำนิยามที่นายตำรวจคนนี้ บอกว่า กลายเป็นคำพูดติดปากไปแล้วในกลุ่มตำรวจที่ทำงานดีแต่ไม่มีเส้นสาย และจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าพรรคการเมืองไหนจะมาเป็นรัฐบาล หากยังคงอำนาจของฝ่ายการการเมืองในการมานั่งบริหารตำรวจอยู่เช่นนี้