เพจ “เรื่องเล่าหมอชายแดน” แชร์ประสบการณ์พบผู้ป่วยได้รับสารไซยาไนด์ ชี้สุดอันตราย แนะระมัดระวังแม้ในเรื่องการรับประทานอาหาร
จากกรณีสะเทือนขวัญ น.ส.ศิริพร ขันวงษ์ หรือ “ก้อย” อายุ 32 ปี เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาช่วงสงกรานต์ ขณะเดินทางไปปล่อยปลาที่ริมแม่น้ำแม่กลอง ในพื้นที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ต่อมาพบภาพวงจรปิดว่าเดินทางไปปล่อยปลากับ "นางสาวแอม" ภรรยาตำรวจนายหนึ่งใน จ.ราชบุรี ทางครอบครัวติดใจการเสียชีวิต ว่าจะถูกวางยาหรือไม่ และได้เดินหน้าร้องขอความเป็นธรรมต่อกองปราบปราม ต่อมามีญาติของผู้เสียชีวิตรายอื่นๆ อีกกว่า 10 รายที่สงสัยการตายอาจจะเกี่ยวข้องกับ "นางสาวแอม" กระทั่งมีการออกหมายจับและจับกุม "นางสาวแอม" ได้เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. วันนี้ (25 เม.ย.) พร้อมขวดไซยาไนด์ ตามข่าวที่เสนอไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 เม.ย. เพจ “เรื่องเล่าหมอชายแดน” เป็นอีกเพจหนึ่งที่ได้ออกมาโพสต์ข้อความบอกเล่าความอันตรายของ “ไซยาไนด์” โดยได้ระบุข้อความว่า
“วันนี้อยากเล่าเรื่องพิษจากไซยาไนด์ (cyanide poisoning) เพราะมีเหตุการณ์สะเทือนขวัญ น่าจะเป็นคดีระดับโลกได้หากเป็นจริงตามที่สงสัยกันมีการใช้สารพิษไซยาไนด์ในการฆ่าคนกว่า 12 ศพ ที่โรงพยาบาลแม่สอดได้เคยวินิจฉัยโรคนี้ได้เมื่อเดือนกันยายน 2565 ด้วยความสงสัยของแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินของเรา พญ.กมลวรรณ หรือหมอพลอย พบคนไข้หญิงอายุราว 60 ปี ญาติบอกว่าหลังกินข้าวเที่ยงแล้วไปนอนพักที่โซฟานาน 15 นาทีมีอาเจียนรุนแรงและสลบหมดสติไปทันที มาถึงโรงพยาบาลตอนบ่ายสองโดยญาติบึ่งรถยนต์มาจากบ้านใช้เวลา 15 นาทีคงมาแบบเร็วสุดเพราะระยะทางก็ไม่ได้ใกล้ ที่ห้องฉุกเฉินคนไข้โคม่า E1V1M1 แต่ยังหายใจเฮือก ไม่ขยับตัวเลยตัวอ่อนปวกเปียก ช็อกความดันต่ำ 80/50 mm.Hg แพทย์ห้องฉุกเฉินใส่ท่อช่วยหายใจทันที ตอนแรกนึกถึงภาวะ stroke fast tract (โรคหลอดเลือดสมอง ตีบ/แตก) ผลเลือดแย่มากเลือดเป็นกรดรุนแรง pH 6.9 HCO3 7.8 (ค่าความเป็นด่าง) เม็ดเลือดขาวขึ้นมาก 20,000 ค่าแลคเตทซึ่งแสดงว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงมากกว่า 22 เกินเครื่องจะวัดได้ (ปกติน้อยกว่า 2)
นอกจาก stroke แล้วก็ยังนึกถึงภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดด้วย จึงจัดการส่งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบว่าปกติดี ให้ยาปฏิชีวนะ ให้สารน้ำ ให้ยากระตุ้นความดัน ดูแลแบบผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด ทำ Echo ตรวจหัวใจและอัลตราซาวนด์ช่องท้องผลปกติ หัวใจบีบตัวดีมาก ตอนนั้นหมอพลอยก็บอกว่าประวัติมันแปลกๆ มันรวดเร็วเกินไป ไม่มีไข้ไม่มีอาการติดเชื้อมาก่อนเลย เหมือนได้รับสารพิษอะไรบางอย่าง จึงโทรศัพท์ปรึกษาศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดีให้ความเห็นว่าถ้าไม่สามารถแยกโรคพิษจากไซยาไนด์ได้ให้รักษาเสมือนผู้ป่วยได้รับสารพิษไซยาไนด์ไปก่อนเพราะหากช้าผู้ป่วยจะไม่รอดชีวิต หมอพลอยจึงรีบให้ antidote (ยาต้านพิษ) ซึ่งโชคดีมากที่โรงพยาบาลแม่สอดเรามี นั่นคือ 3% sodium nitrite 10 ml iv push และ 25% Sodium thiosulfate 3 amps iv push * 2 ครั้ง แก้ไขภาวะความเป็นกรดด้วยสารละลายด่างชนิดฉีด ต่อมาผู้ป่วยมีภาวะชักจึงได้ให้ยากันชักด้วย โชคดีที่หัวใจของผู้ป่วยยังไม่เป็นไรมีเพียงเต้นเร็วกว่าปกติ ด้วยความพยายามของแพทย์ห้องฉุกเฉินและแพทย์เวรอายุรกรรมในวันนั้นภายใน 12 ชั่วโมงก็สามารถแก้ไขให้ผลเลือดกลับมาเป็นปกติได้หมดและผู้ป่วยสามารถเอาท่อช่วยหายใจออกได้ในวันรุ่งขึ้น เมื่อผลเพาะเชื้อต่างๆ ไม่พบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียจึงได้หยุดยาฆ่าเชื้อและสามารถให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ภายใน 5 วัน
ผลการตรวจเลือดที่ส่งตรวจกับทางศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่ามีสารไซยาไนด์จริง ปริมาณ 3.2 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (ค่าปกติ <0.5) โดยเคสนี้คิดว่าได้รับสารไซยาไนด์ที่อาจมีการปนเปื้อนในอาหาร หรือสารเคมีในบ้าน จากข้อมูลที่ว่าไซยาไนด์ในประเทศไทยเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ต้องมีใบอนุญาตครอบครองใช้เป็นสารเคมีในอุตสาหกรรมทอง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การล้างภาพและพิมพ์เขียว เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดบางชนิด (ยาบ้า) เป็นสินค้านำเข้าของประเทศพม่าโดยผ่านทางประเทศไทย (เคยเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้) นอกจากนี้ยังปนเปื้อนอยู่ในอาหารบางชนิด เช่น มันสำปะหลังดิบ หน่อไม้ดิบ ถั่วบางชนิด ก่อนหน้านี้ก็เคยมีคนไข้ชาวสวนกินมันสำปะหลังดิบแล้ววูบมาโรงพยาบาลแต่อาการไม่ถึงตายเพราะอาจจะได้รับเข้าไปเล็กน้อย
อยากให้ประชาชนทุกคนรับรู้ถึงพิษของมันและระมัดระวังในการรับประทานอาหารหรือน้ำที่อาจจะมีสารไซยาไนด์ปนเปื้อน หรือสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ระเหย หากประมาทถึงตายได้ค่ะ
เคสนี้เบียร์มีส่วนเกี่ยวข้องเล็กน้อย คือผลตรวจโควิดของคนไข้เป็น inconclusive (ก้ำกึ่ง) จึงได้รับรู้เคสจากการรับปรึกษาทางโทรศัพท์ในวันนั้น แต่พิษไซยาไนด์เป็นเรื่องใหม่ของเบียร์จนต้องรีบ search หาข้อมูลเลย ต้องชื่นชมความเฉลียวใจและความรอบรู้ของหมอพลอย หมอประจำห้องฉุกเฉินวันนั้นที่ทำให้คนไข้รอดชีวิตเพราะเป็นโรคที่วินิจฉัยยากมากๆ และขอขอบคุณสายด่วนของศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดีที่เป็นที่ปรึกษาให้กับโรงพยาบาลแม่สอดตลอดมา ทำให้พวกเราเกิดการเรียนรู้และช่วยตรวจเลือดเพื่อยืนยันด้วยค่ะ”