xs
xsm
sm
md
lg

ปทุมธานีวิเคราะห์การเมือง 7 เขต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้สื่อข่าวรายงานวิเคราะห์การเมือง ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจังหวัดปทุมธานี โดยมีผู้สมัครลงครบทั้ง 7 เขต สำหรับจังหวัดปทุมธานี มีการแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 7 เขตเลือกตั้ง จากเดิมเมื่อปี 2562 มีเพียง 6 เขต สำหรับผู้สมัครที่น่าจับตามองของแต่ละเขต

เขต 1
"อันดับ 1" นายเสวก ประเสริฐสุข "ใหญ่" (อดีตนายก อบต.เชียงรากใหญ่, อดีต รอง นายก อบจ.ปทุมธานี) ลงในนามพรรคพลังประชารัฐ (หมายเลข 2) เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในจังหวัดปทุมธานี โดยเล่นการเมืองท้องถิ่นมานานกว่า 20 ปี และเป็นคนผลักดันส่ง "บิ๊กแจ๊ส" พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง จนได้เป็นนายก อบจ.ปทุมธานี และยังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม "คนรักปทุม" ที่ส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง หรือ (กลุ่มเพื่อไทย) ขึ้นมา ที่ตัดสินใจลงเล่นการเมืองระดับประเทศ เพราะเป็นคนที่ไม่ทิ้งพรรคพวกหรือพวกพ้องที่เคยร่วมสนับสนุน "บิ๊กแจ๊ส" จนถึงเป้าหมาย แล้วหลายคนพลาดหวังจากพรรคเพื่อไทยที่ไม่รับทีมงานคนรักปทุมเข้าร่วมเป็นผู้สมัคร ส.ส. ทำให้นายเสวกตัดสินใจมาเป็นหัวหน้าทีมผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานี พรรคพลังประชารัฐ และล่าสุดได้รับการตอบรับจากบรรดานายกเทศมนตรี นายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ตลอดจนชาวบ้านทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งเห็นถึงความดีมีคุณธรรม คอยช่วยเหลือทุกคน พร้อมสนับสนุนนายเสวกอย่างเต็มที่ รวมทั้งกลุ่มคนรักปทุม ซึ่งตอนนี้เข้าใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ต่างก็หันเชียร์มาเทคะแนนให้เช่นกัน
ดังนั้นเชื่อว่านายเสวก ประเสริฐสุข จะสามารถคว้าชัยได้แน่นอน

"อันดับ 2" นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล "ฮะ" แชมป์เก่า (อดีต ส.ส.และอดีต รมช.ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) ที่ลงในนามพรรคเพื่อไทย (หมายเลข 6) แม้จะเคยเป็น ส.ส.มาหลายสมัย แต่ครั้งนี้ต้องถึงกับเหนื่อยเอาการเลยทีเดียว เพราะฐานเสียงเก่าที่เคยมีถูกละลายออกไป เนื่องจากทาง กกต.มีการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นแบบที่ 2 ซึ่งถ้าเป็นแบบที่ 1 ก็พอจะมีหวังได้รับชัยชนะ เพราะแบบที่ 1 เป็นพื้นที่ของนายธวัชชัย อึ้งอัมพรวิไล นายกเทศมนตรีเมืองบางกะดี ซึ่งเป็นพี่ชายนายสุรพงษ์ ทำให้ฐานเสียงเก่าหายไปจำนวนมาก และยิ่งกว่านั้นคนที่เคยช่วยนายสุรพงษ์ครั้งที่ผ่านมาก็เป็นคนที่อยู่กลุ่มคนรักปทุมเกือบทั้งหมด ดังนั้นครั้งนี้จึงต้องจัดให้นายสุรพงษ์หล่นมาอยู่อันดับ 2
"อันดับ 3" นายนพพร ขาวขำ (อดีตนายก อบต.คูขวาง) ลงในนามพรรคภูมิใจไทย (หมายเลข 8) ที่มีฐานเสียงอยู่ในเขตพื้นที่บ้านตัวเอง คือ ต.คูขวาง อ.ลาดหลุมแก้ว เพราะครอบครัวอยู่ในวงการเมืองท้องถิ่นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นนายมนัส ขาวขำ อดีตนายก อบต.คูขวาง ผู้เป็นพ่อ และนางวันดี ขาวขำ อดีตกำนัน ต.คูขวาง ผู้เป็นแม่ ซึ่งเป็นผู้ที่กว้างขวางในพื้นที่ มีชาวบ้านนับหน้าถือตาจำนวนมาก นอกจากนี้ครอบครัวขาวขำยังเป็นเจ้าของร้านอาหารชื่อดัง ทำธุรกิจรับถมดิน และมีบ่อดินในพื้นที่ ต.บ่อเงิน อ.ลาดหลุมแก้ว แต่ถึงอย่างไรคะแนนเสียงน่าจะได้แค่ในพื้นที่ ต.คูขวาง คงได้แค่อันดับ 3
"อันดับ 4" นายรังสิต ใยยุง (อดีต ส.อบจ.ปทุมธานี) ลงในนามพรรคไทยสร้างไทย (หมายเลข 5) เป็นคนที่ชอบเรื่องการเมือง แม้ว่าครั้งนี้จะไม่มีโอกาสเป็นผู้ชนะ ก็ถือว่าได้เข้ามาชิมลางในการลงเล่นการเมืองระดับประเทศ จึงจัดให้อยู่อันดับ 4

ส่วนเขต 2
"อันดับ 1" นายนพดล ลัดดาแย้ม "ตุ้ย" (อดีต ส.อบจ.ปทุมธานี) ที่ลงในนามพรรคพลังประชารัฐ (หมายเลข 3) ได้แรงหนุนจากพวกพ้องน้องพี่ เป็นคนหนุ่มที่มีความรู้ความสามารถเรื่องเกษตรกร การสร้างรายได้ให้ชุมชน ความคิดกว้างไกล จนสามารถสร้างแหล่งท่องเที่ยวให้ทุกคนได้รู้จัก โดยเป็นเจ้าของปิ่นฟ้าฟาร์ม สร้างความเจริญในพื้นที่อย่างต่อเนื่องมีโอกาสล้มแชมป์ แต่ก็ถือว่าโอกาสสูสี ทิ้งคะแนนกันไม่ห่างกับอันดับ 2 ชนิดหายใจรดต้นคอกันเลยทีเดียว
"อันดับ 2" นายศุภชัย นพขำ "เต๋า" แชมป์เก่า (อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย) ลงในนามพรรคเพื่อไทย (หมายเลข 8) ยังเหนียวแน่นกับพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นลูกของนายสายัณ นพขำ (อดีตนายก ทต.บ้านกลาง) และยังเป็นหลานของนายสุทิน นพขำ (อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย) แม้ชื่อชั้นจะดีแต่ครั้งนี้มีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่าง นายนพดล ลัดดาแย้ม จึงทำให้ต้องวัดกันที่ชาวบ้านจะมองเห็นผลงานของใครมากกว่าและใครที่เข้าถึงกลุ่มชาวบ้าน สนใจปากท้องชาวบ้าน ก็จะได้คะแนนไปครอง คู่นี้ถือว่าสูสีที่สุด จึงจัดให้อยู่อันดับ 2
"อันดับ 3" นายคิว อรุโณรส (อดีตแกนนำ และโฆษกเวที กปปส.แจ้งวัฒนะ) ก่อนหน้านี้มีรายชื่อลงในนามพรรคพลังประชารัฐ แต่กลับถูกเปลี่ยนตัวด้วยเหตุและผลของทีมบริหารพรรค ก่อนตัดสินใจย้ายค่ายมาลงในนามพรรคประชาธิปัตย์ (หมายเลข 5) แม้ว่าจะคลุกคลีเกี่ยวกับการเมืองมานาน แต่ด้วยชาวบ้านยังไม่ค่อยคุ้นหน้าคุ้นตามากนัก และที่สำคัญประชาชนคนปทุม ยังไม่ค่อยให้การตอบรับกับพรรคประชาธิปัตย์สักเท่าไหร่ ดังนั้นจึงถือว่านายคิวเป็นอีกคนที่สร้างสีสันในการลงเลือกตั้งครั้งนี้ ก่อนถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 3
"อันดับ 4" นายสุรเดช กองรัตน์ "อ๊อด" ลงในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ (หมายเลข 2) เป็นคนที่พอจะมีบทบาททางการเมืองมาบ้าง และเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาลงสมัครครั้งนี้ก็หวังอยู่ลึกๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคว้าชัย จึงตกมาอยู่อันดับ 4

ส่วนเขต 3
"อันดับ 1" นายยุทธศักดิ์ ชูประเสริฐ (จ่ายุทธ) ลงในนามพรรคเพื่อไทย (หมายเลข 2) เคยลงเล่นการเมืองมาแล้วและยังเป็นทีมงานของ "บิ๊กแจ๊ส" ถ้าแรงดันไม่แผ่วมีโอกาสเข้าป้าย แต่เมื่อมีผู้สมัครที่มีดีกรีและความรู้ความสามารถหลายคนเข้ามาอยู่เขตเดียวกันก็อาจชวดได้เช่นกัน
"อันดับ 2" นายอนาวิล รัตนสถาพร "ติ่ง" แชมป์เก่า (อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่) แต่ครั้งนี้ย้ายค่ายมาลงในนามพรรคภูมิใจไทย (หมายเลข 6) ครั้งนี้เป็นการป้องกันแชมป์ โดยที่ผ่านมาทราบว่าลงพื้นที่พบชาวบ้านมาตลอดแต่ยังมีช่องโหว่ของบรรดา FC ที่มองว่าไม่น่าย้ายพรรคจึงอาจทำให้คะแนนลดลงไปบ้าง จึงถูกจัดลงมาอยู่อันดับ 2
"อันดับ 3" ดร.ปรีชา ชื่นชนกพิบูล (อดีต ผอ.กศน.คลองหลวง) และยังเคยเป็นทีมงาน "บิ๊กแจ๊ส" คนรักปทุม ลงในนามพรรคพลังประชารัฐ (หมายเลข 4) มีความรู้ความสามารถและมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ลงพื้นที่แนะนำตัวอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นตัวสอดแทรกที่สามารถพลิกแซงตัวเต็งเข้าวินได้เช่นกัน จึงขอจัดให้อยู่ในอันดับ 3 ไปก่อน
"อันดับ 4" น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ลงในนามพรรคก้าวไกล (หมายเลข 9) ที่หวังว่าจะมาแบบม้ามืดเชื่อพลังมวลชนคนรุ่นใหม่ที่มีรั้วมหาวิทยาลัยอยู่ในพื้นที่ แต่ยุคนี้กับยุคเมื่อครั้งมีพรรคอนาคตใหม่มันไม่เหมือนเดิม จึงจัดให้เข้ามาอยู่ในอันดับ 4

ส่วนเขต 4
"อันดับ 1" น.ส.ณัฐธิดา เกียรติพัฒนาชัย "หนึ่ง" (อดีต ส.อบจ.ปทุมธานี) ลงในนามพรรคภูมิใจไทย (หมายเลข 8) ลูกสาวนายสมศักดิ์ เกียรติพัฒนาชัย "เสี่ยเหน่ง" (เจ้าพ่อย่านรังสิต) ลูกน้องคนสนิทติดตัว "บิ๊กแจ๊ส" ที่ล่าสุดลงสมัคร ส.อบจ.ปทุมธานี แล้วคะแนนชนะคู่แข่งจึงได้เป็น ส.จ.แทนลูกสาวที่ลาออกมาสมัคร ส.ส. และเชื่อมั่นว่าจะพาลูกสาวที่เคยผิดหวังจากพรรคเพื่อไทย มาลงในนามพรรคภูมิใจไทย สามารถเข้าไปเป็น ส.ส.ในครั้งนี้
"อันดับ 2" นายสุทิน นพขำ (อดีต ส.ส. 2 สมัย ปี 2550/2554) ยังลงในนามพรรคเพื่อไทย (หมายเลข 4) มาลงครั้งนี้ถูกวางตัวให้มาลงพื้นที่นอกเขตและต้องมาแข่งกับ น.ส.ณัฐธิดา เกียรติพัฒนาชัย เจ้าของพื้นที่ย่านรังสิต โดยนายสุทินซึ่งเป็นผู้สมัครที่ต้องทำให้ "เสี่ยเหน่ง" ไม่ปลื้มพรรคเพื่อไทย จึงต้องนำลูกสาวไปอยู่พรรคภูมิใจไทยแทน ดังนั้นโอกาสที่นายสุทินจะอกหักมีมาก เพราะมีเจ้าถิ่นที่ลงท้าชิงเกือบทั้งนั้น จึงถูกจัดให้มาอยู่อันดับ 2
"อันดับ 3" นายยุทธวัฒน์ หาญเกียรติกล้า "หมู" (อดีตกำนัน) ลงในนามพรรคพลังประชารัฐ (หมายเลข 7) ถือว่าเป็นผู้สมัครรุ่นใหญ่ สไตล์นักเลงรุ่นเก่า ที่รู้ดีรู้ลึกในพื้นที่ แรกๆ ก่อนลงสมัครมีเสียงตอบรับดีมากแต่พอสมัครได้เบอร์เสียงตอบรับกลับแผ่วลง ถ้าจะกลับมาให้มีพลังหนุนมากขึ้นต้องปรับทัพแกนนำให้ดีจึงจะเข้าวินได้ ดังนั้นจึงถูกจัดมาอยู่อันดับ 3 ไปก่อน
"อันดับ 4" นายอานนท์ นุ่นสุข ลงในนามพรรคประชาธิปัตย์ (หมายเลข 6) ถือว่าเป็นลูกหม้อพรรคประชาธิปัตย์ ลงเล่นมาหลายสมัยแต่ก็ยังไม่ถึงเป้าหมาย แม้ว่าที่ผ่านมาจะพยายามสร้างผลงานลงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยากที่จะเข้าวินจึงถูกจัดให้อยู่อันดับ 4

ส่วนเขต 5
"อันดับ 1" นายพิษณุ พลธี "เอ้" แชมป์เก่า (อดีต ส.ส.พรรคภูมิใจไทย) ที่ลงในนามพรรคภูมิใจไทย (หมายเลข 9) มีความมั่นใจอย่างมากที่จะรักษาแชมป์ไว้ได้เพราะเชื่อว่าชาวบ้านมองเห็นผลงานที่ผ่านมา จึงมั่นใจรักษาแชมป์ได้อีกครั้ง
"อันดับ 2" นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ "ฟลุ๊ค" (อดีต ส.อบจ.ปทุมธานี) ลูกชาย นายกฤษฎา หลีนวรัตน์ นายก ทต.ธัญบุรี ลงในนามพรรคเพื่อไทย (หมายเลข 2) หวังได้คะแนนฐานเสียงของผู้เป็นพ่อ แต่ก็ถูกวางมืออยู่ในอันดับ 2
"อันดับ 3" นายวิรัช พยุงวงษ์ (อดีตที่ปรึกษาพิเศษนายก อบจ.ปทุมธานี) ลงในนามพรรคพลังประชารัฐ (หมายเลข 7) ถือเป็นผู้ที่ผลงานโดดเด่น และมีการทำการบ้านมาอย่างดี และลงพื้นที่มานานเมื่อครั้งยังอยู่ทีมงานคนรักปทุม พร้อมกับยังได้รับแรงสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่ายเต็มที่ มีโอกาสเป็นที่ 1 แต่คงต้องดูโค้งสุดท้าย ก่อนถูกวางให้อยู่อันดับ 3
"อันดับ 4" นางสิริกัญญา เสาะแสวง "เล็ก" (อดีต ส.ท.) ลงในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ (หมายเลข 3) มีฐานเสียงตัวเองเมื่อครั้งลงสมัครการเมืองท้องถิ่น แม้จะไม่มีโอกาสคว้าชัยแต่ก็ยังถูกจัดให้อยู่อันดับ 4

ส่วนเขต 6
"อันดับ 1" ดร.เกียรติศักดิ์ ส่องแสง (อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์) ครั้งนี้ลงในนามพรรคพลังประชารัฐ (หมายเลข 5) สาเหตุที่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เพราะได้รับการชักชวนจาก "บิ๊กแจ๊ส" และนายเสวก ให้มาช่วยทีมงานคนรักปทุม เพื่อให้บิ๊กแจ๊สได้เป็นนายก อบจ.ปทุมธานี และครั้งแรกคิดว่าจะได้ลงในนามพรรคเพื่อไทย แต่บิ๊กแจ๊สทำไม่สำเร็จ นายเสวกจึงนำพาเข้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งที่ผ่านมา ดร.เกียรติศักดิ์เป็นคนที่ลงพื้นที่ดูเอาใจใส่พี่น้องประชาชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ยังเชื่อมั่นพลังศรัทธาของประชาชนที่เห็นผลงานมาตลอด มั่นใจชนะคู่แข่งได้อย่างมั่นใจ

"อันดับ 2" นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ แชมป์เก่า (อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย) ลงในนามพรรคเพื่อไทย (หมายเลข 8) ครั้งแรกมีกระแสข่าวว่าอาจจะย้ายพรรคแต่พอเรื่องหนาหูก็ออกมาเปิดตัวว่ายังอยู่พรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม แต่ทราบว่าทีมงานชุดเก่าๆหลายคนตีตัวออกห่าง ดังนั้นจึงถูกวางตัวไว้ที่อันดับ 2
"อันดับ 3" นายเชตวัน ตือประโคน ลงในนามพรรคก้าวไกล (หมายเลข 4) มีความขยันได้ลงดูพื้นที่เพื่อเตรียมทำการบ้านหากได้รับความไว้วางใจแต่ถือว่าเพิ่งลงการเมืองครั้งแรกจึงยังไม่แกร่งพอถูกวางตัวไว้ที่อันดับ 3
"อันดับ 4" นายเอกชัย ศรีสุขชยะกุล ลงในนามพรรคภูมิใจไทย (หมายเลข 7) มีชื่อเสียงไม่โดดเด่นแต่ก็ได้แรงสนับสนุนจากพรรค จึงถูกจัดเข้าอันดับ 4

ส่วนเขต 7
"อันดับ 1" นายยงยุทธ มั่นบุปผชาติ (อดีต นายก ทต.ลำลูกกา) มาลงในนามพรรคเพื่อไทย (หมายเลข 1) ทำงานในพื้นที่จนทุกคนรู้จักและมีแรงหนุนจากคนรอบข้างจำนวนมากเชื่อว่าจะสามารถคว่ำแชมป์เก่าในพื้นที่จึงถูกวางตัวเป็นอันดับ 1
"อันดับ 2" น.ส.พรพิมล ธรรมสาร "ก้อย" แชมป์เก่า (อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย) ที่ย้ายขั้วมาอยู่สังกัดพรรคภูมิใจไทย (หมายเลข 2) คราวนี้อาจจะชวดในการป้องกันแชมป์เพราะยังมีคนต่อต้านเรื่องการเป็นงูเห่า จึงถูกวางให้อยู่ในอันดับ 2
"อันดับ 3" น.ส.กฤษณา วงศ์คำ "เล็ก" ลงในนามพรรคพลังประชารัฐ (หมายเลข 8) คลุกคลีกับเรื่องการเมืองมาโดยตลอดเช่นกัน และเป็นญาติกับ ดร.เกียรติศักดิ์ ส่องแสง หลังจากรู้ว่าได้เข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ ก็ลงพื้นที่ทำหน้าที่ผู้สมัครหนักขึ้น ทำให้ตอนนี้มีเสียงตอบรับจากชาวบ้านดีมาก จึงถูกวางตัวมาอยู่อันดับ 3 แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในเร็วๆ นี้

"อันดับ 4" นายอธิวัฒน์ สอนเนย ลงในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ (หมายเลข 9) เป็นตัววางของพรรคในช่วงโค้งสุดท้ายแบบเส้นยาแดงผ่าแปด แต่ถือว่าเป็นเพียงไม้ประดับจัดให้อยู่อันดับ 4










กำลังโหลดความคิดเห็น