xs
xsm
sm
md
lg

สนพ.อ้างประเทศมีไฟฟ้าสำรองสูงมากกว่า 50% เป็นเรื่องเข้าใจผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานชี้แจงว่า ประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองสูงมากกว่า 50% เป็นเรื่องเข้าใจกันผิด อ้างว่าโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ต้องใช้ตัวคูณลดทอนให้เหมาะสมกับสภาพโรงไฟฟ้าแต่ละชนิด ระบุผลที่ได้ประมาณ 36% เท่านั้น

วันนี้ (24 เม.ย.) เฟซบุ๊ก EPPO Thailand ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า กรณีที่มีการกล่าวกันว่าประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองสูงมากกว่า 50% เป็นเรื่องเข้าใจกันผิด เนื่องจากโรงไฟฟ้าบางประเภทโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติ ความสามารถในการผลิตจะขึ้นอยู่กับปริมาณ แดด ลม และน้ำ ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนชีวมวลก็ขึ้นกับฤดูกาล ดังนั้น วิธีการคำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ไม่สามารถนำผลรวมของกำลังผลิตไฟฟ้าของทุกโรงไฟฟ้ามาเปรียบเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยตรงได้ จะต้องใช้ตัวคูณลดทอนให้เหมาะสมกับสภาพโรงไฟฟ้าแต่ละชนิด

เมื่อลดทอนมาจะเรียกว่า "กำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาได้" (Dependable Capacity) โดยจะนำกำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาได้มาประเมินกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา ณ ปี 2565 เป็น 52,566 เมกะวัตต์ (MW) คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาได้ประมาณ 45,225 เมกะวัตต์ จะคิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองประมาณ 36% แต่หากนำกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 52,566 เมกะวัตต์ไปคิดจะได้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองประมาณ 58% ซึ่งเป็นการคำนวณที่มักเข้าใจผิดกัน จึงทำให้ได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน

ทั้งนี้ ในการประเมินกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองข้างต้นนั้น ประเมินจากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ในระบบ 3 การไฟฟ้า หากประเมินจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยซึ่งรวมความต้องการใช้ไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการซื้อขายกันโดยตรงในนิคมอุตสาหกรรม (Independent Power Supply หรือ IPS) ที่เชื่อมต่ออยู่กับระบบ 3 การไฟฟ้าด้วยแล้ว จะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองต่ำกว่าระดับที่ประเมินไว้ เนื่องจากหาก IPS ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ก็จะมีการใช้ไฟฟ้าจากระบบ 3 การไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก IPS ดังกล่าวต้องพึ่งไฟฟ้าจากระบบในช่วงที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ จะส่งผลให้ระดับกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ในอดีตประเทศไทยเคยประสบกับปัญหา “กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง” ต่ำเกินไปจนทำให้เกิดปัญหา เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ดังนั้น การมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin หรือ RM) ในแผนพัฒนาพลังไฟฟ้า (PDP) ทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในยามที่เกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ หรือกรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ก็ยังจะมีไฟฟ้าใช้เพียงพอที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ที่จะทำให้ประเทศไทยไม่ตกขบวนการแข่งขันในเวทีโลก

ด้านชาวเน็ตต่างออกมาแสดงความคิดเห็นดังนี้

- อัตราก้าวหน้าที่ทำเป็นขั้นบันไดหน้าร้อนคนใช้ไฟฟ้ามากจึงทำให้เสียเงินมากขึ้น ไฟฟ้าผลิตมาแล้วเก็บไว้ไม่ได้เมื่อปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นก็น่าจะลดอัตราก้าวหน้าลงจะเอากำไรไปถึงไหน รัฐบาลคิดไม่เป็นหรือฮั้วกัน

- อ่านแล้ว แต่ก็มีคำถามน่าคิดต่อซึ่ง EPPO ไม่ได้ระบุไว้ คือ 1. ถ้ากลุ่มพลังงานหมุนเวียนที่ตัดออกจาก reserve margin ประมาณ 7,500 MW แล้ว รัฐมีการต้องจ่ายเงินให้กับค่าพร้อมจ่ายหรือไม่ เพราะในเมื่อไม่พร้อมจ่ายตลอดเวลา ก็ควรคิดตามการจำหน่ายจริงไหม ? 2. การรับซื้อจากการผลิตไฟเอกชนหน่วยละเท่าไหร่ แต่ละประเภท รัฐจ่ายเงินเท่ากันไหม เพราะมีผลต่อค่า FT หลักๆ ไปอ่านแล้ว แค่ชี้แจงว่า ไม่ใช่ 58% แต่เป็น 36% เพราะตัดพวกพลังงานหมุนเวียนออกไป แค่นั้น

- แต่เรื่องจ่ายเงินให้โรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องนี่จริงใช่ไหม

- แต่ยังไงก็คิดค่าไฟแบบขั้นบันไดอยู่ดี

- แล้วที่ไม่เอามาคิด ต้องจ่ายเงินให้เขาหรือไม่ เท่าไหร่ เท่ากับที่จ่ายให้ที่นำมาคิดหรือไม่ .. ตอบ

- ถ้าข้อมูลถูกต้องอย่างที่บอกจริง ทำไมไม่จัดโต๊ะแถลงข่าวให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจ หรือข้อมูลที่บอกไม่จริงทั้งหมดเลยกลัวโดนโต้


กำลังโหลดความคิดเห็น