xs
xsm
sm
md
lg

เตือน “ลุงป้อม” พังเพราะ “มิ่ง" ลดราคาน้ำมันตีหัวเข้าบ้าน ปชช.แบกหนี้เพิ่ม 2.4 แสนล้านอุ้มทุนพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” ชี้นโยบายลดราคาน้ำมัน-ก๊าซหุงต้มของพรรคพลังประชารัฐ ตามแนวคิด “มิ่งขวัญ” จะสร้างความหายนะ ลดราคาหลอกชาวบ้านแค่ปีเดียว ไม่เก็บภาษีและไม่เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน แต่ต้องสร้างหนี้เพิ่ม 2.4 แสนล้าน ยังไม่รวมเงินอุดหนุนราคาก๊าซฯ อีก 9 หมื่นล้าน โดยไม่รื้อโครงสร้างราคาที่ยังให้กลุ่มทุนกินกำไรพุงกาง ผิดหวัง “บิ๊กป้อม” ไม้หลักปักเลน ดึง“สนธิรัตน์-ธีระชัย-หม่อมกรฯ” เข้าพรรคโดยบอกจะปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ แต่สุดท้ายกลับไปหลงเชื่อนักการตลาดสร้างภาพ



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค นำนโยบายลดราคาพลังงานตามแนวคิดของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ มาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ทีมเศรษฐกิจของพรรคหลายคนไม่เห็นด้วย อาทิ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี หรือหม่อมกร นักวิชาการด้านพลังงาน และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายสนธิ กล่าวว่า ทั้งนายธีระชัย และหม่อมกร เป็นนักเคลื่อนไหวด้านพลังงานภาคประชาชนมานาน ได้เข้าร่วมทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะในการพูดคุยตั้งแต่แรก พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ต้องการจะใช้พรรคพลังประชารัฐในการผลักดันการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับเอกชน แทนที่จะนำเสนอลดราคาโดยใช้งบประมาณแผ่นดินมาโอบอุ้ม อยากจะปรับโครงสร้างทั้งระบบไม่ใช่แค่เอางบประมาณแผ่นดินมาอุดเพื่อลดราคาพลังงานเป็นระยะเวลาสั้นๆ อย่างฉาบฉวย แล้วสร้างภาระให้ประชาชนในที่สุด


อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคพลังประชารัฐรับเอาแนวคิดของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ในการลดราคาน้ำมันเบนซินลงลิตรละ 18.07 บาท ลาราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 6.37 บาท เป็นประมาณ 1 ปี ตามที่ได้ปราศรัยบนเวที "พลังใหม่ พลังกรุงเทพ พลังประชารัฐ" วันที่ 18 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ 3 ขุนพลในพรรคพลังประชารัฐด้านพลังงาน คือนายสนธิรัตน์ นายธีระชัย และ หม่อมหลวงกรฯ ได้ตัดสินใจโพสต์ข้อความไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว

ทั้งนี้ เพราะแนวคิดของหม่อมกรฯ นายธีระชัย และ นายสนธิรัตน์ ต้องการจะปรับโครงสร้างทางพลังงานเพื่อให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างยั่งยืนตลอดไป ไม่ใช่ทำเพียงครั้่งเดียวเพื่อเอาหน้าเหมือนอย่างนายมิ่งขวัญ ซึ่งไม่เคยรู้เรื่องพลังงานมาก่อน แต่มาจับเรื่องนี้เพราะต้องการที่จะให้ตัวเองได้มีชื่อเสียง

นายมิ่งขวัญ บอกว่า ถ้าอยากได้น้ำมันราคาถูก ต้องเลือกพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล เพราะ พล.อ.ประวิตร เป็นคนใจดีและพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทย และจะทำเพื่อคนไทยต่อไป

แต่คำถามคือ ในการลดราคาน้ำมันเบนซิน 18 บาทต่อลิตร และลดราคาน้ำมันดีเซลอีก 6.37 บาทต่อลิตร ทำได้ง่ายๆ ตามลมปากของนายมิ่งขวัญเลยหรือ ?


การลดราคาน้ำมันแบบประชานิยมสไตล์ของนายมิ่งขวัญ ซึ่งเป็นนักการตลาด นักประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่นักปฏิบัติการ ประการแรก คือ การไม่เก็บเงินกองทุนน้ำมันฯ และภาษีสรรพสามิตร เป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้ลดราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลดไป 18 บาท น้ำมันดีเซลลดไป 6 บาท แต่ลดแค่ 1 ปีเท่านั้น ไม่ใช่ตลอดไป

ประการที่สอง การลดราคาก๊าซหุงต้มลงไปเหลือ 250 บาทต่อขนาดถัง 15 กิโลกรัม ปัจจุบันราคาถังละ 420-440 บาท คือลดลงไปมากถึงถังละ 170-190 บาท

แต่การลดราคาแบบนี้ รัฐจะเอาเงินมาจากไหน เพราะว่านโยบายน้ำมันประชาชนเพื่อลดราคาน้ำมันเบนซินลิตรละ 18 บาท ดีเซล 6 บาท เป็นเวลา 1 ปี ใช้งบประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท นโยบายก๊าซประชาชนเพื่อลดค่าก๊าซ ใช้งบประมาณอีก 24,000 ล้านบาท รวมทั้งสองนโยบายแล้วใช้เงินถึง 224,000 ล้านบาท

และนี่เองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทีมเศรษฐกิจที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจและพลังงานที่สังกัดอยู่พรรคเดียวกันกับนายมิ่งขวัญ อย่างนายสนธิรัตน์ นายธีระชัย และหม่อมหลวงกรฯ ไม่เห็นด้วยกับนายมิ่งขวัญ และนโยบายด้านพลังงานของพรรคพลังประชารัฐ ในลักษณะนี้

ลดราคาแบบ “มิ่งขวัญ” สร้างหนี้ 2.4 แสนล้าน

พิษร้ายของนโยบายลด แลก แจก แถม แบบของนายมิ่งขวัญ คือการโกหกหลอกลวงเพื่อหวังผลเฉพาะหน้า คือหวังให้ได้เพียงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง แต่ท้ายที่สุดแล้วประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการลดราคาน้ำมันและก๊าซชั่วคราว

คือในระยะเวลาแค่หนึ่งปี ต้นทุนที่ใช้ในการลดราคาน้ำมันนี้ คือเงินภาษีอากรถึง 224,000 ล้านบาท นี่คือการตลาดแบบใช้ยาพิษมอมเมาประชาชนให้ตกอยู่ในภาวะวังวนของหนี้สินทุกวันนี้ นี่คือการ "ใช้ก่อนจ่ายทีหลัง" ภาษาอังกฤษเรียกว่า Buy now pay later เป็นความถนัดของนายมิ่งขวัญในการสร้างภาพ


นโยบายยาพิษแบบนี้ ในท้ายที่สุดเมื่อพ้นช่วงเลือกตั้งไปแล้ว หลังจากนั้น 1 ปี ราคาพลังงานที่แพงอยู่แล้วก็จะยิ่งแพงขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องหาเงินมาโปะจ่าย 224,000 ล้านบาทที่หายไปพร้อมกับดอกเบี้ย

และที่สำคัญที่สุด การทำเช่นนี้จะส่งผลให้ไม่เปิดโอกาสในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่เอกชนเอาเปรียบประชาชนมาอย่างยาวนาน

สรุปสั้นๆ นายมิ่งขวัญกำลังจะเสนอ "แพงแล้ว แพงอยู่ และแพงต่อไป" !

เจาะสาเหตุราคาน้ำมันแพง

นายสนธิ กล่าวว่า ราคาพลังงานที่แพงของประเทศไทย เป็นเพราะความเชื่อมโยงด้านพลังงาน 2 ประเภทที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด นั่นคือ น้ำมัน และ ก๊าซหุงต้ม

สำหรับราคาน้ำมันแพงเกิดขึ้นเพราะสูตรราคาสมมุติแพงไป และการตั้งกองทุนน้ำมันฯ ขึ้นมาเพื่อกลบปัญหาและเอื้อต่อเอกชน โดยสาเหตุปัญหาราคาน้ำมันในประเทศไทยที่แพงนั้น ถูกแบ่งเป็น 3 สาเหตุหลัก

สาเหตุที่หนึ่ง โครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นไทยเป็นสูตรราคาสมมุติ เกิดจากการสมมุติว่าเป็นราคาน้ำมันที่โรงกลั่นสิงคโปร์แล้วนำเข้าประเทศไทย บวกค่าขนส่ง ค่าประกันภัย และอื่นๆ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเราเอาน้ำมันดิบมากลั่นที่ประเทศไทย พอกลั่นเสร็จเอาออกมาใช้ ดันตั้งราคาโดยบวกค่าขนส่งจากสิงคโปรฺ์มาไทย นี่คือข้อโกหกหลอกลวงที่ทางพลังงานโกหกประชาชน


ราคาสมมุตินี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยให้มีกำไรอย่างมหาศาล เอาเปรียบผู้บริโภค และทำให้คนไทยต้องเดือดร้อนเพราะราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นแพงเกินจริง

ซึ่งนายมิ่งขวัญไม่พูดถึงเรื่องนี้เลยแม้แต่นิดเดียว ไม่พูดเพราะไม่รู้ หรือไม่พูดเพราะทุนพลังงานอุดปากคุณมิ่งขวัญเอาไว้ ?

สาเหตุที่สอง เราต้องใช้น้ำมันเบนซินราคาแพงกว่าชาติอื่นๆ เพราะเราต้องเก็บเงินส่วนหนึ่งไปเข้ากองทุนน้ำมันฯ เป็นการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเพื่อไปจ่ายค่าส่วนต่างราคาน้ำมันที่ผลิตมาจากพืชพลังงาน คือ เอทานอลที่นำไปผสมเป็นน้ำมันแกสโซฮอล์ และไบโอดีเซลที่ได้จากการนำน้ำมันปาล์มมาผสมกับน้ำมันดีเซล

ซึ่งเอทานอล กับไบโอดีเซล เมืองไทยแพงกว่าตลาดโลก และแพงกว่าน้ำมันเบนซิน และแพงกว่าน้ำมันดีเซล โดยที่เกษตรกรได้ประโยชน์นิดเดียว

นโยบายการจ่ายเงินอุดหนุนให้เอทานอลและไบโอดีเซล มาจากอดีตนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลในกลุ่มทุนพลังงานส่งเสริมให้ใช้เอทานอล ไบโอดีเซล โดยตัวเองผูกขาดเอทานอล และไบโอดีเซล ในการผลิตออกมา นี่คือความงก ความเห็นแก่ตัว และการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ผู้ที่เติมน้ำมันต้องจ่ายค่ากองทุนน้ำมันฯ เหล่านี้เพื่อชดเชยให้รู้สึกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกกว่าน้ำมันเบนซิน หรือไบโอดีเซลถูกกว่าน้ำมันดีเซลเพียวๆ


ยกตัวอย่าง วันที่ 12 เมษายน 2566 ราคาน้ำมันเบนซิน 95 หน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 23 บาทต่อลิตร ราคาเอทานอลที่เอามาผสมเป็นแก๊สโซฮอล์ มีราคาสูงกว่า คือ 29 บาทต่อลิตร แพงกว่าน้ำมันเบนซินประมาณ 6 บาทต่อลิตร ถ้าไม่ต้องผสมราคาน้ำมันเบนซินก็ถูกกว่าอยู่แล้ว แต่พอผสมก็แพงขึ้นไปอีก ตรรกะของการเอามาผสมคือผลประโยชน์ อีกเจ้าหนึ่งมาผูกขาดเอทานอลและพวกไบโอดีเซลผลิตแล้วเอามาผสมน้ำมัน กินกันเป็นพรวน นายมิ่งขวัญรู้บ้างหรือเปล่า หรือถูกทุนพลังงานอุดปากเอาไว้

ราคาเอทานอลที่แพงแบบนี้ แปลว่ายิ่งผสมแอลกอฮอล์ในน้ำมันสัดส่วนยิ่งมาก ต้นทุนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ก็ยิ่งแพง แต่ทุกวันนี้เราจ่ายค่าน้ำมันแพง จ่ายเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อฝืนตลาด ทำให้ราคามันกลับด้าน ยิ่งเติมแก๊สโซฮอล์ในสัดส่วนมาก ราคาน้ำมันยิ่งถูกลง เช่น น้ำมันเบนซิน 100 เปอร์เซ็นต์ จ่ายเข้ากองทุนน้ำมันฯ 8.58 บาทต่อลิตร รวมภาษีการตลาด ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินกลายเป็น 45 บาทต่อลิตร น้ำมันเบนซินผสมเอทานอล 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นแก๊สโซฮอล์ 95 จ่ายเข้ากองทุนน้ำมันฯ 2 บาท ราคาขายปลีกอยู่ที่ 37.25 บาทต่อลิตร ถูกกว่าน้ำมันเบนซิน 7.81 บาท

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์นี้ เกิดขึ้นเช่นเดียวกับน้ำมันดีเซล และไบโอดีเซล แต่เราใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ไปบิดเบือนราคาตลาด ราคาขายปลีก เช่นเดียวกัน ยิ่งเติมไบโอดีเซลยิ่งราคาถูกลง แต่อีกด้านหนึ่งเราต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อฝืนราคาตลาดอีกเช่นกัน

แทนที่เราจะไปหาสาเหตุที่โครงสร้างราคา ว่าทำไมเอทานอล และไบโอดีเซล ของไทยจึงแพงกว่าของตลาดโลก ทั้งๆ ที่เกษตรกรได้เงินนิดเดียว แต่กลับใช้วิธีเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่ออะไร ? ซุกปัญหาใต้พรม ทำให้ราคาน้ำมันไทยไม่มีวันจะถูกลงได้เลย

การฝืนราคาตลาดทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินไม่พอเพียง ต้องติดลบไปแล้วเกือบ 43,000 ล้านบาท ถ้าเราเอานโยบายลดราคาน้ำมันแบบสะบั้นหั่นแหลก ในวันข้างหน้าก็จะต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้นกว่าราคาตลาดโลกเพื่อชำระหนี้สินของกองทุนน้ำมันฯ ที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 2 แสนกว่าล้านบาท จากนโยบายของนายมิ่งขวัญ


สาเหตุที่สาม ทุกวันนี้ประชาชนต้องจ่ายค่ากองทุนน้ำมันฯ ทำให้ราคาน้ำมันทั้งระบบแพงกว่าราคาตลาดโลก เพื่อเอาเงินกองทุนไปจ่ายตรึงราคาก๊าซหุงต้ม โดยจ่ายชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงานแยกก๊าซ และโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อให้ประชาชนซื้อก๊าซหุงต้มในราคาถูกลง โดยผู้ผลิตก๊าซได้กำไรเท่าเดิม เป็นการทำกำไรอย่างมหาศาล เกินสมควรมากจนเกินไป

ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วก๊าซหุงต้มไม่ควรจะแพง เพราะก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่มาจากแหล่งก๊าซภายในประเทศทั้งสิ้น และเพียงพอต่อผู้ใช้รถ และเป็นก๊าซหุงต้มในครัวเรือน เราไม่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นี่คือความจริง

แต่การนำโครงสร้างราคาน้ำมันไปตรึงราคาก๊าซหุงต้ม โดยไม่แก้ปัญหาสาเหตุที่ทำให้ราคาก๊าซหุงต้มแพงแบบนี้ ทำให้คนไทยต้องใช้น้ำมันแพงตลอดไป และวันนี้กองทุนน้ำมันฯ มีหนี้สินสุทธิทั้งหมดเกือบ 90,000 ล้านบาท

แปลว่าในวันข้างหน้าจะต้องมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อไปใช้หนี้ที่นายมิ่งขวัญเอาไปลดราคาน้ำมันเฉพาะหน้าชั่วคราว และจะทำให้ราคาน้ำมันต้องแพงขึ้นอย่างแน่นอน


ผลงานยุค “สมชาย” จัดสรรก๊าซฯ อุตสาหกรรมต้องมาก่อน

ปัจจุบันก๊าซหุงต้มมีราคาขายปลีกอยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ในราคานี้เราใช้กองทุนน้ำมันฯ ที่ชดเชย แต่อีกไม่นานนี้ เราจะต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงกว่านี้ เพื่อชดเชยกับหนี้สินที่เกิดขึ้น หากพรรคพลังประชานรัฐได้เป็นรัฐบาลและใช้นดยบายลดราคาน้ำมันของนายมิ่งขวัญ

ความจริงคือปริมาณก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศไทยนั้นมีมากเพียงพอที่จะให้คนไทย ทั้งในรูปแบบการใช้ก๊าซหุงต้ม และเป็นก๊าซ LPG ที่ใช้ในรถยนต์ได้ด้วย

แต่ที่มันไม่พอ เพราะในปี 2551 สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2551 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 ได้กำหนดหลักการในการจัดสรรปริมาณก๊าซ LPG ที่ผลิตได้ในประเทศ อย่างนี้

"หลักการจัดสรรการผลิตก๊าซ LPG ในประเทศ จะถูกจัดสรรใไปให้กับภาคครัวเรือนและปิโตรเคมีเป็นลำดับแรก" ส่วนปริมาณการผลิตก๊าซ LPG ที่เหลือจากการจัดสรรข้างต้นจะถูกนำไปจัดสรรให้กับภาคขนส่งและอุตสาหกรรมเป็นลำดับต่อไป หากไม่พอจะให้มีการนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศ


นั่นคือนโยบาย แต่ความเป็นจริงคือ การอาศัยมติดังกล่าวจัดสรรก๊าซธรรมชาติในประเทศราคาถูกให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัลก่อน

ที่สำคัญ การจัดสรรก๊าซธรรมชาติในประเทศราคาถูกให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัลเฉพาะในเครือ ปตท. ก่อนด้วย มีระบุชัดเจนเลย ในขณะที่เอกชน อุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัลรายอื่น ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และแข่งขันกับต่างประเทศด้วย

ผลปรากฏว่าก๊าซธรรมชาติภายในประเทศราคาถูก เอาไปปรนเปรอเฉพาะผู้ถือหุ้นอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัลในเครือ ปตท. ก๊าซก็เลยไม่พอและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ถ้าวันนี้เราเปลี่ยนมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติใหม่ เรื่องการจัดสรรปริมาณก๊าซ LPG ที่ผลิตได้ในประเทศข้างต้นใหม่ เปลี่ยนคำว่า "และปิโตรเคมิคัล" ให้เป็น "และภาคขนส่ง" ราคาก๊าซหุงต้มจะลดจาก 423 บาทต่อถัง เหลือแค่ 250 บาทต่อถัง

และเป็นการลดโดยการปรับโครงสร้างการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ไม่ต้องนำเงินกองทุนน้ำมันฯ มาชดเชย เงินกองทุนน้ำมันฯ ก็คือหักจากราคาน้ำมันที่ราคาสูงเอามาจ่าย ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัลของ ปตท. ก็ควรจะต้องไปนำเข้าจากต่างประเทศหรือจากโรงกลั่นเอาเอง เหมือนกับเอกชนรายอื่นๆ เพราะเป็นการแสวงหาผลกำไรให้กับคนเพียงไม่กี่คน และผู้ถือหุ้น ปตท. เท่านั้นเอง


แผน “มิ่งขวัญ” ลดราคาน้ำมันให้โลกจำ?

นายสนธิกล่าวว่า มือเศรษฐกิจที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ อย่างนายธีระชัย หม่อมหลวงกรฯ ที่ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะเชื่อมั่นว่านายสนธิรัตน์ และ พล.อ.ประวิตร จะให้การสนับสนุนการปรับโครงสร้างราคาแบบยั่งยืน ไม่ใช่การเลิกเก็บกองทุนน้ำมันฯ หรือภาษีแบบฉาบฉวยชั่วคราว 1 ปี แล้วหลังจากนั้นก็มาเก็บต่อ ทำให้ราคาน้ำมันขึ้นอีก

“คุณมิ่งขวัญครับ พล.อ.ประวิตร ครับ พลาดไปแล้ว พลาดแบบโง่ๆ ด้วย แล้วโง่แบบบัดซบด้วยครับ ขออนุญาตครับ พล.อ.ประวิตร ท่านไม่เหมาะที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ท่านเป็นเมื่อไร ประชาชนฉิบหายทันทีเลย” นายสนธิกล่าว

นายสนธิ ได้กล่าวถึงนายมิ่งขวัญว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว 6 ธันวาคม 2565 ได้เปิดตัวเข้าพรรคพลังประชารัฐ ประกาศตัวเองเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยคิดเอง เออเอง โดยมีเพื่อนซื้คือ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ (ชื่อเดิม นพดล) พร้อมทีมงาน เสธ.ทหาร อีกหลายคน หวังจะเป็นทายาทต่อจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ งานนี้จึงต้องเล่นใหญ่ ออกนโยบายให้โลกจำด้วยนโยบายลดราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มแบบมโหฬาร


นายมิ่งขวัญออกมายอมรับเองหลังจากต้นธันวาคม 2565 เข้าพลังประชารัฐมาแล้วหายไป 2 เดือน ไปซุ่มกับทีม เสธ.ทหาร พร้อมข้าราชการกระทรวงพลังงาน ทำนโยบาย แถมยังคุยโม้ว่า เพียงขายน้ำมันไม่เก็บภาษีและเงินกองทุนน้ำมันฯ แก้ง่ายๆ แค่นี้ก็สยบราคาน้ำมันแพงได้แล้ว โดยไม่ได้ใช้งบประมาณเลยแม้แต่บาทเดียว ทำให้อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหลายๆ คนที่ทำงานมาเป็นปีๆ งงเป็นไก่ตาแตก แม้แต่ภาคประชาชนที่เราสู้เรื่องพลังงานกันมาเป็นสิบๆ ปี อย่างนางสาวรสนา โตสิตระกูล ยังตั้งข้อสงสัยว่าคุณมิ่งขวัญหาเสียงแบบตีหัวเข้าบ้าน พอเป็นรัฐบาลแล้ว ลดราคา 3 เดือน หลังจากนั้นก็ตัวใครตัวมันหรือเปล่า ?

“ธีระชัย” แฉไส้ใน ลดราคาน้ำมันสไตล์มิ่งขวัญ

จนกระทั่ง 2 เมษายน 2565 นายธีระชัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ปรึกษากรรมการนโยบายเศรษฐกิจของพรรคฯ ออกมาชี้แจงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ในฐานะที่เป็นอดีตรัฐมนตรีฯ คลัง มีข้อท้วงติงเกี่ยวกับแนวความคิดนี้ (การลดราคาน้ำมันสไตล์มิ่งขวัญ) หนึ่ง เมื่อคุณเลิกเก็บภาษีน้ำมัน ในขณะที่กองทุนน้ำมันฯ ยังเป็นหนี้กว่าแสนล้าน ก็จะเป็นผลทำให้รัฐบาลต้องเอาหนี้สาธารณะไปจุนเจืออุดหนุนราคาน้ำมันให้ต่ำลง การอุดหนุนโดยการใช้หนี้สาธารณะนั้นไม่ใช่ของฟรี เพราะรัฐบาลในอนาคตจำเป็นต้องใช้คืนหนี้สาธารณะดังกล่าว ดังนั้นการที่รัฐบาลเอาหนี้สาธารณะไปจุนเจืออุดหนุนราคาน้ำมัน ก็คือเอาเงินอนาคตของประชาชนที่เป็นลูกหลาน มาอุดหนุนราคาน้ำมันให้ประชาชนในปัจจุบัน ประชาชนได้ประโยชน์ในวันนี้ แต่ลูกหลานไทยจะถูกเช็กบิลในวันหน้า และยังมีปัญหาด้านวินัยการเงินการคลังอีกด้วย


สอง รัฐบาลปัจจุบันผิดพลาดในเรื่องนโยบายก๊าซหุงต้ม ที่กำหนดราคาก๊าซหุงต้มที่ผลิตจากทรัพยากรในประเทศ กลับให้ครัวเรือนไทยจ่ายในราคานำเข้าจากประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยให้บวกค่าใช้จ่ายนำเข้าที่ไม่ได้มีอยู่จริง อันย่อมเกิดเป็นผลกำไรให้กับกลุ่มทุนพลังงาน เมื่อราคาก๊าซหุงต้มพุ่งสูงขึ้น ประชาชนเดือดร้อน รัฐบาลปัจจุบันก็แก้ปัญหาโดยการใช้วิธีเก็บเงินจากคนใช้รถเข้ากองทุนน้ำมันฯ แล้วเอาเงินก้อนนี้ไปอุดหนุนก๊าซหุงต้ม ดังนั้นถ้ายกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ โดยไม่ปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างของธุรกิจก๊าซ จะทำให้ก๊าซหุงต้มราคาสูงกว่าเดิมอีกประมาณ 100 บาทต่อ 1 ถัง

สาม การถล่มราคาเบนซิน 95 ลงไปอย่างหนักเช่นนี้จะทำให้ตลาดบิดเบือน ผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ก็จะหันไปใช้น้ำมันเบนซิน 95 จะก่อเกิดปัญหาดีมานด์สำหรับแอลกอฮอล์ที่ใช้ผสมน้ำมันแก๊สโซฮอล์

สี่ วิธีปรับปรุงนโยบายพลังงานที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางนั้น จะต้องนำกำไรส่วนเกินจากกติกาที่ไม่เป็นธรรมออกจากกระเป๋าทุนพลังงานเอกชน ข้อเสนอของคุณมิ่งขวัญ มีแต่ใช้เงินจากกระเป๋าของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ยอมเอากำไรส่วนเกินจากกระเป๋าบริษัทเอกชน พี่น้องประชาชนครับ ก็มองได้ว่าเป็นการออกนโยบายเพื่อช่วยปกป้องประโยชน์ของบริษัทเอกชน ขณะนี้มีคนลือกันเซ็งแซ่ว่ามีกลุ่มทุนพลังงานเจาะเข้าไปหลายพรรคการเมือง

ทั้งนี้ การออกนโยบายที่ไม่คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง ถึงแม้จะอ้างว่าทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คิดทำชั่วคราว 1 ปี แต่กลับเป็นนโยบายที่ไม่แตะต้องผลประโยชน์ส่วนเกินของบริษัทเอกชนนั้น นายธีระชัย บอกว่า ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รู้สึกกระอักกระอ่วน และผู้ใดที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฯ คลังคนต่อไป หรือในอดีต ก็คิดแบบเดียวกับ

ลดราคาก๊าซฯ เล่นใหญ่กว่าราคาน้ำมัน

ในส่วนด้านก๊าซของประชาชน ประกาศลดราคาก๊าซจาก 423 บาทต่อถัง เป็น 250 บาท งานนี้ถือว่าเล่นใหญ่กว่าเรื่องน้ำมัน เพราะปัญหาที่แท้จริงยุ่งยิ่งกว่าลิงแก้แห แม้ว่าจะเอาภาษีออกหมดแล้ว ราคาก๊าซก็ยังเกือบ 400 บาทต่อถัง ส่วนกองทุนฯ ไม่ได้เรียกเก็บอยู่แล้ว แต่มีการล้วงเอาเงินกองทุนน้ำมันฯ มาอุดหนุนราคาก๊าซอีกด้วย


เรื่องนี้นายธีระชัย ได้เสนอความเห็นด้วยความห่วงใยในเฟซบุ๊กของเขาว่า ปัญหาในเรื่องของก๊าซหุงต้มก็เป็นปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรพลังงานของชาติอย่างหนึ่งที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทย ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีปริมาณเพียงพอใช้สำหรับครัวเรือนไทย ดังนั้นรัฐบาลในอดีตจึงกำหนดให้ครัวเรือนยืนหัวแถว เป็นผู้มีสิทธิ์ใช้ก๊าซหุงต้มที่ผลิตจากก๊าซอ่าวไทยก่อนอุตสาหกรรม เพราะสามารถกำหนดราคาในประเทศได้ในราคาต่ำ โดยโรงงานแยกก๊าซยังมีกำไรพอสมควร

ปรากฏว่ามีผู้แก้กฎให้บริษัทปิโตรเคมิคัลบางกลุ่มเข้ามายืนตัดหน้า ก็คือว่าเอาไปใช้ก่อนครัวเรือน ทำให้ก๊าซหุงต้มไม่เพียงพอสำหรับครัวเรือน จึงเท่ากับผลักครัวเรือนไทยไปซื้อก๊าซจากแหล่งอื่นที่ราคาสูงกว่า คือ หนึ่ง จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ และสอง นำเข้าก๊าซจากต่างประเทศที่มีราคาสูงสุด เพราะมีค่าโสหุ้ยจากการนำเข้าก๊าซสลับให้กับบริษัทปิโตรเคมิคัลเข้ามาตัดหน้าครัวเรือนนั้น ทำให้คนไทยเดือดร้อนมาจนทุกวันนี้ เป็นเวลานาน 15 ปีแล้ว

เรื่องนี้มีการหารือชงผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 นายมิ่งขวัญได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต่อมาในวันที่ 2 สิงหาคม 2551 นายสมัคร ปรับ ครม. เปลี่ยนนายมิ่งขวัญไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้สำเร็จผลเพียง 2 เดือน หลังจากนายสมัครพ้นจากตำแหน่ง

นายธีระชัยพูดต่อว่านายมิ่งขวัญอาจจะรู้ว่าใครเป็นตัวการหลัก เป็นไอ้โม่งในการเสนอเปลี่ยนกติกาที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนเช่นนี้ เมื่อนายมิ่งขวัญได้แถลงข่าวว่าจะสามารถลดราคาก๊าซหุงต้ม จากปัจจุบันถังละ 423 บาท จะลดลง 173 บาท เหลือเพียงถังละ 250 บาท ใช้เงินอุดหนุน 24,000 ล้านบาท แต่นายมิ่งขวัญอาจจะหลงลืมไปว่า ราคา 423 บาทนี้ ปัจจุบันมีเงินกองทุนน้ำมันฯ อุ้มอยู่ 79 บาท ราคาจริงก็คือ 500 บาทต่อถัง จึงต้องใช้เงินอุดหนุนจริงๆ ไม่ใช่ 2 หมื่นกว่าล้าน แต่เป็น 35,000 ล้านบาท

และที่น่ากังวลคือ ราคาก๊าซในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ปีที่แล้ว เคยขึ้นถึงถังละ 580 บาท แต่ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ อุ้มปิดบังปัญหาไว้มากถึง 298 บาทต่อถัง เกือบ 300 บาทต่อถัง ดังนั้นหากก๊าซตลาดโลกปรับสูงขึ้นอีก หากรัฐบาลหน้าจะดำเนินการตามแนวคิดของนายมิ่งขวัญ โดยกดราคาไว้ที่ถังละ 250 บาท ต้องใช้เงินถึง 45,000 ล้านบาท


กรณีที่นายมิ่งขวัญได้ระบุอ้างอิงที่มาของแหล่งเงินอุดหนุนว่า มาจากการประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกช ที่ได้ก๊าซราคาต่ำ โดยเสนอใช้เงินส่วนต่างจากราคาก๊าซเดิมกับราคาใหม่ จำนวน 24,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะพอดีกับสิ่งที่ต้องการ แต่นายธีระชัยตั้งข้อสังเกตว่า

หนึ่ง นายมิ่งขวัญอาจจะเข้าใจผิดอีกแล้ว ว่าผลประโยชน์จำนวน 24,000 ล้านบาท เป็นเงินของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลหน้าสามารถฉวยเอามาใช้อุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มได้ แต่แนวคิดนี้ขัดกับ TOR ที่ประมูล เพราะราคาก๊าซที่ต่ำลงนั้น TOR กำหนดว่า ผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะได้สิทธิ์ในแหล่งปิโตรเลียมจะต้องขายก๊าซราคาถูกดังกล่าวให้กับผู้ที่พร้อมจะซื้อก๊าซที่ปากหลุมกลางอ่าวไทย ผู้ที่พร้อมจะซื้อ และจะใช้สิทธิ์ซื้อก๊าซราคาถูกจึงไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นบริษัทที่ผูกขาดก๊าซในอ่าวไทยนั่นเอง

ในที่สุดก็กลับไปสู่ทุนพลังงานเหมือนเดิม หากจะหันไปล้วงเงิน 24,000 ล้านบาท จากกองทุนน้ำมันฯ มาใช้อุดหนุน ก็ทำไม่ได้อีก เพราะนายมิ่งขวัญเพิ่งประกาศลดราคาน้ำมันโดยยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ไปเสียอีก เรียกว่าหันซ้ายก็ไม่มีเงิน หันขวาก็ไม่มีสตางค์ สุดท้ายก็ต้องไปกู้หนี้สาธารณะมาอุดหนุนราคาในปัจจุบัน ให้ลูกหลานไปใช้หนี้ในอนาคต


สองแนวคิดนายมิ่งขวัญหากมุ่งจะใช้เงินจากกระเป๋ารัฐบาลด้านเดียว แต่ไม่ได้มีแผนการที่จะรื้อกติกาไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ครัวเรือนเปลี่ยนกลับไปยืนในลำดับต้นก่อนบริษัทปิโตรเคมิคัล ก็คือให้ครัวเรือนได้ใช้ก๊าซหุงต้มก่อน เมื่อใช้หมดแล้ว เหลือเท่าไรปิโตรเคมิคัลก็เอาไปใช้ ถ้าไม่เหลือ ปิโตรเคมิคัลก็ต้องสั่งก๊าซจากนอกประเทศมาใช้เอง

แนวคิดแบบนี้ประชาชนอาจจะมองได้ว่าเป็นการปกป้องคุ้มครองประโยชน์และกำไรบริษัทกลุ่มเอกชนบางกลุ่มที่มีบริษัทลูกทำธุรกิจปิโตรเคมิคัลโดยตรงหรือไม่

การออกนโยบายที่ประชาชนรู้สึกได้ว่าเอื้อต่อภาคธุรกิจ ย่อมมีความเสี่ยงต่อภาพพจน์ทางการเมืองของพรรคการเมือง ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ามีกลุ่มทุนพลังงานแทรกซึมเข้าไปในพรรคการเมืองหรือไม่

กระทบถึงตลาดทุน

มีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนบอกว่า การลดราคาน้ำมันด้วยภาษีที่สูงมาก ขัดต่อวินัยทางการเงินและส่งผลเสียดังต่อไปนี้

หนึ่ง นโยบานายมิ่งขวัญสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้ไม่มากนัก เนื่องจากมองเห็นว่าในอนาคตน้ำมันต้องกลับขึ้นมาอยู่ที่เดิม เพราะไม่เก็บภาษี เป็นเรื่องที่ไม่อาจจะทำได้ตลอดไป

สอง ไม่อาจจะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า FDI : Foreign Direct Investment เนื่องจากการลงทุนประเภทนี้ใช้เวลาคืนทุนประมาณกว่า 5 ปี ทำให้ราคาน้ำมันถูกเพียง 1 ปี ไม่โดนใจ แต่ควรเป็นนโยบายให้ยาวสอดรับกับการลงทุนระยะยาวของนักลงทุน

สาม นโยบายของนายมิ่งขวัญอาจใช้เงินมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ของงบกลาง ขณะที่หนี้รัฐบาลต่อ GDP อยู่ในระดับสูงมากแล้วสำหรับประเทศกำลังพัฒนา มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และก่อหนี้ทุกก้อนที่เพิ่มขึ้น จะถูกจับตาโดยบริษัทจัดอันดับเครดิต หากมีวิกฤตมากระทบไทยอีกรอบหนึ่ง

ประเทศไทยอาจจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีมุมมองการลงทุนเป็นลบ การลงทุนใหม่ก็จะหยุดทันทีเพื่อดูเหตุการณ์ และหากถูกลดอันดับเครดิตลงไป จะเสียหายต่อประเทศอย่างมาก กองทุนเหล่านี้จะขายหุ้นและพันธบัตรรัฐบาลไทยออกมาทันที ไม่เช่นนั้นจะผิดเงื่อนไขต่อนักลงทุน ตลาดทุนจะตกลงอย่างหนัก จะเกิดวิกฤตการณ์ตลาดทุนซ้ำเดิมอีก อาจจะทำให้เกิดวิกฤตการณ์เงินทุนไหลออก กลายเป็นวิกฤตการณ์ตลาดเงินไปอีก

ผิดหวัง “บิ๊กป้อม” หลงเชื่อการตลาดฉาบฉวย


นายสนธิ กล่าวสรุปว่า ความจริงก่อนหน้านี้นับว่าเป็นโชคของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้คนอย่างนายสนธิรัตน์ นายธีระชัย และหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ มาวางแผนนโยบายพลังงานให้พรรค แต่พอเลือกตั้งใกล้เข้ามา ผู้บริหารพรรคกลับเห็นแก่การตลาดแบบฉาบฉวยของนายมิ่งขวัญ ที่ไม่รู้จริงและไม่รับผิดชอบ ดังนั้นเขาจึงมีข้อคิด 3 ประการ

“หนึ่ง ผมสมน้ำหน้าที่สุด พอคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นำเสนอเรื่องนี้ออกมา ก็มีแต่คนรุมด่า รุมค้าน ทั้งในพรรคและนอกพรรค เพราะแต่ไหนแต่ไรมาพิสูจน์ว่าคุณมิ่งขวัญไม่เคยสนใจเรื่องพลังงานแต่อย่างใดเลย มีแต่นโยบายขายฝัน เอาแสงใส่ตัว สุดท้ายนโยบายนี้ก็แป้ก

“สอง น่าเสียดายที่สุดคือ ลุงป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผมนึกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ได้คนดีมีฝีมือไปแล้ว ในที่สุดเรื่องนี้พิสูจน์ได้ว่า ไม่มีอะไรใหม่เลย ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่เลย ถ้ามันเป็นอย่างนี้ พล.อ.ประวิตร ครับ ท่านไม่เหมาะที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วท่านผู้ชมครับ ถ้าเดิมทีท่านคิดว่าท่านจะลงคะแนนเสียงให้พรรคพลังประชารัฐในเรื่องพลังงาน …ผมผิดหวัง พล.อ.ประวิตร มาก ผมคิดว่าท่านทำอะไรก็ดี แต่ท่านเป็นคนที่หลงเชื่อคนง่าย ตอนนี้ท่านกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เริ่มจะเหลวไหลมากขึ้นทุกวัน

“สาม น่าเสียใจคือการเอาคุณธีระชัย กับหม่อมกรฯ เขากระโดดเข้าสู่การเมืองแบบไม่หวังผลประโยชน์เลย เพราะเข้าพรรคพลังประชารัฐไป เขาไม่ได้ขอตำแหน่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ก็ไม่ได้มีชื่อ เขาหวังจะผลักดันนโยบายพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรมให้กับประชาชน สุดท้ายแล้วก็โดนคุณมิ่งขวัญจอมหิวแสงหักหลัง ร่วมกับกลุ่มทุนพลังงานมาเสนอนโยบายที่เข้าทางกลุ่มทุนพลังงาน

“ถ้าผมมีอะไรจะแนะนำ ผมจะแนะนำทั้งสองคน คือคุณธีระชัย และหม่อมกรฯ ว่า เมื่อพรรคฯ ไม่คิดปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ไม่เหมือนที่ พล.อ.ประวิตร เคยรับปากเอาไว้ ไม่เหมือนกับที่คุณธีระชัย และหม่อมกรฯ เคยโพสต์ถึงเหตุผลที่เข้าพรรคพลังประชารัฐไว้ มันไม่เป็นตามเจตจำนง ตามที่ตั้งใจไว้ จะอยู่ให้เปลืองตัวไปทำไม เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมนโยบายฉาบฉวยแบบนี้ไปทำไมให้เสียเกียรติภูมิตัวเอง ผมแนะนำให้ลาออกไปเลย อย่าไปเสียเวลา” นายสนธิกล่าว


ทางออก ค่าไฟโคตรแพง

นายสนธิ ยังได้กล่าวถึงทางออกจากปัญหาค่าไฟแพงว่า ในแวดวงพลังงานระดับโลก ได้มีการศึกษาวิจัยและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงมาหลายสิบปีแล้ว เรื่องของการกระจายการผูกขาด และประชาธิปไตยทางพลังงาน



ทั้งนี้เทคโนโลยีด้านพลังงานมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม อย่างมหาศาล โดเฉพาะโซลาร์เซลล์ หากมีการสนับสนุนจะทำให้เกิดประชาธิปไตยด้านพลังงาน ให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ด้วยตัวเอง

การสนับสนุนพลังงานโซลาร์เซลล์จะเป็นการสร้างงานที่ยิ่งใหญ่มาก แม้แต่เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเองก็สามารถออกมาร่วมทำงานด้วยได้ จะเกิดการสร้างงานทั่วประเทศ แก้ปัญหาราคาน้ำมัน ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และทำให้รถยนต์ไฟฟ้าไปได้อย่างฉลุย

พลังงานจากโซลาร์เซลล์คือพลังงานสะอาด ราคาถูก ตอนต้นอาจจะมีราคาแพง แต่เมื่อมีการใช้มากขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนถูกลง ยกตัวอย่างแผงโซลาร์เซลล์เมื่อก่อน 1 แผง ราคาหลักหมื่นบาท ตอนนี้พอจีนเริ่มผลิต มีการนำเข้า ราคาแผงโซลาร์เซลล์เหลือแค่หลักพัน ยกตัวอย่างว่าแผงโซลาร์ขนาดใหญ่ 330 วัตต์ ราคาแค่ 3,000-4,000 บาท มีอายุการใช้งานตั้ง 20-25 ปี หรือ 30 ปี เสียด้วยซ้ำ


ถ้าเทียบเมื่อสิบปีก่อน ตอนนี้ทุนพลังงานโซลาร์เซลล์ถูกลงมาก ติดอยู่อย่างเดียวคือ เทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี ที่ยังมีราคาสูงอยู่ แต่ราคาก็ลดลงมาเยอะแล้ว และทยอยลดลงอยู่เรื่อยๆ ไม่เกิน 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า ราคาจะถูกมาก

“เรื่องบางเรื่องมันเป็นเส้นผมบังภูเขา ถ้าเราสามารถเอาพลังงานลงไปสู่ภาคประชาชน ให้ประชาชนเป็นผู้ผลิตพลังงานของตัวเอง ใช้อะไรผลิตล่ะ ? ใช้โซลาร์เซลล์ไง จากราคาหลักหมื่น ตอนนี้ราคาไม่กี่พัน ล่าสุดท่านผู้ชมก็เห็นแล้ว มีข่าวเรื่องคนใช้โซลาร์เซลล์ เปิดแอร์ 4 ตัว ค่าไฟลดลงมหาศาล จากค่าไฟราคาแพงมาก กลายเป็นเหลือ 71 บาท มีแอร์อยู่ 4 ตัว โซลาร์เซลล์ของเขาลงทุนประมาณ 2-3 แสนบาท”


นายสนธิ กล่าวอีกว่า ถ้าเป็นนโยบายรัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนใช้พลังงานด้วยตัวเอง โดยใช้โซลาร์เซลล์ ตัดระเบียบขั้นตอนต่างๆ ที่หยุมหยิมและทำให้ประชาชนขอโซลาร์เซลล์ลำบาก ตัดทิ้งให้หมด ใครจะติดโซลาร์เซลล์ไปซื้อแผงมาติดได้เลย สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำก็คือจะทำอย่างไรให้แต่ละบ้านที่ติดโซลาร์เซลล์ถ้ามีไฟเหลือแล้วสามารถขายคืนให้กับรัฐบาลได้ ตรงนี้คือการปฏิวัติราคาค่าพลังงานทั่วประเทศไทย

นอกจากี้ ยังสร้างงานได้ทั่วประเทศ ถ้าทุกบ้านในประเทศไทยเริ่มติดโซลาร์รูฟ หลังคาโซลาร์เซลล์ ธุรกิจการติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั่วประเทศไทยจะเกิดขึ้น โซลาร์รูฟของใครไม่ทำงานก็ไปบอกช่างประจำอำเภอ ประจำตำบล เข้ามาซ่อมให้ สร้างงานทั่วประเทศไทยได้ ประชาชนลดต้นทุนในการใช้จ่ายได้เห็นได้ชัดๆ

เพียงแต่ว่าทำอย่างไรรัฐบาลต้องหาทางให้ประชาชนที่ไม่มีเงินเริ่มต้น ให้เขาหาเงิน กู้เงิน ให้ผ่อนส่ง ดอกเบี้ยราคาต่ำสุด โดยที่ไม่ต้องเอาอะไรมาค้ำประกัน เอาเงินกู้ไปซื้อโซลาร์เซลล์ จ้างติดตั้งโซลารืเซลล์ แล้วค่าไฟจากที่เคยแพงหลายพันบาทต่อเดือน เหลือเพียงไม่กี่สิบบาทต่อเดือน


ถ้าตำบลหนึ่ง หรืออำเภอหนึ่ง ทุกบ้านใช้โซลาร์เซลล์หมด ไฟที่เหลือนอกจากจะขายคืนได้แล้ว ก็หาแบตเตอรีมาบรรจุไฟ แล้วให้สหกรณ์ของตำบลนั้นทำสถานีชาร์จไฟฟ้ารถ EV ทุกตำบล ก็เท่ากับว่าถ้าใครมีรถไฟฟ้าก็สามารถจะขับไปตำบลไหนก็ได้ทั่วประเทศไทย 77 จังหวัด ไม่ต้องไปหาแหล่งชาร์จแล้ว ไม่ต้องแวะปั๊ม ปตท. ปั๊มที่มีแหล่งชาร์จ ทุกตำบลจะมีหัวจ่ายชาร์ไฟให้ แล้วถ้ารถ EV เกิดขึ้นมามากพอยอดนำเข้าน้ำมันจะลดลงมหาศาล น้ำมันแทบจะไม่มีความหมายอีกต่อไป

“ผมไม่หวงห้ามลิขสิทธิ์นี้ พรรคการเมืองไหนอยากจะใช้นโยบายนี้ ไปหาวิธีการมาว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเขามีสิทธิ์กู้เงินได้ไม่เกินแสนห้า หรือสองแสนบาท ระยะเวลา 7 ปี เพื่อเอาเงินก้อนนี้ไปซื้อ/จ้างเขาติดโซลาร์เซลล์ ก็จะมีร้านค้าต่างๆ บริษัทต่างๆ ตั้งขึ้นมาทั่วประเทศไทย รับจ้างติดโซลาร์เซลล์ รับตรวจสอบ รับซ่อมแซมโซลาร์เซลล์

“งานมันจะเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย งานเกิดขึ้นหมดเลยทั่วประเทศไทย ดึงเศรษฐกิจขึ้นมาทันที และเราก็จะไม่เดือดร้อนอีกต่อไป ใครก็ได้ครับ ยกเว้นพลังประชารัฐ เอานโยบายนี้ไปใช้ได้ พลังประชารัฐไม่ต้องเอาไปใช้ เพราะผมรู้ว่าคุณเลือกเอานโยบายเหลวไหลของมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ไปแล้ว” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น