xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องอย่างนี้ก็มีด้วย...วีรบุรุษไทยที่คนไทยไม่รู้จัก! บุเรงนองจารึกแผ่นทองคำไว้ในเจดีย์ชเวดากอง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



วีรบุรุษท่านนี้มีนามว่า “พระมหาเทพ” ซึ่งไม่ปรากฏนามในพงศาวดารฉบับใด นอกจาก “พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ตอนพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา และปรากฏแต่เพียงสั้นๆว่า

“...ในขณะนั้นพระมหาเทพ ถือพลอาษาอยู่รักษาหน้าค่าย มุมเกาะแก้วที่กำแพงทะลายนั้น ข้าศึกหงสาวดียกเข้ามาปล้นค่ายเป็นหลายครั้งและพระมหาเทพก็รบป้องกันไว้ ข้าศึกจึงมิหักเข้ามาได้ อนึ่งพระเจ้าลูกเธอพระศ รีเสาวราช เสด็จมายืนช้างพระที่นั่งให้พลอาษาช่วยพระมหาเทพรบ แล้วแต่งทหารอาษาออกทลวงฟัน แล้วก็วางปืนใหญ่ยิงแยงออกไปต้องพลหงสาวดีตายเป็นอันมาก ข้าศึกจะปล้นเอาค่ายนั้นมิได้ ก็ตั้งประชิตกันอยู่...”

และ “...กองทัพพระมหาธรรมราชาพระมหาอุปราชาโจมตีหักเข้าไปได้ค่ายพระมหาเทพ ๆ แตกถอยเข้าไปตั้งรับอยู่ตำบลหน้าวัดโค วัดกระบือ แล้วก็แตกเข้ามาตั้งรับตำบลวัดเผาข้าว ก็ระส่ำระสายแตกกระจัดพรัดพรายคุมกันไม่ติด ข้าศึกก็เข้าเมืองได้...”
จบบทบาทของพระมหาเทพในคราวเสียกรุงครั้งที่ ๑ ไว้เพียงเท่านั้น วีรกรรมของพระมหาเทพจากหน้าวัดโค วัดกระบือ จนมาถึงวัดเผาข้าว ถูกเก็บไว้ถึง ๔๐๐ ปี

ใน “วารสารวัฒนธรรมไทย” วารสารรายเดือนของศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ฉบับประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๒ ในเรื่อง “ศิลปะการค่อสู้” เขียนโดย เจษฎ์ ปรีชานนท์ อ้างปาฐกถาของ พ.อ. (พิเศษ) จรวย นิ่มดิษฐ์ แห่งกงทัพภาคที่ ๒ และนิตยสาร “ขวัญเรือน” ฉบับปักษ์หลัง เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๒๑ ที่กล่าวถึงการใช้อาวุธของคนไทยในอดีต และเล่าว่า

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ได้เกิดฟ้าผ่าพระเจดีย์ชเวดากองหักเอน มีแผ่นทองคำแผ่นหนึ่งที่บรรจุไว้ที่ยอดเจดีย์หล่นลงมา ในแผ่นทองคำนั้นจารึกวีรกรรมของทหารไทยคนหนึ่งในสมัยของสมเด็จพระมหินทราธิราช ซึ่งมีนามว่า “มหาเทพ” ซึ่งพระเจ้าบุเรงนอง “ผู้ชนะสิบทิศ” โปรดให้จารึกบรรจุไว้ ลำดับเรื่องได้ว่า

มหาเทพ เป็นทหารเอกคู่พระทัยของพระศรีเสาวราช ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างมารดากับสมเด็จพระมหินทร์ฯ และเป็นพระองค์หนึ่งที่บัญชาการต่อสู้กับพม่าอย่างแข็งขัน พม่าล้อมอยู่ ๘ เดือนก็ยังเข้ากรุงไม่ได้และเสียไพร่พลไปจำนวนมาก จึงต้องออกอุบายใช้ให้พระยาจักรีที่ถูกจับเป็นเชลยทำเป็นหนีมาเป็นไส้ศึกในกรุง พระมหินทร์ฯทรงเชื่อจึงทรงแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้บัญชาการรักษาพระนคร แต่พระศรีเสาวราชเห็นผิดสังเกตจึงทรงโต้แย้ง พระยาจักรีได้กล่าวโทษว่าเป็นกบถ และพระมหินทรฯทรงเชื่อจึงให้นำพระศรีเสาวราชไปสำเร็จโทษ พม่าจึงเข้ากรุงได้

ฝ่ายมหาเทพไม่สามารถทนดูชะตากรรมของคนไทยได้ นำหน้าทหารกล้าอีก ๕๐ คนแหวกวงล้อมมุ่งไปวัดเผาข้าว บ้านเกิด ตลอดเส้นทางที่ตีฝ่าออกไปไม่มีทหารพม่าคนไทยต่อกรกับดาบสองมือของมหาเทพได้ ต้องตายกันเกลื่อน แต่ทหารกล้าของมหาเทพก็ไม่มีใครเหลือ

มหาเทพเข้าแย่งช้างจากทหารพม่าได้เชือกหนึ่ง จึงไสช้างเข้าย่ำทหารพม่าราบเป็นทาง ทหารพม่าไม่กล้าเข้าถึงตัวจึงใช้ธนูอาบยาพิษระดมยิง มหาเทพกวัดแกว่งดาบสองมือจนไม่มีธนูลูกใดมาถึงตัวได้ แต่ช้างต้องรับลูกธนูอาบยาพิษไปเต็มๆจนล้มลง มหาเทพโดดลงจากหลังช้างกวัดแกว่งดาบสองมือมุ่งจะไปให้ถึงวัดเผาข้าว แต่ได้เผชิญหน้ากับนายทหารกองทวนคนหนึ่งซึ่งถือทวนควบม้าเข้าใส่ มหาเทพก็ฆ่านักรบผู้ชำนาญทวนนั้นได้ และชิงม้าควบต่อไป

จนรุ่งสางของวันใหม่มหาเทพก็ไปถึงวัดเผาข้าว แต่ไม่มีชาวบ้านอยู่เลยเพราะถูกฆ่าตายหมด และหมดทางที่จะหนีต่อไปเพราะมีทหารม้าอีก ๓๐๐ ตามมา ครั้นจวนตัวมหาเทพจึงหันหลังเข้าพิงประตูวัด กวัดแกว่งดาบสองมือจนทหาพม่าที่เข้ามาตายเกลื่อนอยู่รอบตัว

แต่มหาเทพก็เป็นปุถุชนคนหนึ่ง กวัดแกว่งดาบมาได้ ๒ วันกว่าโดยไม่มีโอกาสได้กินข้าวกินน้ำ จึงยืนสู้อย่างคนไร้วิญญาณ ในที่สุดก็ถูกธนูปักเข้าตัวดับชีวิตของนักสู้ดาบสองมือ

กิตติศัพท์ของมหาเทพระบือไปถึงพระกรรณพระเจ้าบุเรงนอง ทรงสนพระทัยถึงกับเสด็จไปที่วัดเผาข้าว ทอดพระเนตรร่างของมหาเทพที่ยืนพิงประตู แม้วิญญาณของนักรบกล้าจะออกจากร่างไปแล้ว ดาบหนึ่งยังถูกชูขึ้น อีกดาบปักลงดิน ถึงกระนั้นทหารพม่าก็ยังขยาด ต่างจ้องธนูอาบยาพิษไปที่ร่างมหาเทพ พระเจ้าบุเรงนองต้องทรงตวาดให้ลดธนู ปล่อยให้เขาตายอย่างสงบ และพระราชทานเพลิงศพของเขาอย่างมีเกียรติ พร้อมสร้างสถูปบรรจุอัฐิไว้ ณ วัดเผาข้าว

เมื่อกลับไปถึงเมืองร่างกุ้ง พระเจ้าบุเรงนองโปรดให้จารึกเรื่องราวของมหาเทพลงแผ่นทองคำ บรรจุไว้ ณ ยอดเจดีย์ชเวดากอง

วีรกรรมของพระมหาเทพถูกเก็บเงียบไว้ถึง ๔๐๐ ปี ก็น่าเป็นไปได้ จากนำทหาร ๕๐ คนแหวกวงล้อมออกจากกรุงศรีอยุธยามาตามเส้นทางวัดโค วัดกระบือ จนถึงวัดเผาข้าว เพื่อนร่วมทางของมหาเทพต่างก็ถูกฆ่าตายกันหมด ส่วนชาวบ้านก็ไม่มีใครอยู่ได้เห็น มีแต่ทหารพม่าเท่านั้นที่เล่าเรื่องนี้กันด้วยความครั่นคร้าม และพระเจ้าบุเรงนองก็ทรงเป็นจอมทัพที่เป็นมหาราช ไม่ใช่มหาโจร จึงทรงยกย่องทหารกล้าที่รบเพื่อชาติและเพื่อศักดิ์ศรี

ส่วน วัดโค วัดกระบือ วัดเผาข้าว ในเส้นทางวีรกรรมของมหาเทพ แผนที่อยุธยาเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ ของพระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ก็ระบุตำแหน่งไว้ชัดเจน แต่ปัจจุบันวัดทั้ง ๓ หายไปจากแผนที่แล้ว มีสิ่งปลูกสร้างใหม่มาแทน วัดโค เป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอพระนครศรีอยุธยา วัดกระบือ เป็นที่ตั้งของอาคารพาณิชย์และโรงแรม ส่วนวัดเผาข้าว เป็นที่ตั้งของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ภาค ๑




กำลังโหลดความคิดเห็น