xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อหรือไม่...อุตสาหกรรมของกรุงศรีอยุธยาในสายตาฝรั่ง! มีทั้งดีกว่ายุโรป ดีที่สุดในโลก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



คนไทยเราคงต้องขอบคุณฝรั่งอยู่หลายคนที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในฐานะทั้งนักการทูต นักสอนศาสนา และพ่อค้า บางคนก็เข้ามาอยู่เมืองไทยหลายปี และด้วยนิสัยที่ชอบบันทึก จึงได้นำเรื่องราวที่พบเห็นไปพิมพ์เผยแพร่ในยุโรป นอกจากจะทำให้คนยุโรปรู้จักประเทศสยามแล้ว ยังทำให้เราในวันนี้ได้รู้เรื่องราวของบ้านเมืองเราในยุคนั้น จากคนที่ได้ประสบพบเห็นด้วยตาตัวเองด้วย

กรุงศรีอยุธยาเป็นทั้งเมืองหลวงและเมืองท่าแม้จะไม่ติดทะเล เป็นที่รวมสินค้าจากทางเหนือตั้งแต่ล้านนาและลาวลงมา จึงเป็นที่รวมของสินค้าของย่านนี้ มีตลาดมากมายทั้งตลาดน้ำ ๔ แห่งและตลาดบก ๗๒ แห่ง อยู่ในเมือง ๔๐ แห่งและนอกเมืองอีก ๓๒ แห่ง แยกขายสินค้าเป็นประเภทกันไป แต่ก็แปลกใจที่คนในสมัยนั้นเรียก “ตลาด” ว่า “ป่า” จึงมี “ป่าสินค้า” จำนวนมาก อย่าง ป่าตะกั่ว ขายลูกแหที่ทำจากตะกั่ว ป่าฟูก ขายที่นอนหมอนมุ้ง ป่ามะพร้าว ขายมะพร้าว ป่าสังคโลก ขายเครื่องสังคโลกจากสุโขทัย เป็นต้น และเมื่อมีวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก จึงนำมาแปรรูปเป็นเครื่องใช้ต่างๆ เป็นสินค้าอุตสาหกรรม

ชาวต่างประเทศที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาก็คงไปเดินตลาดเหล่านี้เหมือนจตุจักร ท่านราชทูตเชอร์วาเลีย เดอ โชมองต์ ราชทูตคนแรกจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ส่งมาเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งก็คือทูตผู้ปรากฏในภาพเขียนที่ยื่นถวายพระราชสาส์นไม่ถึงพระหัตถ์ ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ต้องโน้มพระองค์คงมารับ และไม่ประสบความสำเร็จในการมา ก็ได้บันทึกไว้ว่าชื่นชอบเครื่องลายครามจากสุโขทัยมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องราชบรรณาการที่สมเด็จพระนารายณ์ส่งไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ด้วย
ส่วนบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ ที่เดินทางมากับราชทูตเดอ โชมองต์ ตื่นตาตื่นใจกับดอกไม้ไฟของกรุงศรีอยุธยาเป็นพิเศษ ว่าจุดในเวลากลางคืนแล้วจะมีไฟพุ่งเป็นประกายงดงาม เป็นสิ่งประหลาดที่ประทับใจมาก ราชทูตเดอ โชมองต์ก็บันทึกว่าได้นำพลุครึ่งโหลไปฝากญาติมิตรที่ฝรั่งเศส ทำให้เข้าใจได้ว่าตอนนั้นฝรั่งเศสคงยังไม่มีพลุ

ส่วนราชทูตจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ คนที่ ๒ ก็คือ ลา ลูแบร์ ได้บันทึกไว้เป็นหนังสือ ๒ เล่มใหญ่ และกล่าวถึงอุตสาหกรรมของกรุงศรีอยุธยาไว้หลายเรื่อง อย่างการทำกระดาษ ลา ลูแบร์บอกว่า ชาวสยามทำกระดาษจากผ้าขี้ริ้ว ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกที่คนไทยเราไม่เคยได้ยิน และบอกว่าได้ใช้เปลือกกะพี้ของต้นไม้อย่างหนึ่งมาทำกระดาษด้วย ซึ่งต้นไม้นั้นมีชื่อว่าต้นข่อย แต่ก็ต้องเอามาทำให้ละเอียดเหมือนผ้าขี้ริ้วเสียก่อน กระดาษที่ทำขึ้นนั้นหนาๆ บางๆ ไม่มีความสม่ำเสมอ และไม่ขาวเหมือนกระดาษของฝรั่งเศส

เกี่ยวกับการต่อเรือ ลา ลูแบร์บอกว่าเนื่องจากสยามมีไม้ซุงดีๆมาก จึงต่อเรือกำปั่นได้มาก และต่อไปขายญี่ปุ่นด้วย มีทั้งเสากระโดง แต่ไม่มีการฟั่นเชือก เชือกของชาวสยามนั้นฟั่นจากกาบมะพร้าว ใบเรือก็ใช้เสื่อผืนใหญ่ อุปกรณ์ของเรือทะเลเหล่านี้เลวกว่าของฝรั่งเศสที่ไม่ทนกว่า แต่ใบเรือของชาวสยามก็อุ้มลมอยู่ในตัวเอง รับลมได้ดีกว่าใบเรือของชาวตะวันตก ไม่ว่าจะมีลมมากหรือน้อยก็แล่นได้ ไม่ต้องปรับใบไปตามลม

ลา ลูแบร์กล่าวชมชาวสยามที่มีความฉลาดในวิชาช่างทอง รู้จักวิธีละลายโลหะธาตุและหล่อรูปต่างๆในหุ่นพิมพ์ รู้จักสร้างพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ด้วยอิฐปูน แล้วใช้แผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นทองแดงปิดผิวภายนอก และให้ข้อสังเกตว่า ชาวสยามมิใคร่มีของใช้ที่ทำจากเหล็ก เป็นต้นว่าสมอเรือเหล็กก็ใช้หินแทน ไม่มีตะปู ไม่มีสิ่ว ไม่มีเลื่อย ปลูกเรือนทั้งหลังยังใช้ไม้ทำเป็นสลักตอกแทน ทั้งไม่มีเข็มหมุด เข็มเย็บผ้า ไม่รู้จักทำเกือกม้า จึงสรุปเอาว่า แม้ชาวอยุธยาจะรู้จักนำเหล็กมาหล่อ แต่ไม่รู้จักนำประโยชน์มาใช้อย่างกว้างขวาง

การทอผ้านั้น ลา ลูแบร์บอกว่าชาวสยามไม่เคยปลูกต้นหม่อน จึงไม่มีตัวไหม ทั้งต้นป่านลินินก็ไม่งอกในเมืองสยาม มีแต่ต้นฝ้ายที่ชาวสยามว่าน่าใช้มากกว่า และนุ่งห่มด้วยผ้าฝ้ายที่ไม่ทำให้คนใช้เป็นหวัดแม้จะถูกความชื้น เหตุนี้ชาวสยามจึงไม่ใคร่เจ็บป่วยด้วยไข้หวัดเหมือนคนที่ใช้ผ้าลินิน

ชาวฝรั่งเศสอีกคนหนึ่งที่บันทึกเรื่องเมืองไทยไว้มากก็คือ นิโกลาส แชร์แวส บาทหลวงนิกายเยซูอิตที่ถูกส่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และอยู่ในเมืองไทย ๔ ปี ได้เขียนหนังสือในชื่อ “ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” พิมพ์เผยแพร่ที่กรุงปารีส ได้กล่าวถึงย่านตลาดของกรุงศรีอยุธยาว่ามีช่างฝีมือเป็นอันมาก ตลาดเหล่านี้ติดทุกวันตั้งแต่เช้าถึงเย็น อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลา ไข่ ผลไม้ ผัก และสิ่งอื่นๆอีกมาก แต่ไม่มีเนื้อสัตว์ขายกันเลย มีผู้คนมาชุมนุมกันมากจนบางครั้งเดินแทรกเข้าไปไม่ได้ ถนนส่วนใหญ่จะปลูกต้นไม้เรียงรายทั้งสองฟาก ให้ความร่มรื่นแก่ผู้เดินทาง บางสายก็ปูอิฐ โดยที่เมืองนี้มีคลองอยู่มากมายจึงต้องมีสะพานมาก สะพาน ๕-๖ แห่งเป็นสะพานโค้งก่อด้วยอิฐ แข็งแรงและสวยงาม แต่บางแห่งก็เป็นสะพานแคบๆ สร้างด้วยไม้ไผ่ น่ากลัวเวลาข้ามว่าจะต้องลงไปลอยคอในคลอง

แชร์แวสชมเชยช่างทำทองของประเทศสยามว่ามีฝีมือดีเท่าๆกับชาวฝรั่งเศส ทำเครื่องทองเงินรูปพรรณได้หลายพันแบบ และสอดเส้นได้อย่างวิเศษ ชาวสยามได้สอนให้คนจีนทอผ้าไหมสอดเส้นทองแล่งและเงินแล่ง ส่วนการทอผ้าที่ลา ลูแบร์ผู้อยู่เมืองไทย ๓ เดือน ๖ วัน บอกว่าเมืองไทยไม่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนั้น แชร์แวสผู้อยู่เมืองไทย ๔ ปีบอกว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงเอาพระทัยใส่ให้เลี้ยงตัวไหมเป็นอันมากและหลายแห่งในประเทศ ส่วนช่างเหล็กตีดาบ ฝีมือไม่ดีเท่ากับฝรั่งเศส แต่ก็ผลิตงานออกมาพอเพียงกับความต้องการ

ในด้านการทำอิฐของประเทศสยามนั้น ลา ลูแบร์กล่าวว่า ชาวสยามรู้จักเผาอิฐและทำปูนสอ ปูนผิวอย่างดี แชร์แวสกล่าวว่า อิฐของชาวสยามนั้นนับเป็นเยี่ยมกว่าที่ใดในโลก แข็งกว่าอิฐของฝรั่งเศส และปูนผสมที่ใช้ในการก่อสร้างนั้น ดีกว่าที่เราใช้กันในฝรั่งเศสเสียอีก

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งในทัศนะและมุมมองของชาวตะวันตก ซึ่งแสดงว่าไม่ว่ายุคไหน เราก็ไม่เคยน้อยหน้ากว่าใคร ด้วยภูมิปัญญาและเทคโนโลยีของชาวตะวันออก




กำลังโหลดความคิดเห็น