xs
xsm
sm
md
lg

ด้วยรักและศรัทธา Always : ‘บุญญรัชฎ์ สาลี’ กับงานเขียนบูชาพุทธศิลป์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เหงื่อมันแลน้ำตานั้นไหลปนกันลงโทรมกายมัน ทุกครั้งที่เสียงเจ้าพนักงานชักลากพระให้สัญญาณออกแรงดึงโซ่แลเชือกฟั่นขนาดใหญ่ให้เคลื่อนองค์พระใหญ่ น้ำตามันก็หลั่งรินลงมาเป็นทาง แรงมันอันสั่งสมมาแต่เล็กแต่น้อย ด้วยข้าวด้วยน้ำเมืองศุกโขไทศรีสัชนาไลย บัดนี้มันได้ใช้แรงแต่ข้าวน้ำอันนั้นเล่าชักลากพระใหญ่ พระพุทธรูปอันใหญ่สำริดอันหลวง อันเป็นขวัญบ้านขวัญเมืองของหัวเมืองเหนือให้แก่ชาวบางกอกเมืองใต้…” (หน้า 49-50)

“…พระใหญ่ หน้าตัก 3 วา คืบ ประดิษฐานอยู่บนตะเฆ่ แผ่นกระดานอันรองฐานพระใหญ่นั้นเป็นไม้ยางหน้าคืบ กว้าง 5 วา ยาวนั้น 6 วา ลาดด้วยผ้าขาว กงล้อของตะเฆ่นั้นเป็นลำไม้ยางยาว 8 วา หน้าศอกหนึ่ง 10 ลำ โซ่เหล็กแลเชือกฟั่นนั้นเจาะมัดที่ไม้กระดานเว้นเป็นสลับฟันปลา ตามพนักงานลากซ้ายขวาข้างละ 10 นาย พนักงานคอยวางกงล้อตะเฆ่ด้านหน้าซ้ายขวาข้างละ 2 นาย ด้านหลังคอยงัดตะเฆ่ข้างละ 2 นาย พนักงานแบกหามกงล้อคอยส่งให้ด้านหน้าอีก 10 นาย แลพนักงานคอยผลัดกันนั้นอีกกองหนึ่ง พื้นดินอันจักชักลากไปนั้นเป็นถนนอันได้ปราบให้เสมอแลทุบด้วยตะลุมพุกจนราบเรียบเป็นทางยาวไปทางทิศตะวันออก ไอ้นวลฉกรรจ์ เดินออกจากตะเฆ่ เข้ามายืนอยู่ในขบวนตำรวจอารักขาพระองค์…” (หน้า 50)

อันการชักพระใหญ่นี้ได้เลื่อนไปช้าๆ แลไปติดขัด ต้องหยุดเอะอะกันบ่อยๆ เป็นเพลาที่พระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงพัก กระนั้น แสงแดดที่ค่อยๆ กล้าขึ้นจากเช้า สาย จนใกล้เที่ยง ก็ได้แผดเผาพระวรกายให้ตรากตรำนัก การนี้มีแต่เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตเท่านั้นที่ทราบว่าทรงพระประชวรอยู่ แต่ทรงพระอุตสาหะเพิ่มพระบารมี หวังที่หน่วงโพธิญาณจะโปรดสัตว์ ทำนุกบำรุงพระศาสนา กระทั่งเถิงเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ ขณะเมื่อเสด็จขึ้นพลับพลานั้น ทรงเซพลาด เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตที่เสด็จเคียงข้างรับองค์ไว้ทัน การณ์ทั้งหมดนี้หาได้เล็ดลอดจากสายตาไอ้นวล ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียงสามวาไม่…” (หน้า 54)

ข้อความข้างต้น ปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่องบางบทตอนของ ‘วาสนา Always’ นิยายผลงาน ‘ริชาร์ด ฉอร์’ ผู้มีนามจริงว่า ‘บุญญรัชฎ์ สาลี’ ครูสอนประวัติศาสตร์โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง แม้เจ้าตัวจะไม่กล้าเอ่ยขานมากนักว่าผลงานเล่มนี้เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์หรือไม่ แต่เชื่อเหลือเกินว่าหากมีนักอ่านคนใดอ่านนิยายเรื่องนี้ จากต้นจนจบ ย่อมมิอาจปฏิเสธได้ว่า ฉากหลังที่เปรียบเสมือนโครงหลักของเรื่อง ซึ่งโดดเด่นไม่น้อยไปกว่าเรื่องราวความรักของไอ้นวลและมะขาม หญิงสาวผู้เป็นแก้วตาดวงใจนั้น นับเป็นการฉายภาพเหตุการณ์ทั้งในประวัติศาสตร์และอิงประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา บูชาคารวะบรมครูทั้งเชิงช่าง เชิงดาบ เชิงมวย สำคัญที่สุด คือการคารวะต่อพระพุทธปฏิมา คารวะต่อพุทธศิลป์นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอัญเชิญพระพุทธรูปจากเมืองเหนือหลายต่อหลายองค์ มาสู่กรุงเทพฯ ในช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ ที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมาได้อย่างละเอียดลออ สมจริง

นิยายเรื่องนี้จึงมิเพียงมีอรรถรสตามขนบนิยายทั่วไป หากยังมากด้วยเกร็ดความรู้ของพระพุทธปฏิมา พระพุทธรูปแต่ละองค์ที่ปรากฏถึงในเนื้อเรื่อง การบอกเล่าถึงพุทธศิลป์อันงามจับใจได้อย่างเห็นภาพ มีความน่าสนใจในการอันเชิญองค์พระพุทธรูป รวมทั้งเน้นย้ำถึงความรักที่ตัวละครมีต่อพระพุทธรูปบ้านเกิดเมืองนอน และฉายให้เห็นองค์ความรู้ด้านพุทธศิลป์ พระพุทธปฏิมาในหลากหลายสกุลช่าง ผ่านการศึกษาค้นคว้าอย่างหนัก โดยมีความรักต่อโบราณสถาน โบราณวัตถุเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญ

ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์ ริชาร์ด ฉอร์ ผู้มีนามจริงว่า บุญญรัชฎ์ สาลี ถึงหลากหลายประเด็นที่กล่าวมา





‘บุญญรัชฎ์ สาลี’ นักเขียนนิยาย ‘วาสนา Always ’
ความรักในโบราณสถาน เบื้องหลังนิยาย วาสนา Always

ถามว่านอกจากแรงบันดาลใจที่คุณเกริ่นไว้ในคำนำหนังสือว่า​ชื่นชอบงานเขียนแนวอนุรักษ์​โบราณสถานเรื่องขุนเดช​​ ของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ รวมทั้งผลงานของไม้ เมืองเดิม​ อีกทั้งยังมีหญิงสาวคนหนึ่งเป็นแรงบันดาลใจ​ เบื้องหลังงานเขียนนิยายเรื่อง ‘วาสนา Always’ ของคุณเรื่องนี้​ ยังมีที่มาจากอะไรอีกบ้าง

บุญญรัชฎ์ตอบว่า “เนื่องจากผมชอบเที่ยวโบราณสถาน แล้วก็ไปเห็นโบราณสถาน โบราณวัตถุแล้วชอบขึ้นมา เป็นพลังให้เราค้นคว้า ทุกครั้งที่ผมมีเวลาไปวัดเก่าๆ ก็มักจะมีความสุขครับ ไม่เคยคิดว่าน่าเบื่อ แล้วก็รู้สึกดีที่ไปโบราณสถานครับ

ถามต่อไปว่า เช่นนั้นแล้ว กล่าวได้ไหมว่า นิยาย เรื่อง ‘วาสนา Always’ ของคุณ​ คืองานเขียนที่คุณตั้งใจบูชาครู​ สักการะสกุลช่างโบราณ​ ไม่ว่าช่างสุโขทัย​ ช่างปั้นพระพุทธรูปในหลายสกุล​ รวมไปถึงครูดาบ​ ครูมวย​ และช่างสิปป์หมู่ที่สืบเนื่องมานับแต่เมื่อครั้งโบราณกาล

นักเขียนนิยายผู้นี้ตอบว่า “ในช่วงแรก จริงๆ แล้ว ผมตั้งใจจะเขียนเกี่ยวกับ โบราณสถาน เนื่องจากเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราคุ้นเคยและจับตาเรามากที่สุด เมื่อไปโบราณสถานแล้วเรารู้สึกประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป โบสถ์ เจดีย์ วิหาร ทุกๆ ครั้งที่ได้ไปโบราณสถาน ไปพิพิธภัณฑ์ เราก็เจอพระพุทธรูป จึงศึกษาค้นคว้าเรื่องพระพุทธรูป แต่ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญมากนะครับ ไม่ได้ถึงขั้นเป็นช่างปั้นพระพุทธรูปได้อะไรขนาดนั้น แต่ก็เคยปั้นพระองค์เล็กๆ บ้าง จึงพอจะรู้วิธีนวดดิน ว่าวิธีนวดดินในการปั้นพระนั้นยากแค่ไหน ทีนี้ เมื่อพูดถึงเรื่องช่างปั้น เราก็นึกถึงครูช่างปั้น เราจึงต้องค้นคว้าเรื่องนี้ จึงนึกถึงครูช่างโบราณที่เขาปั้นพระ แบบนี้เป็นต้น และเมื่อเราได้แนวคิดแล้วว่าเราตั้งใจที่จะเขียนถึงพระพุทธรูป

เราก็ต้องสร้างตัวละครขึ้นมา ซึ่งผมเองก็ได้เรียนกระบี่กระบองกับครูบาอาจารย์ที่โรงเรียนรุ่งอรุณนี่แหละครับ ท่านคือ
ครู ‘วิชิต ชี้เชิญ’( หมายเหตุ :ดร.วิชิต ชี้เชิญ เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านกระบี่กระบองและมวยไทย แห่งสถาบันอาศรมศิลป์ซึ่งครูวิชิตท่านเป็นครูสอนกระบี่กระบองที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ผมก็เป็นลูกศิษย์ท่าน เรียนมวยเรียนดาบสองมือ ไม้สั้น เรียนพลอง ผมจึงคิดว่าเราน่าจะให้พระเอกมีทักษะทางด้านดาบครับ ด้วยเหตุนั้น จึงต้องมีการบูชาครูดาบไปด้วยครับ เหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการบูชาครู”


ยาวนานนับทศวรรษ
ถามว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คุณใช้เวลาในการเขียนนิยายเรื่อง ‘วาสนา​ always’ ​นานนับสิบปี

บุญญรัชฎ์ตอบว่า “จริงๆ แล้ว ผมเริ่มเขียนในปี พ.ศ.2557 ผมตั้งใจจะเขียนเป็นเรื่องสั้น ซีรีส์ต่อกัน 8 เรื่อง แล้วให้แต่ละเรื่องจบแบบหักมุม ซึ่งถือกันว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่มีเสน่ห์ คือผมไม่เคยเขียนเรื่องสั้นจริงจังมาก่อน แต่ผมก็อ่านมาเยอะอยู่พอสมควร อ่านหนังสือ อ่านนิยายประวัติศาสตร์อยุธยามาเยอะ แล้วก็อ่านเรื่องสั้นไทยเยอะ ติดตามผลงานซีไรต์ (S.E.A.Write: มีชื่อเต็มว่า รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน: Southeast Asian Writers Award) หรือว่าผลงานนักเขียนในประเทศค่อนข้างจะเยอะมาก

เมื่อผมเขียนได้ 3 เรื่องแล้วมันจบ ไม่รู้จะเขียนยังไงต่อ มันยากที่จะคิดพล็อตต่อ ทั้งที่ก็มีเรื่องที่จะเขียนนะครับว่า จะให้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสุโขทัยในยุครัตนโกสินทร์ แล้วให้มาถึงในยุครัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 9 ก็ดูเหมือนว่าพล็อตจะตัน ผมจึงหยุดเขียนไปครับผม

จนกระทั่งเริ่มเขียนเรื่องที่ 4 ก็รู้สึกว่ามันคงจะต้องเป็นนิยายแล้วแหละ ประกอบกับเป็นช่วงโควิด-19 ต้องหยุดอยู่บ้าน Work
from home 
ต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพ์ แล้วเราออกไปไหนไม่ได้ เราก็เริ่มคิดแล้วว่าเราจะทำอะไรดี ก็คิดถึงงานเขียนที่ค้างไว้อยู่แล้วก็ปลงๆ ว่างานเขียนชิ้นนี้ก็คงจะต้องเป็นนิยาย ซึ่งเมื่อตกลงใจว่าเป็นนิยาย มันก็เปิดโลกของผมขึ้นว่า เราไม่ต้องไปจำกัดพล็อตแล้ว

จากที่ตั้งใจว่าจะให้เป็นนิยายแบบโครงเรื่องดีๆ Storyline ดีๆ ก็กลายเป็นว่า เราจะถ่ายทอดเรื่องนี้ยังไงให้เข้ากับสมัยปัจจุบัน ซึ่งก็คลี่คลายมาเรื่อยๆ แล้วผมก็เขียนทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เขียนสัปดาห์ละบท เขียนทุกวันหยุด ผมจะเขียนช่วงวันหยุด เขียนไปเรื่อยๆ แล้วเรื่องราวมันก็ออกมาเรื่อยๆ กลายเป็นเรื่องที่เน้นบรรยากาศ เน้นความรู้สึกมากกว่าครับ” นักเขียนรายนี้ระบุ






ด้วยรัก ศรัทธา และผูกพันต่อพระพุทธรูป

ถามว่าในนิยายเรื่อง วาสนา​ always ตัวละครเอกของเรื่องค่อนข้างผูกพันกับพระพุทธปฏิมาสกุลช่างสุโขทัย​
ขอทราบเบื้องหลัง​ ที่มา​ ว่าเพราะเหตุใด​คุณจึงบอกเล่าเรื่องราวของพระพุทธปฏิมาสกุลช่างสุโขทัยไว้ในนิยายเรื่องนี้อย่างโดดเด่น​


บุญญรัชฎ์ตอบว่า เริ่มแรกเลยที่ตั้งใจเขียนถึงสุโขทัยนั้น เพราะแทบไม่มีนิยายเรื่องไหนเขียนถึงสุโขทัยเลย หากมีเขียนก็มีน้อยมาก มีเพียงไม่กี่เรื่อง

“ไม่ค่อยมีนิยายที่เขียนถึงโบราณสถานสุโขทัย แต่อยุธยานั้นมีเยอะมาก ทำให้ผมตั้งใจจะเขียนเกี่ยวกับสุโขทัย เราเองก็ผูกพันกับพระพุทธรูปด้วย ผมชอบพระพุทธรูป จึงคิดว่าจะทำยังไง เนื่องจากเมื่อเราไปสุโขทัย เราก็ไม่ค่อยเจอพระพุทธรูปนัก เพราะมีการอัญเชิญลงมากรุงเทพ ในพงศาวดารก็มีการจด บันทึกเรื่องนี้ไว้เพียงประมาณ 4-5 บรรทัด ซึ่ง เราก็มาตีความว่า จะเป็นอะไรยังไง ท่านถูกอัญเชิญลงมาได้อย่างไร ลงมาแบบไหน ลงมาทำไม นอกจากนั้น ยังให้เห็นถึงที่มาของท่าพระ แล้วผมเองก็เรียนจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร


ผมก็มีความผูกพันกับวังท่าพระอยู่แล้ว เมื่อเราก็รู้ที่มาของท่าพระ มีการอัญเชิญพระมา เข้าประตูกำแพงพระนครไม่ได้ ต้องรื้อประตูกำแพงลง แล้วจึงอัญเชิญเข้าไปได้ จึงมีการเรียกวังหน้าพระลานตะวันตก หน้าพระลานกลาง หน้าพระลานตะวันออก เรียกรวมกันว่าวังท่าพระ” บุญญรัชฎ์บอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ

เมื่อขอให้ช่วยเล่าเบื้องหลังการทำงาน​ เนื่องจากนิยาย ‘วาสนา​ always’ นั้น ตัวละครเอกผูกพันกับพระพุทธปฏิมาสกุลช่างสุโขทัยอย่างยิ่ง​ อีกทั้งยังมีเรื่องราวของการขนย้ายพระพุทธรูปจากเมืองเหนือมายังบางกอก​ หรือกรุงรัตนโกสินทร์​ ​เช่นนั้นแล้ว คุณต้องทำการบ้าน​ ค้นคว้าข้อมูลในส่วนนี้มากแค่ไหน​และใช้เวลานานแค่ไหนในการเดินทาง​ ลงพื้นที่​ ศึกษาค้นคว้า​ข้อมูลพุทธศิลป์​ พระพุทธปฏิมาในรูปแบบสกุลช่างต่างๆ​ ทั่วประเทศ

บุญญรัชฎ์ตอบว่า เนื่องจากตัวเขาเองเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ และได้มีโอกาสพานักเรียนออกภาคสนาม ไปศึกษาภาคสนามที่อยุธยาบ่อยมาก เป็นร้อยครั้ง ส่วนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ก็ได้ไปเช่นกัน ด้วยทั้งบทบาทหน้าที่ของการเป็นครูประวัติศาสตร์ และด้วยความชอบส่วนตัวในการไปชมโบราณสถานนี่เอง เมื่อต้องเขียนนิยายเกี่ยวกับสุโขทัย เขาจึงต้องไปดูถึงสถานที่เองว่าสภาพเป็นอย่างไร กำแพงมีความสูงเท่าไหร่ ฐานพระสูงเท่าไหร่









บันไดทางขึ้นฐานพระ กลางพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
“หากยกตัวอย่างเพียงเฉพาะวัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย ผมก็ต้องไปดูเอง เดินนับก้าวแล้วก็ยังไม่แล้วใจ ผมก็ต้องซื้อตลับเมตรไปวัดเองจริงๆ ว่ากี่เมตร แล้วมาแปลงเป็นศอก นอกจากนั้นผมก็ได้ไปกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ พะเยา ไปน่าน เพราะชอบพระพุทธรูป ก็ไปดูครับ ไปดูพระพุทธรูป แต่จริงๆ แล้ว พุทธศิลป์ของทุกสกุลช่าง ของทุกอาณาจักร มีความงดงามโดดเด่นแตกต่างกัน สำหรับผมแล้ว งดงามทุกสกุลช่าง ทุกสมัย

แต่เนื่องจากว่า ผมต้องการเน้นให้ตัวละครเขาเกิดความรัก ความหวงแหน ในบ้านเมืองของเขา ผมจึงให้เขาพูดหรือนึกคิดให้เขาเป็นตัวแทนในส่วนนั้นมากกว่า แต่จริงๆ แล้ว ทุกสกุลช่างล้วนงดงามทั้งสิ้นครับ” นักเขียนนิยายเรื่องนี้ระบุ

จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อถามว่า โดยส่วนตัวแล้ว​ คุณประทับใจพระพุทธปฏิมา​สกุลช่างใดเป็นพิเศษ​

บุญญรัชฎ์ตอบอย่างชัดเจนว่า “ต้องบอกว่าผมชอบทุกสกุลช่างนะครับ ผมไม่ได้จบประวัติศาสตร์ศิลป์ แต่ก็สามารถที่จะพอมองแล้วรู้ว่านี่คือพระพุทธรูปสกุลใด เช่นแบบทวารวดี ลพบุรี สุโขทัยหมวดใหญ่ หรือหมวดพระพุทธชินราช ผมก็จะพอระบุได้ รวมทั้งพระพุทธรูปเหนือ เช่นเชียงแสน ก็พอได้ครับ แต่ถ้าเป็นพระพุทธรูปอีสาน หรือทางใต้ ผมไม่ค่อยได้ลงไป”

พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก

พระพุทธรูปสำริด ศิลปะสุโขทัย ที่ไม่ได้อัญเชิญลงไปกรุงเทพฯ วัดเชิงคีรี  อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย

พระใหญ่ พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม ที่อัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย

หลวงพ่อทองคำ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร วัดไตรมิตรวิทยาราม ที่เคยพอกปูนปั้นองค์พระไว้ เคยประดิษฐานที่วัดพระยาไกร (วัดโชตนาราม ในปัจจุบันเป็นพื้นที่ ASIATIQUE)
ความประทับใจในพระพุทธปฏิมาแต่ละสกุลช่าง

ถามว่า ตัวละครในเรื่อง ได้เอ่ย​เปรียบเปรยพระพุทธปฏิมาสกุลช่างต่างๆ​ อยากให้คุณยกตัวอย่างพระพุทธรูปที่คุณเห็นว่าโดดเด่นที่สุดในแต่ละสกุลช่าง

บุญญรัชฎ์ตอบว่าหากเป็นสมัยทวารวดี ก็ต้องเป็นพระพุทธรูปปางนั่งแสดงธรรม ปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่ที่พระปฐมเจดีย์ครับ และมีพระพุทธรูปทวารวดีที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ซึ่งมีความงดงาม เหล่านี้เป็นพระพุทธรูปใหญ่แกะจากศิลาขาว

ส่วนพระพุทธรูปสมัยลพบุรี มีอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี นับว่ามีความงดงามอย่างยิ่งโดยแกะสลักจากหินทราย ส่วนพระพุทธรูปสุโขทัยที่ประทับใจซึ่งปัจจุบันอยู่ในกรุงเทพฯ

ผู้เขียนนิยายเล่าว่า ในวัยหนุ่มเมื่อครั้งที่เรียนศิลปากร เขาและเพื่อนเคยได้ไปไหว้พระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย มาประดิษฐาน ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่เขาและเพื่อนแวะมาอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยและที่พักนัก

พระพุทธรูปอีกองค์คือ พระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร หรือที่เรียกกันว่า‘หลวงพ่อทองคำ’ ซึ่งประดิษฐาน ณ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร หรือวัดสามจีน ( หมายเหตุ:ตำนานเชื่อว่าหลวงพ่อทองคำสร้างขึ้นสมัยสุโขทัย ชาวเมืองได้ลงรักพอกปูนทับเนื้อทองคำไว้ให้รอดพ้นจากข้าศึก ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ชะลอพระพุทธรูปมาประดิษฐานยังกรุงเทพฯ หลวงพ่อทองคำที่ถูกปูนพอกไว้ก็ถูกอัญเชิญมาด้วยเช่นกัน โดยประดิษฐานอยู่ที่วัดพระยาไกร กระทั่งปี พ.ศ.2478 จึงถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดไตรมิตรวิทยาราม ในขณะนั้นชื่อว่าวัดสามจีน)

“เมื่อได้ไปไหว้หลวงพ่อวัดไตรมิตร ผมรู้สึกทึ่งอย่างมากว่าพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ กะเทาะออกมาได้ยังไง ความรู้สึกเหมือนปาฏิหาริย์ เหมือนเป็นคล้ายๆ สมัยโบราณเขาอาจจะเรียกว่าเป็นเทพบันดาลน่ะครับ เพราะงดงามมาก

“ด้วยความงดงามนั้นและด้วยการใช้ทองคำจำนวนมหาศาลนั้น ประวัติของท่าน ที่ท่านถูกปูนพอกอยู่นับร้อยๆ ปี ตั้งแต่ตอนที่อยู่ที่วัดพระยาไกร ซึ่งทุกวันนี้ คือ บริเวณเอเชียทีค (Asiatique The Riverfront) ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องนึงที่ทำให้ผมรู้สึกทึ่ง ว่าเราจะพยายามไขข้อสงสัยตรงนี้ได้ยังไง ว่าท่านมาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำอยู่ข้างใน นี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าอยากจะ คลี่คลายความสงสัย จึงเขียนสมมติฐานของตัวเองขึ้น แล้วก็เขียนลงไปในนิยายด้วยครับ” บุญญรัชฎ์ระบุ

‘บุญญรัชฎ์ สาลี’ นักเขียนนิยาย ‘วาสนา Always ’
แม้นิยายไร้ภาคต่อ แต่วาดหวังสานต่อในศรัทธา

ถามว่าในอนาคตคิดจะเขียนภาค 2 หรือภาคต่อของนิยายเรื่องนี้หรือไม่

นักเขียนผู้นี้ตอบว่า “สำหรับนิยายเรื่องนี้ ควรจะจบในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ก่อนที่เรื่องจะจบ ผมเขียนเชื่อมให้เป็นพาร์ทปัจจุบันเลย ซึ่งผมคิดว่าถ้าเราเขียนภาคต่อ อาจจะไปซ้ำกับท่านอื่น เพราะถ้าเราเขียนให้พระเอกมีชีวิตอยู่ถึงสมัยรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 3 ก็ย่อมเป็นช่วงที่จะต้องรบกับบ้านเมืองใกล้เคียง ทั้งเวียดนาม กัมพูชา เวียงจันทน์ ผมก็คิดว่าจะไปซ้ำกับท่านอื่นที่เขาเขียนอยู่แล้ว

"ดังนั้น ผมจึงอยากให้เรื่องมาถึงปัจจุบันเลย ในสมัยรัชกาลที่ 10 เลย เพราะผมอยากให้เขาได้รับในสิ่งที่เขาทำขึ้นในยุคอดีตชาติของเขา แล้วเมื่อเขาได้กลับมาเกิดอยู่ในยุคปัจจุบัน ก็อยากให้เขาเป็นแบบนี้ คือเป็นคำถามในใจว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าเราได้เกิดมาอีกครั้ง แล้วได้เห็นสิ่งที่เคยรู้สึกรักและผูกพัน ผมก็เลยให้เป็นแบบนี้ครับ ดังนั้น ก็คิดว่าน่าจะไม่มีภาคต่อแล้วครับ” บุญญรัชฎ์บอกเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ



บันไดศิลาแลง ทางขึ้นวัดเขาพนมเพลิง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย






ถามว่า งานเขียนนี้นับเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ได้หรือไม่ คุณนิยามว่าเป็นนิยายแนวใด​

บุญญรัชฎ์ตอบว่า หากถามว่าอิงประวัติศาสตร์ไหม ผมก็ยังไม่กล้าใช้คำนี้ในนิยายครับ ไม่ว่าในหน้าไหน แม้แต่ในคำนำของผู้เขียนก็ไม่มี แต่ว่าเป็นการเขียนขึ้นจากการค้นคว้าข้อมูลอย่างมาก การจะเขียนแต่ละตอนต้องใช้การค้นคว้าข้อมูลก่อนว่าเรื่องนี้มีข้อเท็จจริง มีหลักฐานอยู่ว่าเป็นอย่างนั้น แล้วก็ใส่ตัวละครหรือว่าเหตุการณ์เข้าไปครับ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากถามว่าเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ ผมว่าก็อาจจะได้ครับ เพียงแต่ผมก็ไม่ได้พิมพ์คำนี้ลงไปในเนื้อหาส่วนใดๆ หรือแม้แต่หน้าปก หลังปก แต่มีความน่าเชื่อถือ เพียงแต่ผมไม่ได้ใส่เชิงอรรถลงไปที่ด้านล่างว่า ข้อความนี้มาจากเอกสารชิ้นไหนบ้าง เพราะหากทำเช่นนั้นก็จะดูรกไป แต่ว่าเป็นงานเขียนที่ผมที่ได้ตรวจสอบกับเอกสารและเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีความน่าเชื่อถือครับผม” บุญญรัชฎ์ระบุ และกล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่คาดหวังว่าผู้อ่านจะได้รับ


“สิ่งที่คาดหวังจริงๆ ก็คือ อยากให้คนรู้สึกรักโบราณสถาน หวงแหนโบราณวัตถุ หวงแหนวัดวาอาราม พระพุทธรูป หรือศิลปะของไทยว่ามีความงดงาม อยากให้เห็นว่าบรรพบุรุษของเรา ทั้งประชาชน ข้าราชการ ช่าง และพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ทุกรัชกาล ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ ทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองและสงบสุขร่มเย็น เพราะหากบ้านเมืองไม่สงบสุขร่มเย็น คงเป็นเรื่องยากที่จะมีช่วงเวลาให้สามารถทำงานชิ้นที่มีความงดงามเอกอุได้ และอยากให้เห็นว่าช่างสกุลไทย มีความละเอียดประณีต ในการสร้างสรรค์ สิ่งต่างๆ ขึ้นมาและสืบต่อ ส่งต่อมาให้กับลูกหลาน ซึ่งจริงๆ แล้ว ในพาร์ทที่เป็นปัจจุบัน เป็นพาร์ทที่บอกเล่าว่าบรรพบุรุษของเราในรุ่นก่อนๆ ได้ทำสิ่งต่างๆ ไว้ให้เรา

"เรามีวัดที่งดงาม มีพระราชวังที่งดงาม ผู้คนเป็นมิตร จิตใจงดงาม เหล่านี้ก็คือสิ่งที่บรรพบุรุษและพระพุทธศาสนาหล่อหลอมคนไทยที่เป็นประเทศเมืองพุทธ เป็นสยามเมืองยิ้ม ผมว่าสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้ มาถึงยุคที่ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่ภูมิใจ แต่ทำให้คนทั้งโลกได้มาเห็นความงดงามนี้ด้วย อยากให้คนไทย ภูมิใจในประเทศไทยของเราครับ” นักเขียนนิยายผู้นี้ บอกเล่าได้อย่างเห็นภาพอันแจ่มชัด ถึงความรัก ความภูมิใจในพุทธศิลป์และศิลปวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สืบต่อมาช้านาน

……….
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ภาพและคำบรรยายภาพ by : บุญญรัชฎ์ สาลี