”หมอจ๊วด” ฝากไว้ให้คิด เตือนหมอออกใบรับรองแพทย์เท็จหลังหยุดยาวมีความผิดตามกฎหมาย ลูกจ้างเสี่ยงถูกไล่ออก พร้อมเผย 5 ปัญหาที่พบบ่อย
วันนี้ (17 เม.ย.) พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือนในประเด็น “การออกใบรับรองแพทย์เท็จ หลังวันหยุดยาว” ชี้มีความผิดทางกฎหมาย ลูกจ้างอาจถูกออกจากงาน โดย “หมอจ๊วด” ได้ระบุข้อความว่า
“"ใบรับรองแพทย์(เท็จ)..หลังวันหยุดยาว"
ฝากเตือนคุณหมอเรื่องกรณีปัญหาใบรับรองแพทย์หลังวันหยุดยาว..เนื่องจากการให้หยุดมีผลต่อการทำงานของคนไข้บางคน ในกรณีที่ป่วยจริงไม่มีปัญหา แต่ที่แพทยสภาเคยพบปัญหาจากเหตุดังนี้ครับ
กรณีวันหยุดยาวบริษัทห้างร้านจะเพ่งเล็งในการตรวจสอบ วันลาหยุดใน #ใบความเห็นแพทย์เป็นพิเศษ เกี่ยวกับการขาดงานของลูกจ้าง โดยเฉพาะห้างร้านที่เปิดในช่วงวันหยุด และการหยุดโดยเจ็บป่วยจะไม่ถูกหักค่าแรง จึงมักมีการตรวจสอบอย่างละเอียดกัน
แพทยสภาเชื่อมั่นว่าคุณหมอใช้วิจารณญาณและระมัดระวังในการให้หยุดให้เหมาะสมกับความเจ็บป่วยอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่พบคือ
1. มีการปลอมแปลงแก้ไขวันหยุดให้มากขึ้นในใบรับรองแพทย์โดยพนักงาน เป็นเหตุให้มีการส่งไปตรวจสอบที่สถานพยาบาลและบางครั้งถามมาที่แพทยสภา ดังนั้นจึงต้องมีต้นขั้วที่ชัดเจนทุกครั้งครับ
2. มีการใช้ใบรับรองของเพื่อนพนักงานด้วยกันมาแก้ไขชื่อ หรือทำสำเนา ถ่ายเอกสารสีปลอม ซึ่งถือเป็นใบรับรองแพทย์เท็จ เมื่อตรวจสอบกับสถานพยาบาล ดังนั้นต้นขั้วจึงสำคัญมากครับ
3. มีการไปซื้อใบรับรองแพทย์จากแหล่งปลอมต่างๆ ปั๊มตราสถานพยาบาล มีลายเซ็นแพทย์ปลอม อันนี้ตรวจสอบกับสถานพยาบาลได้ครับ และมีการตรวจอยู่ประจำ ทางแพทย์ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะผิดกฎหมายเอกสารเท็จอยู่แล้ว
4. มีการร้องขอแพทย์ ให้เพิ่มวันลาในโรคที่ไม่ควรหยุดยาว เพราะจะกลับบ้านต่างจังหวัดหรือไม่มีรถมาทันในการทำงาน การออกต้องระวัง ขอให้แพทย์ยึดมั่นตามข้อเท็จจริงครับ สงสารเขาอาจจะเป็นปัญหากับตัวเองได้
5. ขอให้ออกใบรับรองแพทย์ย้อนหลังเพราะมาทำงานไม่ทัน โดยไม่ได้ป่วยจริง อันนี้เข้าข่ายออกใบรับรองแพทย์เท็จนะครับ มีคดีร้องจริยธรรมมาที่แพทยสภาด้วย โดยมีพยานเพื่อนพนักงานบอกว่าไม่ได้ป่วย ไปเที่ยวด้วยกัน ทำให้หมอถูกลงโทษได้ครับ แพทย์ออกได้ตามวันจริงที่มาตรวจเท่านั้น
เชื่อว่าสถานการณ์ใบความเห็นแพทย์จะมีปัญหาหลังวันหยุดยาว ขอให้คุณหมอระมัดระวัง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับคุณหมอเอง และถ้าเป็นคลินิก ต้องให้มีสำเนาไว้ทุกครั้งที่ตรวจสอบได้ทันที ถ้าพบใบรับรองแพทย์เท็จที่ใช้ชื่อคุณหมอ ให้แจ้งความและแจ้งแพทยสภา (0-2589-7700, 0-2589-8800) และสถานพยาบาลที่ออกด้วยครับ
ใบรับรองแพทย์เท็จ หรือปลอมแปลงมีความผิดตามกฎหมาย เตือนเพื่อนๆพนักงานอย่าหยุดจนเลยเวลา หลายรายถูกออกจากงานไม่คุ้มเลยครับ
ฝากคุณหมอทุกท่านด้วยความห่วงใยครับ”