“ตำนานเมืองลับแล” เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมานานแล้ว นอกจากจะมีจุดเด่นว่าเป็นดินแดนลึกลับ คนต่างถิ่นเข้าไปไม่ได้แล้ว คนเมืองลับแลยังเคร่งครัดในสัจจะวาจา ถือว่าการพูดเท็จแสดงถึงไม่มีความจริงใจต่อกัน แม้จะพูดด้วยเจตนาดี แต่ก็ถือว่าผิดคุณสมบัติข้อสำคัญ เมืองนี้จึงได้ฉายาอีกอย่างว่า “เมืองแม่หม้าย” เพราะผู้หญิงยอมอยู่อย่างไร้คู่ ดีกว่าอยู่กับผู้ชายที่พูดโกหก
เมืองลับแลเป็นเมืองโบราณที่สร้างมาก่อนกรุงสุโขทัยเป็นร้อยๆปี ขุดพบกลองมโหระทึกสมัยก่อนประวัติศาสตร์และยังขุดพบศิลาจารึกที่วัดเจดีย์คีรีวิหาร ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “วัดป่าแก้ว” สร้างขึ้นราว พ.ศ. ๑๕๑๙ โดย เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ปฐมกษัตริย์ของนครลับแล ภายหลังถูกทิ้งเป็นเมืองร้าง ภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ตั้งอยู่ในแอ่งระหว่างเขาที่มีที่ลุ่มสลับดอน มีลำห้วยไหลผ่าน การเดินทางเข้าออกไม่สะดวก คนที่ไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศอาจพลัดหลงได้ง่าย ต่อมาคนเมืองแพร่และน่านได้หนีข้าศึกมาซ่อนอยู่ในบริเวณนี้ เพราะมีน้ำอุดมสมบูรณ์และมีป่าเป็นฉากบัง ต่อมายังมีชาวโยนกเชียงแสนอพยพหนีภัยสงครามมาอยู่อีก ตั้งเป็นบ้านเชียงแสน และอัญเชิญ เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าเรืองชัยธิราช แห่งโยนกนาคนครเชียงแสนมาเป็นปฐมกษัตริย์
ที่มาของชื่อ “ลับแล” ซึ่งมีความหมายว่า บังตา อีกทั้งบริเวณนี้ยังพลบค่ำก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เพราะมีดอยม่อนฤาษีเป็นฉากกั้นแสงอาทิตย์ทางตะวันตก จึงได้ชื่อว่า “ลับแลง” ซึ่งเป็นภาษาล้านนา ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น “ลับแล”
ชาวลับแลมีพื้นที่เกษตรอยู่บนเขา อย่างปัจจุบันทุเรียนและลางสาด ผลไม้มีชื่อของอำเภอลับแลก็ปลูกอยู่บนภูเขา ผู้ชายลับแลต้องขึ้นไปดูแลสวนอยู่บนเขา ปล่อยให้ภรรยาอยู่กับลูกที่บ้าน เมื่อคนต่างถิ่นเข้าไปในลับแลจึงเห็นแต่ผู้หญิง จึงให้ฉายาว่า “เมืองแม่ม่าย”
จากการเคร่งครัดในสัจจะวาจา “ตำนานเมืองลับแล” จึงเกิดขึ้น มีเนื้อความว่า
มีชายหนุ่มคนหนึ่งจากเมืองทุ่งยั้ง ออกล่าสัตว์และหลงป่าเข้าไปจนเห็นหญิงสาวกลุ่มหนึ่งออกมาจากชายป่า ทุกคนต่างเอาใบไม้ที่ถือมาซ่อนไว้ก่อนจะตรงเข้าไปทางเมือง ชายหนุ่มเกิดความสงสัยจึงแอบหยิบใบไม้ใบหนึ่งมาไว้ ตกบ่ายหญิงกลุ่มนั้นก็กลับมาต่างก็หยิบใบไม้ที่ซ่อนไว้แล้วเดินเข้าป่าไป แต่หญิงคนหนึ่งหาใบไม้ของตัวไม่พบ จึงค้นหาอยู่ด้วยอาการวิตก ชายหนุ่มจึงปรากฏตัวและเอาใบไม้คืนให้เธอ เธอบอกว่าใบไม้นั้นคือกุญแจที่จะใช้เข้าเมืองได้ ชายหนุ่มเกิดความสนใจจะขอติดตามไปด้วยเพราะอยากเห็นเมืองลับแล หญิงสาวก็ยินยอมแต่ขอให้สัญญาว่าจะต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมของชาวลับแลที่ไม่พูดเท็จ เมื่อชายหนุ่มรับคำหญิงสาวได้พาชายหนุ่มไปพบมารดา และถูกอัธยาศัยกันด้วยดีจนเกิดความรักใคร่ มีบุตรด้วยกัน ๑ คน
วันหนึ่งภรรยาออกไปเก็บผักหาฟืน ให้สามีดูแลลูกอยู่ที่บ้าน เมื่อลูกวัย ๒ ขวบตื่นขึ้นมาไม่เห็นแม่ก็ร้องไห้หา พ่อปลอบอย่างไรก็ไม่ยอมหยุด เลยบอกกับลูกด้วยความเคยชินของคนในเมืองว่า “แม่มาแล้ว ๆ” มารดาของภรรยาได้ยินว่าลูกเขยพูดเท็จกับลูกก็โกรธ เมื่อลูกสาวกลับมาจึงบอกให้รู้ ฝ่ายภรรยาก็เสียใจมากที่สามีไม่รักษาสัจจะวาจา จำใจจะต้องรักษาคุณสมบัติของชาวลับแลไว้ ให้เขาออกจากหมู่บ้านไป ด้วยความอาลัยนางได้จัดย่ามใส่เสบียงให้สามีพร้อมของสำคัญใส่ย่ามไปด้วย บอกว่าอย่าเปิดดูก่อนจะถึงบ้าน เมื่อภรรยาพาไปส่งจนพ้นเขตเมืองลับแล สามีอยากรู้ว่าภรรยาเอาอะไรใส่มาในย่ามจนหนัก พอเปิดดูเห็นว่าเป็นขมิ้นเต็มย่าม จึงเอาออกขว้างทิ้งเกือบหมด
เมื่อถึงบ้านได้เล่าเรื่องที่ตัวหายไปนานให้เพื่อนและญาติพี่น้องฟัง พร้อมกับเอาขมิ้นที่ติดถุงย่ามมายืนยันคำพูด แต่พอหยิบขมิ้นติดย่ามออกมาก็ต้องตะลึง เพราะขมิ้นนั้นเป็นทองคำเหลืองอร่าม จึงพากันกลับไปหาขมิ้นที่โยนทิ้งไว้ พบว่าขมิ้นเหล่านั้นงอกเป็นต้นไปหมดแล้ว และหาไม่พบทางจะเข้าเมืองลับแลอีก
ด้วยเหตุนี้เมืองลับแลจึงเป็นเมืองอาถรรพ์ที่ชายหนุ่มทั้งหลายอยากจะเข้าไป แต่ก็ไม่มีใครหาทางเข้าเมืองลับแลได้เลย ได้แต่เล่าลือกันมาเป็นร้อยๆปี
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์ และได้เสด็จมาถึงเมืองลับในวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ โปรดเกล้าฯให้ย้ายศาลากลางจังหวัดจากเมืองพิชัยมาตั้งที่บางโพ ซึ่งก็คืออำเภอเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน และยุบเมืองทุ่งยั้งรวมกับเมืองลับแล สถาปนาขึ้นเป็นอำเภอลับแล ส่วนรูปประกอบเรื่องนี้เป็นการแต่งกายของชาวลับแลในสมัยรัชกาลที่ ๕
ปัจจุบันถ้าจะเข้าเมืองลับแล ไม่ต้องไปค้นหาทางเข้าหรือใช้ใบไม้เป็นกุญแจแล้ว เพราะเขาสร้างประตูไว้ใหญ่โต และยังมีประติมากรรมแม่ม่ายเมืองลับแลอยู่บริเวณประตู เตือนใจคนที่ไม่มีสัจจะวาจาจะต้องนั่งคอตกในท่านี้ แต่อย่าเข้าไปหาขมิ้นในอำเภอนี้เลย เพราะได้กลายพันธุ์เป็นทุเรียนและลางสาดไปหมดแล้ว และอยากจะเตือนใจคนที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งด้วยนโยบายขายฝันในตอนนี้ด้วยว่า แม้จะเลือกตั้งมาได้ ก็ระวังจะเข้าเมืองลับแลไม่ได้