“สนธิ” ชำแหละปัญหาภายใน มสธ.สรรหาอธิการฯ คนใหม่ 6 ปีแล้ว แต่ยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนของ “วิจิตร ศรีสอ้าน” อธิการบดีคนแรกที่ยังครอบงำการอำนาจบริหารใน มสธ.อย่างต่อเนื่อง พยายามดึงเกมเตะตัดขา โดยแอบอิงกับอำนาจ คสช.ใช้ ม.44 เป็นเครื่องมือ
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงปัญหาในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือ มสธ.ในการแต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่ แม้จะมีการสรรหาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2560 แต่ผ่านมา 6 ปีว่าที่อธิการบดีคนใหม่คือ รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ก็ยังไม่สามารถทำงานได้
นายสนธิ กล่าวว่า มสธ.นั้นมีเครือข่ายผู้ยิ่งใหญ่ที่ครอบครองอำนาจการบริหารอาณาจักรมหาวิทยาลัยแห่งนี้มานาน ปัจจุบัน มสธ.มีศิษย์เก่าอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง ปี 2566 นี้จะครบ 45 ปี เดิมที มสธ.มีข้าราชการ พนักงานลูกจ้าง จำนวน 2,500 คน มีนักศึกษารวมทุกชั้นปี 60,000-80,000 คน มีผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 2 ล้าน 5 แสนคน จากจำนวนผู้สมัครทั้งหมด 5 ล้านคน
ผู้ยิ่งใหญ่แห่ง มสธ.และเครือข่าย
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือ มสธ.จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ มสธ. ปี 2521 (45 ปีที่แล้ว) มีบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงการศึกษา คือ นายวิจิตร ศรีสอ้าน ดำรงตำแหน่งในฐานะอธิการบดีผู้ก่อตั้ง และดำรงตำแหน่งนายกสภา มสธ. มีวาระการดำรงตำแหน่งที่ยาวนาน
นับจากปี 2521 มาถึงปัจจุบัน 2566 (45 ปี) คนที่เคยเป็นอธิการบดีคนแรก อย่าง ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ซึ่งปัจจุบันอายุจะ 90 แล้ว ยังคงมีอิทธิพล โดยดำรงตำแหน่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย มสธ. อยู่เหมือนเดิม นอกจากจะเป็นอธิการบดีคนแรกและอยู่ในตำแหน่งนั้นเกือบสิบปี ช่วง 2521-2530 แล้ว ดร.วิจิตร ยังคงปฏิบัติหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัยแห่งนี้ และรอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่ออีก 1 สมัย ผูกขาดการเป็นนายกสภาเป็นระยะเวลารวมกันถึง 12 ปี
ประเด็นคือการที่ ดร.วิจิตร ดำรงตำแหน่งนายกสภา มสธ. เกินกว่า 12 ปี ขัดแย้งกับแนวปฏิบัติหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2564 โดย ศ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. อย่างชัดเจน
โดยแนวการปฏิบัติดังกล่าว ระบุว่า "นายกสภาสถาบันอุดมศึกษา และกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ควรมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกินสี่ปี และไม่ควรดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินกว่าแปดปี" แล้วทำไม ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อายุตั้ง 89 ปี รักษาอำนาจ มสธ. ไปเรื่อยๆ มีลำดับเหตุการณ์ที่น่าสนใจดังนี้
หนึ่ง เมื่อสิบปีที่แล้ว ในปี 2556 มสธ. มีอธิการบดีชื่อ นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย เป็นอาจารย์แพทย์มาจากมหาวิทยาลัยมหิดล คนนอก ต่อมาปี 2559 นายแพทย์ชัยเลิศ ถูกสภามหาวิทยาลัยในชุดนั้นถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดีก่อนหมดวาระ ด้วยมติ 9 ต่อ 0 งดออกเสียง 2 จากกรณีที่ไม่อุทิศเวลาทุ่มเทกับงานนี้ และไม่ขออนุญาตไปเรียนหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)
สำหรับสภา มสธ. ชุดถอดถอนนายแพทย์ชัยเลิศ ประกอบด้วย รศ.ดร.องค์การ อินทรัมพรรย์ เป็นนายกสภาฯ โดยมีกรรมการสภาฯ อาทิ นายโสภณ สุภาพงษ์ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา รศ.ดร.ยืน ภู่วรวรรณ รศ.ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ เป็นต้น
ต่อมา จากกรณีถอดถอนอธิการบดี มีการฟ้องร้องกัน โดยนายแพทย์ชัยเลิศขอให้ศาลทุเลาคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลสั่งไม่รับคำขอทุเลา และเรื่องฟ้องร้องยังไม่ยุติ รอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจนถึงขณะนี้
สอง ด้วยเหตุของการว่างลงของตำแหน่งอธิการบดี มสธ. จากการถอดถอนนายแพทย์ชัยเลิศ จึงต้องมีการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ และในวันที่ 30 มีนาคม 2560 สภามหาวิทยาลัยฯ ได้มีมติให้ รศ.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนใหม่
สาม มติของสภา มสธ. ที่ให้ รศ.ดร.วรรณธรรม มาดำรงตำแหน่งอธิการบดี มสธ. คนใหม่ สร้างความไม่พอใจให้กับนายวิจิตร ศรีสอ้าน อธิการบดีผู้ก่อตั้ง มสธ. อย่างยิ่ง เพราะคนของฝั่งนายวิจิตร ยกตัวอย่างเช่น ดร.ธีรภัทร์ และคู่แข่งคนอื่นๆ พ่ายแพ้การสรรหา นายวิจิตรจึงคิดใช้โอกาสและสร้างสถานการณ์กลับเข้ามาบริหาร มสธ. อีกครั้ง จึงมีขบวนการล้มล้างเพื่อกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง
ดร.วิจิตร ใช้คนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดระบบระเบียบต่างๆ ใน มสธ. ผ่านมาตรา 44 เครื่องมือครอบจักรวาลสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังควบตำแหน่งหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี
เริ่มต้นด้วยการใช้มาตรา 44 สั่งการ ล้มกระดานทั้งนายกฯ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยในขณะนั้นทั้งชุด เพื่อลบล้างผลการถอดถอนอธิการบดีคนเก่าคือนายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ลบล้างการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ ก็คือ รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ
สรุปคือ รีเซ็ต มสธ. ใหม่ โดยวิธีการล็อบบี้ กดดันให้กรรมการ มสธ. ผู้ทรงคุณวุฒิบางคนลาออก เพื่อสร้างภาพให้เข้าเงื่อนไขว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในสภา มสธ.
สี่ ปรากฏว่ามีการทยอยให้กรรมการสภาฯ บางคนลาออก และบางกลุ่มลาออกพร้อมกัน ซึ่งกรรมการสภาฯ ส่วนใหญ่ที่ให้ลาออกให้เหตุผลว่า มีปัญหาเรื่องสุขภาพ หรือไม่มีเวลาเพียงพอ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ซึ่งความจริงไม่ได้มีเหตุผลร้ายแรงอันใดที่จะเป็นความขัดแย้งของสภา มสธ. หรือประชาคม มสธ. แต่อย่างใด
ทั้งนี้ การลาออกของกรรมการสภาฯ สร้างปัญหา ส่งผลให้การประชุมสภามหาวิทยาลัย องค์ประชุมไม่ครบ ไม่สามารถจัดประชุมสภามหาวิทยาลัยใดๆ ทั้งสิ้น สภา มสธ. จึงเกิดสุญญากาศ นี่คือการจงใจสร้างขึ้นมา เมื่อแผนการนี้สำเร็จ นี่คือจุดเริ่มต้นของการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบการแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ถึงแม้ว่า คสช.ไม่อาจกวาดบ้าน มสธ. ทั้งหมดได้ และ คสช. ยังไม่เคยตรวจสอบข้อเท็จจริงใดๆ ว่า มสธ. มีปัญหาอะไรกันแน่
น่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์ของใครบางคน ออกอุบายให้กรรมการสร้างปัญหากันเองแล้วลาออก จน คสช. ใช้อำนาจแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาใหม่ เพื่อให้ครบองค์ประชุม 3 ราย ได้แก่
1.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่วงการเขารู้ว่า ดร.ประสาท นั้นจะโค้ง เรียกนายวิจิตร ศรีสอ้าน ว่า "นาย" ทุกครั้ง
2.นายปราโมทย์ โชติมงคล อดีตรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ก็ลูกน้องเก่านายวิจิตร
3.รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นเครือข่ายของนายวิษณุ เครืองาม
รวมทั้งเปลี่ยนผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเครือข่ายของนายวิจิตร ศรีสอ้าน ทั้งสิ้น ทำให้เป็นกลุ่มกรรมการสภาที่มีเสียงดังในสภา มสธ. ที่นายวิจิตร เข้าควบคุมผ่านเครือข่าย และทั้งหมดนี้ปูทางให้นายวิจิตรกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกสภา มสธ.อีกต่อไป
ขั้นตอนต่อไปต้องทำอย่างไรต่อ ? ขั้นตอนต่อไปก็คือใช้วิชามารประวิงเวลาต่อไปในการเสนอโปรดเกล้าฯ อธิการบดีคนใหม่ เพราะเมื่อสรรหาอธิการบดีเรียบร้อยแล้ว ก็ควรที่จะเสนอยื่นเรื่องไปให้โปรดเกล้าฯ
ประวิงเวลาโปรดเกล้าฯ อธิการบดีคนใหม่
ห้า ปี 2560 ภายหลังมีการใช้มาตรา 44 เข้ามาควบคุม มสธ. ภารกิจยึด มสธ. ก็เริ่มจากที่ประชุมสภา มสธ. โดยช่วงแรกมีการประวิงเวลาการเสนอโปรดเกล้าฯ อธิการบดีคนใหม่ ไม่ยอมตั้งคนซึ่งไม่ใช่คนของตัวเอง ไม่ยอมส่งเรื่องการโปรดเกล้าฯ ไปให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดยอ้างว่ามีเรื่องฟ้องร้องในศาลปกครอง 2 เรื่อง ได้แก่ 1.กรณีถอดถอนอธิการบดีคนก่อนยังไม่ยุติ 2.กรณีมีการสรรหาอธิการบดีที่มี ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรัฐมนตรีผู้พ่ายแพ้การสรรหาอธิการบดี และไปร้องเรียนต่อศาลปกครองเช่นกัน
ต่อมาปลายปี 2560 ถึงขั้นต้องให้คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยโหวตเสียงกันว่า จะส่งหรือไม่ส่งการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี ทั้งที่เป็นหน้าที่เมื่อคัดสรรเรียบร้อยแล้วก็ต้องส่งโปรดเกล้าฯ ปรากฏว่ามติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย 4 ต่อ 3 ให้มหาวิทยาลัยฯ ดำเนินการเสนอโปรดเกล้าฯ อธิการบดี ไปที่กระทรวงศึกษาฯ กระทรวง อว. ตามกระบวนการต่อไป
แต่กลับมีการสกัดกั้นเมื่อเรื่องไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ในยุคนั้น คือ นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อ้างว่าเป็นเพราะมีการฟ้องร้องกันอยู่ จึงบัญชาการสั่งการให้คืนเรื่องนี้ และให้ชะลอการโปรดเกล้าฯ และให้มีการทบทวนการถอดถอนและสรรหาอธิการบดีทั้งสองเรื่องนี้ใหม่
ผลัดกันเกาหลัง ต่างตอบแทน
หก ภารกิจในการกลับมายึดอำนาจใน มสธ. ของสภา มสธ.ยุค คสช. ที่สำคัญที่สุด คือการเร่งรีบให้มีการสรรหานายกO และกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดใหม่ และไม่พ้นความคาดหมาย การสรรหา นายวิจิตร ศรีสอ้าน ได้เป็นนายกสภา มสธ. อีก มี ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี ม.สุรนารี ก็เป็นประธานการสรรหา ถือว่าเป็นลูกน้อง เพราะในขณะที่มีการสรรหานายกสภา มสธ. นายวิจิตร ยังดำรงตำแหน่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยสุรนารี และนายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อีกด้วย
ที่น่าสนใจคือ ดร.ประสาท สืบค้า และ รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา ยังได้กลับมาเป็นกรรมการสภา มสธ. อีก อย่างนี้จึงเรียกว่า "ผลัดกันเกาหลัง"
เจ็ด การกลับมาครั้งนี้ นายวิจิตร จึงเป็นนายกสภา มสธ. สมใจนึก ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน (2566) ถือว่าเป็น 2 สมัยติดกันแล้ว และกำลังจะเป็นสมัยที่ 3 ต่ออีก โดยกำลังรอโปรดเกล้าฯ ต่อ จึงทำให้นายวิจิตรมีระยะเวลาเป็นนายกสภา มสธ. รวมกันกว่า 12 ปีแล้ว ซึ่งไม่สอดคล้องหรือขัดกับแนวปฏิบัติว่า โดยหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา 2564 ที่กำหนดว่า "การดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ไม่ควรมีระยะเวลารวมกันเกิน 8 ปี
แปด นอกจากผลัดกันเกาหลัง แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในส่วนของกรรมการสรรหา สรรหานายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งก็ตอบแทนด้วยนายกสภามหาวิทยาลัย เลือกกรรมการสรรหามาเป็นกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ยังมีการแต่งตั้งรักษาการอธิการบดี มสธ. อีกต่างหาก
โดยที่เห็นเป็นขุนพลมหาวิทยาลัยในเครือข่ายของวิจิตร ศรีสอ้าน แบบชัดๆ มีใครบ้าง ?
1.ศ.ดร.ประสาท สืบค้า กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนอธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 - 4 ตุลาคม 2563 ดร.ประสาท สืบค้า เป็นลูกน้องของ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เพราะ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นั้นเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยสุรนารี และทุกครั้งที่เจอนายวิจิตร ศรีสอ้าน ก็จะโค้งคำนับและเรียกว่า "นาย" ทุกคำ นี่คือการตอบแทน
2.รศ.ดร.ปราณี สังขะตะวรรธน์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการอธิการบดีตั้งแต่ 5 ตุลาคม 2563 - 30 กันยายน 2564
3.รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการอธิการบดี 1 ตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีนายศิริ การเจริญดี เป็นประธานกรรมการการเงิน รายได้ ทรัพย์สิน โดยนายวิจิตรเข้ามามีบทบาทในการพัฒนา มสธ. ที่มีเงินรายได้อยู่เกือบหมื่นล้านบาท มีความคิดที่จะดำเนินการทำโครงการต่างๆ มากมาย รองรับนโยบาย มสธ. ว่าด้วยการปฏิรูป มสธ.
ยกตัวอย่าง การแปลงโฉม มสธ. ที่อ้างถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด จึงต้องทุ่มทุนจัดการ มสธ.ใหม่เป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ซึ่งโดยมารยาท จริยธรรม และควรต้องเป็นเรื่องที่ประชาคมต้องมีส่วนร่วม ให้ความคิดเห็น และตรวจสอบได้อย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้แล้ว นายวิจิตร ศรีสอ้าน และสภามหาวิทยาลัย ยังเริ่มต้นแก้ไขข้อบังคับการเงิน มอบอำนาจให้นายศิริ การเจริญดี ซึ่งอดีตเป็นพนักงานระดับสูงของแบงก์ชาติ ให้นายศิริ ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบเกี่ยวกับการเงินต่างๆ ให้คล่องตัว และที่สำคัญไม่ต้องรับผิดชอบการออกระเบียบขึ้นเงินค่าตอบแทนนายกสภาฯ เพิ่มอีกเดือนละ 3 หมื่นบาท การจัดทำโครงการพัฒนาระบบออนไลน์ เอาสมาคมที่นายวิจิตรดำรงตำแหน่งนายกมารับงานเอง ที่มีข่าวว่าแทบจะไม่มีการแข่งขัน และเข้าข่ายฮั้วประมูลหรือเปล่า
การนำเงินคงคลัง มสธ. ไปลงทุนกับบริษัทเงินทุนต่างๆ ที่มีการลงทุนไปแล้วกว่า 5,500 ล้านบาท ตั้งเป้าไว้ถึง 7,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่มีข้อกฎหมายที่สุ่มเสี่ยง ข้อหารือกับกรมบัญชีกลาง และยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวง อว. แต่อย่างใด
ประเด็นเรื่องนี้ กรณีปัญหาคาราคาซังเรื่องผู้บริหาร มสธ. ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน การสรรหาสภามหาวิทยาลัย การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ครอบคลุมไปถึงมหาวิทยาลัยของบุคลากรในแวดวงการศึกษาที่ใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น มสธ. ม.สุรนารี ม.วลัยลักษณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การแต่งตั้งรักษาการอธิการบดี เป็นต้นนั้น เป็นตัวอย่างที่้เห็นได้ชัดถึงปัญหา
ขณะที่ระบบการศึกษาของโลก ของสังคม กำลังถูก disrupt จากเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่บุคลากรในแวดวงการศึกษาของไทยก็ยังอยู่ในวังวนเดิมๆ เล่นเกม แย่งชิงอำนาจ เล่นพวกเล่นพ้องกันแบบเดิมๆ บ่อนการพนันยังมีระเบียบดีกว่าระเบียบของคณะกรรมการบอร์ด มสธ. อีก
สำหรับ มสธ. ทีมงานไปสืบค้นข้อมูลว่า จากเดิมนักศึกษาในแต่ละปีที่แต่ก่อนมีประมาณ 80,000 คน ช่วงหลังๆ ลดเหลือ 20,000 คน หรือ 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะปัญหาโควิด ปัญหาวิกฤตความขัดแย้งในมหาวิทยาลัยที่คาราคาซังมาหลายปี
ศาลปกครองสูงสุดชี้สรรหาอธิการฯ 6 ปีก่อนถูกต้อง “วิจิตร” ปล่อยวางได้แล้ว
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ หรือไม่ถึง 2 เดือนที่แล้วมา ศาลปกครองสูงสุดก็ได้พิพากษาชี้ออกมาแล้วว่า การสรรหา รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ให้เป็นอธิการบดี มสธ. เมื่อ 6 ปีที่แล้ว คือในปี 2560 นั้น ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า สภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ถูกต้องทุกประการ กระบวนการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดี จึงชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง รศ.วรรณธรรม ก็มิได้มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของการเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รวมทั้งกระบวนการคัดเลือกอธิการบดีได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย
ณ วันนี้ จึงไม่มีเหตุผลใดๆ อีกที่จะต้องดึงเรื่องทำให้เรื่องนี้ต้องยืดเยื้อกันต่อไปอีก เพียงเพราะ รศ.วรรณธรรม ไม่ได้เป็นพวกหรือเป็นเครือข่ายของพวกมาเฟียทั้งหลาย
“ผมไม่ได้รู้จัก รศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน หรือมีปัญหาอะไรส่วนตัวกับท่าน แต่ผมอยากจะฝากเอาไว้อย่างนี้ ทั้งตัวท่าน ลูกศิษย์ลูกหา และเครือข่ายที่รายล้อมท่าน
“คนอายุ 89 แล้ว ทำไมท่านไม่ปล่อยให้คนรุ่นหลังเขาทำงานบ้าง เข้าใจว่าบางอย่างท่านสร้างมากับมือ อาจจะเป็นห่วงเป็นใย ท่านยึดติดมากเกินไปหรือเปล่า อีกไม่กี่ปีท่านก็ตายแล้ว แล้วท่านได้อะไรไป แทนที่จะทำงานให้ลูกหลานคนรุ่นหลังเขาเชิดชูในคุณธรรมในตัวท่านว่าท่านรู้จักถอยในเวลาที่ต้องถอย แต่ไม่ใช่ไปสร้างเครือข่ายแล้วสร้างฐานอำนาจของท่านขึ้นมา” นายสนธิกล่าว