xs
xsm
sm
md
lg

หมอชี้โรคที่เสียชีวิตฉับพลันขณะออกกำลังกายหน้าร้อนไม่ใช่ฮีตสโตรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บนโซเชียลฯ แชร์คำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ชี้โรคที่เสียชีวิตฉับพลันขณะออกกำลังกายในหน้าร้อนไม่ใช่ฮีตสโตรก แต่เป็นตัวเร่งให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น โรคที่ซ่อนอยู่ปะทุขึ้น แนะผ่อนความเร็วลงในการออกกำลังกาย ดื่มน้ำก่อนออกกำลังกาย 30 นาที และดื่มน้ำเป็นระยะ เสื้อผ้าระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์

วันนี้ (14 เม.ย.) บนโซเชียลฯ แชร์โพสต์จากเฟซบุ๊ก Akanis Srisukwattana หรือ นพ.อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา หรือหมอแอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ โพสต์ข้อความระบุว่า "โรคที่ทำให้เสียชีวิตฉับพลันขณะออกกำลังในหน้าร้อน ไม่ใช่ Heat stroke นะครับ

Heat stroke ไม่ทำให้เสียชีวิตฉับพลันคาสนาม ไม่ทำให้หัวใจหยุดเต้นฉับพลัน จะค่อยๆ มีอาการทางสมอง และส่วนใหญ่จะไปเสียที่โรงพยาบาลจากภาวะสมอง รวมถึงระบบร่างกายเสียการทำงาน

แต่ความร้อนที่สูง แล้วออกกำลัง เป็นตัวเร่งให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น และทำให้โรคที่ซ่อนอยู่ปะทุขึ้น จาก

1. ความร้อนร่างกายที่สูงขึ้น หัวใจทำงานหนักมากขึ้น

2. เหงื่อและเกลือแร่ ที่เสียจากการออกกำลังกายในที่ร้อน ทำให้กระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะง่ายขึ้น

ทำให้หน้าร้อน เกิดโรคหัวใจกำเริบได้มากกว่าช่วงอากาศดี อายุเกิน 35 ส่วนใหญ่เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจนะครับ หรือมีคราบไขมันในหลอดเลือดแบบไม่รู้ตัว

ดังนั้น หน้าร้อนควรออกกำลังให้ความหนักลดลง ลดความนานลง โดยเฉพาะคนที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

นักวิ่ง ไม่ควรวิ่ง Fix ความเร็วในการซ้อม แต่ควรวิ่งตามความหนักของร่างกาย ผ่อนความเร็วลง เพราะอากาศที่ร้อนเร่ง Metabolism ทำให้เราใช้พลังงานมากกว่าปกติ ทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น

ส่วน Heat stroke นั้น Hydration เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ครับ ดื่มน้ำสัก 350-500 ml ก่อนออกกำลัง 30 นาที ดื่มน้ำเป็นระยะ ทั้งน้ำปกติและเกลือแร่ ไม่ซ้อมอดน้ำ เสื้อผ้าต้องระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยง alcohol ยาบางประเภท เช่น ยาขับปัสสาวะ ถ้าไม่สบาย มีไข้อยู่ ไม่ออกกำลัง

ถ้ามีอาการผิดปกติ ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ตะคริว หยุดทันที อาจเป็นอาการนำของ Heat stroke ได้ครับ

ส่วนถ้าแข่งกีฬา ออกกำลังหนักๆ ควรตรวจคัดกรองก่อนนะครับ เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิตฉับพลันจากโรคหัวใจ โดยเฉพาะท่านที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจครับ"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
กำลังโหลดความคิดเห็น