xs
xsm
sm
md
lg

ทึ่ง ทหารเต้น K POP กลางสยามสแควร์ มาจากกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลายเป็นกระแสในโซเชียลฯ ทหารเต้น K POP กลางสยามสแควร์ มาจากกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ กองทัพบก

วันนี้ (12 เม.ย.) กลายเป็นไวรัลสนั่นโซเชียลฯ เมื่อเฟซบุ๊ก "ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา" ของกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ กองทัพบก ได้เผยแพร่วิดีโอคลิป "รบพิเศษ Cover Dance ที่สยามสแควร์" โดยเป็นการเต้นท่าประกอบเพลงเคป็อปของเกาหลีที่ชื่อว่า มอมเม (MOMMAE) ของศิลปิน Jay Park (Feat. Ugly Duck) ในเครื่องแบบทหารหมวกแดงสวมเสื้อเกราะ ใจกลางสยามสแควร์ ระบุว่า "วงดนตรี "Smile Army" บุกถึงใจกลางเมืองหลวงที่สยามสแควร์ ให้ fc ทุกๆ ท่านได้รับชมกันครับ มีใครดูแล้วโยกหัว โยกไหล่ โยกตัวตามจังหวะเหมือนแอดมินบ้างไหมครับ ทหารเขาเต้นเท่เข้มแข็งดุดันไม่เกรงใจใครจริงๆ" มีคนแห่ชมและแชร์จำนวนมาก

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับการเต้นรบพิเศษ Cover Dance นำทีมโดย ส.อ.ภูริทัต ศรีหร่าย หัวหน้านักแสดง ซึ่งก่อนที่จะมาเป็นทหาร เคยเป็นครูสอนเต้นมาก่อน เมื่อเข้ามาเป็นทหารก็ได้ใช้ความรู้ความสามารถตรงนี้มาสร้างสีสันให้ประชาชน และเตรียมจะแสดงไปที่ต่างๆ ทั่วประเทศ




สำหรับกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เป็นหน่วยหลักด้านการปฏิบัติการจิตวิทยาของกองทัพบก ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เพื่อปฏิบัติหน้าที่จิตวิทยาสนับสนุนสงครามนอกแบบ การปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ การปฏิบัติการจิตวิทยาสนับสนุนการป้องกันภายในให้กับมิตรประเทศ การปฏิบัติการจิตวิทยาสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนพิเศษ โดยการปฏิบัติการจิตวิทยาผ่านเสียงดนตรี เพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่ประชาชนทั่วทั้งประเทศ

ย้อนกลับไปในอดีต กองทัพบกได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการจิตวิทยาขึ้นครั้งแรก จากการตั้งเป็นชุดปฏิบัติการจิตวิทยา และได้ขยายขีดความสามารถจนกระทั่งเป็นกองพันปฏิบัติการจิตวิทยาในปัจจุบัน โดยวันที่ 11 ก.ค. 2506 จัดตั้ง 9 ชุดปฏิบัติการจิตวิทยา ขึ้นตรงต่อกองทัพบกผ่านการบังคับบัญชาไว้กับกรมการทหารสื่อสาร สะพานแดง กรุงเทพมหานคร กระทั่ง 1 ม.ค. 2509 โอนการบังคับบัญชาไว้กับ กรมรบพิเศษที่ 1 (พลร่มป่าหวาย) ต.ป่าตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี

27 มิ.ย. 2509 จัดตั้งกองร้อยปฏิบัติการจิตวิทยาประกอบด้วย 18 ชุด ปฏิบัติการจิตวิทยา, 7 พ.ค. 2513 จัดตั้งกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา ประกอบด้วยกองร้อยบังคับการ กองร้อยปฏิบัติการจิตวิทยา และกองร้อยผลิตสิ่งโฆษณา, 10 ม.ค. 2522 ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพลซึ่งเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของหน่วย, 2 ก.พ. 2522 จัดตั้งกองร้อยรณรงค์ด้านการปฏิบัติการจิตวิทยา และ 4 กองร้อยปฏิบัติการจิตวิทยา (กองทัพภาค) ปัจจุบันกองทัพบกออกคำสั่ง ให้กลับมาขึ้นการบังคับบัญชากับกองพันปฏิบัติการจิตวิทยาตั้งแต่ 25 ก.ค. 2544

กระทั่ง 17 มี.ค. 2536 กองทัพบกออกคำสั่งบรรจุมอบให้ขึ้นการบังคับบัญชากับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ 30 ก.ค. 2544 กองทัพบกออกคำสั่งให้กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา เป็นหน่วยขึ้นตรงของกรมรบพิเศษที่ 2 ซึ่งทำการมอบการบังคับบัญชาเมื่อ 31 ต.ค. 2544 โดยมีที่ตั้ง ณ ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อ.เมือง จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นหน่วยเดียวในกองทัพบกที่ดำเนินการด้านการปฏิบัติการจิตวิทยาโดยตรง เป็นการปฏิบัติทั้งในด้านยุทธศาสตร์ ยุทธการ และยุทธวิธี และ 1 ต.ค. 2556 กองทัพบกออกคำสั่งให้กองพันปฏิบัติการจิตวิทยาเป็นหน่วยขึ้นตรงของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น