xs
xsm
sm
md
lg

กล่าวถึงมานานกว่า ๒,๐๐๐ ปี แต่ไม่รู้ว่า “สุวรรณภูมิ” อยู่ที่ไหน! ปักหมุดเป็นไทยสมัย ร.๙!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



“สุวรรณภูมิ ดินแดนแห่งทองคำ หมายถึงดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในยุคโบราณ ปรากฏในคัมภีร์ของพุทธศาสนา กล่าวถึงพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณทูตมาเผยแพร่ถึงสุวรรณภูมิ และกล่าวในชาดกว่าอยู่ทางทิศตะวันออกของอินเดีย สุวรรณภูมิไม่ใช่รัฐหรืออาณาจักร แต่เป็นแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ หรือตะวันออกเฉียงใต้ อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรและกลุ่มชาติพันธุ์ ขนาบด้วย ๒ มหาสมุทร และยังปรากฏในเอกสารโบราณนานนับพันปีของอินเดีย ลังกา จีน เปอร์เซีย และชาติตะวันตก เป็นจุดนัดพบของตะวันตกและตะวันออกเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยของมีค่าหายาก เช่น ทองคำ เงิน หินมีค่า แร่โลหะ ไม้หอม เป็นแหล่งผลิตสินค้าทางเกษตร และผลิตผลจากป่า เช่น งาช้าง นอแรด หนังสัตว์ต่างๆ จึงเป็นชุมทางการค้าสำคัญของโลก และเป็นดินแดนที่มีการแลกเปลี่ยนวิชาการทางเทคโนโลยี เช่นเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ เป็นแหล่งอารธรรมของโลกอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากจีนและอินเดีย แต่ก็ไม่ได้ระบุชัดว่าสุวรรณภูมิอยู่ตรงไหน ได้แต่สันนิษฐานกันว่า น่าจะเป็น มอญ พม่า ลาว ไทย กัมพูชา หรือรวมไปถึง ชวา สุมาตรา
 
นักวิชาการเชื่อกันว่าสุวรรณภูมิน่าจะอยู่ที่ใดที่หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บ้างก็ระบุว่าศูนย์กลางน่าจะอยู่ที่เมืองสะเทิมซึ่งอยู่ในอาณาจักรมอญ แต่นักวิชาการชาวไทยเชื่อแน่ว่าน่าจะเป็นภาคกลางของไทย จากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงผนวชธุดงค์ไปพบพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๑๘ เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณทูตมาเผยแพร่ศาสนาในสุวรรณภูมิ และขึ้นฝั่งที่เมืองทวารวดี ทรงค้นพบคาถาที่สลักไว้ในบริเวณพระปฐมเจดีย์ด้วย อีกทั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “พระบิดาประวัติศาสตร์ไทย” ยังทรงพบหลักฐานการเชื่อมโยงเมืองทวารวดีหรือนครปฐม ไปถึงเมืองอู่ทองและสุพรรณบุรีซึ่งบางสมัยก็เรียกว่าสุพรรณภูมิ ทั้งยังพบว่าย่านนี้มีการติดต่อกับซีกโลกตะวันตกมาตั้งแต่สมัยโรมัน เช่นพบเหรียญจักพรรดิวิคโตรินุส ของโรมันที่เมืองอู่ทอง พบตะเกียงโรมันที่พงตึก กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในเส้นทางการเดินทางในยุคนั้นด้วย

 นอกจากนี้ยังมีข้อวินิจฉัยของนักวิชาการตะวันตกระบุว่า สุวรรณภูมิน่าจะได้แก่พื้นที่ประเทศพม่า ตั้งแต่ย่างกุ้งไปจนถึงสิงคโปร์ในคาบสมุทรมลายู
แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า

“...ความจริงมีอยู่อย่าง ๑ ซึ่งผู้ศึกษาโบราณคดีในประเทศอื่นยังไม่ทราบ คือว่าในสยามประเทศทางตะวันตก มีเมืองโบราณอยู่เมือง ๑ มีรอยพระสถูปเจดีวิหารมากมาย บรรดาเมืองทางสุวรรณภูมิประเทศนี้ทั้งเมืองพม่ารามัญตลอดจนแหลมมลายู ไม่มีเมืองไหนใหญ่โตเก่าแก่กว่าเมืองที่ว่านี้... ทุกวันนี้เรียกชื่อว่าเมืองนครปฐม”

และทรงอธิบายในเชิงอรรถว่า “...ที่เรียกสุวรรณภูมินี้ พวกพม่ามอญอ้างเอาว่าเมืองสะเทิม อันเป็นเมืองมอญข้างฝ่ายใต้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีสิ่งสำคัญอันใดสมกับคำอ้าง ข้าพเจ้าเห็นว่า น่าอ้างเอาเมืองที่พระปฐมเจดีย์ยิ่งกว่า เพราะมีโบราณวัตถุ เช่นศิลาธรรมจักรเป็นต้น ทันชั้นสมัยพระเจ้าอโศก และมีชื่อเมืองสุพรรณภูมิเป็นสำคัญ...”

“สุวรรณภูมิ” ที่ถูกกล่าวถึงมากว่า ๒,๐๐๐ ปี มาถึงยุคนี้ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าอยู่ที่ไหน ในที่สุดเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๓ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ได้พระราชทานนามสนามบินแห่งใหม่ที่หนองงูเห่าว่า “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวาศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ก่อนการเปิดให้บริการในวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นการปักหมุดว่าสุวรรณภูมิอยู่ในประเทศไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น