xs
xsm
sm
md
lg

"อาจารย์เจษฎ์" ห่วงสารปนเปื้อนในน้ำบาดาลรสโซดา จ.สุโขทัย แนะ นำไปตรวจสอบก่อนดื่มกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.เจษฎา อาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะชาวบ้านใน จ.สุโขทัย นำน้ำจากบ่อบาดาลรสโซดา ไปตรวจสอบหาสารปนเปื้อนก่อนที่จะนำไปดื่มกิน เหตุ อยู่ในพื้นที่เกษตรอาจมีสารเคมีตกค้าง พร้อมนำไปเปรียบกับ บ่อน้ำพุโซดาในพื้นที่ ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี

จากกรณี อดีต ขรก.กอ.รมน.นำคนเจาะบ่อบาดาลใน ต.นาเชิงคีรี อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย มีรสชาติคล้ายโซดา ซ่าติดลิ้น ไร้กลิ่น สามารถดื่มกินได้ ชาวบ้านสงสัยว่าอาจจะเป็นน้ำแร่คุณภาพเทียบระดับโลก เหมือนกับที่พบในพื้นที่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เมื่อปี 2564 จึงอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าไปพิสูจน์ตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 เม.ย. เพจ "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" หรือ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาโพสต์ข้อความในประเด็นน้ำบาดาล-รสโซดา ขุดพบที่จังหวัดสุโขทัย เตือน ยังไม่ควรรีบนำมาบริโภค โดยได้ระบุข้อความว่า

"วันนี้มีรายงานข่าวจากทางจังหวัดสุโขทัยครับ (ดูลิงค์ข่าวด้านล่าง) ว่ามีการเจาะบ่อบาดาล แล้วเจอว่าน้ำมีรสซ่าติดลิ้น คล้ายน้ำโซดา !? ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยตรวจสอบด้วย โดยในข่าว ระบุว่า บ่อน้ำบาดาลดังกล่าว อยู่ที่หลังบ้านเลขที่ 146 หมู่ 7 ต.นาเชิงคีรี อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย น้ำมีรสชาติคล้ายโซดา ซ่าติดลิ้น ไร้กลิ่น สามารถดื่มกินได้ โดยเมื่อ 2 เดือนก่อน ช่างมาขุดเจาะบ่อบาดาลตรงทุ่งนาติดกับสวนผลไม้หลังบ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากประปาหมู่บ้านแค่ 200 เมตร โดยขุดเจาะลึกลงไป 70 เมตร ก็เจอน้ำพุ่งขึ้นมา ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าน้ำมีรสซ่าคล้ายโซดา จนกระทั่งต่อมาพวกช่างที่มาติดตั้งปั๊มน้ำโซล่าเซลล์ ได้ลองดื่มดู และเมื่อเอาไปรดต้นไม้ ก็สังเกตพบว่าต้นไม้ใบหญ้าจะมีสีเขียวเข้มกว่าปกติ เหมือนกับว่าในน้ำมีแร่ธาตุ ชาวบ้านตื่นเต้นและดีใจ อยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาพิสูจน์ ตรวจสอบว่าแท้จริงคืออะไร มีสารปนเปื้อน เป็นพิษหรือไม่
ซึ่งอันนี้สำคัญเลยครับ ว่าควรจะต้องให้ชัวร์เสียก่อนว่าไม่มีสารอันตรายอะไรปนเปื้อนอยู่ ถึงจะนำมาดื่มกินบริโภคกันนะครับ ยิ่งอยู่แถวพื้นที่การเกษตร ก็ต้องระวังเรื่องสารเคมีทางการเกษตรตกค้างด้วยในระหว่างที่รอให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาศึกษา (โดยเฉพาะเรื่องสารพิษ สารปนเปื้อน) ก็น่าสนใจว่าเรื่องนี้น่าจะเทียบเคียงได้กับที่เคยมีการพบ "น้ำพุ โซดา" ในพื้นที่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2564 ครับ ซึ่งตอนนั้น มีการอธิบายของอาจารย์ ณรงค์ศักดิ์ แก้วดำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาธรณีศาสตร์ วิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล เอาไว้ จึงขอยกเอามาอ้างอิงเปรียบเทียบกับน้ำบาดาลโซดา ที่จังหวัดสุโขทัยนี้ครับ

บ่อน้ำพุโซดาในพื้นที่ ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เป็นน้ำบาดาลใต้ดินที่เกิดอยู่ในชั้นดิน กรวด ทราย หรือหินซึ่งอยู่ลึกจากผิวดินเกินความลึกที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่จะกำหนดความลึกน้อยกว่าสิบเมตรมิได้ (พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ.2520) น้ำบาดาลจะถูกกักเก็บอยู่ภายในช่องว่างระหว่างเม็ดตะกอน หรือรอยแตกของชั้นหิน โดยจะมีชั้นกั้นน้ำปิดทับอยู่ด้านบนหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเรียกส่วนที่เก็บน้ำและกั้นน้ำรวมกันว่าชั้นน้ำบาดาล สามารถจำแนกชนิดของชั้นน้ำบาดาลที่สำคัญ ได้แก่ ชั้นน้ำบาดาลไร้แรงดัน และชั้นน้ำบาดาลมีแรงดัน ชั้นน้ำบาดาลไร้แรงดัน หมายถึง ชั้นที่มีน้ำบาดาลกักเก็บอยู่โดยไม่มีชั้นหินกั้นน้ำปิดทับอยู่ด้านบน เป็นชั้นน้ำบาดาลที่อยู่ถัดจากผิวดินลงไปโดยมีระดับน้ำบาดาลอยู่บนสุดของชั้นน้ำบาดาล ส่วนชั้นน้ำบาดาลมีแรงดัน หมายถึง ชั้นน้ำบาดาลที่มีชั้นกั้นน้ำปิดอยู่ด้านบนส่งผลให้น้ำบาดาลอยู่ภายใต้แรงดันที่มากกว่าแรงดันของบรรยากาศ

ซึ่งพบว่าระดับน้ำบาดาลอยู่สูงกว่าระดับความลึกของชั้นน้ำบาดาล ซึ่งเรียกว่าระดับแรงดันน้ำ ในกรณีที่มีการเจาะบ่อน้ำบาดาลในตำแหน่งที่เป็นชั้นน้ำบาดาลมีแรงดันและมีระดับแรงดันน้ำสูงกว่าระดับภูมิประเทศ (พื้นดิน) น้ำในบ่อน้ำบาดาลก็จะพุ่งขึ้นมาโดยไม่ต้องมีการสูบ เรียกว่า บ่อน้ำบาดาลพุ (รูปที่ 1) ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดน้ำบาดาลพุในพื้นที่ตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี

น้ำบาดาลพุ ในพื้นที่ตำบลห้วยกระเจาเกิดจากการเจาะบ่อน้ำบาดาลในชั้นน้ำบาดาลมีแรงดัน และมีระดับแรงดันน้ำสูงกว่าระดับพื้นดิน อีกทั้งน้ำบาดาลได้รับความร้อนจากชั้นหินแกรนิตที่วางตัวอยู่บริเวณใกล้เคียง ทำให้น้ำบาดาลมีอุณหภูมิสูงขึ้น และไหลผ่านชั้นหินปูนยุคออร์โดวิเชียนแล้วแทรกดันขึ้นมาตามรอยแตกของหินแปรยุคไซลูเรียน-ดีโวเนียน (รูปที่ 2) ผ่านบ่อน้ำบาดาลขึ้นสู่บนผิวดิน ที่พบเป็นลักษณะของน้ำที่พุ่งสูงขึ้นจากปากบ่อ อีกทั้งยังพบว่าน้ำที่ออกจากบ่อน้ำบาดาลมีลักษณะซ่าคล้ายโซดา หรือที่เรียกกันว่า น้ำบาดาลโซดา

น้ำบาดาลโซดา เกิดจากน้ำบาดาลที่มีอุณหภูมิสูงไหลผ่านชั้นหินปูนยุคออร์โดวิเชียนที่มีองค์ประกอบเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) เมื่อหินปูนได้รับความร้อนและเกิดปฏิกิริยาการคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมาและสะสมอยู่ในน้ำบาดาล ทำให้น้ำบาดาลพุในบริเวณนี้มีความซ่าคล้ายกับโซดา แต่หากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่ในน้ำลดลง ความซ่าก็จะลดลงเช่นกัน ซึ่งคล้ายกับการเปิดฝาน้ำโซดาหรือน้ำอัดลมแล้วตั้งทิ้งไว้ ความซ่าก็จะลดลง

ดังนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่า น้ำบาดาลโซดา ที่สุโขทัย อาจจะมีสารเคมีต่างๆ ในน้ำที่เป็นลักษณะเดียวกัน คือ น้ำบาดาลนี้อาจจะไหลผ่านชั้นหินปูน ที่มีองค์ประกอบเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) แล้วเกิดปฏิกิริยาคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมา และสะสมอยู่ในน้ำบาดาล ทำให้มีความซ่าคล้ายกับโซดา ... ซึ่งถ้าเอามาทิ้งเอาไว้ ก็จะลดความซ่าลงไปครับ

ส่วนที่ว่าจะนำไปใช้เป็น "น้ำแร่" สำหรับดื่มบริโภคได้หรือไม่ และจะมีราคาค่างวดเท่าไหร่ คงต้องขึ้นกับผลการวิเคราะห์ถึงปริมาณแร่ธาตุและสารปนเปื้อนต่างๆ ในนั้นครับ ... ถ้าเกิดมีสารเคมีที่เป็นอันตรายปนเปื้อนอยู่ (มีสิทธิสูง เพราะอยู่ในพื้นที่การเกษตรด้วย) ก็ไม่ควรนำมาบริโภคเด็ดขาดครับ"
กำลังโหลดความคิดเห็น