คนไทยเราเป็นชนชาติที่สืบเรื่องราวย้อนหลังไปได้ถึงก่อนพุทธกาล หรือประมาณ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ถิ่นที่อยู่เดิมก็คือแถบภูเขาอัลไตทางตอนเหนือของประเทศจีนในปัจจุบัน ต่อมาได้อพยพลงสู่ทางใต้แถบแม่น้ำฮวงโหก่อนที่จะเป็นมณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางสี และมณฑลยูนานในปัจจุบัน ในที่สุดก็ถึงลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำเจ้าพระยา สาเหตุจากการอพยพก็อาจจะเนื่องจากการรุกรานของผู้มาใหม่ที่เป็นเผ่านักรบเร่ร่อนและจำนวนมากกว่า อย่างเผ่ามองโกล จึงถอยร่นลงมาทางใต้เป็นระยะ ระหว่างที่ถอยลงมานั้น ก็สร้างอาณาจักรขึ้น อย่าง “อาณาจักรอ้ายลาว” เมื่อ พ.ศ.๔๐๐-๖๒๑ มีผู้ปกครองมีนามว่า “เบ้งเฮ้ก” ต่อมาเป็น “อาณาจักรน่านเจ้า” เมื่อ พ.ศ. ๑๑๙๒-๑๗๙๒ มีกษัตริย์ปกครองหลายพระองค์ องค์หนึ่งมีนามว่า “สีนุโล” จนมาตั้งอาณาจักใหม่ขึ้นอีก เรียกว่า “สิบสองจุไทย” หรือ “สิบสองเจ้าไทย” “สิบสองพันนา” “หัวพันห้าทั้งหก” จนถึงดินแดนที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ
ดินแดนนี้มี ๒ ชนชาติที่มีอำนาจครอบครองอยู่ ก็คือมอญและขอม ส่วนคนไทยที่เข้ามาใหม่ ก็แยกย้ายกันอยู่ ตั้งเป็นเมืองเล็กๆ เป็นอิสระต่อกัน แต่ก็เหมือนบ้านพี่เมืองน้อง มีการติดต่อถึงกัน เมื่อมีอำนาจขึ้นก็ขยายดินแดนออกไป และเมื่อมีราชบุตรก็ให้แยกออกไปสร้างเมืองใหม่ เหมือนแยกบ้านแยกครัวออกไปตั้งตัว บางทีราชบุตรไม่ลงลอยกันก็ให้แยกย้ายไปอยู่ให้ห่างกัน
ในช่วงนี้มีพงศาวดารและตำนานต่างๆที่เกี่ยวกับแคว้นเหล่านี้บันทึกไว้ในเอกสารโบราณหลายฉบับ กรมศิลปากรได้รวบรวมไว้ในหอสมุดแห่งชาติ บางเรื่องก็นำมาพิมพ์ไว้ในหนังสือชุดประชุมพงศาวดาร อย่างในพงศาวดารภาคที่ ๖๑ เกี่ยวกับเรื่อง “ตำนานสิงหนวัติ” กล่าวถึงพระเจ้าพรหมมหาราช
พระเจ้าพรหมมหาราช หรือ พรหมกุมาร เป็นราชบุตรของ พระองค์พังคราช กษัตริย์แห่งเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น ประสูติราว พ.ศ. ๑๖๕๕ ที่เมืองสี่ทวง หลังจากที่พระองค์พังคราชได้เสียเมืองแก่พวกขอม ถูกส่งไปเป็นแก่บ้านสี่ทวง ต้องส่งส่วยให้พระยาขอมเป็นทองคำปีละ ๔ ทวงหมากพินน้อย หรือมะตูมลูกเล็กผ่า ๔ แล้วนำทองหลอมเทลงไป ๑ ซีก เมื่อพรหมกุมารอายุ ๑๖ ได้กราบทูลพระบิดาไม่ให้ส่งส่วยแก่ขอม ครั้นขอมนำทัพไปปราบ พระกุมารก็ทรงนำทัพเองออกสู้กับขอม และสามารถตีทัพขอมแตกพ่าย ชิงเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นกลับคืนมาได้
มีเกร็ดพงศาวดารตอนนี้ว่า เมื่อเสร็จศึกแล้วพรหมกุมารได้เดินทางมาที่เวียงพานคำ เมื่อลงจากหลังช้าง ช้างได้หนีไปแล้วการกลายร่างเป็นงู เลื้อยหายไปทางดอยแห่งหนึ่ง จึงเรียกดอยนั้นว่า “ดอยช้างงู” ต่อมาชาวอาข่าที่เข้ามาอาศัยที่ดอยนั้น ได้เรียกเพี้ยนเป็น “ดอยสะโง้” ปัจจุบันอยู่ที่ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงใหม่
พระองค์พังคราชจะตั้งให้พรหมกุมารเป็นอุปราช แต่พรหมกุมารไม่รับ ขอให้ตั้ง ทุกขิตะกุมาร ผู้เป็นพระเชษฐาแทน แล้วแยกไปสร้างเมืองใหม่ คือ “เวียงไชยปราการ” ริมแม่น้ำฝาง ให้เป็นเมืองหน้าด่านของโยนกนคร ซึ่งก็คืออำเภอไชยปราการของจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน พระองค์พังคราชได้จัดการสู่ขอ นางแก้วสุภา ธิดาพญาเรือนแก้ว เจ้าเมืองเวียงไชยนารายณ์ให้เป็นคู่ครอง
ต่อมาพระพุทธโกษาจารย์ พระภิกษุที่เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกา ได้นำพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระนลาฏกลับมา ๑๖ พระองค์ พระองค์พังคราช พระองค์พรหมราช และพญาเรือนแก้ว ได้สร้างโกศเงิน โกศทอง โกศแก้ว บรรจุพระธาตุ และได้แบ่งให้พญาเรือนแก้วนำไปบรรจุในพระธาตุจอมทอง กลางเวียงไชยนารายณ์ ส่วนพระธาตุที่เหลือ พระองค์พังคราช พระพรหมราช และพระพุทธโฆษาจารย์ได้สร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุไว้บนดอยน้อย คือวัดพระธาตุจอมกิตติ ในตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน
พระพรหมกุมารได้ครองเวียงไชยปราการจนสวรรคตขณะมีพระชนมายุ ๗๗ พรรษา ได้รับการถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” เป็นพระองค์แรกของคนไทยที่ถอยร่นมาอยู่ในดินแดนนี้ พระองค์ไชยสิริ พระโอรสได้ขึ้นครองราชย์เวียงไชยปราการต่อ ซึ่งได้สืบสายต่อมาจนถึงพระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา
พระเจ้าพรหมมหาราชทรงสร้างวัดขึ้นที่เวียงไชยปราการใน พ.ศ.๑๖๕๙ เป็นวัดสุดท้าย คือ “วัดป่าไม้แดง” ที่ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งทางวัดได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช เป็นอนุสรณ์สถานแด่มหาราชพระองค์แรกนี้ไว้ด้วย
มหาราชของคนไทยก่อนเกิดประเทศไทยอีกพระองค์หนึ่ง ก็คือ “มังรายมหาราช” ๑ ใน ๓ พระองค์ของที่พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ หน้าศาลาว่าการจังหวัดเชียงใหม่ ทรงเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ ๒๕ แห่งนครเงินยางเชียงลาว ขึ้นเสวยราชย์ใน พ.ศ. ๑๘๐๒ ขณะมีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา มีพระราชประสงค์จะรวบรวมแคว้นต่างๆในล้านนาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเสด็จมาสร้างเมืองเชียงรายเป็นที่ประทับว่าราชการ ถือได้ว่าเป็นต้นราชวงศ์เชียงราย ต่อมาใน พ.ศ.๑๘๑๖ ทรงยึดเมืองหริภุญไชยที่ยังปกครองด้วยอำนาจขอม แล้วสร้างเมืองชะแวขึ้นทางเหนือของเมืองหริภุญชัย แต่ถูกน้ำท่วมเมื่อแม่น้ำเปลี่ยนทาง จึงทรงมาสร้างเมือใหม่ที่เชียงดอยสุเทพ พระราชทานนามว่า “นพบุรีศรนครพิงค์เชียงใหม่” โดยมี พระสหายอีก ๒ กษัตรย์ของคนไทย คือ พ่อขุนรามคำแหง และพ่อขุนงำเมือง มาร่วมปึกษาหารือด้วย ซึ่งต่อมาเมืองนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา จึงถือกันว่าพระองค์เป็นปฐมกษัตริย์ของล้านนาด้วย
พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ นอกจากพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์แล้ว ที่ห้าแยกในจังหวัดเชียงรายยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ เรียกันว่า ห้าแยกพ่อขุนด้วย
พ่อขุนมังรายทรงถูกฟ้าผ่าสวรรคตที่กลางเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๑๘๕๔ ขณะมีพระชนม ๗๒ พรรษา พญาไชยสงคราม พระราชบุตรเสวยราชย์ต่อ
นี่ก็เป็นอีก ๒ มหาราชของคนไทย ก่อนที่จะเป็นประเทศไทย