xs
xsm
sm
md
lg

สนทนาประสาศิลป์ กับ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’ ประธาน INTERNATIONAL WATERCOLOR SOCIETY THAILAND

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’ สมาชิก IWS (International Watercolor Society) และประธานเครือข่ายสมาคมสีน้ำโลก แห่งประเทศไทย IWS THAILAND (INTERNATIONAL WATERCOLOR SOCIETY THAILAND )

ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’

ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’
ระยับแดดบนผิวน้ำที่พริ้วไหวส่องสะท้อนราวกับภาพจริง ต่อเมื่อเดินเข้าไปดูอย่างชิดใกล้จึงตระหนักถึงทักษะชั้นสูงของผู้วาด ที่ราวกับร่ายมนต์สะกดให้ภาพวาดนั้นมีชีวิตอย่างสมจริง เรือกอนโดลาที่เรียงรายช่างเชิญชวนให้ก้าวลงไปเยือนเวนิส เมืองแห่งมนต์เสน่ห์แห่งหนึ่งของโลก

เช่นเดียวกับผลงานภาพวาดสีน้ำหลากหลายชิ้นของศิลปินผู้นี้ ที่ล้วนสะกดใจ ตรึงตา ไม่ว่าชุดภาพทิวทัศน์ ดอกกุหลาบ อาชาหลากสายพันธุ์ และอีกหลากหลายผลงาน ที่ล้วนเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับในระดับโลก

การแสดงผลงานเดี่ยวของเขาในวัย 25 ปี ขายหมดภายในชั่วโมงเดียว ‘ตัวตน’ เนื้องานของเขาในนามของ ‘บันชา ศรีวงศ์ราช’ ชัดเจน แจ่มชัดขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ผลงานของเขา มีจัดแสดงในหอศิลป์ ของ Fabriano หอศิลป์ของ Raphael ที่ Urbino ในอิตาลี
รวมทั้งหอศิลป์หลายประเทศในยุโรป เช่น ไรจ์คส์ มิวเซียม (Rijksmuseum) ที่เมือง Amsterdam ( ประเทศ Netherlands ) ซึ่งเป็น Museum ที่ดีที่สุด 1 ใน 5 ของโลก และหอศิลป์เอกชนอีกหลายแห่ง ไม่ว่าในรัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน ที่ล้วนมีผลงานของเขาจัดแสดงอยู่

ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’
สมาชิก IWS (International Watercolor Society) และเป็นประธานเครือข่ายสมาคมสีน้ำโลก แห่งประเทศไทย IWS THAILAND (INTERNATIONAL WATERCOLOR SOCIETY THAILAND )


ด้วยบทสนทนาที่ฉายให้เห็นทั้งความรักในศิลปะที่มีมานับแต่เยาว์วัย การได้พบครูผู้เปี่ยมด้วยเมตตาและจิตวิญญาณที่พร้อมสนับสนุน ปลูกฝัง ถ่ายทอดวิชาความรู้และทักษะด้านศิลปะให้งอกงาม รวมทั้งพันธกิจในฐานะประธาน IWS (INTERNATIONAL WATERCOLOR SOCIETY THAILAND ) ที่มุ่งหวังผลักดันศิลปินไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก 

มุมมองที่มีต่อวงการงานศิลปะของไทย ให้แง่คิดต่อการสนับสนุนของภาครัฐ ที่ควรให้ความสำคัญกับการศึกษาและการพัฒนาครูผู้สอนศิลปะอย่างจริงจัง การมองโลกอย่างเปิดกว้างและพร้อมเรียนรู้การขายงานศิลป์ผ่านโลกของ NFT

อีกทั้งไม่ลืมบอกเล่าถึง Art Learning Centre : Metro Art ณ MRTพหลโยธิน
อาร์ต สเปซแห่งใหม่ ที่มีผลงานศิลปะจัดแสดงอย่างน่าสนใจ รวมทั้งมีแกลเลอรี่และ Class ของ IWS THAILAND (INTERNATIONAL WATERCOLOR SOCIETY THAILAND ) ปักหมุดอยู่ท่ามกลางพื้นที่แห่งความทันสมัย ที่คนรุ่นใหม่และผู้สนใจเข้าถึงได้ง่าย

แง่มุม ข้อคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับงานศิลปะ และการก้าวเดินบนหนทางนี้ ที่เขาวาดไว้นับแต่วัยเยาว์ จึงล้วนแสดงให้เห็นถึงความรัก ความมุ่งมั่นตั้งใจที่เขามีต่อโลกแห่งศาสตร์และศิลป์ของภาพเขียนสีน้ำที่ล้วนสะกดสายตาผู้ที่ได้พบเห็น ทั้งเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์อันเปรียบเสมือน ‘ลายเซ็น’ เฉพาะตัว
ดังถ้อยความที่เขาถ่ายทอดไว้ นับจากนี้

‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’ สมาชิก IWS (International Watercolor Society) และเป็นประธานเครือข่ายสมาคมสีน้ำโลก แห่งประเทศไทย IWS THAILAND (INTERNATIONAL WATERCOLOR SOCIETY THAILAND )
วาดไว้ในวัยเยาว์

เมื่อขอให้ช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจแรกเริ่มของการเป็นศิลปิน

อาจารย์บันชาบอกเล่าอย่างอารมณ์ดี สะท้อนภาพช่วงชีวิตวัยเยาว์ว่า “แรกๆ มาจากสองเรื่อง
เรื่องแรกคือเป็นความชอบลึกๆ โตมาเราก็อยากวาดรูปบนเถียงนา ทำนาไป เราก็อยากวาดรูปด้วย ( หัวเราะ )
มันมาจากความต้องการลึกๆ อย่างที่สองมาจากการส่งเสริม สนับสนุนจากพ่อแม่ ครอบครัว พ่อแม่ผมท่านก็เป็นคนต่างจังหวัด แต่ท่านก็สนับสนุน ทั้งที่ตอนนั้น คนต่างจังหวัดก็ไม่ค่อยให้ลูกเรียนด้านนี้ แต่ผมค่อนข้างโชคดีนะ ผมเจอเพื่อน เจอครูที่ดี เจอโรงเรียนที่ดีหมดเลย ทุกคนชอบที่เราทำเรื่องนี้หมดเลย ประกวดตอนเรียนชั้นมัธยมฯ ผมก็ได้รางวัล ครูก็สนับสนุน แม้แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนก็เอาข้าวเอาน้ำมาให้กิน ก็เลยเป็นเรื่องที่ผมโชคดี ด้วยสังคม สภาวะแวดล้อมที่เขาส่งเสริมเรา เหล่านั้นคือความโชคดีอย่างหนึ่ง

“แล้วก็เจอความโชคดีอีกอย่างคือ ด้วยความลำบากสมัยเด็ก คือผมไม่มีเงินซื้อของเล่น ปรากฏว่า เราก็จะได้เล่นของเล่นที่ทำขึ้นมาเองอย่างรถยนต์ เราก็ทำขึ้นจากกล่องที่เอามาใส่ล้อรถ
ทำให้เราได้จิตนาการ ก็ต้องสร้างต่อ จิตนาการก็ทำงานได้ดีต่อไป ทำให้จินตนาการของเราถูกฝึกมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ทุกเรื่องเหล่านี้มันหล่อหลอมเรา เป็นเรื่องขององค์ประกอบที่ดี ประสบการณ์ที่ดี”

ถามว่าหากขอย้อนกลับไปวัยเรียน คุณผ่านการเรียนศิลปะจากสถาบันการศึกษาใดมาบ้าง

อาจารย์บันชาตอบว่า “ผมค่อนข้างโชคดีครับ ผมเรียนมัธยมโรงเรียนประจักษ์ศิลปาคาร ที่จังหวัดอุดรธานี ก็ได้เจอกับครูศิลปะที่เก่ง แล้วก็ไปนอนบ้านพักครู เพราะตอนเด็กเราเป็นเด็กยากจน ปั่นจักรยานไปนอนบ้านพักครู ครูก็นำสี นำกระดาษมาให้ฝึก ส่วนครูก็ทำงานตรวจการบ้านไป แต่ท่านก็คอยชำเลืองดู แล้วก็สอนเราไปด้วย

“จากนั้น เมื่อมาเรียนอยู่อาชีวศึกษาอุดรธานี ผมก็ได้เจอครูที่น่ารัก ท่านเหมือนครอบครัวของผมเลยครับ ที่อาชีวะฯ ท่านเหมือนพ่อแม่มากกว่าเหมือนครู ท่านเรียกเราเป็นลูก ไม่มีข้าว ก็เอาข้าวมาให้เรา เราไม่มีเงินค่าเทอม ท่านก็ช่วย มีเครื่องมือให้เรา อาจารย์ท่านน่ารักมาก

“ผมเป็นเด็กลูกหม้ออาชีวะฯเลยครับ แล้วก็แข่งทักษะศิลปะจนได้แชมป์ เราก็ตอบแทนโรงเรียนด้วยการทำรางวัลให้โรงเรียนบ้าง เป็นตัวแทนโรงเรียนบ้าง โรงเรียนก็ได้ชื่อเสียง ตอบแทนครูที่ท่านดูแลเราและตอบแทนโรงเรียน

“ต่อมา เมื่อมาเรียนเพาะช่าง ผมก็ได้เจอท่านอาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู ซึ่งเป็นบรมครู เป็นครูที่สอนเราทุกอย่าง ทั้งการใช้ชีวิต การคิด การวางตัว การถ่ายทอด ความแม่นยำ ความเก่งกาจทั้งหมด อาจารย์เป็นคนมอบให้ แม้แต่ตอนไปยุโรปครั้งแรก ก็ได้ไปกับท่าน โดยอาจารย์ท่านออกค่าเครื่องบินให้ ซึ่งไม่ถูกนะครับ 40,000 บาท เพราะท่านอยากให้ลูกศิษย์ได้ไป เมื่อได้เดินทางไปต่างประเทศเราก็พัฒนาตัวเองขึ้น ต่อมาเราก็ไปด้วยตัวเอง ไปบ่อยขึ้น ไปศึกษาด้วยตัวเอง
คือในเรื่องของการศึกษา ผมเป็นคนที่โชคดีจริงๆ ได้เจอคนที่น่ารัก เจอครูที่น่ารัก เพื่อนที่ดี สภาพแวดล้อมที่ดี ในช่วงที่ผมเรียนมีการแข่งศิลปะเยอะด้วยนะครับ เมื่อชนะ ได้รางวัล ก็ได้เงินด้วย แล้วเราก็อยากหาเงินจ่ายค่าเทอม ไปแข่ง ชนะก็ได้รางวัล แต่สิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่การชนะหรือได้รางวัลหรอก สิ่งสำคัญคือการได้มีส่วนร่วม ผมก็จะบอกเด็กนักเรียนแบบนี้” อาจารย์บันชาบอกเล่าถึงอดีตในวันวานที่ล้วนได้พบผู้ที่มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูอย่างแท้จริง


ในดวงใจแห่งสีสรรค์

ถามว่า มีศิลปินหรือจิตรกรท่านใดที่คุณชื่นชอบเป็นพิเศษ ทั้งของไทยและต่างชาติ

อาจารย์บันชาตอบว่า “ถ้าของไทยมีหลายท่าน เช่น อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู ( ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู ) อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต คุณสุรเดช แก้วท่าไม้ เป็นต้น และยังมีอีกหลายท่านครับ ในเมืองไทยมีศิลปินเก่งๆ อีกหลายท่านที่ผมชอบที่กล่าวถึงไม่หมด”

ถ้าในต่างประเทศ ก็จะมีศิลปินอย่าง John Pike,
Claude Monet, Rembrandt Harmensz van Rijn, Leonardo Da Vinci, Sir Lawrence Alma-Tadema
ศิลปินบรมครูเหล่าคือไอดอลของอาจารย์บันชาทั้งสิ้น


ถามว่า คุณมองเห็นอะไรที่เป็นจุดร่วมของศิลปินไทย นอกจากที่คุณกล่าวไปแล้ว ว่าชื่นชอบใครบ้าง

ศิลปินสีน้ำมากฝีมือรายนี้ตอบว่า “ส่วนใหญ่ศิลปินที่เราชอบ ท่านจะเป็นสไตล์นิยม เป็น Realistic มองโลกแบบตรงไปตรงมา เป็น Impressionists ประทับใจอะไร ท่านก็เขียน ท่านที่ผมกล่าวถึง จุดร่วมคือ ท่านมีความแม่ยำสูงมาก
คือความแม่นยำในระดับที่ท่านเขียนรูปแม่นมาก อย่าง อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ท่านแม่นมาก เราก็เลยรู้สึกว่า ‘โอ้โฮ! ทำไมท่านเก่งขนาดนี้ เกินมนุษย์มนา’ ทำให้เราพัฒนาตัวเอง ฝึกการใช้มือ ฝึกค่อนข้างหนักมากนะครับ ผมเคยวาดรูปทุกวัน ไม่หลับไม่นอน เพื่อที่จะได้เป็นอย่างท่าน
เป็นแรงบันดาลใจสำคัญมาก” อาจารย์บันชาระบุ

‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’ สมาชิก IWS (International Watercolor Society) และเป็นประธานเครือข่ายสมาคมสีน้ำโลก แห่งประเทศไทย IWS THAILAND (INTERNATIONAL WATERCOLOR SOCIETY THAILAND )






พันธกิจที่มุ่งหวัง ในฐานะประธาน IWS THAILAND ( INTERNATIONAL WATERCOLOR SOCIETY THAILAND )

ถามว่า คุณเข้าร่วม เป็นสมาชิก และเป็นประธานของสมาคมสีน้ำโลก แห่งประเทศไทย (INTERNATIONAL WATERCOLOR SOCIETY THAILAND ) ได้อย่างไร

อาจารย์บันชาตอบว่า จริงๆ แล้ว เป็นนโยบายของผู้ใหญ่ที่เคารพ ท่านตั้งสมาคมดังกล่าวขึ้นมา โดยสมาคมฯ ก่อตั้งเป็นรูปเป็นร่าง แล้วก็ตั้งเป็นทางการ ขึ้นประมาณ ปี ค.ศ. 2012 แล้วผู้ใหญ่ท่านก็ต้องการให้มี Leader ในประเทศไทย แล้วท่านก็มาประสานงานกับเรา ในปี ค.ศ. 2013-2014 ซึ่งช่วงนั้น ‘ศรัทธา หอมสวัสดิ์’ หรือศิลปินสีน้ำที่รู้จักกันในนาม อาจารย์ ‘La Fe’ ก็เข้าไปทำงานก่อน แล้วเป็นการทำงานกันระหว่างประเทศ จากนั้น อาจารย์ ‘La Fe’ ก็ดึงอาจารย์บันชาเข้าไปทำงานร่วมกับ IWS (International Watercolor Society)

กระทั่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว อาจารย์ ‘La Fe’ ซึ่งเป็นประธาน IWS THAILAND (INTERNATIONAL WATERCOLOR SOCIETY THAILAND ) เครือข่ายสมาคมสีน้ำโลก แห่งประเทศไทย หมดวาระลง ศิลปินผู้ใหญ่ก็บอกว่าประเทศไทยยังไม่ได้ประธานคนใหม่ ท่านก็มาขอให้อาจารย์บันชาเป็นประธาน
“ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่พร้อมนะ ทั้งด้วยสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงนั้น เศรษฐกิจไม่พร้อม ศิลปินไทยเองก็แตกฉานซ่านเซ็นกันหมด แต่สุดท้ายก็รับน่ะนะครับ

รับเพราะว่า เราอยากทำ Mission บางอย่าง คือ การพัฒนาเด็กและเยาวชน ทางด้านศิลปะให้ถูกต้อง และพัฒนาเขาในเชิงลึกให้เก่งขึ้นและสามารถแข่งกับต่างประเทศได้ เราก็เลยเอาตำแหน่งตรงนี้มาเป็นตัวนำทาง แล้วก็ใช้ตำแหน่งประธาน IWS THAILAND (INTERNATIONAL WATERCOLOR SOCIETY THAILAND ) เครือข่ายสมาคมสีน้ำโลก แห่งประเทศไทย ทำงานไปทั่วประเทศในปีที่แล้ว ก็คืออยากจะช่วยเด็กครับ”


ถามว่า การเป็นประธาน IWS THAILAND มีบทบาทสำคัญอย่างไรอีกบ้าง และมีส่วนผลักดันวงการศิลปะของไทยอย่างไร

อาจารย์บันชาตอบว่า “การเป็นประธาน IWS THAILAND นั้น ดีตรงที่เราจะเป็นศูนย์รวมของครูศิลปะ เพื่อนศิลปิน เมื่อเราเป็นประธาน IWS THAILAND ก็จะมีผู้สนับสนุนเข้ามา ทั้งเรื่องของกระดาษ สี มีบุคคลภายนอก มาช่วยสนับสนุนให้เราทำกิจกรรม ก็เลยรับเป็นประธาน และใช้โอกาสในการเป็นประธานมาทำกิจกรรมที่จำเป็น ให้ความรู้เด็กๆ ให้ความรู้ครู ให้ความรู้บุคคลทั่วไป อย่างที่เราเปิดศูนย์ IWS THAILAND ที่ MRT พหลโยธิน (Metro Art) เป็นต้นครับ รวมทั้งที่บ้านศิลปิน ที่หัวหินของอาจารย์ ทวี ( เกษางาม ) ก็มี เพราะเราก็เป็นเครือข่ายกันครับ ก็ใช้ตำแหน่งประธาน IWS THAILAND นี่แหละครับ ที่ใช้ในการพัฒนาองค์กร เรียกว่าปั้นรูปปั้นร่างในช่วงที่ผ่านมา” อาจารย์บันชาระบุ


หากถามว่า ตำแหน่งประธาน IWS THAILAND มีวาระกี่ปี

อาจารย์บันชาตอบว่า “ผมเริ่มรับตำแหน่งประธานเมื่อเดือนเมษายน ปีที่แล้ว วาระเราคือ 4 ปี แต่ส่วนใหญ่ก็จะให้อยู่ 4 บวก 4 แต่ผมก็คิดจะอยู่ในวาระเท่าที่เราจะทำกิจกรรมได้ จะไม่ยอมแบบว่า อยู่เฉยๆ เพราะกิจกรรมส่วนใหญ่คือการเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปะ โดยเฉพาะสีน้ำในประเทศไทยและต้องสร้างองค์ความรู้ระหว่างประเทศ ก็ต้องมีการออกไประหว่างประเทศด้วย

ถามว่า หากมองวงการศิลปินสีน้ำในไทย มีส่วนใดอีกบ้างที่คุณเห็นว่าภาครัฐควรเข้ามาร่วมผลักดัน

ประธาน IWS THAILAND ตอบว่า “ถ้าให้มองวงการศิลปะบ้านเรา ผมมองว่าศิลปินยังคงต้องช่วยเหลือตัวเองอยู่ ภาครัฐไม่ค่อยได้มีบทบาทเท่าไหร่ครับ มีบ้าง แต่โดยพื้นฐานศิลปินที่มีชื่อเสียง คือศิลปินที่ช่วยเหลือตัวเองได้

“ประเด็นต่อมาก็คือ ถ้าภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุน ผมอยากให้เข้าไปช่วยในส่วนของการศึกษามากกว่า คือการเรียนการสอน หรือว่าการสร้าง Know-How Knowledge ขึ้นมา และสร้างบุคลากรทางการศึกษา เพราะตอนนี้ ครูศิลปะบ้านเรามีน้อย แต่ก็เริ่มมีสถาบันบางแห่งเริ่มกลับมาเปิดการเรียนในสายครูศิลปะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังนับว่าน้อย ทั้งๆ ที่ประเทศเราขายวัฒนธรรม ขายวัดขายวา ขายงานศิลปะ แต่เราไม่ได้สร้างคนเข้ามารองรับ ไม่ได้สร้างคนเข้ามาดูแล ผมกังวลเรื่องนี้เรื่องเดียว

“คือในส่วนของศิลปินอาชีพนั้น ถ้าโดยรวมแล้ว เขาก็เอาตัวรอดได้ เขาไม่ต้องมาสนใจตรงนี้ เขาไปเขียนรูปขาย มุ่งมั่นทำงาน ซึ่งเขารวยมาก แต่บ้านเมืองเราจะไปต่อยังไง ใครจะดูแลส่วนกลาง มีคนซึ่งเขาเป็นศิลปินที่อาจจะไม่ได้เก่งมาก แล้วจะมีใครมาดูแลตรงนี้ มาตรฐานของการสร้างสรรค์ก็อาจจะลดลง คือ เมื่อก่อนครูศิลปะของเราเก่งมาก อย่าลืมว่าเรามีช่างที่สร้างวัดพระแก้วฯ ได้สวยงามมาก ไปดูแล้วน้ำตาไหลด้วยความตื้นตัน แต่ตอนนี้ เราหาช่างอย่างนั้นได้หรือเปล่า แปลว่าเราขาดแคลนการสืบต่อ ขาดแคลนการสานต่อหรือเปล่า ซึ่งเหล่านี้เป็นบทบาทของภาครัฐ

“แต่บทบาทของศิลปินนั้น ต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องพัฒนาตัวเอง อย่างผมเองก็พยายามจะผลักดัน ตอนนี้ก็มีเพื่อนศิลปินหลายคนที่เราก็พยายามผลักดันให้แต่ละท่านได้ไปร่วมงานระหว่างประเทศ ได้ไปต่างประเทศ ไปโชว์ ไป Demonstration ไปทำกิจกรรมร่วมกับศิลปินทั่วโลก เพื่อยกระดับ เวลาไปสัมมนา ไปเจอกันกับเขา มันจะช่วยกระตุ้นให้เราเก่งขึ้น เมื่อได้เห็นเทคนิคต่างๆ ก็ลองนำมาปรับใช้ แล้วเมื่อเก่งขึ้น เราก็นำไปเผยแพร่ต่อได้อีก ตอนนี้บทบาทของ IWS THAILAND เราก็อยากผล้กดันศิลปิน ไทยให้ออกไปทั่วโลกครับ” อาจารย์บันชาระบุ



ความทรงจำประทับใจ

อดถามไม่ได้ว่า การแสดงผลงานเดี่ยวของคุณ ทั้งในไทยและต่างประเทศ คุณประทับใจครั้งใด ประเทศใดที่สุด เพราะเหตุใด

อาจารย์บันชาตอบว่า “ถ้าในประเทศ ก็ประทับใจการแสดงภาพสีน้ำครั้งแรก ประทับใจหลายเรื่อง เพราะประการแรก คือเป็นการแสดงเดี่ยวครั้งแรก ตอน อายุ 25 ปี

ประการที่ 2 คือ ขายหมดภายในชั่วโมงเดียว คือ เปิดงานมา ขายหมดเลย ดีใจมาก ( หัวเราะ )

ประการที่ 3 งานครั้งนี้เป็นจุดที่ทำให้มีตัวตน ของ ‘บันชา’ ที่ชัดเจนขึ้น ต้องยอมรับว่าประทับใจการแสดงครั้งแรกมาก

ประการต่อมา การแสดงในต่างประเทศ อาจจะเรียกว่าโชคดี หรือบุญดี เพราะมีโอกาสแสดงในหอศิลป์ ของ Fabriano ที่อิตาลี และหอศิลป์ของ Raphael ที่ Urbino ในอิตาลีเหมือนกัน

และหอศิลป์หลายประเทศในยุโรป เช่น ไรจ์คส์มิวเซียม (Rijksmuseum) ที่เมือง Amsterdam ( ประเทศ Netherlands ) ซึ่งเป็น Museum ที่ดีที่สุด 1 ใน 5 ของโลก แล้วก็มีหอศิลป์เอกชนในรัสเซีย ในฝรั่งเศส ในอังกฤษ ในจีน ก็มีอยู่หลายแห่งครับที่มีผลงานของเราอยู่ นี่ก็คือความประทับใจ คือบางที อย่างผมไปดูที่ Fabriano เราตกใจ ที่งานเราอยู่ใน Museum จริงๆ หรืออย่าง Museum ในเม็กซิโกก็มีผลงานสีน้ำของผมจัดแสดง ร่วมกับผลงานศิลปินไทยอีกหลายท่าน เราก็ภูมิใจ เมื่อเร็วๆ นี้ ประธาน IWS เม็กซิโกก็ถ่ายภาพผลงานศิลปินไทยลงเฟซบุ๊ค ก็เราก็ดีใจว่า ‘เราอยู่ใน Museum หรือเนี่ย’ ไม่ได้อยู่ในแกลเลอรี่นะครับ แต่อยู่ใน Museum จริงๆ

“หรือแม้แต่ Museum ของ Raphael ที่เป็นขวัญใจเราด้วย โอโห! เราดีใจมาก แล้วอาคาร การตกแต่งของเขา มันคลาสสิคมาก อันนี้เป็นความประทับใจที่เราไม่เคยคิดว่าวันนึงเราจะไปอยู่ตรงนั้นได้ เพราะเราเป็นคนบ้านนอกคนนึง เคยคิดว่าศิลปินอย่างเราคงไม่มีโอกาส แต่วันนี้ เราได้ไปทั่วโลก มีผลงานเราอยู่เกือบทุกที่ทั่วโลกเลยนี่คือความภูมิใจครับ”

ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’

ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’

ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’

ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’

ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’
ถามว่ามีใครเคยบอกคุณไหม ว่า ‘ลายเซ็น’ หรือเอกลักษณ์ในผลงานของคุณ ผลงานของคุณเป็นแบบไหน แล้วคุณมองงานตัวเองแบบไหน

อาจารย์บันชาตอบว่า “งานของผมเป็น Impressionist ครับ คือผมเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของ Claude Monet ผมชอบ Impressionist ในฝรั่งเศส คือมันเป็นศิลปะที่แตกแขนงมาจาก Realistic ต่อมาจาก Renaissance แล้วก็มายุค Romantic
ซึ่ง Impressionist เป็นศิลปะที่เป็นธรรมชาติที่สุด ผมเป็นสัจนิยมและธรมชาตินิยม ดังนั้น เมื่อเจอ Impressionist เราจึงรู้สึก ‘โอ้โฮ! ใช่เลย’

การเขียนรูปนอกสถานที่ การถ่ายรูปแบบตรงไปตรงมา แล้วมันเกี่ยวข้องกับสังคมนะ สังคมของศิลปินแบบนี้เขาก็จะน่ารัก เมื่อเราเจอกันในวงการเขียนภาพแบบนี้ ก็เหมือนกับเราเจอเพื่อน เหมือนเจอคนที่รู้จักกันมานาน ทั้งที่เพิ่งเจอกัน ครั้งแรกนะครับ แต่ก็คุยกันได้ทั้งวันทั้งคืน ไป Tournament ด้วยกัน แสดงภาพด้วยกัน” อาจารย์บันชาระบุ
ส่วนคนที่มองผลงานของเขานั้น นักวิชาการบางท่านก็บอกว่างานของเขา เป็น Romantic Impressionist

“Romantic คือมีความโศกเศร้า มีสีขึ้นมาอีกนิดนึง ไม่ใช่ Impressionist แบบดั้งเดิม ซึ่งก็อาจจะใช่ เพราะเมื่อผมเขียนภาพ สีที่ผมใช้ ก็มีทั้ง Feeling ของความรักโรแมนติกอยู่ หรือบางทีก็มีความเศร้า มีสีทึมๆ อยู่ อันนี้ก็เป็นมุมมองจากข้างนอก แต่ถ้าถามผม เห็นไกลๆ ก็รู้แล้วว่าผลงานอันนี้ของผม ไม่ต้องเซ็นก็รู้ เป็นลักษณะเฉพาะครับ” อาจารย์บันชาระบุ


มองวงการศิลปะไทย

ถามว่า ณ ปัจจุบันนี้ คุณมองวงการศิลปะไทยอย่างไร

อาจารย์บันชาตอบว่า เราก้าวไปไกล ตัวเขาเองมีลูกศิษย์หลายคน ที่ตอนนี้ แสดงงานในต่างประเทศ เช่น ศิลปินบางคนแสดงงานที่สวิสเซอร์แลนด์ หรืออีกคนก็คืออาจารย์สันติ พิเชฐชัยกุล ศิลปินประติมากรระดับโลก ก็แสดงงานอยู่ต่างประเทศเช่นกัน

“ศิลปินไทยเก่งมากเลย แล้วก็มีศิลปินรุ่นใหม่ ที่แสดงงานอยู่ทั่วโลกตอนนี้ ทั้งที่บาเซิล (Basel) รวมทั้งที่เบลเยียมตอนนี้ก็มี อย่างในกลุ่มศิลปินสีน้ำ อาจารย์อู๊ด อัมพวา ( นายบัญญัติ พวงทอง ศิลปินสีน้ำชื่อดัง ) ก็เพิ่งกลับจากไปโชว์ที่ญี่ปุ่น

“ส่วนผมเอง ก็ผลักดันให้ส่งศิลปินเครือข่ายของ IWS THAILAND ส่งงานไปร่วมทั่วโลก มี Tournament ไหนที่น่าสนใจเราก็ผลักดัน ส่งไป ถ้า Tournament ไหนไม่แพงมาก เราก็ส่งได้ แต่ถ้าแพงก็เว้นไว้ก่อน สาเหตุหลักที่ส่งไป เพื่อให้พัฒนาตัวเอง อันนี้มองในแง่ของสีน้ำ
ส่วนถ้าเป็น Modern Art ก็มีงานที่บาเซิล ที่ฮ่องกง มีศิลปินเราไปแสดงงานหลายคน และงานก็ขายได้ดีด้วยครับ

“ดังนั้น ถ้ามองภาพรวม การที่ศิลปินผลักดันตัวเอง ช่วยเหลือตัวเอง ก็ไปได้เยอะเหมือนกัน แต่ก็ต้องดูที่ภาครัฐด้วยนะ คือถ้าภาครัฐเข้าใจว่าเป็นการลงทุนที่ได้ผลระยะยาว และได้ผลดีมาก อย่างเช่น สิงคโปร์ เขานำเข้าผลงานศิลปะปีละเป็นแสนล้านบาท แต่เขาก็ส่งออกงานศิลปะปีละเป็นล้านล้านบาท

“เพราะฉะนั้น เมืองเขาเป็นเกาะเล็กนิดเดียว เขาไม่ได้ขายที่ดินเป็นตารางเมตร อย่างเรา แต่เขาขายเป็นศิลปะ งานศิลปะ 1 ตารางเมตร ขายได้แพงกว่าราคาที่ดิน เขาเรียกอุตสาหกรรมทางศิลปะ ถ้าภาครัฐเข้าใจสิ่งนี้ เราจะส่งกันไปได้ไกลมาก เพราะตอนนี้ เอกชนอย่างเรา เช่น IWS THAILAND เราก็ทำได้แค่นี้ แค่ให้กำลังใจกัน ส่งข่าวกัน เช่น กลุ่มงานศิลปะนี้ขอ 10 ภาพไปเมืองนี้ กลุ่มนี้ขอ 5 ภาพไปเมืองนี้ ใครบินได้บ้างในช่วงนี้ ใครมีสตางค์บ้าง เพราะเราไม่มีเงินให้นะ ( หัวเราะ ) ก็บินไปโชว์ตัว อะไรแบบนี้ครับ ก็ให้กำลังใจกันไป ซึ่งศิลปินไทยได้รับการยอมรับมากขึ้นในระดับโลก” อาจารย์บันชาระบุ


พร้อมเปิดกว้างสู่โลก NFT

ถามว่า คุณมองวงการศิลปะ รวมทั้งการสะสมและซื้อขายงานศิลป์ ทั้งในไทยและทั่วโลกว่ามีทิศทางแนวโน้มอย่างใด ในท่ามกลางที่กระแสการขายงานศิลป์ผ่าน NFT ( Non Fungible Token ) เริ่มเป็นที่นิยม แต่ขณะเดียวกัน ศิลปินอีกไม่น้อยก็ต่อต้าน NFT คุณมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร

อาจารย์บันชาตอบว่า “เมื่อพูดถึง NFT เราต้องมองอย่างนี้ ต้องเป็นธรรมกับ NFT นิดนึง เพราะมันคือขุมทรัพย์แห่งใหม่นะ จริงๆ แล้วถ้ามองแบบเป็นกลางหน่อย NFT มันเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเราไม่ได้เสียผลงานต้นฉบับ ผมมองว่า ศิลปินควรจะศึกษาเรื่องนี้ ตัวผมเองก็ศึกษาอยู่ เพราะในอนาคต ภาพถ่ายของผลงานเราทั้งหมดที่ปรากฏ มันอาจจะเป็นสินทรัพย์ในอีกสัก 10-20 ปี ข้างหน้า แม้เราอาจจะไม่ได้ใช้ แต่ลูกเราอาจจะได้ใช้สินทรัพย์ตัวนี้นะ เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ครอบคลุมถึงบุตรหลานและคนที่เราส่งมอบ

“เพราะฉะนั้น ในอนาคต อาจจะไม่ได้ซื้อรูปในแกลเลอรี่แบบนี้แล้ว อาจจะซื้อแบบที่ปรินต์แล้วไปติดบ้าน แต่ต้องจ่ายค่าปรินต์นะ อาจไม่ต้องถึงหลักแสนบาท แค่หลักหมื่น คุณก็ได้รูปของอาจารย์บันชาแล้ว อะไรแบบนี้ครับ เป็นเรื่องของการซื้อขายในรูปแบบดิจิทัล

“ผมมองว่า มันเป็นเครื่องมือและเป็นขุมทรัพย์ชนิดใหม่ แต่เวลานั้น มันจะมาถึงเมื่อไหร่ ผมไม่รู้นะ แต่ศิลปินต้องศึกษาและเข้าใจ เมื่อเราตายไปแล้ว เราก็ต้องถ่ายรูป เก็บ Portfolio เก็บรายละเอียดตรงนี้ไว้ ส่งมอบเป็นสมบัติให้กับลูก สมบัติจึงมีสองรูปแบบทั้งแบบ Offline กับ Online” อาจารย์บันชาระบุ


Art Learning Centre : Metro Art MRT พหลโยธิน

เมื่อขอให้ช่วยเล่าถึงโครงการ Metro Art อาร์ต สเปซแห่งใหม่ ในสถานีรถไฟฟ้า MRTพหลโยธิน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร คุณมีส่วนร่วมในด้านใด และโครงการนี้ส่งผลดีต่อวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยอย่างไร และคุณคาดหวังสิ่งใดจากโครงการนี้บ้าง
ประธาน IWS THAILAND ตอบว่า “เมื่อได้ร่วมงานในโครงการ Metro Art MRT นี้ ผมชื่นชมวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร BEM (บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ) ท่านมี Vision สูงมาก ทั้งที่จริงๆ แล้ว พื้นที่เอกชนขนาด ประมาณ 1,000 ตารางเมตรนี้ จะเอาไปทำอะไรก็ได้นะครับ แต่ท่านบอกว่าจะทำศิลปะ ผมก็คิดว่า ‘โอ้โฮ! ถ้าคิดได้แบบนี้ก็เจ๋งเลย’ แล้วผู้บริหาร BEM ก็ทำเป็น CSR ด้วย คือไม่เก็บตังค์ แต่ว่าต้องหาทีมที่เข้ามาดูแล มาบริหาร ที่เป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ เราก็เป็น 1 ใน 3-4 ทีมที่ท่านเลือกมา

“ผมก็มาคุยคอนเซ็ปต์กับทาง BEM คุยกัน 7-8 เดือนนะครับ กว่าจะเปิดพื้นที่นี้ขึ้น ก็หารือกันว่าจะทำงานร่วมกันได้ไหม ซึ่งทางศิลปินเราก็มีปัญหาเรื่องการทำเอกสาร ขณะที่ BEM คือบริษัทมหาชน แต่ศิลปินอย่างเรา จะทำอะไร เราก็ทำเลย เราก็ไม่ได้จดบันทึกเอกสารอะไรหรอก แต่เมื่อมาทำตรงนี้ ทีมงานของ IWS THAILAND เราก็ต้องมาทำเรื่องเอกสาร รายงาน Report ว่าวันนี้ขายอะไรบ้าง คนเข้ามากี่คน ซึ่งก็เป็นข้อดี เพราะเราก็ได้ฝึกการจัดทำข้อมูลเหล่านี้ด้วย

“ข้อดีอีกอย่าง ที่นอกจากเจตนาที่ดีแล้วก็คือที่นี่มีคนผ่านเยอะครับ
ผมมีแกลเลอรี่อยู่เขาใหญ่ คนจะไปหาก็อาจจะยาก ต้องไปวันเสาร์-อาทิตย์ กว่าจะได้เจอกันก็อาทิตย์นึง แต่ที่ Metro Art นี้ ลูกศิษย์ลูกหาก็มาง่าย ทั้งจากศิลปากร จุฬาฯ เพาะช่าง ราชมงคลฯ ราชภัฏฯ อาชีวะฯ มาหมดเลยครับ เพราะมาง่ายด้วย เนื่องจากเป็นรถไฟฟ้า เป็น MRT เมื่อมาถึงก็เจอเลย หรือแม้แต่ครูศิลปะท่านใดมีปัญหา อะไรมีปัญหาก็มาหาได้ ผมว่านี่คือข้อดีข้อที่ 2

“ดังนั้น ข้อดีของ IWS THAILAND คือ เราได้แลกเปลี่ยนกัน เราเจอกันง่ายขึ้น
ข้อดีประการที่ 3 คือ โดยปกติ งานศิลปะบางทีก็ไปดูยาก ต้องเข้าไปที่ Museum แกลเลอรี่ ห้างสรรพสินค้า ถ้าเราไม่มีธุระเราก็ไม่อยากไป แต่ที่นี่ ที่ MRT เมื่อเราแวะทำธุระ แวะซื้อของเสร็จ เราก็แวะมาดูได้ เพราะมันก็อยู่แค่นี้เอง ดูไม่ยาก เข้ามาก็เห็นเลย เข้าถึงง่าย เดินเข้ามาก็เจอเลย ไม่ต้องเสียเงินด้วยครับ
ผมก็เลยมองว่ามันดีทุกอย่าง ดังนั้น เราก็เลยจับมือกับ BEM แล้วเรามาลองลุยด้วยกันสักปีนึง แล้วดู Perception ว่าคนเขาจะมีเสียงสะท้อนยังไง แต่ถ้าถามผม ผมว่าประสบความสำเร็จดีมากครับ ดีเกินกว่าที่คาดคิดไว้” อาจารย์บันชาบอกเล่าด้วยความรู้สึกยินดี

อดถามไม่ได้ว่า มีอะไรอยากฝากถึง Class ที่ IWS THAILAND ณ Art Learning Centre หรือ Metro Art แห่งนี้

อาจารย์บันชาตอบว่า “ผมจะเข้ามาที่นี่วันเสาร์อาทิตย์ครับ ระดับ Master เราจะสอนวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ถ้าวันธรรมดา จะมีวันพุธ ที่เป็น Happy Journey มีศิลปินหลายรูปแบบมาสอน เช่น ศิลปะการตัดกระดาษ ปั้นดิน เขียนกระเป๋า ซึ่งวันพุธเรียนฟรีครับ แต่วันเสาร์-อาทิตย์ จะมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อย คือค่าอุปกรณ์ ค่าสี ค่ากระดาษ แล้วก็จะมี CSR ของทาง BEM ที่มีน้องๆ นักศึกษาในบริเวณใกล้เคียงซึ่งเป็นเครือข่ายมาเรียนฟรี
คุ้มค่าแน่นอนครับ โอกาสอย่างนี้หากได้ยากมาก ที่เราจะมาเจอกันง่ายๆ อย่างนี้ แล้วแลกเปลี่ยนกันได้อย่างสนุก” อาจารย์บันชาระบุ

ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’

ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’

ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’
ประทับไว้ในรอยจำ

บทสนทนา เดินทางมาถึงคำถามสุดท้าย ที่ไม่ถามคงไม่ได้ นั่นคือ ผลงานใด ประทับใจเป็นพิเศษ
และตัวอย่างภาพอันสวยงามตรึงใจเหล่านี้ คือคำตอบ


ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’
1 “ภาพนี้ เป็นภาพที่เวนิส (Venice อิตาลี ) รูปนี้ความเท่ของมันคือเงาที่ตกจากฝั่งหนึ่ง มาอีกฝั่งหนึ่ง เมื่อมันเกิดเงาสะท้อนในน้ำแล้วมันสวยมากนะครับ อันนี้ จริงๆ แล้ว เขียนจากรูปถ่ายนะครับ ผมไปถ่ายภาพมุมนี้ แล้วแสงใกล้เคียง แต่ไม่สวยเท่านี้ แล้วผมก็ได้รูปถ่ายอีกรูปนึงมา มีเพื่อนส่งมาให้ ก็เลยวาดครับ อันนี้ ถือว่ายากที่สุดสำหรับผม ในประเภททิวทัศน์นะครับ”

ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’
2 “ถ้าเป็นภาพม้า ผมว่าชิ้นนี้
ภาพนี้ เป็นม้าสายพันธุ์ Warmblood ผสมกับม้า Arabian ครับ แล้วมุมมอง และสีที่ลงไป ผมว่ามันได้ชีวิตชีวามาก ได้ทั้งกล้ามเนื้อ ได้เห็นสายพันธุ์ มันได้อะไรหลายอย่าง คือการวาดม้านั้น คนวาดต้องแม่นกล้ามเนื้อ เพราะว่าม้ามีหลายสายพันธุ์ บางทีก็ผสมเป็น Hybird เพราะฉะนั้น เราต้องแยกให้ออก แต่ตัวนี้ ทั้งแสงเงา ทั้งพันธุ์ม้า รายละเอียด มันมีครบหมดเลยครับ ผมนำรูปนี้มาทำปกหนังสือด้วย ผมเขียนภาพม้าเยอะมาก เป็น Collection เลยครับ”


ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’
3 “ภาพนี้เป็นดอกกุหลาบ
เมื่อก่อนผมจะเขียนภาพกุหลาบเยอะมากครับ แต่ว่ามันจะมีบางชิ้นที่มันจะแสดงถึงความรักภายใน ชิ้นนี้ค่อนข้างลึกลับ และมันเหมือนงานยุคคลาสสิค ผมก็เลยชอบเป็นพิเศษ จริงๆ ก็ชอบภาพกุหลาบทุกชิ้นนะครับ แต่ถ้าชอบที่สุดก็ชิ้นนี้”


ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’
4 "ภาพนี้คือปารีสทั้งเมืองเลยครับ มองจากตึก Galeries Lafayette อันนี้เป็นมุมคลาสสิค ที่ศิลปินชอบเขียนภาพกันอยู่แล้วครับ รูปนี้ผมชอบ เพราะผมใช้สายตาเยอะ มันละเอียดมากครับ ตอนร่างยากกว่าเขียนอีกนะครับ ทิวทัศน์ที่ผมเขียนไว้ก็จะมีหลายเมือง ทั้งอิตาลี ฝรั่งเศส เบลเยียม ถ้าผมไปอัมสเตอร์ดัม ผมก็เขียนอัมสเตอร์ดัมทั้งชุดนะครับ
ถ้าว่างเว้นจากภาพทิวทัศน์ ผมก็จะมาวาดม้า เพราะการวาดม้า ช่วยพักสายตา เมื่อสบายใจหน่อย ก็จะเขียนดอกไม้ ตอนนี้ก็เขียนอยู่สามอย่างนี้ครับ”


ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’
5 และ 6 (ภาพที่ติดอยู่บนฝาผนังแกลเลอรี่ของ IWS THAILAND ที่ Metro Art MRTพหลโยธิน )

“สองภาพนี้จะเป็น Collection กันนะครับ เป็นภาพที่เวนิสครับ
รูปแรกนี้ จะแสดงเวลาช่วง 9 โมง ถึง 10 โมง แล้วก็แสดงวิถีชีวิตของคนในเวนิส แล้วก็นักท่องเที่ยว
รูปนี้มีเรื่องราว ตอนติดตั้ง มีฝรั่งคนหนึ่ง เป็นคนอิตาลี เขามาถ่ายภาพยนตร์ที่เมืองไทย เขาก็รีบวิ่งเข้ามา ตอนที่เรากำลังติดตั้งรูปนี้แล้วบอกว่า “บ้านผมเดินข้ามสะพายไป อยู่ข้างหลัง แล้วคุณพ่อผม พายเรือกอนโดลาอยู่ตรงนี้ แล้วจะเล่น Accordion เวลามีคู่แต่งงาน” เขาก็ดีใจมากเลย เขามาจับมือเรา แล้วบอกว่า “ยูไปอิตาลีนานหรือยัง” ผมบอกนานแล้ว ตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19 ผมก็ถ่ายรูปไว้ แล้วก็มาวาด เขาบอก “โอ้โฮ! ขอบคุณมากเลยที่มาเขียนบ้านฉัน นี่เป็นที่วิ่งเล่นของฉันเลย ตอนเด็ก”


ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’
"ส่วนอีกรูปนี้ โชว์ทักษะการเขียนเงาสะท้อนในน้ำ
ภาพนี้ถ้าดูไกลๆ จะเหมือนแวบๆ วับๆ เลยครับ เป็นความวิบวับปิ๊งปั๊งของน้ำ ส่วนเรือนี้คือเรือกอนโดลา ภาพนี้เป็นการโชว์ทักษะชั้นสูงของการใช้สีน้ำ
ถ้าดูใกล้ๆ จะเห็นเทคนิค ที่อาจจะดูเลอะๆ แต่ถ้าถอยออกไปมอง จะเห็นเงาของน้ำชัดเจน เห็นแรงเหวี่ยงของน้ำ ภาพนี้ เขียนขึ้นปี 2022 ครับ”


ผลงานภาพวาดสีน้ำของ ‘อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช’
ทั้งหมดทั้งปวง คือเรื่องราวการเดินทางในช่วงหนึ่งของชีวิตศิลปินคนหนึ่ง ที่ ณ วันนี้ ผลงานและชื่อชั้นของเขา เป็นที่กล่าวขานและได้รับการยอมรับในระดับสากล ทว่า เขาก็ไม่ลืมที่จะปักหมุด และร่วมก่อร่างสร้างศิลปินไทยรุ่นใหม่ๆ ร่วมกับเพื่อนศิลปินอีกจำนวนไม่น้อย เพื่อมุ่งหวังพัฒนาและต่อเติมเสริมสร้างประสบการณ์การทำงานศิลปะ
ให้ศิลปินไทยนั้นโดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลก


………..

Text By : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล