xs
xsm
sm
md
lg

เพราะอะไรกรุงศรีอยุธยาจึงแตกอย่างย่อยยับ! พงศาวดารพม่าว่า “พระยาตาก” ทำให้พม่าต้องถอยหนี!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



พระเจ้าอู่ทองได้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ ได้รับการยอมรับจากชาวตะวันตกว่า เป็นนครที่โอ่อ่าสง่างามรุ่งเรืองที่สุดในภาคตะวันออก มั่งคั่งจากการเป็นศูนย์กลางของการค้า และมีกองทัพที่เข้มแข็ง แต่เมื่อยืนยงอยู่ได้ ๔๑๗ ปีก็ย่อยยับจนกลายเป็นสิ่งปรักหักพัง สาเหตุนั้นพงศาวดารไทยกับพงศาวดารพม่ากล่าวไว้ต่างกัน

พงศาวดารไทยกล่าวว่า ในปลายปี พ.ศ. ๒๓๐๗ พระเจ้าอังวะดำรัสให้ มังมหานรธา เป็นแม่ทัพมาตีเมืองทวาย เมืองตะนาวศรี ครั้นตีได้ ๒ เมืองนี้แล้วก็ยกติดตามมาตีเมืองชุมพรได้ จึงปรึกษากันว่า เราตีเมืองทวายได้ บัดนี้หาผู้ใดจะต้านทานทแกล้วทหารเราไม่ เราควรจะเข้าชิงเศวตฉัตร ณ กรุงเทพมหานคร เป็นความชอบถวายพระเจ้าอังวะเห็นจะได้โดยสะดวก ครั้นปรึกษาพร้อมกันแล้วก็ดำเนินทัพเข้าตีเมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองกาญจบุรี จนถึงกรุงศรีอยุธยา
แสดงว่าในขั้นแรกพม่าไม่ได้คิดจะมาตีกรุงศรีอยุธยา เพียงแต่จะมาปล้นหัวเมืองไทย พระเจ้าอังวะจึงไม่ได้คุมทัพมาเอง
 
แต่ในหนังสือ “อยุธยาคดี” ของศาสตราจารย์ ขจร สุขพานิช จัดพิมพ์โดยองค์การค้าคุรุสภา กล่าวว่าพงศาวดารพม่ากล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อพระเจ้ามังระได้ราชสมบัติในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๓๐๖ ยังรอพิธีราชาภิเษกอยู่ ได้ทรงวางแผนการที่จะตีกรุงศรีอยุธยา ประการแรกเริ่มด้วยการเพิ่มยศแม่ทัพชื่อ อภัยคานินี ขึ้นเป็น เนเมียวสีหบดี ให้เป็นผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ ระดมชายฉกรรจ์ในแคว้นไทยใหญ่และล้านนา ล้านช้าง มีจุดมุ่งหมายจะตีกรุงศรีอยุธยา เนเมียวสีหบดีออกจากกรุงรัตนสิงห์มาด้วยไพร่พล ๒๐,๐๐๐ คน ช้าง ๑๐๐ เชือก ม้า ๑๐,๐๐๐ ตัว

ส่วนอีกทัพหนึ่งให้ มหานรธา ให้คุมพลอีก ๒๐,๐๐๐ ช้าง ๑๐๐ เชือก ม้า ๑,๐๐๐ ตัว ลงมาตีเมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี แล้วให้เข้ามาทางเมืองราชบุรี ตีเพชรบุรี ไชยา ชุมพร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี แล้วตั้งทัพรอคำสั่งต่อไป

การที่พระเจ้ามังระทรงวางแผนการรบแบบนี้ถือว่าเป็นแบบใหม่ไม่เคยปรากฏมาก่อน คือกำหนดจุดที่เชียงใหม่และทวาย เมื่อพร้อมกันก็จะมีบัญชาให้รุกเข้ามาเป็นคีมหนีบ หรือ pincer movement ซึ่งต่อมาอีก ๒๐๐ ปีฮิตเลอร์ก็นำ “ยุทธวิธีคีบหนีบ” นี้ มาใช้บุกยุโรป

พระเจ้ามังระมีบัญชาให้แม่ทัพทั้งสองปฏิบัติคือ ถ้าเมืองใดต่อสู้ก็ให้จับเจ้าเมืองส่งมาอังวะ แล้วเผาเมืองให้พินาศ ถ้าเมืองใดยอมอ่อนน้อมก็ให้เกณฑ์ชายฉกรรจ์เข้าสมทบในกองทัพ ด้วยวิธีนี้เมื่อเนเมียวสีหบดียกทัพเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยาจึงมีกำลังพลถึง ๗๐,๐๐๐ คน ส่วนกองทัพมหานรธาที่เข้ามาตั้งอยู่ใกล้วัดภูเขาทอง มีกำลังพล ๕๐,๐๐๐ คน
พระเจ้ามังระเคยติดตามพระราชบิดา คือพระเจ้าอลองพญา มาตีกรุงศรีอยุธยาในปี ๒๓๐๓ ครั้งหนึ่งแล้ว มีความรู้เกี่ยวกับภูมิประเทศของกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี ซึ่งครั้งนั้นพระเจ้าอลองพญาได้สวรรคตขณะสังเกตการรบแนวหน้า และสิ้นพระชนม์จากแรงระเบิดของปืนใหญ่ซึ่งทรงบัญชาการยิง เมื่อพระเจ้ามังระขึ้นครองราชย์จึงคิดจะแก้แค้นเมืองที่ทำให้พระราชบิดาสวรรคต แต่ที่ไม่ได้นำทัพมาเอง เพราะตอนนั้นกำลังมีศึกกับจีนทางเชียงตุง ซึ่งจักรพรรดิเฉียนหลงส่งพระอนุชาคุมทัพมาถึง ๖๐๐,๐๐๐ คน ก็ยังถูกพม่าตีเสียย่อยยับ จนพระอนุชาต้องปลงพระชนม์เองหนีอาย และจีนยังโหมอีกหลายระลอก อีกทั้งแม่ทัพคนดัง อะแซหวุ่นกี้ก็ต้องไปรับศึกด้านเชียงตุงด้วย

แต่กระนั้นกองทัพพม่าทั้งสองเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ถึง ๑๔ เดือนก็ยังเข้ากรุงไม่ได้ จนฤดูฝนใกล้าเข้ามา ลูกทัพนายกองได้เสนอต่อมหานรธา ให้ถอยทัพก่อนที่ย่านนี้จะนองไปด้วยน้ำเป็นทะเล ช้างม้าผู้คนจะไม่มีที่อาศัย แต่มหานรธาไม่ยอมถอย สั่งให้ต้อนช้างม้าไปไว้ในที่สูง และระดมต้อนวัวของชาวบ้านเอาไปไว้เป็นเสบียง อีกทั้งให้ระดมปลูกข้าวด้วย ซึ่งเนเมียวสีหบดีก็เห็นชอบ จึงเร่งต่อเรือขึ้นใช้เป็นอันมาก

ต่อมามหานรธาป่วยตายในสนามรบ เนเมียวสีหบดีจึงคุมทั้งสองทัพจนสิ้นฤดูฝน ราวต้นเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ จึงเข้ากรุงได้ พบปืนใหญ่น้อยอยู่ในพระคลังอีก ๓,๐๐๐ กระบอก กระสุนอีกราว ๕๐,๐๐๐ นัด แต่ที่ยังเหลืออีกมากไม่ได้ยิง ก็อาจจะเป็นอย่างที่พงศาวดารไทยว่า พระเจ้าเอกทัศน์ทรงเกรงบรรดาพระสนมจะตกใจและหูอื้อกับเสียงปืนใหญ่
พงศาวดารพม่ากล่าวถึงการสู้รบป้องกันกรุงศรีอยุธยาของฝ่ายไทย มีการระบุชื่อขุนนางไทยหลายคนที่ยกทัพออกมาก็แพ้พม่าทุกครั้ง แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งพม่าต้องถอยหนีเกือบแตกพ่าย พอดีเนเมียวสีหบดีเข้ามาช่วยโอบตีด้านหลังทหารไทย ทัพไทยจึงถอยเข้ากรุง พงศาวดารพม่าระบุชื่อแม่ทัพไทยที่ออกมาโจมตีพม่าจนเกือบสำเร็จนี้ มีชื่อว่า “พระยาตาก”
เมื่อตีกรุงศรีอยุธยาแตก กวาดต้อนผู้คนและขนทรัพย์สินจากท้องพระคลังไปเกลี้ยงก็รีบยกทัพกลับไป เพราะต้องไปเสริมทัพทางเชียงตุง ทิ้งไว้ให้สุกี้พระนายกอง คนมอญที่เข้ากับพม่า และมีความดีความชอบที่ตีบางระจันแตก คอยดูแลเก็บทรัพย์สินต่อ
 
ในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าในราชวงศ์อลองพญาอีกองค์ ได้นำ “ยุทธวิธีคีบหนีบ” ของพระเจ้ามังระมาใช้อีกครั้ง ทัพหนึ่งให้เนเมียวสีหบดีระดมพลมาจากเชียงใหม่มา ส่วนอีกทัพให้อะแซหวุ่นกี้ที่มีความดีความชอบพิชิตกองทัพจีน ได้เลื่อนขึ้นเป็น อัครหวุ่นคยี ระดมทัพมอญเข้ามาทางไทรโยค แต่พระเจ้าตากสินไม่ใช่พระเจ้าเอกทัศน์ ทั้งยังมีสหายศึกคู่พระทัย ๒ พี่น้อง คือ เจ้าพระยาจักรี กับ เจ้าพระยาสุรสีห์ คีมหนีบของพระเจ้ามังระเลยถูกตีจนคีมหัก อะแซหวุ่นกี้วีรบุรุษที่เพิ่งพิชิตจีนมาหยกๆกลับถูกปลดออกจากราชการ ฐานวางแผนการรบที่ไม่เอาไหน

ในรัชกาลที่ ๑ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าปดุง ก็ใช้ยุทธวิธีนี้มาตีไทยในขณะกำลังสร้างตัวอีก ครั้งนี้หวังจะไม่ให้ผุดไม่ให้เกิด ระดมมาถึง ๙ กองทัพเข้ามาทั้งเหนือใต้ตะวันตก แต่ก็แตกพ่ายไปทุกทัพเมื่อเจอไทยใช้แผน “ปิดตรอกตีพม่า” ขนาดทัพหน้าของพม่าแตกแล้วก็ยังไม่มีแรงเดินกลับบ้าน เพราะหิวโซจากอดข้าว
การเสียกรุงครั้งที่ ๒ จนย่อยยับนี้ ไม่ใช่เพราะข้าศึกมีกำลังเข้มแข็งหรือฝ่ายเราอ่อนแอ เห็นได้ชัดว่า ถ้าผู้นำมีสติปัญญาและประสบการณ์ ไม่ได้มุ่งแต่เสวยสุข ประเทศชาติก็จะไม่ย่อยยับ เร็วๆนี้เรากำลังจะเลือกตั้งครั้งใหญ่กันอีกที พิจารณาให้ดี ในยุคที่โลกกำลังเกิดวิกฤติอยู่ขณะนี้ ถ้าเลือกเอาคนที่ไม่มีน้ำยา จ้องแต่จะเข้ามากอบโกย คนที่หลงลมคนง่ายๆก็ไม่พ้นที่จะต้องยากจนลง ชะตากรรมเดียวกับคนทั้งประเทศ




กำลังโหลดความคิดเห็น