xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตการเงิน จาก SVB-เครดิตสวิส “ดอยซ์แบงก์” ธนาคารเบอร์ 1 เยอรมันเสี่ยงล้มตาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตา “ดอยช์แบงก์” ธนาคารอันดับหนึ่งของเยอรมนี เสี่ยงล้มตาม “เครดิตสวิส” และ SVB นักลงทุนแห่เทขายหุ้นจนราคาลดฮวบ 20% ในเวลาไม่ถึง 1 เดือน ผลกระทบสืบเนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงของ FED ทำให้ต้องเพิ่มค่าประกันความเสี่ยงตราสารหนี้ ทั้งที่ธนาคารเพิ่งจะทำกำไรได้ 3 ปีติดต่อกัน หลังจากก่อนหน้านี้มีปัญหามาตลอด



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงวิกฤติการเงินที่กำลังลุกลามตามหลังการล้มของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ หรือ SVB ของสหรัฐฯ และ เครดิต สวิส ธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับสองของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าธนาคารสวิส สัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่นทางการเงินของโลก วันหนึ่งจะล้มได้ และล่าสุดได้ส่งผลกระทบไปยังธนาคารอันดับหนึ่งของประเทศอันดับหนึ่งของยุโรปด้วย คือธนาคาร ดอยช์แบงก์ ของเยอรมนี

วันศุกร์ที่แล้ว 24 มีนาคม ราคาหุ้นธนาคารดอยช์แบงก์ ร่วงถึงจุดต่ำสุด ทั้งตลาดหุ้นยุโรป และตลาดหุ้นนิวยอร์กที่อเมริกา วันเดียวโดนเทขาย ราคาตกลงกว่า -14.8 เปอร์เซ็นต์ ก่อนปิดตลาดขยับขึ้นมาเหลือ -8.53 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าหุ้นตกลงมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ในเวลาไม่ถึง 1 เดือน


ดอยช์แบงก์ มีวิกฤต ปัญหาเรื้อรังคล้ายกับเครดิต สวิส โดยวิกฤตหุ้นดอยช์แบงก์เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วยังฉุดมูลค่าหุ้นธนาคารใหญ่อื่นๆ ในยุโรปลงไปด้วย เพราะนักลงทุนแห่เทขาย เช่น หุ้นธนาคารคอมเมิร์ซแบงก์ ของเยอรมนี ลดไป 7.5 เปอร์เซ็นต์ หุ้นธนาคารอังกฤษ บาร์เคลย์ แบงก์ (Barclays Bank) ลดไป 5.8 เปอร์เซ็นต์ หุ้น BNP Paribas ของฝรั่งเศส ร่วงไป 5.27 เปอร์เซ็นต์

วันจันทร์ที่ผ่านมา 26 มีนาคม ดัชนีดาวโจนส์ร่วงเกือบ 200 จุด หุ้นดอยช์แบงก์ ในตลาดนิวยอร์ก ร่วงมากกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ ท่ามกลางความกังวลในเรื่องเสถียรภาพของธนาคารยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีแห่งนี้


ทั้งๆ ที่ในช่วงเกิดปัญหาวิกฤตธนาคารเครดิต สวิส เงินฝากจำนวนหนึ่งไหลไปเข้าที่ดอยช์แบงก์ ซึ่งเพิ่งประกาศผลกำไรหลังหักภาษีในรอบ 15 ปี อยู่ที่ประมาณ 5,659 ล้านยูโร หรือประมาณ 201,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีประมาณ 2,510 ล้านยูโร เมื่อปีก่อน

แต่พอมีข่าวร้าย เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของดอยช์แบงก์ปรับเพิ่มค่าประกันความเสี่ยงตราสารหนี้กรณีธนาคารผิดนัดชำระหนี้ พุ่งสูงสุดถึง 4 ปี สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารไม่อาจจะชำระหนี้ได้ ทำให้นักลงทุนที่อ่อนไหวและไวต่อสถานการณ์แห่เทขายพันธบัตรตราสารทางการเงินที่เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ AT 1 (Additional Tier 1) ของดอยช์แบงก์ เพราะหวั่นจะซ้ำรอยธนาคารเครดิต สวิส ของสวิตเซอร์แลนด์

หากธนาคารดอยช์แบงก์ ติดเชื้อไวรัสทางการเงิน เกิดการล้มละลาย ใครจะแบกความเสี่ยงในพอร์ตกองลงทุน หากยังเกิดเหตุการณ์ถอนเงินที่ยังเกิดอยู่ที่ธนาคารในสหรัฐอเมริกา ล่าสุด ตัวเลขเงินฝากธนาคารขนาดเล็กในอเมริกาที่เฟดทำข้อมูลไว้ ยังลดทอนต่อไปอย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้ ดอยช์แบงก์ ถือเป็นธนาคารเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของเยอรมนี มีอายุ 153 ปี ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2413 (ค.ศ. 1870) เป็นธนาคารผู้ให้กู้รายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี และเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับ 8 ของยุโรป ซึ่งปีที่แล้ว (2565) ถือครองทรัพย์สินมูลค่าถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 48 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ดอยช์แบงก์ ยังมีบทบาทสำคัญทั้งในยุโรปและอเมริกา เป็นธนาคารที่ให้บริการสินเชื่อ บริการทางการเงินอื่นๆ แก่บริษัทข้ามชาติหลายแห่งทั่วโลก ส่งผลให้ดอยช์แบงก์ ถูกจัดประเภทอยู่ในกลุ่ม Systemically Important Financial Institution ซึ่งเป็นสถาบันการเงินระดับใหญ่ของโลกที่มีความสำคัญในเชิงระบบ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ธนาคารยักษ์ใหญ่เกินไปที่จะล้ม คือ Too big to fall เช่นเดียวกับเครดิต สวิส เพราะถ้าล้มจะลุกลาม กระทบกระเทือนระบบเศรษฐกิจ ตลาดเงินตลาดทุนมาก จึงต้องมีฐานะเงินกองทุนของผู้ถือหุ้นสำรองมากเป็นพิเศษของแบงก์อยู่


ด้วยเหตุนี้ ระหว่างวันที่ 23-24 มีนาคม นายโอลัฟ ช็อลทซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี จึงต้องออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป 2 วัน ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับระบบธนาคารของตัวเองว่า ธนาคารดอยช์แบงก์ ได้ปรับปรุงและจัดระเบียบรูปแบบธุรกิจให้ทันสมัย ทั่วถึง เป็นธนาคารที่กำไรได้มาก ไม่ต้องกังวลใดๆ ทุกคนรุมกันออกมาเรียกความเชื่อมั่น ยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ว่าดอยช์แบงก์ ไม่ใช่เครดิต สวิส แบงก์ รายต่อไป เพราะธนาคารมีเงินทุนที่แข็งแกร่งกว่าที่เกิดขึ้นในอดีต

ย้อนกลับไปปี 2550 (16 ปีที่แล้ว) หุ้นดอยช์แบงก์ มีราคาแตะเกือบ 100 ยูโร ก่อนที่จะเกิดวิกฤตซับไพรม์ในปี ค.ศ. 2008 ปัจจุบัน จาก 100 ยูโร วันนี้ (2566) ราคาหุ้นดอยช์แบงก์ ไม่ถึง 10 ยูโร


อย่างไรก็ตาม นายสจวร์ต โคล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มหภาคของ Equiti Capital อังกฤษ ได้ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ว่า ดอยช์แบงก์ ตกเป็นเป้าสนใจเช่นเดียวกับเครดิต สวิส แม้ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างมาแล้วหลายครั้ง และมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารเพื่อให้ธนาคารกลับมามีสถานะที่มั่นคง แต่ความพยายามเหล่านี้ไม่ประสบผลสำเร็จแต่อย่างใด

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดอยช์แบงก์ ตกเป็นข่าวอื้อฉาวหลายครั้ง ปี 2562 ตกเป็นข่าวโยงใยการฟอกเงิน เมื่อพนักงานธนาคารถูกกล่าวหาว่าช่วยลูกค้าฟอกเงินจากธุรกิจสีเทาในต่างประเทศ

ประเด็นที่น่าตกใจ คือ ลูกค้าที่ใช้บริการฟอกเงินมีตั้ง 900 ราย ประเมินมูลค่าฟอกเงินถึง 354 ล้านเหรียญ หรือ 11,300 ล้านบาท ธนาคาร ดอยช์แบงก์ ก็เลยถูกลงโทษจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และยุโรปในคดีฟอกเงิน ส่งผลให้ต้องจ่ายเงินค่าปรับร่วม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,000 กว่าล้านบาท


นิวยอร์กไทมส์ได้รายงานเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 นางแทมมี แม็คแฟดเดน (Tammy McFadden) อดีตผู้เชี่ยวชาญต่อต้านการฟอกเงินของดอยช์แบงก์ ได้ส่งสัญญาณถึงกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และหน่วยอาชญากรรมทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่า ได้พบความผิดปกติของธุรกรรมจำนวนมากที่ถูกเคลื่อนย้ายไปยังชาวรัสเซียจำนวนหนึ่ง โดยผ่านบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และลูกเขยของประธานาธิบดีทรัมป์ (นายจาเร็ด คุชเนอร์)

ทั้งนี้ ระหว่าง 2559-2560 ดอยช์แบงก์ ได้ปล่อยเงินกู้ให้กับทรัมป์ และธุรกิจของเขา จำนวนไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ พบว่าทางดอยช์แบงก์ ยังคงเป็นเจ้าหนี้ทรัมป์อยู่ในมูลค่าไม่ต่ำกว่า 300 ล้านดอลลาร์


อนึ่ง นายทรัมป์เคยเกือบต้องล้มละลายมาแล้วในช่วง 2533 ทรัมป์ติดหนี้ธนาคารถึง 3,400 ล้านดอลลาร์ ธุรกิจกาสิโน โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ สายการบิน ต้องถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยกฎหมายล้มละลาย ในตอนนั้นเขาได้ดอยช์แบงก์ ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่ต่อมาใน ค.ศ. 2008 ที่เกิดวิกฤตซับไพรม์ขึ้นมา หรือที่เขาเรียกว่า Hamburger Crisis ทรัมป์เบี้ยวหนี้ โดยฟ้องดอยช์แบงก์ อ้างว่า ดอยช์แบงก์มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ กระทบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเขา แต่สุดท้ายก็เจรจาความได้

วิกฤตซับไพรม์ ปี ค.ศ. 2008 ทำให้ดอยช์แบงก์หัวทิ่ม เพราะปัญหาที่ดอยช์แบงก์ทำผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2543 หรือ ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ยิ่งขาดทุนหนัก ปี 2558-2559

ช่วงวิกฤตการเงินซับไพรม์ ต้องจ่ายสินไหมทดแทนถึง 7,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดอยช์แบงก์ถูกฟ้องมาแล้ว 28 ครั้ง รวมเสียค่าปรับไปทั้งสิ้น สูงถึง 12,489 ล้านเหรียญ หรือ 4 แสนล้านบาท


ดอยช์แบงก์ เป็นธนาคารที่มีการเปลี่ยนผู้บริหารบ่อย พยายามปรับโครงสร้าง ลดหนี้ ลดต้นทุน ปลดพนักงาน ปิดสาขา ส่งผลให้สถานการณ์การเงินของดอยช์แบงก์อ่อนแอลง ขาดทุนต่อเนื่อง จนถึงปี 2562 ธนาคารขาดทุนสุทธิถึง 5,265 ล้านยูโร หรือเกือบๆ 2 แสนล้านบาท เลยต้องหาทุนมาเพิ่มเพื่อรักษาระดับกองทุนของผู้ถือหุ้น

แต่พอดอยช์แบงก์เริ่มมีผลกำไรตั้งแต่ปี 2563-2565 คือ 2563 กำไร 624 ล้านยูโร 2564 กำไร 2,510 ล้านยูโร 2565 กำไร 5,959 ล้านยูโร กำไรติดกัน 3 ปี จากขาดทุนมาตลอด แต่ก็มาเจอพิษการปรับดอกเบี้ยรวดเร็วอย่างรุนแรงของเฟด หรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ก็เลยสร้างแรงกดดันต่อระบบการเงินของโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ธนาคารกลางทั่วโลกส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก จนอาจเกิดวิกฤตล่มสลายของสถาบันการเงินทั่วโลกที่ทนไม่ได้กับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนเขากลัวแล้วว่าดอยช์แบงก์จะกลายเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่รายต่อไปที่ต้องตกเป็นเหยื่อของวิกฤตการเงินต่อเนื่องจากเครดิต สวิส ที่สูญเสียและสูญสิ้นความเชื่อมั่นและชื่อเสียงร้อยกว่าปีไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้คนไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่า ธนาคารใหญ่อันดับสองของสวิสจะล้มได้ เพราะฉะนั้นแล้ว ก็มีคนที่อดคิดไม่ได้ว่าทำไมดอยช์แบงก์จะล้มไม่ได้เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น