ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวอย่า ลงทะเลลึกเกินเข่า เพื่อไม่ให้รบกวนลูกฉลามตัวเล็กที่อยู่ใกล้ฝั่งอ่าวมาหยา และห่วงเรื่องของความปลอดภัย ฉลามไม่คิดทำร้ายคน แต่หมาแมวที่เราเลี้ยงยังเผลอกัดข่วนเราได้
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพฉลามครีบดำ หรือฉลามหูดำ ที่บริเวณอ่าวมาหยา พร้อมระบุข้อความว่า "ใครที่ไปอ่าวมาหยา อาจได้ยินเสียงนกหวีดปรี๊ดๆ ของพี่เจ้าหน้าที่เป่าเตือนเป็นระยะ เมื่อนักท่องเที่ยวบางคนทำท่าว่าจะลงทะเลลึกเกินเข่า
บางคนอาจสงสัยในใจ ไปไกลกว่านั้นได้ไหม เดี๋ยวถ่ายภาพไม่สวย ขอสักแค่เอวก็น่าจะได้ ฉลามคงไม่เข้ามาใกล้ฝั่งขนาดนั้นหรอกมั้ง ภาพจากคลิปของศูนย์อุทยานทางทะเล ถ่ายเมื่อเช้าวันที่ 29 มีนาคม คงพอบอกเราได้ว่าฉลามเข้ามาใกล้ขนาดนั้นครับ เฉพาะในวงแดง ผมนับฉลามได้ 13 ตัว อยู่ใกล้ฝั่งขนาดไหน ดูภาพก็บอกได้ ยังมีอยู่นอกวงอีกหลายตัว
เพราะฉะนั้น ยังมีฉลามที่อ่าวมาหยา มีเยอะด้วย และเข้ามาใกล้ฝั่งด้วย การศึกษาของอุทยานทางทะเลร่วมกับกลุ่มนักวิจัยฉลามที่อ่าวมาหยา พบว่าฉลามแบ่งเป็น 2 กลุ่มง่ายๆ กลุ่มแรกเป็นลูกฉลามตัวเล็กมักอยู่ใกล้ฝั่ง หลายท่านไปก็คงเห็น อีกกลุ่มคือพวกตัวใหญ่ จะอยู่แนวนอกห่างฝั่งออกไป 200/300 เมตร แต่ก็มีช่วงเข้ามาใกล้ฝั่งเหมือนกันนะ เหมือนในภาพนี้ เป้าหมายหลักของการจัดการท่องเที่ยวอ่าวมาหยาคือคนเที่ยวได้ ฉลามอยู่ได้ เราไม่เบียดเบียนกันและกัน เราไม่รุกรานบ้านฉลามลึกเกินเข่า แม้เราจะไม่เคยคิดทำร้ายพวกเธอ แต่เธอๆ และลูกเธอๆ อาจตกใจ อาจว่ายหนีไปก็หนีมา รบกวนพฤติกรรม
ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องของความปลอดภัย ฉลามไม่คิดทำร้ายคน แต่ขนาดหมาแมวที่เราเลี้ยงยังเผลอกัดข่วนเราได้เลยครับ เพราะฉะนั้น ลึกแค่เข่าจึงเป็นเส้นแบ่งอย่างสันติระหว่างคนกับฉลาม ทำให้แม้นักท่องเที่ยวกลับมาเยอะแล้ว แต่ยังคงมีฉลามหลายสิบอยู่ในอ่าวมาหยา เป็นการแบ่งปันกันระหว่างคนกับฉลาม ยั่งยืนทั้งการอนุรักษ์และการท่องเที่ยว เป็นตัวอย่างที่ใครมาใครเห็นใครก็ตะลึง ทึ่งกันไปทั่วโลกา จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านคงเข้าใจความหมายของ “แค่เข่า” และปฏิบัติตามกฏกติกา เพื่อให้ฝูงฉลามคงอยู่คู่มาหยาได้ตลอดไปนะครับ"