นักเขียน พิธีกรชื่อดัง คำ ผกา วิจารณ์พรรคก้าวไกลเปิดตัวศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอม ชี้เป็นโมเดลของรัฐบาลเผด็จการ คนดีๆ เขาไม่ทำกัน หน้าที่ชี้แจงข่าวปลอมเป็นเรื่องของโฆษกพรรค ประชาชนจะตัดสินเอง ฝากพรรคเพื่อไทยอย่าทำอะไรแบบนี้
วันนี้ (31 มี.ค.) บนโซเชียลฯ แชร์ทวิตเตอร์ @kamphaka ของ คำ ผกา หรือ น.ส.ลักขณา ปันวิชัย นักเขียนและพิธีกรรายการช่องวอยซ์ทีวี ได้แชร์อินโฟกราฟิกของพรรคก้าวไกล ที่เปิดตัว "ศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอม" เชิญชวนประชาชนเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแสข่าวปลอมเกี่ยวกับพรรคก้าวไกล และแชร์ต่อคำชี้แจงของพรรคก้าวไกล โดยคำ ผกา ระบุว่า "เรียนพรรคเพื่อไทย อย่าทำอะไรแบบนี้นะคะ"
ทั้งนี้ ได้มีผู้สนับสนุนความคิดของคำ ผกา มองว่า ลักษณะเหมือนพรรคก้าวไกลจะทำเป็นศูนย์ข้อมูล รวบรวมข่าว ข้อคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน มีนักวิเคราะห์ด้านวารสารศาสตร์ (Journalism analysis) ของพรรคเอง นำไปใช้ประโยชน์ได้เยอะ ซึ่งการตรวจสอบข่าวปลอม (Fact Check) ไม่ควรอิงกับพรรคการเมือง ให้บุคคลที่สามทำไปจะดูดีต่อภาพลักษณ์มากกว่า
บ้างก็เห็นว่า มีลักษณะแปลกๆ คล้ายตอนที่รัฐบาลให้เป็นหูเป็นตาสอดส่องใครทำผิดกฎแล้วให้มาแจ้ง ซึ่งสุดท้ายจะเป็นสังคมที่อ่อนแอ ซึ่งคำ ผกา ตอบกลับโดยนิยามว่า "สังคมตาวิเศษ สังคมสอดแนม สังคมกระบอกเสียง" บ้างก็เห็นว่า พรรคก้าวไกลจะเล่นใหญ่เพื่ออะไร แค่มีลิงก์ให้เช็กข่าว ให้ข้อมูลที่ถูกต้องไปแชร์ต่อได้ก็พอแล้ว เห็นชื่อโปรเจกต์แล้วนึกถึงทหาร
อีกด้านหนึ่ง คำ ผกา กล่าวในรายการ Talking Thailand ทางช่องวอยซ์ทีวี เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ในตอนหนึ่งระบุว่า ตามหลักการ ทุกพรรคการเมืองจะถูกโจมตีทั้งเรื่องจริงและเรื่องไม่จริง อย่างมากก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่าข่าวที่ออกมานั้นไม่จริง และไม่จริงอย่างไร ส่วนจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะสังคมประชาธิปไตย สิ่งที่มีค่าที่สุด คือ เสรีภาพในการพูดในพื้นที่กลาง ที่มีการแข่งขันของข้อมูลข่าวสาร ประชาชนมีวิจารณญาณ เมื่อมีการตอบโต้กันไปมา ประชาชนก็ฟังและใช้สมองกลั่นกรองว่าอะไรน่าฟังและอะไรน่าเชื่อถือ และบทสนทนาไม่มีที่สิ้นสุด
"คอนเซ็ปต์ศูนย์ต้านเฟกนิวส์เป็นโมเดลของรัฐบาลเผด็จการ คนดีๆ เขาไม่ทำกัน" คำ ผกา ระบุ และว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมีนัยของโฆษณาชวนเชื่อของการทำสงครามข่าวสาร ถ้ายึดมั่นเสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการพูด ก็จะไม่ใช้คำว่า ศูนย์ต้านข่าวปลอม หรือศูนย์ข่าวปลอม เพราะเป็นสารตั้งต้นของกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เรื่องที่ไม่เป็นความจริงเป็นหน้าที่ของโฆษกพรรค ไม่ใช่ตั้งศูนย์ต้านข่าวปลอม ไม่ต้องอินสติติวชันนาไลซ์ (institutionalized คือ การจัดตั้งสถาบัน)
"ไม่ได้บอกว่าพรรคก้าวไกลมีเจตนาที่ไม่ดี แต่เป็นการสะกิดเตือนว่า บางทีเราอาจจะไม่เอาแบรนด์ หรือไม่เซนส์ซิทีฟกับการใช้คำเหล่านี้ ซึ่งมันมีนัยเครื่องมือทางการเมืองที่เผด็จการใช้ปิดปากประชาชนมาก่อน" คำ ผกา ระบุ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 มี.ค. นายกรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงเปิดตัวแพลตฟอร์มเว็บไซต์ "ศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอม" ของพรรคเพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนและสมาชิกพรรคก้าวไกลได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าสิ่งใดคือสิ่งที่พรรคก้าวไกลพูดหรือไม่ได้พูด เพื่อรับมือข่าวปลอมจำนวนมากที่สร้างความสับสนแก่ประชาชนทั้งในช่วงที่ผ่านมาและที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง