xs
xsm
sm
md
lg

จาก “ศาลาเฉลิมไทย” สู่ “ลานเจษฎาบดินทร์”! ไม่มีสิทธิ์แต่มีความเหมาะสมขึ้นครองราชย์!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



หัวมุมถนนราชดำเนินกลางด้านผ่านฟ้าฝั่งป้อมมหากาฬ ปัจจุบันเป็น “ลานเจษฎาบดินทร์” เดิมเป็นโรงมหรสพใหญ่มีชื่อว่า “ศาลาเฉลิมไทย” ซึ่งเป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ และเป็นส่วนหนึ่งของอาคารชุดริมถนนราชดำเนินนอก ด้วยจุดประสงค์จะให้เป็นโรงละครแห่งชาติ แต่ต้องหยุดชงักลงเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถูกใช้เป็นโกดังสินค้าขององค์การจัดการสินค้า หรือ อ.จ.ส. และโดนระเบิดลงกลางโรงจนถูกทิ้งร้าง

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในกรุงเทพฯมีแต่ภาพยนตร์ญี่ปุ่นฉายซ้ำซาก จึงมีผู้นำละครชายจริงหญิงแท้มาเปิดแสดงที่ศาลาเฉลิมกรุง ประสพความสำเร็จด้วยดีจึงมีคณะละครเกิดตามมาอีกหลายคณะ เริ่มด้วย “คณะละครวิจิตรเกษม” “ศิวารมย์” “อัศวินภาพยนตร์และการละคร” และขยายไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน เยาวราชด้วย

ในปี ๒๔๙๑ บัณฑูรณ์ องค์วิศิษฐ์ เจ้าของคณะละครวิจิตรเกษมผู้เริ่มละครชายจริงหญิงแท้ ต้องการจะมีโรงละครเป็นของตนเอง จึงติดต่อขอเช่าศาลาเฉลิมไทยที่ถูกทิ้งร้างมาปรับปรุงเป็นโรงละครแห่งใหม่ ประเดิมด้วย “ราชันย์ผู้พิชิต” ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ จากบทประพันธ์ของ “อิงอร” กำกับการแสดงโดย “แก้วฟ้า” นำแสดงโดย ฉลอง สิมะเสถียร และรองนางสาวไทย เรณู พิบูลภานุวัฒน์ แต่หลังจากนั้นไม่นานบัณฑูรณ์ผู้บุกเบิกก็ขายหุ้นเฉลิมไทย ไปบุกเบิกย่านบันเทิงแห่งใหม่ที่วังบูรพาภิรมย์ เป็นศูนย์การค้าและมีโรงภาพยนตร์ถึง ๓ โรง คือ คิงส์ ควีนส์ และแกรนด์

ศาลาเฉลิมไทยเปิดเป็นโรงละครจนถึงปี ๒๔๙๖ หลังสงครามโลก การละครก็ซบเซาลงเพราะมีภาพยนตร์เข้ามามากและถูกใจคนดูมากกว่า เลยปรับเป็นโรงภาพยนตร์ นอกจากโดดเด่นด้วยการนำภาพยนตร์อเมริกันดังๆมาหลายเรื่องมาฉายแล้ว ยังโด่งดังที่นำ ป๊อบคอร์น หรือข้าวโพดคั่ว และไอศกรีมตราเป็ดโดนัลด์ดั๊ก มาเปิดเป็นร้านสำหรับคนดูขณะรอเข้าโรงด้วย
 
แต่แล้วศาลาเฉลิมไทยก็ร่วงโรยไปอีก เมื่อแหล่งบันเทิงได้ย้ายไปชุมนุมที่สยามสแควร์ และหนักไปกว่านั้นเริ่มมีคนมองเห็นกันว่า อาคารเทอะทะของศาลาเฉลิมไทยบดบังโบราณสถานที่สำคัญ คือ โลหะปราสาท ซึ่งเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลก อยู่ในบริเวณวัดราชนัดดา คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ได้เสนอต่อรัฐบาลขอปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณวัดราชนัดดาให้เป็นที่โล่ง เปิดให้เห็นโบราณสถานที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ รวมทั้งขอใช้สถานที่นี้สร้างเป็นพลับพลาที่ประทับสำหรับต้อนรับพระราชอาคันตุกะและประมุขของต่างประเทศที่มาเยือน ถือเป็น “ประตูเมือง” ของแขกบ้านแขกเมืองที่เข้าสู่ “หัวแหวน” ของกรุงรัตนโกสินทร์

เหล่านักแสดงที่เคยโลดเต้นอยู่บนเวทีศาลาเฉลิมไทย ได้จัดละครเป็นการอำลาศาลาเฉลิมไทยในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ ด้วยเรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” เป็นการปิดฉากศาลาเฉลิมไทย
 
จุดเด่นที่สุดของลานเจษฎาบดินทร์ก็คือ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนาวัดราชนัดดาและโลหะปราสาท เป็นพระบรมรูปขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประทับพระที่นั่งบนแท่นฐานหินอ่อนรองรับ ๒ ชั้น และมีพลับพลาโถงจัตุรมุขที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อต้อนรับพระราชอาคันตุกะ พร้อมศาลารายสำหรับผู้เฝ้ารับเสด็จและร่วมพิธี ๓ หลัง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิด ในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๓๓ ซึ่งตรงกับวันขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติจากเจ้าจอมารดาเรียม ธิดาผู้ว่าราชการเมืองนนทบุรี ขณะที่พระราชบิดาดำรงพระอิสริยศที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระองค์จึงมีสกุลยศชั้นหม่อมเจ้า พระนามว่า “หม่อมเจ้าชายทับ” เมื่อสมเด็จพระราชบิดาได้รับอุปราชาภิเษกขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๑ พระองค์จึงมีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทับ เมื่อพระราชบิดาขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๒ พระองค์จึงได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ ต่อมาจึงได้ทรงกรม เป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กำกับราชการกรมท่าซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจ ดูแลทั้งด้านการคลังและการต่างประเทศ จัดสำเภาไปค้าขาย ทั้งต้องดูแลกรมพระตำรวจ กลาโหม และการตัดสินคดี ราชการทุกกรมกองจึงอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์
ในปี พ.ศ.๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯประชวรหนัก ขณะนั้น เจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ซึ่งมีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ มีพระชนมายุ ๒๐ ปีพอดี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯจึงรับสั่งให้เจ้าฟ้ามงกุฎรีบทรงผนวชอย่างเร่งรัด ไม่ต้องดูฤกษ์ยาม ไม่ต้องมีพิธีตรีตรองตามราชประเพณี

หลังจากเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชได้เพียง ๗ วันพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯก็ประชวรหนักจนไม่รู้สึกพระองค์ และเสด็จสวรรคตในอีก ๘ วันต่อมา ตามกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยาที่นำมาชำระในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ระบุไว้เพียงกว้างๆว่า “ราชกุมารที่เกิดด้วยพระอัครมเหสี เป็นสมเด็จหน่อพุทธเจ้า” แต่ในรัชกาลที่ ๒ แม้จะจะทรงมีชายาเป็นเจ้าฟ้า แต่ก็มิได้ทรงแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ดังนั้นการเลือกผู้ดำรงราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์จึงต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการ ดังนั้นจึงมีการอาราธนาพระสังฆราชและพระบรมวงศานุวงศ์มาร่วมปรึกษาหารือ ที่ประชุมมีความเห็นพร้อมกันให้อัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระชนมายุ ๓๗ พรรษา ขึ้นครองราชย์ในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๖๗
 
การถ่ายทอดราชบัลลังก์ในครั้งนี้จึงเป็นความเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่าจะเป็นธรรมเนียมประเพณี แต่ก็ทำให้การบริหารราชการดำเนินต่อไปโดยไม่สะดุด

ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎที่ทรงผนวช ได้รับพระฉายา “วชิรญาณภิกขุ” เรียกกันว่า “ทูลกระหม่อมพระ” ทรงมุ่งมั่นในพระศาสนา ตลอดรัชกาลที่ ๓ เป็นเวลา ๒๗ ปีเสด็จธุดงค์ไปในที่ต่างๆทั้งป่าเขาและชนบทไกล ได้ทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างใกล้ขิด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการในเวลาต่อมา เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วก็ยังเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆอย่างน้อยปีละ ๑ เดือนตลอดรัชกาล นับเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงเปลี่ยนสถานะจากนักรบมาเป็นนักปกครอง

ในระยะนั้นมีชาวตะวันตกเข้ามาเมืองไทยกันมากขึ้น “ทูลกระหม่อมพระ” ก็มีความสัมพันธ์กับชาวตะวันตกหลายคน โดยเฉพาะสังฆราช ฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัว เจ้าอธิการวัดคอนเซปซิออง หรือวัดบ้านเขมร ซึ่งอยู่ติดกับวัดราชาธิวาสที่ทูลกระหม่อมพระเป็นเจ้าอาวาส ไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนความรู้กันเป็นประจำ

ในสมัยที่ทูลกระหม่อมพระมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ได้ทรงเปิดการเรียนภาษาอังกฤษขึ้น โดยขอให้มิชชันนารีอเมริกันเป็นผู้สอน มีคนหนุ่มหัวใหม่มาเรียนด้วยหลายคน คนเหล่านี้เมื่อศึกษาจนอ่านออกเขียนได้แล้ว ก็สั่งตำราต่างประเทศเข้ามาศึกษา ทำให้มีวิทยาการใหม่ๆเกิดขึ้น ส่วนทูลกระหม่อมพระก็ทรงเปิดโลกด้วยการสั่งหนังสือพิมพ์ของยุโรปมาอ่าน แม้การขนส่งขณะนั้นจะใช้เวลาเป็นเดือนทำให้ข่าวล่าไปมาก แต่ก็ทรงทราบได้ว่าพายุของการล่าอาณานิคมกำลังโหมมาทางตะวันออกอย่างแรง จึงทรงเตรียมการรับมือได้เมื่อขึ้นครองราชย์

การเปลี่ยนรัชกาลในครั้งนี้จึงเป็นการเหมาะสมกับสถานการณ์ และเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อทรงขึ้นครองราชย์แล้วก็ยังตระหนักดีว่า สิทธิ์แห่งการสืบทอดราชบัลลังก์นั้นยังอยู่กับพระราชโอรสที่ประสูติจากสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ ตลอดรัชกาลของพระองค์จึงไม่มีพระราชโอรสพระราชธิดาองค์ใดได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเลย แตกต่างจากรัชกาลต่างๆ ฉะนั้นเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๓ เจ้าฟ้าที่มีสิทธิ์ในการสืบราชบัลลังก์ก็คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาต่างๆ เช่น ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ถวายพระราชสมัญญาว่า “พระมหาเจษฎาราชเจ้า” และยังได้รับการถวายพระราชสมัญญาอื่นๆจากคณะรัฐมนตรีอีก เช่น “พระบิดาแห่งการค้าไทย” “พระบิดาแห่งการพาณิชย์นาวีไทย” “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย”

ในวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๕ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ ๓๑ มีนาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันระลึกถึงพระมหาเจษฎาราชเจ้า หรือ “วันเจษฎาบดินทร์”




กำลังโหลดความคิดเห็น