“สนธิ” ถอดรหัสกรณี “สี จิ้นผิง” พบ “ปูติน” เป็นการรุกทางการทูตครั้งใหญ่ของจีน ประกาศชนตะวันตก แบบแรงมาก็แรงไป พร้อมจับมือรัสเซียลุย ทลายอิทธิพลขั้วอำนาจเดียวที่ครอบงำโดยชาติตะวันตก รุกเพิ่มบทบาทบนเวทีโลก ปลดชนวนความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ยุโรป และตะวันออกไกล ชี้หากสำเร็จเป็นรุ่งอรุณใหม่ของโลก
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการเยือนรัสเซียของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีภาพประวัติศาสตร์เกิดขึ้น โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยืนคุยกับนายวลาดิมีร์ ปูติน ว่า ณ วันนี้ กำลังมีการเปลี่ยนแปลง เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เราไม่ได้พบเห็นมาเป็นร้อยปี เราคือผู้ที่กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยกัน แล้วสี จิ้นผิง ก็ยื่นมือไปจับมือกับปูติน
ภาพและประโยคสนทนาดังกล่าว ถูกบันทึกไว้โดยบังเอิญ ภายหลังงานเลี้ยงอาหารค่ำที่กรุงมอสโก วันอังคารที่ 21 มีนาคม 2566 ซึ่งจะถูกบันทึกเอาไว้หน้าประวัติศาสตร์โลกไปอีกนานแสนนาน ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งของความพลิกผันและการเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจที่จะขับเคลื่อนและสร้างความสมดุลทางอำนาจของโลกต่อไปในอนาคต
สัญญาณของการทูตยุคใหม่ของจีนที่ไร้ซึ่งความไม่เกรงอกเกรงใจชาติตะวันตก เกิดขึ้นภายหลัง หลังจากการประชุม 2 สภา ที่เรียกว่า เหลียงฮุ่ย ซึ่งปีนี้ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-13 มีนาคม ที่ผ่านมา
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเผชิญหน้าของสองมหาอำนาจใหม่ อเมริกา และ จีน ในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร ที่อเมริกามองจีนเป็นภัยคุกคาม ทำให้อเมริกาตั้งนโยบายปราบปรามและกักกันจีน ล้อมจีนเอาไว้ ใช้ยุทธศาสตร์กักกัน ปิดล้อม โจมตี ทำลายสถานะจีน ล่าสุดหาทางพยายามคว่ำบาตรและยึดทรัพย์จีน โดยพยายามตั้งธงยัดข้อกล่าวหาว่าจีนกำลังส่งอาวุธให้รัสเซีย ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้น
การกระพือข่าวสร้างแรงกดดันดังกล่าวของสหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกทำให้เกิดปฏิกิริยาย้อนกลับ โดยกลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ไม่เคยมีเกิดขึ้นมาก่อน
ผู้นำจีนเปิดศักราชใหม่ ฟาดกลับสหรัฐฯ แรงมา-แรงไป
ในวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม หลังจากการประชุมสภา มีเหตุการณ์สำคัญมาก สี จิ้นผิง ออกมาตำหนิสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมา เป็นครั้งแรก ว่า "ชาติตะวันตกซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ได้ใช้นโยบายสกัดกั้น ปิดล้อม และปราบปรามจีนในทุกทาง ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายอย่างรุนแรงต่อการพัฒนาของจีนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน"
นัยของคำพูดนี้แรงมาก เป็นครั้งแรก ประธานาธิบดีจีนพูดชัดเจนว่าตะวันตก นำโดยอเมริกา มาปิดล้อม ปิดกั้นจีน กลั่นแกล้งจีนทุกเรื่อง
จากแรงกดดันของอเมริกาและชาติตะวันตกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ปลุกพลังจิตวิญญาณและอุดมการณ์ เรียกร้องให้เอกชนผนึกกำลังกับพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันลุกขึ้นสู้ ว่า จีนต้องมีความกล้าหาญจะต่อสู้โดยการสร้างนวัตกรรม ลดการพึ่งพาต่างประเทศ สร้างเอกราชทางเทคโนโลยี ทำให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี
สี จิ้นผิง พูดว่า “ผมเน้นย้ำว่า มี 2 สาขาที่สำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับจีน หนึ่ง คือการปกป้องถ้วยข้าวของเรา และสอง คือการทำให้ภาคการผลิตแข็งแกร่ง ในฐานะชาติที่มีขนาดใหญ่ มีประชากร 1,400 ล้านคน จีนต้องพึ่งตัวเอง ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ มันจะทำให้จีนปลอดภัยและได้รับชัยชนะในการต่อสู้ครั้งใหม่ ภาคเอกชนถือเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยให้พรรคคอมมิวนิสต์สามารถบริหารประเทศต่อไปในระยะยาวได้ เราถือว่าบริษัทและผู้ประกอบการเอกชนคือคนของเรา”
สี จิ้นผิง ให้คำมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ นั่นคือการนำจีนกลับคืนสู่แถวหน้าของมหาอำนาจ ปักกิ่งจะเดินหน้าปัญหาไต้หวันอย่างสันติ อย่างแข็งขัน แต่จะผลักดันกระบวนการรวมชาติมาตุภูมิอย่างไม่หยุดยั้ง
สี จิ้นผิง บอกว่า การฟื้นฟูครั้งใหญ่ของจีนในตอนนี้เป็นกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หลังจากการต่อสู้อย่างยาวนานมากว่าศตวรรษ ที่ได้ลบล้างความอัปยศอดสูของประเทศจีน
“สี-ปูติน” ส่งสัญญาณพร้อมจับมือลุย ทลายอิทธิพลกลุ่มโลกขั้วอำนาจเดียว
นอกจากนี้ ก่อนจะเดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการในวันที่ 20-22 มีนาคม สี จิ้นผิง เขียนบทความซึ่งถูกเผยแพร่ลงในสื่อของรัสเซีย เนื้อหาในบทความ สี จิ้นผิง ระบุว่า กระแสของประวัติศาสตร์ที่มิอาจหยุดยั้ง และจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน สิ่งนั้นคือโลก ซึ่งจะประกอบด้วยอำนาจหลายขั้ว จะมีสันติภาพ มีการพัฒนา ตลอดจนมีความร่วมมือที่ก่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
นอกจากนั้น เขายังตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้โลกกำลังเผชิญปัญหาท้าทายด้านความมั่นคง ทั้งในรูปแบบที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม และในรูปแบบใหม่ รวมถึงการเผชิญกับพฤติกรรมความเป็นเจ้าโลก การครอบงำและการกลั่นแกล้ง ในขณะที่นานาประเทศกระตือรือร้นค้นหาหนทางการร่วมมือเพื่อก้าวพ้นจากวิกฤตการณ์นี้ และพยายามก้าวไปสู่เส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยืดยาวและต่อเนื่อง
ซึ่งความระหว่างบรรทัดของคำพูดของสี จิ้นผิง คือการเปิดหน้าชกกับอเมริกา และบรรดาชาติพันธมิตรตะวันตก
สำนักข่าวอาร์ทีของรัสเซียระบุว่า การแสดงความเห็นของผู้นำจีน เท่ากับเป็นการไม่ยอมให้ชาติใดชาติหนึ่ง มาบงการระเบียบกติการะหว่างประเทศ การประกาศเรื่องการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกอำนาจหลายขั้วครั้งนี้ เพื่อปลดปล่อยจากการครอบงำของอเมริกา โดยความเห็นของผู้นำจีนมีขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างจีนและอเมริกา เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางยูเครน
การที่อเมริกาเข้ามาแทรกแซงอธิปไตยของจีนเหนือไต้หวัน โดยจีนต่อต้านแรงกดดันจากตะวันตกที่ต้องการให้จีนประณามรัสเซียกรณีวิกฤตยูเครน แต่จีนยังคงวางตัวเป็นกลาง มิหนำซ้ำยังเสนอแผนสันติภาพ 12 ข้อ แต่ถูกสหรัฐฯ ปฏิเสธ
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ก็เขียนบทความชิ้นหนึ่ง ซึ่งทำเนียบเครมลินได้เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม ก่อนที่สี จิ้นผิง จะไปถึง ปูติน กล่าวยินดีที่จีนเข้ามามีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการยุติวิกฤตการณ์ยูเครน พร้อมกับระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียกระชับแน่นแฟ้นถึงจุดสูงสุด พร้อมกับรู้สึกขอบคุณที่ปักกิ่งวางตัวเป็นกลาง ตลอดจนเข้าใจเบื้องหลังและเหตุผลที่แท้จริงของวิกฤตการณ์ยูเครน
ปูติน กล่าวย้ำในบทความว่า รัสเซียพร้อมจะยุติวิกฤตการณ์ยูเครนด้วยหนทางทางการเมืองและการทูต อย่างไรก็ตาม ยูเครนต้องยอมรับความจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่
ลึกๆ ก็คือว่า จะมาเรียกร้องดินแดนทางภาคตะวันออกยูเครน ด้านดอนบาสคืน ไม่ได้ และไครเมียเป็นของรัสเซีย
นอกจากท่าทีที่ชัดเจนของผู้นำทั้งสองชาติแล้ว ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 7 มีนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของจีน นายฉิน กัง อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐอเมริกา ผู้ได้รับฉายาจากสื่อตะวันตกว่าเป็นนักรบหมาป่า เขาเรียกว่า Wolf Warrior ออกมาประสานเสียงกับนายสี จิ้นผิง ด้วยการออกมาตอบโต้สหรัฐฯ ชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน
นายฉิน กัง ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโจ ไบเดน ใช้นโยบายที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมและปราบปรามจีนทุกด้าน ซึ่งขับเคลื่อนโดยสิ่งที่เขาเรียกว่าลัทธินีโอแมคคาร์ธี ที่ใส่ร้ายป้ายสี หรือลัทธิไล่ล่าผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น กลับมาสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี
ฉิน กัง ระบุว่า เราหวังว่ารัฐบาลอเมริกาจะรับฟังเสียงประชาชนทั้งสองประเทศ ขจัดความกังวลเชิงกลยุทธ์ เกี่ยวกับการขยายตัวของการคุกคาม ละทิ้งแนวคิดยุคสงครามเย็นที่ต้องมีผู้แพ้ ผู้ชนะ เพียงหนึ่งเดียว ปฏิเสธที่จะถูกบีบบังคับด้วยความถูกต้องทางการเมือง
เมื่อถูกถามว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจีน-อเมริกา ยังไปได้หรือไม่ ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศ ฉิน กัง พูดโดยอ้างคำกล่าวของนายโจ ไบเดน ขณะแถลงนโยบายและผลงานประจำปี State of the Union ว่า อเมริกาถือว่าจีนเป็นคู่แข่งหลักและเป็นความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มากที่สุด แต่นี่ไม่ได้ต่างจากการกลัดกระดุมเม็ดแรกที่ผิด หากอเมริกาไม่เหยียบเบรก และยังคงตะลุยแหลกไปตามเส้นทางที่ผิด ราวกั้นจำนวนมากเท่าใดก็ไม่สามารถหยุดยั้งไม่ให้รถไฟที่อเมริกาเป็นคนขับนั้นตกรางและเกิดพลิกคว่ำได้ ดังนั้น มันจะต้องเกิดความขัดแย้งและเผชิญหน้า ประเด็นคือ เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาแล้ว หายนะเกิดขึ้นมา ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ
ประเด็นซึ่งสร้างความร้าวฉานพร้อมสถานการณ์ความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงระหว่างอเมริกา-จีน เกิดขึ้นแบบรัวๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น การจุดประเด็นสงครามการค้าตั้งแต่สมัยโดนัลด์ ทรัมป์ ประเด็นกล่าวหาว่าห้องทดลองชีวภาพจีนในเมืองอู่ฮั่นเป็นต้นตอการปล่อยเชื้อไวรัสโควิด-19 จนก่อให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก
เดือนที่แล้วอเมริกายิงขีปนาวุธใส่บอลลูนตรวจสภาพอากาศของจีน ถูกบิดเบือนว่าเป็นบอลลูนสอดแนมของจีน ล่าสุด คือการปล่อยข่าวอย่างหนักหน่วงว่าจีนกำลังพิจารณาจัดหาอาวุธร้ายแรงให้แก่รัสเซีย
ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดย่อมหนีไม่พ้นกรณีไต้หวัน รัฐมนตรีฉิน กัง ชี้ว่า เรื่องไร้สาระของเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ ที่แทรกแซงเรื่องไต้หวัน ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน ส่งผลโดยตรงให้สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียร้อนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปล่อยให้นางแนนซี เพโลซี ระหว่างดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนไต้หวันเมื่อต้นสิงหาคม 2565
ฉิน กัง บอกว่า เราจะทำงานต่อไปด้วยความจริงใจที่สุด และพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดการรวมชาติอย่างสันติ ขณะเดียวกัน เราขอสงวนทางเลือกในการใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมด
ส่วนกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย กับ ยูเครน นายฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าวว่า จีนไม่ได้เป็นคนสร้างวิกฤต ไม่ได้จัดหาอาวุธให้ทั้งสองฝ่าย แต่มีมือที่มองไม่เห็นกำลังขับเคลื่อนวิกฤตยูเครนให้ยืดเยื้อบานปลาย เพื่อสนองตัณหาทางการเมืองบางอย่าง พร้อมตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า ทำไมสหรัฐฯ ถึงขอจีนไม่ส่งอาวุธให้รัสเซีย ขณะที่อเมริกายังขายอาวุธให้ไต้หวันอย่างไม่หยุดหย่อน นี่คือความหน้าไหว้หลังหลอกของอเมริกานั่นเอง
จีนรุกคืบทางการทูต ขยายบทบาทในตะวันออกกลาง รัสเซีย-ยูเครน ถึงไต้หวัน
เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566 ที่กรุงปักกิ่ง ผู้แทนของประเทศอิหร่าน คือนายอาลี ซัมคานี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่าน (คนขวามือในรูป) และนายมูซาด บิน มุฮัมหมัด อัล-ไอบัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย และ นายหวัง อี้ (คนกลาง) ประธานคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์แห่งศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เราจะเห็นได้ว่าบทบาททางการทูตของจีนมีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างสำคัญของโลก และจะเป็นปฐมบทของอวสานของยุคสมัยการชี้่นำโลกของมหาอำนาจชาติตะวันตก
การทูตของจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ?
ภายหลังการประชุม 2 สภาของจีน เราได้เห็นการรุกคืบของทูตจีนอย่างชัดเจน
การฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างซาอุดีอาระเบีย กับ อิหร่าน สองคู่ปรับสำคัญในภูมิภาคตะวันออก จีนทำหน้าที่เป็นคนประสานและเจรจา
นอกจากนี้แล้ว ระหว่างการเดินทางไปเยือนรัสเซียของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังมีการหารือเรื่องข้อเสนอสันติภาพยูเครน ซึ่งชาติตะวันตก โดยการนำของกลุ่ม G7 พยายามดำเนินการขัดขวางทุกวิถีทาง ระหว่างที่สี จิ้นผิง ไปพบกับวลาดิมีร์ ปูติน เพื่อหารือเรื่งอข้อเสนอสันติภาพ ทางกลุ่ม G7 ก็พยายามแก้เกมด้วยการส่งนายคิชิดอะ ฟูมิโอะ เปลี่ยนกำหนดการบินด่วนจากอินเดียไปพบนายเซเลนสกี ณ กรุงเคียฟ เพื่อล็อบบี้ไม่ให้ยูเครนคล้อยตามไปกับแผนสันติภาพของจีน
หลังจากนี้ อดีตประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ของไต้หวัน ก็จะเดินทางเยือนจีน ตามมาด้วยประธานาธิบดีลูลา-ดาซิลวา ของบราซิล ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แอมานูแอล มาครอง ก็มีกำหนดการจะเดินทางไปประเทศจีนในเดือนหน้า
ถ้าปักหมุดเส้นทางการทูตของจีนจะเห็นได้ว่า ภายใน 2 เดือน จีนมีปฏิสัมพันธ์ทางการทูตอย่างคึกคักและทั่วภูมิภาคของโลก ตั้งแต่ตะวันออกกลาง มาถึงรัสเซีย ไต้หวัน อเมริกาใต้ และยุโรป ซึ่งการเดินหมากแต่ละขั้นแต่ละตอนจะเห็นได้ชัดว่ามีการเตรียมการและไตร่ตรองโดยละเอียด โดยจีนนำเสนอรูปแบบความร่วมมือและระเบียบโลกใหม่ที่แตกต่างกว่าชาติตะวันตก นั่นคืออเมริกากำลังเดินหมากรุก แต่จีนกำลังใช้หมากล้อม
การเดินหมากล้อมแต่ละตาของจีนน่าสนใจ และมีความลึกซึ้งอย่างไรบ้าง
หนึ่ง การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุดีอาระเบีย เพื่อยุติศึกในตะวันออกกลาง
วันที่ 10 มีนาคม 2566 ทางการจีนออกประกาศแถลงการณ์ร่วม 3 ประเทศ คือ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และ จีน โดยประกาศว่า ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน จะฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ภายใน 2 เดือน จะเปิดสถานทูตและองค์การผู้แทนระหว่างกัน และจะแต่งตั้งเอกอัครราชทูต เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี
การเจรจามีกัน 3 ฝ่าย ที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 6-10 มีนาคม นายอาลี ซัมคานี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่าน นายมูซาด บิน มุฮัมหมัด อัล-ไอบัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย และ นายหวัง อี้ ประธานคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์แห่งศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน
เรื่องนี้จีนปกปิดเป็นความลับอย่างดีมาก ผู้สื่อข่าวที่ร่วมงานข่าวการประชุม 2 สภา ที่กรุงปักกิ่ง ไม่มีใครล่วงรู้มาก่อน จนกระทั่งกลางดึกของวันที่ 10 มีนาคม 2566
การฟื้นคืนความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอิหร่าน กับซาอุดีอาระเบีย ถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญมากในการคลี่คลายความขัดแย้งทั้งสองภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะว่าสองชาติเป็นผู้นำมุสลิมฝ่ายชีอะฮ์ และซุนหนี่ แย่งชิงอำนาจกันในตะวันออกกลางมาเป็นเวลานานแล้ว
ซาอุดีอาระเบียกลัวว่าอิหร่านจะขยายขอบเขตการปฏิวัติอิสลามไปประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และอาจจะคิดที่จะล้มล้างราชวงศ์ซาอุด ที่ซาอุดีอาระเบีย หลังจากสองชาติยุติความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 2559 มีการทำสงครามตัวแทนที่เลบานอน อิรัก ซีเรีย เยเมน จนถึงอัฟกานิสถาน
ความสำเร็จของจีนที่เป็นตัวกลางในการเจรจาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างอิหร่าน กับ ซาอุดีอาระเบีย ทำให้อเมริกาเสียหน้ามาก
โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติอเมริกาออกมาแก้เกี้ยวว่า การเจรจาครั้งนี้ไม่ใช่ความสำเร็จครั้งใหญ่ แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเจรจาครั้งก่อนหน้าที่อิรัก และโอมาน
สหรัฐฯ มีบทบาทในตะวันออกกลางอย่างมาก ตั้งแต่สงครามในอิรักเมื่อ 20 ปีก่อน นอกจากนี้ อเมริกายังมีเบื้องหลังขบวนการอาหรับสปริง ที่ทำให้ประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางเผชิญความวุ่นวายจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง
ซาอุดีอาระเบียเป็นพันธมิตรที่สำคัญของอเมริกา ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่วนอิหร่านถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรมาอย่างต่อเนื่อง จากโครงการพัฒนานิวเคลียร์ แต่สหรัฐฯ กลับไม่ได้มีบทบาทใดๆ ในการเจรจาสันติภาพของทั้งสองประเทศ เพราะว่ายิ่งสองประเทศมีความขัดแย้งมากเท่าไร อเมริกาจะเป็นผู้ที่ตักตวงผลประโยชน์จากความขัดแย้งนี้
เพราะฉะนั้นแล้ว ความสำเร็จในการเจรจาฟื้นสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน ทำให้จีนถูกจับตาว่า เป็นแบบอย่างสำคัญความขัดแย้งอื่นๆ ด้วยหรือไม่ เช่น ปัญหาปาเลสไตน์ พื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างหลายชาติอาเซียนกับจีน และที่ถูกกล่าวขวัญมากที่สุดคือ สงครามรัสเซีย และ ยูเครน
สหรัฐฯ กลับกลอกหนุน ICC ออกหมายจับปูติน
กรณีศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ(ICC) ได้ออกหมายจับวลาดิมีร์ ปูติน และสหรัฐฯ ออกมาสนับสนุนการออกหมายจับดังกล่าว ทำให้เห็นได้ชัดว่า ตัวการป่วนโลกที่หน้าด้านที่สุด และกลับกลอก หน้าไหว้หลังหลอกที่สุดก็คืออเมริกา
ตอนที่สี จิ้นผิง เดินทางไปรัสเซียเมื่อวันที่ 20-22 มีนาคม เพื่อพบวลาดิมีร์ ปูติน ก่อนหน้าที่ผู้นำจีนจะแวะไปไม่กี่วัน ศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับประธานาธิบดีปูติน ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม อ้างว่า ผู้นำรัสเซียสั่งให้มีการโยกย้ายประชาชนและเด็กออกจากพื้นที่ครอบครองในยูเครนไปยังรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย การออกหมายจับปูติน
ศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นเป็นเหมือนเสือกระดาษ นายดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตผู้นำรัสเซีย บอกว่าหมายจับของ ICC เหมือนกระดาษเช็ดก้น สะท้อนให้เห็นความย้อนแย้ง เพราะทั้งรัสเซีย ยูเครน และอเมริกา ไม่ได้เป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ
มิหนำซ้ำ มีหลายกรณีในอดีต อเมริกาแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์กับ ICC ยกตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีจอร์จ บุช เคยลงนามในกฎหมายเพื่อปกป้องทหาร เจ้าหน้าที่ นักการเมืองสหรัฐฯ ไม่ให้ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ
ในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยิ่งหนักข้อมาก ขู่ว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและระงับวีซ่าคณะผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ ICC ที่สืบสวนเรื่องอาชญากรรมที่ทหารสหรัฐฯ กระทำในอัฟกานิสถาน นอกจากนั้น ยังขู่ขยายการคว่ำบาตรไปกว่า 120 ประเทศภาคีของ ICC ที่ร่วมมือสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอเมริกาด้วย
นายวิลเลียม บาร์ อัยการสูงสุดของอเมริกา ก็เคยอ้างว่า รัฐบาลอเมริกาเคลือบแคลงในความเที่ยงตรงของ ICC กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน การมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ICC ที่มีมาอย่างยาวนาน
นอกจากนั้น อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นายไมก์ ปอมเปโอ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสตีเวน มนูชิน อดีตรัฐมนตรีคลัง นายวิลเลียม บาร์ อัยการสูงสุด และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกาหลายคน ถูกกลุ่มทนายความด้านสิทธิมนุษยชนในอเมริกา ฟ้องร้องต่อศาล ICC ว่า รัฐบาลทรัมป์ ออกคำสั่งละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และขัดขวางการแสวงหาความยุติธรรมให้กับเหยื่อในสงครามอัฟกานิสถาน
“ชัดเจนไหมว่าอเมริกานั้นต้องตกเป็นจำเลยในศาลอาญาระหว่างประเทศ อเมริกาก็ไม่ยอมรับ ข่มขู่คว่ำบาตร อ้างว่า ICC เป็นองค์กรไม่น่าเชื่อถือ แต่พอมาถึงประธานาธิบดีปูติน ก็ถูกออกหมายจับ ตัวอเมริกาเองซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกภาคี ทะลึ่งเรียกร้องประชาคมโลก ร่วมมือจับปูตินไปดำเนินคดี ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะรัสเซียไม่ได้เป็นภาคีของ ICC แต่สะท้อนให้เห็นถึงความหน้าไหว้หลังหลอกของอเมริกา”นายสนธิกล่าว
หมายจับของ ICC อาจทำให้ปูตินยากลำบากในการเดินทางระหว่างประเทศ และผู้นำชาติประชาธิปไตยอาจตะขิดตะขวงใจที่จะพบกับปูติน แต่การที่ผู้นำจีนไปพบผู้นำรัสเซีย แสดงว่าจีนไม่ได้ใส่ใจกับหมายจับจากศาลอาญาระหว่างประเทศเลย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยังวิจารณ์ศาลอาญาระหว่างประเทศว่า สองมาตรฐาน พร้อมเรียกร้องให้เคารพเอกสิทธิ์การคุ้มครองผู้นำประเทศ
ที่น่าสนใจคือ อินเดียจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำ G-20 ในเดือนกันยายน อินเดียจะเชิญปูตินมาประชุมหรือเปล่า ถ้าเชิญมา แสดงว่าชาติประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดอย่างอินเดียก็ไม่ได้แคร์หมายจับของ ICC เช่นกัน
โดยสรุปแล้ว ความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่สี จิ้นผิง บอกว่าเป็นประวัติศาสตร์ในร้อยปีที่เกิดขึ้นมา สี จิ้นผิง ได้รับดาบอาญาสิทธิ์ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำจีนในสมัยที่ 3 ซึ่งไม่มีผู้นำคนใดตั้งแต่สมัยเหมา เจ๋อตุง เคยได้รับอำนาจเช่นนี้มาก่อน เขาจะมีบทบาทอย่างมากในการพลิกผันทิศทางของโลกใบนี้
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จีนที่เคยเก็บเนื้อเก็บตัว จะเดินหน้ารุกคืบทางการทูตอย่างรุนแรงที่สุด ไล่มาตั้งแต่เรื่องการเป็นตัวกลางในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่าน ในตะวันออกกลาง เรื่อยมาจนถึงแผนสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุด อดีตประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ของไต้หวัน ก็จะเดินทางมาเยือนแผ่นดินใหญ่จีน ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม - 7 เมษายน
เรื่องการเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ของหม่า อิง จิ่ว น่าสนใจมาก เพราะเป็นการเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ครั้งแรกของอดีตประธานาธิบดีไต้หวัน ตั้งแต่แบ่งแยกการปกครองมา 74 ปีแล้ว
นี่เท่ากับเป็นการเดินหน้าเป็นผู้นำปลดชนวนความขัดแย้งของโลก 3 จุดสำคัญ หนึ่ง ตะวันออกกลาง จับซาอุดีอาระเบียและอิหร่านมาเป็นเพื่อนกัน สอง ในยุโรป สาม ในตะวันออกไกล หรือเอเชียที่เกี่ยวพันกับจีน คือปัญหาที่เรื้อรังระหว่างจีน กับ ไต้หวัน
“ถ้าจีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ผลักดันทั้ง 3 เรื่องได้สำเร็จ จะถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่จะยุติสงคราม สลายความขัดแย้ง รวมทั้งสามารถจะบั่นทอนอิทธิพลขั้วเดียวของอเมริกาและชาติตะวันตกไว้ได้อย่างมหาศาล ที่สำคัญที่สุด คือแสดงให้เห็นถึงรุ่งอรุณใหม่ของโลกในยุคที่มีการแบ่งสรรปันส่วน เพื่อสร้างความสมดุลทางอิทธิพลของโลกหลายขั้วอย่างเด่นชัด และเป็นรูปธรรมอย่างมากที่สุด”นายสนธิกล่าว