ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์เล่าเรื่องราวสุดประทับใจ เมื่อปะการังตามจุดต่างๆ ที่อุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี งอกออกกันเป็นจำนวนมาก พร้อมขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันดูแล
วันนี้ (25 มี.ค.) เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และและอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ภาพอุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ที่มีปะการังตามจุดต่างๆ งอกกันจำนวนมาก
โดยระบุข้อความว่า "มาพีพีหนนี้ มาเพื่อกรี้ดจริงครับเพื่อนธรณ์ ปะการังตามจุดต่างๆ ที่ดูแลไว้ งอกกันมากมายจนตะลึง เป็นช่วงเวลาที่ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงเยอะมากในรอบวัน ข้อดีคือน้ำสูงก็ดำน้ำดู น้ำแห้งก็สำรวจวิธีอื่น ซึ่งทำให้เราเห็นภาพในมุมกว้างกว่า เหมือนดังภาพนี้ที่นำมาให้เพื่อนธรณ์ดู พุ่มสีน้ำตาลนั่นคือปะการังทั้งนั้น กำลังเติบโตครอบคลุมพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นปะการังตาย
เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นว่าเป็นปะการังเขากวาง/ปะการังกิ่งชนิดต่างๆ แม้ความหลากหลายจะมีไม่มาก แต่ปริมาณนั้นมหาศาลจริงๆ ปะการังเขากวางเป็นที่อยู่ชั้นยอดของปลาสวยงามนานาชนิด โดยเฉพาะปลาผีเสื้อ สลิดหิน ฯลฯ เมื่อพื้นที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ปริมาณและความหลากหลายของปลาก็เพิ่มเติม ยังรวมถึงสัตว์อื่นๆ เช่น กุ้ง/ปูอีกหลายสิบชนิด ในยุคที่โลกร้อนเริ่มส่งผลกับแนวปะการังไทย โดยเฉพาะปะการังในเขตน้ำตื้นที่อ่อนแอลง บางแห่งฟอกขาว การมาเห็นปะการังขยายตัวเป็นดง เป็นความรู้สึกที่ดีจริงๆ
การอนุรักษ์ปะการังน้ำตื้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการนำเรือเข้าหาด/เข้าไปดำน้ำในที่ตื้น อุทยานพีพีจึงกำหนดพื้นที่บางจุดเท่านั้นที่เข้าได้ และต้องมั่นใจว่าตรงนั้นไม่มีปะการัง ยังรวมถึงการจัดทำทุ่นไข่ปลาเพื่อบอกเขตชัดเจนว่า ตรงนี้เรือห้ามเข้าไปนะ! หรือแม้กระทั่งกำหนดเขตสงวนในบางเกาะ ไม่อนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ เพื่อเก็บรักษาเป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ การจัดการอุทยาน/การท่องเที่ยว สำหรับพื้นที่เกาะเล็กๆ ที่มีนักท่องเที่ยวมาปีละเกินล้านคน มาจากหลายสิบชาติภาษา ทุกคนต้องการลงน้ำ ต้องการเห็นปะการัง ต้องการเข้าหาด บอกเลยว่าเป็นงานโคตรหิน
ที่นี่ไม่ใช่อินโดฟิลิปปินส์มัลดีฟส์ที่มีเกาะมหาศาล สามารถจัดสรรคนไปตามเกาะได้ หากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงสักสิบเท่า จะจัดการอะไรก็ทำได้ครับ แต่เมื่อโจทย์ตั้งต้นอยู่ที่เป็นล้าน และไม่สามารถลดลงได้ เพราะเกี่ยวข้องกับวงจรใหญ่ที่ค้ำจุนเมืองไทย เราก็ต้องพยายามให้ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย ดีที่สุดตัดสินตรงไหน ?
ผลลัพธ์คือธรรมชาติจะเป็นตัวบอก บอกเหมือนดังที่ผมเห็นด้วยสายตา แล้วนำภาพมาให้เพื่อนธรณ์ดู นั่นคือสิ่งที่ดีสุดเท่าที่ทำได้ตอนนี้ สักวันเราอาจทำได้ดีกว่านี้ แต่เท่านี้ผมกรี้ดแล้ว ทุกฝ่ายที่ช่วยกัน อุทยาน พี่ๆ ผู้ประกอบการที่น่ารัก นักท่องเที่ยวที่เข้าใจ เพื่อนธรณ์ที่สนับสนุนกันมาตลอด มาบัดนี้ เรามากรี้ดร่วมกันกับพีพีที่ปะการังกำลังงอกครับ"