นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีผู้เสียหายจากหลายจังหวัดร่วม 20 คน ถูกเฟซบุ๊กรายหนึ่งแอบอ้างพาไปทำงานตำแหน่ง พนักงานต้อนรับ ประเทศมัลดีฟส์ รายได้ 80,000-90,000 บาท และตำแหน่งคนงานสวน ประเทศญี่ปุ่น รายได้ 72,000 บาท โดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยวเข้าประเทศ
สุดท้ายถูกหลอกลวงสูญเงินรายละ 50,000-85,000 บาท และเลื่อนการเดินทางออกไปเรื่อยๆ พร้อมบ่ายเบี่ยงไม่คืนเงิน จึงรวมตัวกันเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปคม.เพื่อตรวจสอบดำเนินคดี ซึ่งตนทราบเรื่องแล้วไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งการไปยังอธิบดีกรมการจัดหางานเร่งติดตาม ช่วยเหลือ และร่วมฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนไทยไปทำงานต่างประเทศตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ล่าสุดกรมการจัดหางานตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ทางทะเบียนระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์แล้ว พบว่าสาย-นายหน้ากลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ และไม่ได้จดทะเบียนเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานของผู้รับอนุญาต ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 66 ข้อหา การโฆษณาการจัดหางานไม่เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 91 ตรี ข้อหา "หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
“การไปทำงานประเทศใดต้องเคารพกฎหมายของประเทศนั้น หากสาย-นายหน้ามีพฤติการณ์แนะนำให้ทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นชักชวนทำงานผิดกฎหมาย การลักลอบเข้าประเทศ ใช้วีซ่าท่องเที่ยวไปทำงาน หรือไปทำงานต่างประเทศโดยไม่แจ้งการทำงาน ให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่าท่านกำลังถูกหลอกลวง และโปรดอย่าหลงเชื่อ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมการจัดหางานตรวจสอบ เฝ้าระวัง และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการหลอกลวงคนหางานในทุกช่องทางมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีคนไทยถูกหลอกลวงเรื่อยมา โดยปีงบประมาณ 2566 มีการดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้ว 78 ราย พบการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 197 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจำนวน 15,658,865 บาท จึงเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบโดยมอบหมายให้เวรประจำแต่ละวันจับตาสื่อสังคมออนไลน์ หากพบเห็นผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงบนสื่อสังคมออนไลน์ ชุดเฝ้าระวังจะนำข้อความแจ้งเตือนที่กรมการจัดหางานได้จัดทำขึ้น (แบนเนอร์โฆษณาสื่อออนไลน์) ไปโพสต์โต้ตอบใต้โพสต์ดังกล่าวทันที พร้อมกับประชาสัมพันธ์ข้อแนะนำก่อนตัดสินใจสมัครงาน วิธีการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมี 5 วิธี ได้แก่ บริษัทจัดหางานจัดส่ง กรมการจัดหางานจัดส่ง เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน และนายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่านระบบ e-Service กรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์ doe.go.th หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas หรือที่ Facebook : ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน