xs
xsm
sm
md
lg

“ร้อยเอ็ด” เมืองที่มีร้อยเอ็ดประตู แต่ความจริงมีแค่สิบเอ็ด! เข้ารวมกับไทยสมัยพระเจ้าเอกทัศน์!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นเมืองโบราณมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชื่อนี้หมายถึงมีประตูเมืองถึง ๑๐๑ ประตู แต่ไม่ได้มีประตู ๑๐๐+๑ อย่างที่เข้าใจกันในสมัยนี้ ภาษาอีสานโบราณเขียนเลขสิบเอ็ดว่า ๑๐๑ หมายถึง ๑๐+๑ จึงมีแค่ ๑๑ ประตูเท่านั้น

ตำนานอุรังคธาตุ กล่าวว่า เดิมเมืองร้อยเอ็ดนั้นเป็นเมืองใหญ่ที่รุ่งเรืองมาแต่โบราณ มีชื่อว่าเมือง สาเกต ได้รวบรวมเมืองโดยรอบเข้ามาอยู่ในอำนาจได้ถึง ๑๑ เมือง จึงเรียกกันว่า “เมืองร้อยเอ็ดประตู” หมายถึงประตูที่ไปมาหาสู่กัน ๑๑ เมือง สมัยนั้นเขียนเป็น ๑๐๑

ประตูทั้ง ๑๑ หรือเมืองทั้ง ๑๑ ก็คือ
๑.เมืองเชียงเหียน ปัจจุบันคือ บ้านเชียงเหียน อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
๒.เมืองฟ้าแดด ปัจจุบันคือ บ้านฟ้าแดดสูงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
๓.เมืองสีแก้ว ปัจจุบันคือบ้านสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
๔.เมืองเปือย ปัจจุบันคือ บ้านเมืองเปือย อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
๕.เมืองทอง ปัจจุบันคือ บ้านเมืองทอง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
๖.เมืองหงส์ ปัจจุบันคือ บ้านเมืองหงส์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด
๗.เมืองบัว ปัจจุบันคือ บ้านเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
๘.เมืองคอง ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองสรวงและอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
๙.เมืองเชียงขวง ปัจจุบันคือ บ้านจาน อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
๑๐.เมืองเชียงดี ปัจจุบันคือ บ้านโนนหัว อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
๑๑.เมืองไพ ปัจจุบันคือ บ้านเมืองไพร อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

เนื่องจากเมืองสาเกตเป็นเมืองใหญ่มีเมืองบริวารล้อมรอบ จึงมีระบบควบคุมความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยใช้ ปี่ซาววา ซึ่งมีเสียงก้องไกล แจ้งเหตุร้ายดีให้รู้ได้โดยทั่วถึง
และเนื่องจากเป็นเมืองเก่าแก่มานาน จึงมีการเปลี่ยนผู้ปกครองในแต่ละยุคสมัย ในยุคที่ขอมเรืองอำนาจก็เข้าปกครองเมืองสาเกต รวมเข้ากับอาณาเขตโคตรบูร มีโบราณสถานที่ขอมสร้างไว้ปรากฏอยู่เช่น กำแพงเมืองและสระน้ำที่เมืองเก่า อำเภอพนมไพร และกู่กาสิงห์ ในอำเภอเกษตรวิสัย กับกู่คันธนาม ในอำเภอโพนทราย ซึ่งสร้างในสมัยเดียวกับปราสาทหินพิมาย

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ.๒๒๕๖ เจ้าแก้วมงคล ราชนัดดาของพระไชยเชษฐาธิราช ขณะบรรพชาเป็นพระภิกษุ และเป็นลูกศิษย์ของ พระครูโพนสะเม็ก หรือ “ญาครูขี้หอม” ได้นำผู้คนราว ๓,๐๐๐ คน อพยพลี้ภัยจากเวียงจันทน์ข้ามโขงมาอยู่ที่เมืองทุ่ง บริเวณจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน ต่อมาได้รับแต่งตั้งจากเจ้าผู้ครองนครจำปาสักให้เป็นผู้ปกครองย่านนี้ เจ้าแก้วมงคลจึงลาสิขาบทมาเป็นเจ้าเมืองทุ่ง เมื่อเจ้าแก้วมงคลถึงแก่กรรมบุตรได้ครองเมืองแทน ต่อมาชั้นบุตรและหลานได้แย่งชิงอำนาจกัน ฝ่ายหลานได้เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ หรือ พระเจ้าเอกทัศน์ ทรงส่งข้าหลวงไปเพื่อจะเกลี้ยกล่อมให้อากับหลานสมัครสมานสามัคคีกัน แต่เมื่อกองทัพไทยยกไปใกล้ถึง ฝ่ายอาที่ครองเมืองอยู่ทราบข่าวก็พาครอบครัวหนีไป ข้าหลวงจึงกราบทูลมายังกรุงศรีอยุธยา ขอตั้งหลานเป็นผู้ปกครองเมืองทุ่ง เมืองทุ่งจึงขาดจากนครจำปาสัก มาขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่นั้นมา

ในสมัยกรุงธนบุรี พระยากรมท่ากับพระยาพรหม เห็นว่าเมืองทุ่งมีชัยภูมิไม่เหมาะที่จะเป็นเมืองใหญ่ต่อไป เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเซที่เซาะตลิ่งพังลงไปทุกที และเห็นว่าที่ตำบลดงเท้าสาร ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองทุ่งประมาณ ๑๐๐ เส้นเศษมีชัยภูมิที่ดีกว่า จึงกราบทูลมายังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งดงเท้าสารเป็นเมือง พระราชทานนามว่า “เมืองสุวรรณภูมิ” ซึ่งก็คืออำเภอสุวรรณภูมิของจังหวัดร้อยเอ็ดในขณะนี้
 
ปัจจุบันจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดที่มีทั้งโบราณสถานและสิ่งก่อสร้างใหม่เป็นเอกลักษณ์ของเมือง เป็นสถานที่น่าท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสาน แต่ก่อนก็มี “บึงพลาญชัย” เป็นเอกลักษณ์ของการท่องเที่ยว ปัจจุบันที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด หน้าบึงพลาญชัย มีสิ่งที่กระตุ้นการท่องเที่ยวใหม่เกิดขึ้น ก็คือ “หอโหวต ๑๐๑” ซึ่ง “โหวต” เป็นเครื่องดนตรีของภาคอีสานประเภทเป่าหรือแกว่งให้เกิดเสียง รูปร่างเป็นทรงกระบอกคล้ายแคน เป็นต้นแบบของการสร้างหอสูง ๑๐๑ เมตร ๓๕ ชั้น มีทั้งห้องอาหารและเครื่องดื่มลอยฟ้า ชั้นจำหน่ายสินค้า ห้องประชุมและจัดกิจกรรมต่างๆ ห้องพิพิธภัณฑ์ จุดชมวิวจากภายในอาคารและกล้องส่องทางไกล กับออกไปชมภายนอกบนพื้นกระจกใส ทั้งต่อไปจะมีจุดโหนสลิงโรยตัวลงจากชั้นที่ ๓๔ สำหรับคนใจถึง และชั้นที่ ๓๕ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธมิ่งมงคลเมือง พระพุทธรูปประจำจังหวัดร้อยเอ็ด
สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของร้อยเอ็ด ก็คือ “พระมหาเจดีย์ชัยมงคล” ที่วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม บ้านโคกกลาง ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก เป็นเจดีย์อลังการที่ออกแบบโดยกรมศิลปากร มีความกว้างทุกด้านและความสูงเท่ากัน ๑๐๑ เมตร แต่ส่วนความสูงเพิ่มยอดฉัตรทองคำหนัก ๔,๗๕๐ บาท หรือราว ๖๐ กิโลกรัม ขึ้นเป็น ๑๐๙ เมตร อันเป็นสัญลักษณ์แห่งรัชกาลที่ ๙ โดยมี หลวงปู่ศรี มหาวีโร ลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตต เป็นผู้รวบรวมศรัทธาของชาวพุทธสร้างขึ้นด้วยงบประมาณถึง ๒,๐๐๐ ล้านบาท
เจดีย์องค์ใหญ่แบ่งเป็น ๗ ชั้น

ชั้นที่ ๑ เป็นห้องโถง ผนังจารึกรายนามผู้บริจาค
ชั้นที่ ๒ เป็นห้องประชุม ผนังเป็นภาพพุทธประวัติ
ชั้นที่ ๓ เป็นอุโบสถ ผนังโดยรอบประดิษฐานรูปเหมือนปรมาจารย์ ๑๐๑ องค์ แกะสลักจากหินอ่อน
ชั้นที่ ๔ เป็นจุดชมทัศนียภาพโดยรอบของเทือกเขาภูเขียว
ชั้นที่ ๕ เป็นพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ศรี มหาวีโร
ชั้นที่ ๖ เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชแห่งลังกาได้นำมาส่งเสด็จถึงประเทศไทย
ชั้นที่ ๗ เป็นองค์เจดีย์รูประฆังและยอดฉัตร
และยังมีเจดีย์รายและระเบียงคตโดยรอบ

พระมหาเจดีย์ชัยมงคลจึงเป็นจุดที่น่าสนใจอีกแห่งของจังหวัดร้อยเอ็ด เมืองร้อยเอ็ดประตู เช่นเดียวกับ หอโหวต ๑๐๑ แสดงให้เห็นความแตกต่างจากยุคสมัย ซึ่งต่างจาก กู่กาสิงห์ และ กู่คันธนาม อย่างลิบลับ




กำลังโหลดความคิดเห็น