xs
xsm
sm
md
lg

รองอธิบดี พช.ลงพื้นที่ภาคอีสาน เร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระดับภาคเต็มรูปแบบที่จังหวัดนครราชสีมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (21 มีนาคม 2566) เวลา 13.00 น. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนากลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระดับภาค” โดยมีภาคเอกชน ผู้แทน บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด นางสงวน มะเสนา ผู้ตรวจราชการกรม พัฒนาการจังหวัด และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจาก 20 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาชุมชน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นายพรหมพันธุ์ กองพลพรหม ผู้จัดการงานสนับสนุน บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด นางสาวชนกานต์ บุญเอี่ยม ผู้แทนบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธีเปิด โดยดำเนินการ 2 วัน ระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา ต.แหลมทอง อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา

นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับมอบหมายภารกิจจากรัฐบาลที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 

โดยมีเป้าหมายคือ “สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เพื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและชุมชนเข้มแข็ง” ดำเนินการ 3 เรื่อง ประกอบด้วย การเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายใต้คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน ซึ่งมีกลไกระดับจังหวัด ประกอบด้วย คณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พัฒนาการจังหวัดและหัวหน้าสำนักงานจังหวัด เป็นเลขานุการร่วมบูรณาการขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่ และมีบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด 76 จังหวัด ที่จดทะเบียนในรูปแบบบริษัท เป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนงานภายใต้แนวคิด Social Enterprise (SE) ซึ่งเป้าหมายหลักเพื่อสังคมมิใช่เพื่อกำไรสูงสุด 

ทั้งนี้ รายได้หลักต้องมาจากการขายสินค้าและบริการ เช่น ให้คำปรึกษาแก่ชุมชน ไม่ใช่เงินจากรัฐหรือเงินบริจาค โดยกำไรที่ได้รับต้องนำไปใช้ขยายผลการดำเนินงาน ไม่ปันผล 100% และมีแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยกลไกประชารัฐ ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ร่วมกับภาคีเครือข่าย ผ่านกิจกรรมตามยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยภาคีเครือข่าย และการเสริมสร้างรายได้ด้วยเครือข่ายเกษตรปลอดภัย วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ไปในทิศทางเดียวกัน นำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม และนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน บรรลุเป้าหมาย “สร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข” 

กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระดับภาคขึ้น เพื่อพัฒนากลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจข้อมูลและแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเพื่อสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงเครือข่ายพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

นายวรงค์กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐจะสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีทั้ง 7 ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคประชาชน รวมถึงด้านศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อเป็นพลังผลักดันให้กลไกประชารัฐทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถทำงานสอดประสานและบูรณาการการทำงาน จนสามารถสร้างรายได้และสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่สังคมได้ในที่สุด

"ขอขอบคุณพัฒนาการจังหวัด ประธานบริษัทกรรมการผู้จัดการ (MD) และผู้แทนบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ทั้ง 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระดับภาคในวันนี้" รองอธิบดีกล่าว




















กำลังโหลดความคิดเห็น