สังฆราชท่านนี้คือ ฌัง บัปติสต์ ปาลเลอกัวซ์ มุขนายกมิซซังประจำสยามในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อท่านอยู่ในสยาม ๒๔ ปีได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดหลังจากได้รู้เห็นเมืองไทยในยุคนั้นอย่างมากมาย จึงได้เขียนหนังสือชื่อ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” และพิมพ์ที่กรุงปารีสในปี พ.ศ.๒๓๙๗ เพื่อให้คนยุโรปรู้จักกรุงสยาม และกลับมาอยู่ในเมืองไทยจนมรณภาพ สันต์ ท. โกมลบุตร ได้แปลหนังสือเล่มนี้และพิมพ์ออกมาหลายครั้ง เป็นหนังสือที่ให้ความเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในยุคนั้นเป็นอย่างมาก
สังฆราชปาลเลอกัวซ์เล่าให้คนยุโรปอ่านใน “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ไว้ว่า ประเทศที่ชาวยุโรปเรียกว่า สยาม นั้นมีชื่อว่า เมืองไทย ประเทศแห่งบุคคลที่เป็นไทแก่ตัว นามเดิมนั้นเรียกว่า ศยาม หมายถึงชนชาติผิวคล้ำ ก่อนที่ชาวปอร์ตุเกสจะเข้ายึดเมืองมะละกา อาณาเขตของประเทศสยามแผ่ไปตลอดแหลมมลายูจนกระทั่งถึงสิงคโปร์ ต่อมาโดยการรุกเร้าและสนับสนุนของอังกฤษ บรรดารัฐ ยะโฮร์ รัมโบ เซลังงอห์ ปาหัง และเประห์ ก็หลุดลอยออกจากมหาอาณาจักรไป อาณาเขตของประเทศสยามตอนนั้นจึงเริ่มต้นที่ตรังกานูเท่านั้น
ในด้านความอุดมสมบูรณ์ สังฆราชปาลเลอกัวซ์เล่าว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าในโลกนี้ยังจะมีประเทศใดบ้างที่มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งไปกว่าประเทศสยาม โคลนตมของแม่น้ำได้ทำให้ผืนแผ่นดินอุดมไปด้วยปุ๋ยอยู่ทุกปี โดยแทบจะไม่ต้องบำรุงผืนดินเลย ก็ได้ต้นข้าวกอใหญ่อันมีรสดีวิเศษ ซึ่งไม่เพียงแต่พอเลี้ยงประชาชนพลเมืองเท่านั้น ยังส่งออกไปขายยังเมืองจีนและที่อื่นๆด้วย
ในเวลาน้ำท่วม จำนวนปลาได้เพิ่มพูนขึ้นอย่างนับไม่ถ้วยในท้องทุ่ง ตามกอกกและแพผัก ครั้นน้ำลดลง ฝูงปลาก็เคลื่อนย้ายไหลตามน้ำไปลงแม่น้ำลำคลองมากมายก่ายกองราวกับฝูงมด ด้วยประการฉะนี้ ในแม่น้ำและลำคลองจึงคลาคล่ำไปด้วยนกกระสา นกกาน้ำ นกกระทุง เป็ด และนกน้ำอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก หาปลาเป็นอาหารทั้งกลางวันและกลางคืน ปลาบางอย่างตกคลักอยู่ในท้องทุ่ง ในบ่อ หนอง และบึงธรรมชาติ อันดารดาษไปด้วยดอกบัว ผักตบ และผักในน้ำอย่างอื่นอีกมาก
ที่ก้นอ่าวอันเป็นที่รวมของแม่น้ำ ๔ สาย ปรากฏว่ามีปลามากเหมือนกัน ปลาซาร์ดีนขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งมีมากมายเหลือเกิน ซึ่งนอกจากจะใช้ประกอบเป็นอาหารประจำครอบครัวของชาวเมืองได้ปีละ ๖ เดือนแล้ว ยังบรรทุกใส่เรือลำใหญ่ ๑๒ หรือ ๑๕ ลำ ส่งไปขายยังเกาะชวาได้อีกด้วย ...สำหรับปลาที่ท่านสังฆราชเรียกว่าซาร์ดีนนั้น ท่านผู้แปลมีความเห็นว่าน่าจะเป็น ปลาทู
สำหรับบ้านเมือง ท่านสังฆราชเล่าว่า บางกอก หมู่บ้านมะกอกป่า เป็นที่ตั้งของรัฐบาลหลังจากอยุธยาล่ม นครนี้ยังมีอายุไม่ถึง ๙๐ ปี และมีพลเมืองแล้วถึง ๔๐๐,๐๐๐ คน บางกอกสืบนามมาจากอยุธยา
ฉะนั้นจึงเรียกกันว่า กรุงเทพมหานครศรีอยุธยามหาดิลกราชธานี ฯลฯ อันแปลว่า มหานครแห่งเทพ งามนัก ใครตีไม่แตก ฯลฯ เมืองนี้ตั้งอยู่บนทั้งสองฝั่งของแม่น้ำ ห่างทะเลราว ๓๒ กม. ตัวเมืองแท้ๆลักษณะเป็นเกาะ มีความยาว ๘ กม.โดยรอบ ล้อมด้วยกำแพงเชิงเทิน มีป้อมปราการเรียงเป็นระยะ ตัวเมืองตั้งอยู่ท่ามกลางสวนใหญ่ ประกอบด้วยพรรณพฤกษ์เขียวชอุ่มอยู่ตลอดกาล มองแล้วงามตานัก มีเรือใหญ่และเรือสำเภาประดับธงทิวจอดเรียงรายอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ เราเห็นยอดนภศูล เจดีย์ ปรางค์พุ่งสูงขึ้นในท้องฟ้า เป็นสถาปัตยกรรมอันน่าชม ประกอบภาพประดิษฐ์ด้วยกระเบื้องหลากสี หลังคาเป็นชั้นๆของโบสถ์วิหารทาทองและมุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสะท้อนแสงดวงตะวัน มีเรือนแพนับพันบนแพไม้ไผ่เรียงรายเป็นสองแถวยาวเหยียด ซึ่งท่านจะเห็นได้ถนัดเมื่อล่องหรือทวนแม่น้ำ และมีเรือเล็กเรือน้อยอีกนับพันสัญจรไปมาอยู่มิได้ขาด ส่วนใหญ่ตกแต่งโอ่โถง ป้อมปราการทาสีขาวราวกับหิมะ ตัวเมืองประกอบด้วยป้อมและประตูเมืองหลายต่อหลายประตู ยอดนภศูลของพระที่นั่งอันเป็นทรงจตุรมุข กับอาคารต่างๆแบบอินเดียน จีน และยุโรป การแต่งกายของชนนานาชาติ เสียงมโหรี ปี่พาทย์ เสียงร้องลำละคร อาการเคลื่อนไหวของชีวิตที่คลาคล่ำอยู่ในเมืองใหญ่ ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวต่างประเทศจะได้ประสบพบเห็นด้วยความแปลกตาอันยิ่ง
ในเมืองหลวงไม่มีรถสักคันเดียว ต่างใช้เรือกันทั้งนั้น แม่น้ำและลำคลองแทบจะเป็นเส้นทางคมนาคมอย่างเดียว เว้นแต่ในตอนกลางเมืองอันมีร้านค้าหรือตลาดเท่านั้น ที่มีถนนปูด้วยอิฐแผ่นใหญ่ๆ
สิ่งที่น่าสังเกตในบางกอก คือพระบรมมหาราชวังและวัดหลวง ภายในบริเวณกว้างใหญ่ของพระบรมมหาราชวังนี้ มีศาลลูกขุน โรงมหรสพ (ศาลาสหทัย) หอพระสมุดหลวง โรงคลังสรรพาวุธ และโรงช้างเผือก โรงสำหรับเลี้ยงม้าราคาแพง และคลังเก็บพัสดุภัณฑ์อีกเป็นอันมาก มีโบสถ์งามอยู่แห่งหนึ่ง พื้นลาดด้วยสาดเงิน เป็นที่ประดิษฐานพระบูชาหรือพระพุทธรูป ๒ องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำสูงราว ๑.๓ ม. อีกองค์หนึ่งสร้างจากมรกตทั้งลูกสูง ๖๖ ซม. ชาวอังกฤษผู้หนึ่งได้ประเมินมูลค่าไว้กว่า ๑ ล้านฟรังก์
วัดหลวงนั้นงดงามมาก อย่างยากที่จะเปรียบกับโบสถ์ใดๆในยุโรปได้ บางวัดมีมูลค่ากว่า ๘ ล้านฟรังก์ ในบริเวณกำแพงเมืองมีอยู่ถึง ๑๑ วัด และมีอยู่นอดกำแพงเมืองอีกราว ๒๐ วัด วัดเชตุพน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ องค์ยาวถึง ๕๐ เมตร ปิดทองทั้งองค์ วัดหลวงแห่งหนึ่งเป็นอารามที่ใหญ่โตมาก จุภิกษุได้ ๔๐๐-๕๐๐ รูป และศิษย์วัดอีกนับพันคน เป็นผืนที่ดินอันกว้างใหญ่ หรือจะกล่าวให้ถูกต้องก็ต้องเป็นอุทยานใหญ่
บ้านเรือนในบางกอกนั้นแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ประเภทหนึ่งก่ออิฐถือปูนและโอ่โถง อีกประเภทหนึ่งเป็นเรือนไม้ ส่วนราษฎรที่ยากจนนั้นอยู่เรือนที่ปลูกด้วยไม้ไผ่ โดยเหตุนี้จึงมีไฟไหม้บ่อยๆและก่อความเสียหายให้มาก เป็นเรื่องธรรมดาที่ไฟไหม้บ้านเรือนคราวละ ๔๐๐-๕๐๐ หลังคาเรือน แต่ภายใน ๗ วันก็สร้างกันขึ้นใหม่ได้อีก โดยอาศัยญาติพี่น้องและมิตรสหาย มาช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย
นี่ก็เป็นบางส่วนของกรุงเทพฯเมื่อกว่า ๑๕๐ ปีก่อน ในสายตาของชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยมา ๒๔ ปี ซึ่งมองเมืองไทยด้วยความชื่นชม