“สนธิ” ตั้งคำถาม เพราะ “คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์” กระด้างกระเดื่องต่อระบอบประยุทธ์หรือไม่ จึงถูก ป.ป.ช.สั่งฟ้องคดีจัดซื้อเครื่อง GT200 เมื่อครั้งเป็น ผ.อ.นิติวิทยาศตรฯ ทั้งที่จัดซื้อแค่ 3 เครื่อง ขณะที่กองทัพซื้อเป็นพันเครื่อง แต่ผู้นำเหล่าทัพไม่มีใครถูกฟ้อง
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติสั่งฟ้องคุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ในคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT 200 และ Alpha 6 ว่า สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากประเด็นทางการเมืองด้วย เนื่องจากในระยะหลังคุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ ได้วิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของกลุ่ม“3ป.” อยู่หลายครั้ง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ สั่งฟ้อง คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ ในคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT 200 และ Alpha 6 โดยได้ส่งเรื่องให้สำนักคดีเพื่อร่างคำฟ้อง ก่อนส่งฟ้องต่อศาลต่อไป จากที่ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช. เคยชี้มูลความผิดแล้ว แต่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง โดยระบุว่าพยานหลักฐานไม่พอเพียงฟ้องคุณหญิงพรทิพย์ เมื่อส่งกลับมา ป.ป.ช. เห็นแย้งว่ามีหลักฐานพอเพียง จึงมีมติให้ยื่นฟ้องเอง จากกรณีที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จัดซื้อเครื่อง GT 200 ในปี 2551-2552 จำนวน 3 สัญญา 6 เครื่อง มูลค่า 6,800,000 บาท
ต่อมา วันที่ 9 มีนาคม คุณหญิงพรทิพย์ ให้สัมภาษณ์ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการสอบสวนของ ป.ป.ช. ว่ามีเรื่องเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ เพราะตนเองโดนคนเดียว ผู้บริหารที่เหลือซึ่งเป็นทหาร ไม่โดน ก็ต้องมีอะไรบางอย่าง เพราะอยู่ในช่วงของรัฐบาลปฏิวัติ รัฐบาลแบบไหนก็ตาม สุดท้ายก็ต้องเอาการเมืองมาแทรกในการสรรหาเสมอ ปฏิเสธไม่ได้
แต่ทีนี้มากระทบคนอย่างเรา ซึ่งไม่ได้อิงการเมือง เราตั้งใจทำงาน ทั้งที่การซื้อ GT 200 นั้น เป็นการซื้อตามกองทัพ กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ได้ตั้งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบการซื้อเครื่องมือดังกล่าว เป็นเพราะระเบียบระบุว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งเสมอไป และการซื้อเครื่อง GT 200 ของสถาบันนั้น ได้ซื้อตามกองทัพที่สั่งซื้อไป และซื้อหลังจากที่อังกฤษได้ซื้อไปใช้ในสงครามอิรัก ขณะนั้น เวลานั้น ที่อังกฤษซื้อ ยังไม่รู้ว่าถูกหลอกเสียด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ คุณหญิงพรทิพย์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการสอบสวนของ ป.ป.ช. ว่า ทุกสัญญาที่จัดซื้อเครื่อง GT 200 หรือ Alpha 6 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งจัดซื้อปี 2551-2552 ที่ผ่านมาไม่เคยทราบกระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช. มารู้ทีหลังว่ามีชื่ออยู่ในสำนวน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ตอนที่คดีใกล้หมดอายุความ ซึ่งคุณหญิงพรทิพย์บอกว่า เวลาผ่านไปสิบปีแล้ว ทำให้ยากต่อการหาเอกสารที่ยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง
ย้อนตำนาน “ไม้ล้างป่าช้า” อันละล้าน
ตำนานเครื่อง GT 200 ที่ถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “ไม้ล้างป่าช้า” เกิดขึ้นในสมัยที่กองทัพอากาศให้บริษัทตัวแทนเข้าทำการทดสอบปฏิบัติการ โดยได้นำพิสูจน์ทดลองเมื่อปี 2546 ใช้เวลาทดลองถึงหนึ่งปีครึ่ง จากนั้น 2548 กองทัพอากาศได้จัดซื้อมาใช้เบื้องต้น และปรากฏว่าในหลายกรณีเครื่อง GT 200 ใช้ได้ผล
ต่อมา ปลายปี 2548 กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า สมัยที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้ทดลองใช้เครื่อง GT 200 หาระเบิดในมัสยิด ปรากฏว่าใช้งานได้ จึงเสนอขอซื้อเครื่องมือดังกล่าว ในปี 2550 จากบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย 4 เครื่อง เครื่องละ 1.4 ล้านบาท หลังจากการปฏิวัติยึดอำนาจโดย คมช. กองทัพบก ในยุคของ พล.อ.สนธิ ก็ซื้ออีก 2 เครื่อง วงเงิน 1.8 ล้านบาท
ยุคสมัยที่มีการจัดซื้อ GT 200 มากที่สุด คือยุคสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก โดยในช่วงปี 2551-2552 มีการจัดซื้อเครื่อง GT 200 รวม 755 เครื่อง วงเงิน 680 กว่าล้านบาท ถือว่าเป็นหน่วยงานที่จัดซื้อ GT 200 มากที่สุด โดยการจัดซื้อทุกครั้งจะใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ เป็นกรณีเร่งด่วน มีข้อจำกัดทางเทคนิค และระบุว่า ต้องยี่ห้อนี้เท่านั้น
จากข้อมูลที่รวบรวมโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า ปี 2548-2553 หรือระยะเวลาประมาณ 6 ปี มีหน่วยงานรัฐของไทยจัดซื้อเครื่อง GT 200 และ Alpha 6 รวมกันทั้งหมดอย่างน้อย 15 หน่วยงาน เป็นจำนวนเงิน 1,398 เครื่อง คิดเป็นเงิน 1,134 ล้านบาท
แต่พอเหตุการณ์ผ่านไป ปี 2553 โป๊ะแตก เมื่อสื่ออังกฤษแฉ GT 200 เป็นแค่ “ไม้ล้างป่าช้า”
2 กุมภาพันธ์ 2553 เมื่อสื่ออังกฤษออกมาเปิดโปง แฉว่าเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT 200 เป็นอุปกรณ์ลวงโลก ใช้งานไม่ได้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มอบหมายคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในขณะนั้น ตั้งคณะกรรมการ 13 คน ทดสอบประสิทธิภาพเครื่อง GT 200 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ปรากฏว่า สามารถค้นพบวัตถุระเบิดได้เพียง 4 ครั้ง จากจำนวน 20 ครั้ง ทำให้นายอภิสิทธิ์สั่งระงับการซื้อทันที
เมื่อพบว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้จริง ทำให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานได้ร้องทุกข์ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินคดีอาญากับผู้ขายเครื่อง GT 200 เมื่อสืบสวนและรวบรวมหลักฐานแล้ว พบมูลความผิด จึงรับเป็นคดีพิเศษ ดำเนินคดีอาญาทั้งสิ้น 16 คดี และยังมีการฟ้องร้องทางแพ่งด้วย
ถัดมาอีก 3 ปี คือ 2556 ศาลอังกฤษได้มีคำพิพากษาตัดสินจำคุก ยึดทรัพย์ผู้บริหารบริษัทที่ผลิต GT 200 ในความผิดฐานฉ้อโกง และผลการสอบสวนของดีเอสไอนำมาสู่การฟ้องร้องบริษัทอังกฤษ และบริษัทตัวแทนจำหน่ายในไทย เรียกค่าเสียหายถึง 683 ล้านบาท
ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด 20 สำนวน
19 กรกฎาคม 2564 ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีจัดซื้อจัดจ้าง GT 200 และ Alpha 6 รวม 20 สำนวน จาก 25 สำนวน ส่วนใหญ่ผู้ถูกชี้มูลเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างของหน่วยงานนั้นๆ ยกตัวอย่าง 5 หน่วยงาน ดังนี้
กรมสรรพาวุธทหารบก จัดซื้ออย่างน้อย 12 สัญญา มีนายทหารยศ "พลโท" 2 ราย ถูกชี้มูลความผิดทางวินัยฐานประมาทเลินเล่อเสียหายร้ายแรง ส่วนที่เหลือเป็นคณะกรรมการตรวจรับ ถูกชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) อย่างไรก็ดี ความผิดตามมาตรา 162 ขาดอายุความไปแล้ว นอกจากนี้ยังถูกชี้มูลผิดวินัยร้ายแรง
กรมสรรพาวุธทหารอากาศ จัดซื้ออย่างน้อย 7 สัญญา มีนายทหารระดับยศ "พลอากาศเอก" ถูกชี้มูล 1 ราย จัดซื้อ 1 ครั้ง ระดับ "พลอากาศตรี" 1 ราย จัดซื้อ 3 ครั้ง ระดับ "นาวาเอก" 1 ราย จัดซื้อ 1 ครั้ง ผิดวินัยร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อเสียหายร้ายแรง และคณะกรรมการตรวจรับครั้งที่ 2-7 ถูกชี้มูลผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) อย่างไรก็ดี ความผิดตามมาตรา 162 ขาดอายุความไปแล้ว และยังผิดวินัยร้ายแรงด้วย
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จัดซื้ออย่างน้อย 4 สัญญา มีคุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ถูกชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีการไม่ตั้งผู้ชำนาญการ อนุมัติเบิกจ่าย ไม่ส่งสำเนาสัญญา ในการจัดซื้อครั้งที่ 1 และ 3 และถูกชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีอนุมัติจัดซื้อไม่มีราคาครั้งหลังสุด และจัดซื้อแพงในการจัดซื้อครั้งที่ 2 ด้วย
อำเภอเมืองนครปฐม จัดซื้ออย่างน้อย 1 สัญญา โดยผู้บริหารระดับสูงในอำเภอช่วงเวลาดังกล่าวถูกชี้มูลผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ. ฮั้วฯ) มาตรา 10, 12 และผิดวินัยร้ายแรง คณะกรรมการเปิดซองสอบราคา ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ. ฮั้วฯ) มาตรา 10, 12 และผิดวินัยร้ายแรง
จังหวัดสมุทรสงคราม จัดซื้ออย่างน้อย 1 สัญญา ผู้บริหารระดับสูงในจังหวัดขณะนั้น ผิดวินัยไม่ร้ายแรง อีกรายผิดวินัยร้ายแรง ส่วนคณะกรรมการเปิดซองสอบราคา ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ. ฮั้วฯ) มาตรา 10, 12 และผิดวินัยร้ายแรง คณะกรรมการตรวจรับ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 16 (1) (4)
จากนั้น ป.ป.ช. ก็ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดส่งฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอน โดยอัยการสูงสุดได้มีความเห็นสั่งฟ้องไปแล้ว 15 คดี
กก.จัดซื้อจัดจ้าง-กก.ตรวจรับ โดนหมด ระดับบิ๊กรอด!
ประเด็นทั้งหมดนี้อยู่ที่ไหน ? ผมได้ตั้งข้อสังเกตไปตั้งแต่รายการ "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ตอนที่ 141 ว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลนั้น จะเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างของหน่วยงานนั้น ส่วนผู้หลักผู้ใหญ่ระดับหัวหน้าหน่วยงานที่สั่งซื้อกลับไม่ผิด ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก ซึ่งในช่วง 2 ปี ระหว่างปี 2551-2552 มีการจัดซื้อ GT 200 รวมทั้งหมด 755 เครื่อง วงเงิน 680 กว่าล้านบาท ต้องถือว่ากองทัพบกเป็นหน่วยงานที่จัดซื้อ GT 200 มากที่สุด ซึ่งเป็นยุคที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. แต่ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เพราะอ้างเหตุผลว่า คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างเป็นคนจัดซื้อจัดจ้าง มีคณะกรรมการตรวจรับ
แต่ มีข้อแม้ตรงนี้นิดหนึ่ง โดยหลักแล้ว คนที่อยู่ในวงการราชการ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ จะรู้ว่า คนที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างร่วม 100 เปอร์เซ็นต์ จะได้รับ "ธง" จากผู้หลักผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ และการจัดซื้อจัดจ้างในกรณีเร่งด่วน
ผู้ใหญ่ต้องเปิดไฟเขียว ผู้ใหญ่ระดับ ผบ.ทบ. อย่าง พล.อ.อนุพงษ์ ต้องเปิดไฟเขียว ถ้าไม่เปิดไฟเขียวจะทำไม่ได้
ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของการที่คุณหญิงพรทิพย์ ออกมาตั้งข้อสงสัยว่าทำไมเธอถึงโดนอยู่คนเดียว ทั้งๆ ที่ซื้อตามทหาร แต่นายทหารใหญ่ระดับผู้บริหารหน่วยงานอื่นๆ เช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หรือพลอากาศเอก แม่ทัพอากาศตอนนั้น ไม่โดนลงโทษด้วย
นอกจากนี้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ซื้อแค่ 3 เครื่อง หน่วยงานอื่นซื้อตั้งหลายร้อยเครื่อง รวมแล้วนับพันเครื่อง เพียงแต่สงสัยว่าในฐานะที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานในขณะนั้น เราจัดซื้อเพียง 3 เครื่อง ทำไมถึงโดน ขณะที่หน่วยงานอื่น (หมายถึงกองทัพบก) จัดซื้อถึงพันเครื่อง ถึงไม่โดน
สั่งสอน ส.ว.อย่าคิดเป็นอิสระจาก 3ป.
นายสนธิ ได้อ้างถึงคำพูดของจตุพร พรหมพันธุ์วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ที่ได้เฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ว่า กรณีคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว. ประกาศจุดยืนการเมือง ไม่เอาทั้งระบอบทักษิณ และระบอบประยุทธ์ ก็เลยถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงดาบ งัดคดีทุจริตจัดซื้อ GT 200 สมัยที่เป็น ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ขึ้นมาไต่สวน หลังจากคดีนี้ถูกดองไว้ 10 ปี เพิ่งจะมีมติในช่วงนี้ นายจตุพรจึงเชื่อว่านี่คือการเชือดสั่งสอนกลุ่ม ส.ว. อย่าคิดเป็นอิสระ ตีตัวออกห่างจากอำนาจ 3 ป.
ตีตัวออกห่างอย่างไร ? ประมาณ 10 เดือนที่แล้ว วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กตัวเอง "Porntip Rojanasunan" รีวิวการทำหน้าที่เป็น ส.ว. ปีที่ 4 โดยเปิดใจว่า ระบบราชการชักช้า และยังต้องเกรงใจอำนาจมากมาย
คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ ระบุข้อความว่า “เปิดสภาปีที่ทำหน้าที่เป็นปีที่ 4 ยังคงต้องใช้หลักธรรมเดินในเส้นทางเขาเพื่ออุดมการณ์เรา ประชุม ประชุม และก็ประชุม เสนออะไรใหม่นอกกรอบเป็นไปได้ยาก เลือกเป็นกรรมาธิการกระบวนการยุติธรรมที่ตรงความถนัด ก็ต้องถอยออกมา เพราะประธานเป็นตำรวจหย่าย ตั้งอนุกรรมาธิการก็เต็มไปด้วยตำรวจ พูดเรื่องความยุติธรรมได้ยาก เลยย้ายมาอยู่กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองผู้บริโภค ได้เข้ามาอยู่ในฟันเฟืองของประชาธิปไตยแบบที่เกิดหลังการปฏิวัติ มีเป้าหมายที่บอกประชาชนว่ามีหน้าที่ปฏิรูป จะผลักดันให้สำเร็จ แต่ก็ขับเคลื่อนได้แบบระบบราชการ ที่นอกจากขับเคลื่อนช้าแล้วยังเกรงใจอำนาจต่างๆ ตลอดเวลา
“คดีแตงโมเป็นอะไรที่ชัดเจนในประเด็นปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต่างนิ่ง รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีที่มีอีกบทบาทในการกำกับการทำงานของตำรวจ ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คงบอกอะไรได้พอควร ยิ่งเปิดสภารอบนี้ก็นับเป็นวาระที่คงวุ่นพอควร อะไรที่เคยสัญญาสังคมไว้ก็ลองทบทวนดู วันใดที่ลงจากอำนาจ ขยะใต้พรมจะถูกจัดการ”
ต่อมา วันที่ 19 มกราคม 2566 คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ เขียนข้อความผ่านอินสตาแกรมพุ่งเป้าไปที่การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีต่อปัญหาทุจริตคอร์รัปชันภายในประเทศ มีความว่า
"ต้องกลับมาเขียนเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะความนิ่งเฉยของนายกฯ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายหน่วยงาน กรณีตู้ห่าวที่พลิกให้เห็นขยะใต้พรม ตั้งแต่การแทรกซึมยึดแผ่นดินของคนต่างด้าวด้วยการทุจริตและด้วยความอ่อนแอของคนไทยทุกภาคส่วน เดิมทีคนพม่ายึดธุรกิจแผงลอยในตลาด และกิจการหลายอย่าง เราคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ทะลักเข้ามาไม่ได้ ตามมาด้วยเรื่องคนจีนที่ก็ทะลักเข้ามาพร้อมการแทรกที่จุดโหว่ของระบบราชการไทยและคนไทย
“กรณีการจ่ายส่วยในการเลื่อนตำแหน่งที่รู้กันว่ามีในหลายหน่วยงาน ขนาดจับเงินสดได้จำนวนมหาศาลยังทำอะไรไม่ได้
“กรณีการใช้อำนาจเข้าตรวจค้นแล้วยักยอกเงินของกลางซึ่งมีมานาน หัวหน้าล้่วนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่หรือร่วมกินด้วยเลย
“กรณีการแก้ปัญหาในระบบราชการด้วยการย้ายไปแขวน ย้ายสลับที่ไม่เคยมีระบบให้สังคมได้ติดตามมีส่วนร่วม เมื่อมีข่าวอื่นแทรก ผู้คนเริ่มลืม คนเหล่านี้ก็กลับเข้าสู่ตำแหน่ง แต่อะไรก็ไม่เท่ากับย้ายคนสีเทาไปไว้ในหน่วยงานอื่น ทำให้บึคลากรดีๆ ต้องเสียขวัญเสียกำลังใจเพราะเป็นที่พักรอเวลา
“ผู้คนในปัจจุบันไม่รักษาและไม่ศรัทธาธรรม ถูกพลังความชั่วฉุดให้ทำชั่วได้ง่าย รวมทั้งคนที่ไม่ได้ร่วมทำชั่วต่างเกรงและกลัวที่ออกมาจัดการหรือต่อสู้ กลายเป็นฝ่ายหลบลี้หนีภัย ล้วนทำให้มีการแผ่อำนาจความชั่วร้ายเต็มไปหมด
“เสียดายที่ผู้นำตั้งใจเดินต่อในสายการเมืองจึงเงียบต่อสิ่งเลวร้ายเหล่านี้”
นายสนธิ ได้ตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่า การแสดงทัศนะเช่นนี้ของสมาชิกวุฒิสภา เช่น คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ ใช่หรือไม่ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอถูกเชือดจาก ป.ป.ช. ในฐานะที่ตั้งคำถาม และแสดงความกระด้างกระเดื่องกับระบอบประยุทธ์ในปัจจุบัน