“ชะอำ” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่ได้รับความนิยมแห่งหนึ่งในขณะนี้ มีประวัติความเป็นมายาวนานไปถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ชะอำ” เล่ากันว่าเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรยกทัพมาทางใต้ ทรงพักทัพที่แหล่งน้ำย่านนี้ และไพร่พลได้โอกาสชะล้างอานม้า จึงเรียกตำบลนี้ว่า “ชะอาน” ต่อมาก็เพี้ยนเป็น “ชะอำ”
ชะอำกลับมาเป็นที่รู้จักกันในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระตำหนักชั่วคราวขึ้นที่ตำบลบางทะลุ เหนือชะอำขึ้นมาเมื่อปี ๒๔๖๐ เพื่อรักษาพระองค์เกี่ยวกับโรครูมาติซั่ม พระราชทานนามบางทะลุใหม่ว่า “หาดเจ้าสำราญ” แต่ไม่นานก็ประสบปัญหามากเนื่องจากขาดแคลนน้ำและมีแมลงวันชุกชุม จึงทรงย้ายไปสร้างพระตำหนักถาวรขึ้นที่ตำบลห้วยเหนือ อยู่ระหว่างชะอำกับหัวหิน ซึ่งมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ภูมิประเทศยังคงความเป็นธรรมชาติ มีกวางชุกชุม ที่สำคัญอยู่ใกล้สถานีรถไฟห้วยทรายเหนือการคมนาคมที่สำคัญของยุคนั้น นั่นก็คือ “พระราชนิเวศน์มฤทายวัน”
ตอนนั้นหัวหินกำลังโด่งดังในฐานะสถานตากอกาศที่นิยมของชนชั้นสูง มีรถไฟไปถึงในปี ๒๔๕๔ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ทรงสร้างตำหนักตากอากาศขึ้นที่บริเวณริมหาดแถวโรงแรมโซฟิเทลในปัจจุบัน ทรงชักชวนเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ให้มาตากอากาศ และสร้างตำหนักเพิ่มขึ้นอีกหลายหลังไว้รับรองแขก ทรงขนานนามชายหาดหน้าตำหนักว่า “หัวหิน” ตามชื่อเดิมที่เป็นภาษาเขมรว่า “กบาลถมอ” หรือ “ถมอเรียง” ซึ่งหมายถึงก้อนหินที่เรียงกันอยู่บนชายหาดตรงหน้าพระตำหนัก
ต่อมาในปี ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้าง “สวนไกลกังวล” ขึ้นที่เหนือหัวหินขึ้นมาเพื่อพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เพื่อแปรพระราชฐานมาพักริมทะเล ต่อมาเรียกกันว่า “วังไกลกังวล”
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หาดชะอำเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ตอนนั้นริมทะเลชะอำยังเป็นป่าอยู่ ชาวบ้านที่อพยพเข้ามาทำไร่ทำนาและการประมง ส่วนใหญ่สร้างบ้านอยู่หลังสถานีรถไฟ ชายทะเลเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ พระบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงสนพระทัยที่เป็นชายทะเลเงียบสงบ มีธรรมชาติที่สวยงาม และทางหัวหินถูกจับจองไปหมดแล้ว ทรงสำรวจและวางผังเพื่อให้เป็นสถานที่ตากอากาศอีกแห่ง ให้ชื่อหมู่บ้านว่า “สหคาม” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงโปรดเกล้าฯให้กรมพระนราฯเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ทรงสร้างถนนจากสถานีรถไฟไปบรรจบถนนเลียบริมหาดซึ่งยาว ๗ กิโลเมตร จัดสรรที่ดินชายทะเลให้เป็นชุมชนตากอากาศ สร้างสาธารณูปโภคพร้อมทั้งบริการด้านการท่องเที่ยว ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นการเจริญเติบโตของชะอำ มีพระราชดำริตั้งคณะกรรมการวางแผนพัฒนาบริเวณชายทะเลชะอำ มีทั้งไฟฟ้า น้ำประปา ถนน และโรงเรียน โปรดเกล้าฯให้ออกพระราชบัญญัติการจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตก พุทธศักราช ๒๔๖๙
ปัจจุบัน “ชะอาน” ในอดีต ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “อำเภอชะอำ” ของจังหวัดเพชรบุรี และที่สามแยกชายทะเลเข้าสู่หาดชะอำมีอนุสาวรีย์กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ผู้ทรงบุกเบิกชายหาดชะอำซึ่งเป็นป่ามาเป็นชายหาดที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆของประเทศไทย และเป็นสถานท่องเที่ยวระดับนานาชาติ โดยมีการจัด “เทศการว่าวนานาชาติ ประจำปี ๒๕๖๕” ณ หาดชะอำไปเมื่อวันที่ ๒๒-๒๔ เมษายน ๒๔๖๕
ส่วนจุดเด่นของการท่องเที่ยวชะอำในวันนี้ นอกจากหาดทรายขาว เที่ยวป่าชายเลนดูนก และลงเรือตกหมึกแล้ว สิ่งเด่นอีกอย่างของชะอำก็คืออาหารทะเล โดยเฉพาะปูม้าที่ไม่มีวันหมด เพราะมีธนาคารปูปล่อยลูกปูให้ลงไปโตในทะเลปีละเป็นแสน จึงมีรับนักท่องเที่ยวได้ไม่ขาด อีกทั้งวิธีคงความสดของปูไว้ขายก็ไม่เหมือนใคร ใส่ปูเป็นๆที่จับมาไว้ในถุงตาข่ายห้อยกับราวสะพานตรงปากน้ำออกสู่ทะเล เมื่อลูกค้ามาซื้อก็สาวถุงยกขึ้นมา เรียกว่า “ปูชัก” นับเป็นหนึ่งเดียวที่ใช้วิธีนี้ ตอนนี้มีชื่อต่ออีกหน่อยว่า “ปูชัก สะพานยก” เพราะสะพานต้องยกเปิดให้เรือใหญ่เข้าออกได้ ซึ่งจุดนี้เป็นที่ขายอาหารทะเลสดๆของชาวประมงที่นักท่องเที่ยวจะไม่พลาดไปชมและชิม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานเพชรบุรี ร่วมกับเทศบาลเมืองชะอำ ได้จัดเทศกาล “ชิมปูชัก @ ชะอำ” เป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้กำลังจัดในวันที่ ๑๑-๑๘ มีนาคม ๒๕๖๖ แต่ถึงไปช้ากว่านี้ก็ไม่ต้องกลัวว่าปูจะหมด มีให้ชิมตลอดทั้งปี พร้อมกุ้งหอยปูปลา
นี่ก็เป็นจุดหนึ่งของการสร้างแปงเมืองขึ้นมาเป็นประเทศไทยในวันนี้